ปี 2559 หรือ 6 ปีที่แล้ว ‘อิ้งค์’ – วรันธร เปานิล ปรากฏตัวในฐานะศิลปินเดี่ยวจากค่าย BOXX MUSIC พร้อมกับซิงเกิลเพลง เหงา เหงา ที่มาพร้อมมวลความเหงาผ่านดนตรีสไตล์ซินธ์ป็อป (Synthpop) และเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ ก่อนจะกลายเป็นที่จับตามองในแวดวงดนตรีอย่างรวดเร็ว
แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น หลายคนอาจคุ้นหน้าอิ้งค์มาแล้ว จากบทบาทการแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Snap แค่…ได้คิดถึง (2558) ที่เล่นคู่กับโทนี่ รากแก่น หรือย้อนไปไกลกว่านั้น คือการเป็นหนึ่งในสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวงชิลลีไวท์ช็อค (Chilli White Choc) ในปี 2550 และการร่วมแสดงในมิวสิกวิดีโออีกจำนวนหนึ่ง
6 ปีนับตั้งแต่เดบิวต์ในฐานะศิลปินเดี่ยว ถือเป็นระยะเวลาที่ไม่มากและไม่น้อยสำหรับศิลปินคนหนึ่ง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ อย่างยิ่งสำหรับอิ้งค์ เพราะเธอเป็นศิลปินที่มีผลงานเพลงออกมาอย่างสม่ำเสมอ เกือบทุกซิงเกิลฮิตติดชาร์ต มียอดวิวนับล้าน และประโยคหรือชื่อเพลงของอิ้งค์ก็มักกลายเป็นคำฮิตในโลกโซเชียลฯ เช่น ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม, สายตาหลอกกันไม่ได้ หรือ เกี่ยวกันไหม
นอกจากนี้ รางวัลทางดนตรีจากหลากหลายเวทีที่ได้รับ ก็เป็นเครื่องการันตีความสามารถและความนิยมของอิ้งค์ได้เป็นอย่างดี และทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในศิลปินหญิงแถวหน้าของเมืองไทยในปัจจุบัน ที่ไม่ว่าจะปรากฏตัวบนเวทีครั้งใด จะมีแฟนเพลงคอยติดตามให้กำลังใจมากมายเสมอ
หลังจากเคยมีอีพีอัลบั้ม Bliss ไปเมื่อปี 2560 มาในปี 2565 นี้ อิ้งค์กำลังมีผลงานอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกในชีวิต INK ซึ่งเธอนิยามว่าเป็นเหมือนจุดเช็กอินครั้งสำคัญในฐานะศิลปิน และเป็น ‘พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ’ บันทึกความรู้สึกนึกคิดในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ทั้งสำหรับเธอและแฟนเพลงที่เดินทางมาด้วยกัน
อีกด้านหนึ่ง ระยะเวลา 6 ปีในค่าย BOXX MUSIC ก็ทำให้เธอเติบโตขึ้นทั้งในฐานะศิลปิน ที่ปัจจุบันมีศิลปินรุ่นน้องมากมายที่เข้ามาอยู่ในค่าย จนเธอต้องกลายเป็น ‘รุ่นพี่’ ของน้องๆ รวมถึงการเติบโตในแง่ความคิดและชีวิต ที่เธอก้าวเข้าสู่วัย 28 ปีแล้ว
The Momentum มีโอกาสชวนอิ้งค์มาสนทนากันในบรรยากาศสบายๆ ของบ่ายวันหนึ่ง ที่ไมอามี่ โฮเต็ล (Miami Hotel) โรงแรมสไตล์วินเทจ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำมิวสิควิดีโอเพลง เหงา เหงา ซิงเกิลแจ้งเกิดของเธอเมื่อหกปีก่อน เพื่อย้อนนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ในวันนั้นอีกครั้ง กับปีที่เป็นหมุดหมายสำคัญของอิ้งค์ ทั้งการมีอัลบั้มเต็ม รวมถึงคอนเสิร์ตใหญ่ที่แอบกระซิบแฟนๆ ให้คอยติดตามอย่างใกล้ชิด
“ทุกวันนี้ถ้าเราทำอะไรให้คนที่เรารักมีความสุขได้ เราก็พร้อมจะทำเลย ไม่อยากรอแล้ว”
อิ้งค์บอกกับเราในตอนหนึ่งของบทสนทนาว่าอย่างนั้น
ตอนนี้ศิลปิน นักดนตรี ได้กลับมาเดินสายเล่นดนตรีหรือคอนเสิร์ตกันแล้ว รวมถึงคุณด้วย ความรู้สึกและบรรยากาศการเล่นดนตรีในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
เราว่าคล้ายกับปีที่แล้ว แต่อาจจะมีข้อจำกัดมากขึ้น ในเรื่องของคนดูหรือการแสดง ทั้งเรื่องมาตรการ มีฉากกั้น มีระยะห่างของโต๊ะ สำหรับเรา เวลาร้องเพลงโดยมีฉากกั้น จะรู้สึกเหมือนมีอะไรกั้นอยู่ระหว่างเรากับคนดู มันก็ท้าทายเรามากว่า จะต้องส่งพลังทะลุฉากกั้นไปให้ได้ เพราะบางทีไฟส่องเข้ามา เรามองไม่เห็นคนดูเลย เห็นแค่หน้าตัวเองที่สะท้อนฉากกั้นที่เป็นกระจก ก็ต้องคอยตั้งสติว่ากำลังเล่นคอนเสิร์ตที่มีคนดูนั่งอยู่จริงๆ แต่พอได้ยินคนร้องตาม ได้อยู่ในบรรยากาศที่เป็นดนตรีสด ก็ถือว่าสนุกมาก
ต้องใช้พลังเยอะขึ้นไหมในการแสดงโดยมีข้อจำกัดแบบนี้
เยอะขึ้นนะ มันเหมือนมีความยากตรงที่ต้องส่งพลังผ่านทะลุกระจกไป เราไม่รู้ว่าทางคนดูรู้สึกว่าเหมือนมีอะไรที่กั้นไว้ไหม เพราะบางทีเวลาคนดูมองเข้ามามันชัดกว่าเรามองออกไปหาคนดู คนที่แสดงอยู่เลยต้องบวกพลังเพิ่มไปเยอะ เพื่อทำให้ตัวเองไม่เอื่อย ไม่นอยด์
ตอนนี้ก็ผ่านมาเกือบครึ่งปีแล้ว ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ คุณคิดกับเรื่องอะไรมากที่สุด
คิดว่าปีนี้จะทำอะไร และทำให้สำเร็จได้อย่างไร อย่างปีที่แล้วก็ไม่ได้มีเป้าหมายมากมาย แต่ปีนี้รู้สึกว่ามีเป้าหมายที่มันจะเกิดขึ้นและใหญ่มาก อย่างแรกคืออัลบั้มเต็ม อย่างที่สองคืออยากทำคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเอง เราเคยมีคอนเสิร์ตมาแล้ว แต่มันเป็นสเกลที่ไม่ได้ใหญ่มาก พอคราวนี้มีอัลบั้มเต็มครั้งแรก เราก็อยากมีคอนเสิร์ตเพื่อให้มันเป็นจุดเช็กอินใหญ่ว่ามาถึงตรงนี้แล้ว
ความจริงแพลนปล่อยอัลบั้มมันถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ เพราะทีแรกตั้งใจจะปล่อยตั้งแต่ปีก่อนแล้วปิดด้วยคอนเสิร์ต แต่ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนตามสถานการณ์ เราเข้าใจได้ จนกระทั่งมาถึงปีนี้ ในใจรู้สึกว่าต้องทำปีนี้ เหมือนเป็น Timing ที่ถูกต้องแล้ว ถ้าจะต้องเลื่อนไปปีหน้าอีกก็ไม่ค่อยตรงกับความรู้สึกตัวเองเท่าไร
ดังนั้น หลักๆ เราเลยคิดเรื่องอัลบั้มกับคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองในปีนี้ และคิดถึงตัวเองในอนาคตว่าจะเอาอย่างไรต่อ ตอนนี้เหมือนเป็นช่วงค้นหาตัวเองในเลเวลต่อไป เราไม่ห่วงอะไรกับอัลบั้มนี้แล้ว เพราะมันมีภาพอย่างชัดเจน แต่ที่เรากำลังทำการบ้านหนักอยู่กับตัวเอง คือระยะต่อไปหลังจากนี้มากกว่า
การบ้านของการค้นหาตัวเองที่ว่าเป็นเรื่องอะไร
เราคิดว่าอยากทำดนตรีแนวไหนต่อ อยากพูดเรื่องอะไร อยากเป็นศิลปินแบบไหน เหมือนต้องกลับมาทบทวนตัวเองเยอะเหมือนกัน แล้วก็นัดคุยกับพี่ๆ ในทีม ให้ไอเดียมันค่อยๆ เกิด แล้วเราก็กลับมาทำการบ้านต่อ มันเป็นช่วงที่ยากนะ เพราะสุดท้ายเวลาคนเราเดินมาถึงจุดที่ทำอะไรสำเร็จแล้ว จุดที่จะไปต่อจะเป็นจุดที่ต้องคิดกับมันเยอะพอสมควรว่า เราต้องการจะทำแบบไหน
ตั้งแต่ออกซิงเกิลแรก เหงา เหงา เมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งสำหรับเส้นทางอาชีพศิลปินของคนคนหนึ่งก็เป็นเวลาที่ไม่ได้นานมาก แต่ก็ไม่ได้สั้นจนเกินไป และคุณก็ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ความสำเร็จเช่นนี้มันส่งผลอะไรกับคุณบ้างไหม
พอพูดถึงมุมนี้ เรารู้สึกว่า คนนอกอาจรู้สึกว่าเราสำเร็จมากแล้ว แต่ในใจเรากลับรู้สึกว่ายังไม่ได้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ขนาดนั้น เราอาจจะทำเพลงที่ทุกคนร้องตามได้ และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราอยู่จุดพีกแล้ว บางทีไปร้องเพลงก็ยังมีคนไม่รู้จักเราเลย เราอาจจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เลยไม่ได้คิดว่าจะร่วงลงมาหรือขึ้นไปอีก แต่มองถึงความสนุกที่มากขึ้น เหมือนพยายามทำอะไรที่ตัวเราเองก็อยากทำ คนที่ไม่เคยได้ฟังก็ได้ฟัง เป็นการท้าทายตัวเองแบบนี้มากกว่า
ตอนเป็นศิลปินที่ยังไม่มีคนรู้จักเพลงมากขนาดนี้ มันยากตรงที่จะทำอย่างไรให้คนรู้จัก แต่พอมาถึงจุดที่คนรู้จักเพลงเราแล้ว หรือได้รับรางวัลมาบ้าง ก็มีความรู้สึกว่าจะทำอย่างไรต่อ ให้เราคงคุณภาพตรงนี้ไว้ได้ และอยู่ได้อย่างสวยงามต่อไป เราเคยพูดประโยคนี้กับพี่ๆ ทีมงานว่า ตอนที่ยังไม่มีหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนตอนนี้ก็ถือว่ายากแล้ว แต่พอมีแล้วจะทำอย่างไรให้มันอยู่กับเราไปนานๆ ยากยิ่งกว่า
อยากชวนคุณลองทบทวนว่า เส้นทางการเป็นศิลปินตั้งแต่ปีแรกจนถึงตอนนี้ เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ไหม
เรารู้สึกว่ามันดีมาก เราเติบโตขึ้นในเรื่องต่างๆ แต่ถามว่าเป็นไปตามที่เราคิดทั้งหมดไหม ก็ไม่ บางอย่างก็เกินคาดไปเลย แต่บางอย่างก็ยังไม่ได้อย่างที่คิด แต่สุดท้ายก็เป็นสิ่งที่เราตัดสินใจทำไปแล้ว เราได้รู้ว่าเดินไปทางไหนโอเคหรือไม่โอเค แล้วเรียนรู้กับสิ่งที่เลือกไป พอทำเพลงมาเรื่อยๆ ก็เริ่มเรียนรู้ว่า เราไปคาดเดากับคนฟังไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปคนฟังจะแฮปปี้ไหม เขาจะอยากฟังหรือไม่อยากฟัง ถูกใจหรือไม่ถูกใจ คนที่ถูกใจก็มี ส่วนคนที่ฟังแล้วไม่ชอบก็ต้องมีเช่นกัน แต่สิ่งที่เราคาดเดาได้ คือความตั้งใจของเราในการทำงาน ในทุกงานเราจึงพยายามกลับมาคิดว่า มันมีทั้งเพลงที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่คิดไว้ แต่พอมารวมเป็นก้อนเดียวกัน มันคือจุดเดินทางที่ไม่ได้มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ เสมอไป เราแค่ต้องสนุกและเรียนรู้กับมันไป
แล้วคุณจะรู้สึกเฟลกับเรื่องไหนมากที่สุด
เราเป็นคนรู้สึกเฟลกับหลายเรื่องประมาณหนึ่ง แต่ที่จะเฟลมากที่สุดคือการทำให้คนอื่นเดือดร้อน เช่น เวลาทำงานแล้วเรากดดันตัวเอง จนไปทำให้คนรอบข้างหรือพี่ๆ ทีมงานเครียด แต่ก็พยายามไม่ทำให้เกิดขึ้น มันทำให้เราคิดเสมอว่า ถ้าทำแบบนี้ ทีมงานจะเป็นอย่างไร เพราะเราแคร์ความรู้สึกคนเยอะ
อีกเรื่องคือ ถ้าเกิดแอ็กซิเดนต์บนเวที หรือร้องเพี้ยนนิดหน่อย ก็จะรู้สึกเฟลกับตัวเอง อาชีพเราคือศิลปินร้องเพลง ถ้าวันไหนเรารู้สึกว่าร้องเพลงไม่เต็มร้อย จะรู้สึกเลยว่ารับผิดชอบอาชีพตัวเองได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ขึ้นไปโชว์ เราจะเต็มที่ที่สุดทุกครั้งในการร้องหรือการเพอร์ฟอร์ม เพราะเรารู้สึกว่า นี่คืออาชีพของเรา เราต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่ทำ ต้องไม่โกงคนดู หรือให้เขามาดูในสิ่งที่เราไม่เต็มที่
มีช่วงไหนที่คุณรู้สึกว่าไม่อยากขึ้นเวทีเลยบ้างไหม แล้วมีวิธีจัดการตัวเองอย่างไรให้สามารถขึ้นไปสนุกบนเวทีได้เต็มที่
ไม่เชิงนะ แต่อาจจะมีบางวันที่เครียดบ้าง เคยมีครั้งหนึ่งที่โหดสุด ประมาณสี่ปีที่แล้ว วันนั้นคุณปู่เสียที่บ้านตอนสิบโมงเช้า แล้วเราต้องขึ้นรถตู้ไปร้องเพลงต่อที่ต่างจังหวัดตอนสิบเอ็ดโมง มันเป็นจุดที่ยากที่สุดของการร้องเพลงเลย ด้วยความที่ตอนนั้นเราเพิ่งเป็นศิลปินได้ไม่นาน เราไม่รู้เรื่องการจัดการว่าสามารถแคนเซิลงานได้ไหม แต่ในเมื่อวันนั้นมันดำเนินไปแล้ว ด้วยสปิริตก็ต้องไป
จำได้ว่าวันนั้นเราหลับตาร้องเพลงแทบทั้งโชว์ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่พร้อม แต่พอผ่านไปครึ่งโชว์ เราคิดว่าปล่อยให้มันเป็นเรื่องของการแสดงไป คนที่มาดูเขาไม่ได้มีภาระที่จะต้องมารับความทุกข์ของเรา เขามาเพื่อรับความสุข วันนั้นก็ไม่ได้มีใครรับรู้ว่าคุณปู่ของเราเสียตอนเช้า เราก็มอบความสุขให้เขาเท่าที่เราทำได้
พอผ่านจุดนั้นมา ทุกครั้งที่จะขึ้นเวที เราจะพยายามตัดเรื่องข้างล่างทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครียด เรื่องนอยด์ หรือเสียใจ พอขึ้นเวทีก็เหมือนเป็นยาวิเศษอย่างหนึ่ง เพราะเป็นช่วงที่เราไม่ต้องคิดอะไรเลย ไม่ต้องเก็บเรื่องทุกข์ใจมาใส่สมอง และเราตั้งใจจะมอบโชว์ให้คนที่ตั้งใจมาดูจริงๆ
เป็นเรื่องยากไหมกับมุมมองคนนอกที่มองแค่มุมที่ว่า นักร้องเป็นอาชีพที่สนุก แต่ความจริงพวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีหลายมิติ มีการต่อสู้ในชีวิตที่ต้องผ่านมา และมีเรื่องทุกข์ใจนอกเวทีเช่นกัน
มันท้าทายจิตใจมากเลย แต่เราคิดว่าศิลปินทุกคนเก่งนะ เวลาที่เขาขึ้นไปแสดง เราแทบไม่รู้ความทุกข์เขาเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขารู้สึกอะไร เราเคยไปโชว์งานหนึ่งที่เป็นการบันทึกเทป พอถึงช่วงที่ร้องเพลง ยังรู้สึก ตอนร้องท่อน “อยากรู้เธออยู่ไหน เหมือนเดิมหรือเปล่า” แล้วเราคิดถึงคุณย่ามาก พี่ๆ ทีมงานทุกคนเห็นหมดเลย เขาคิดกันว่าจะเอาอย่างไรดี จะสั่งคัตดีไหม แต่พอผ่านมาเราก็บอกว่าไม่เป็นไร ปล่อยมันไป ให้เขาบันทึกไปเลยว่าปีนี้เรารู้สึกอย่างนี้
แสดงว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่ศิลปินจะแสดงความอ่อนแอออกมาให้แฟนเพลงเห็นบ้าง
ไม่ผิด เรามีอาชีพร้องเพลง เพลงแต่ละเพลงก็มีเนื้อเพลงหรือการสื่อสารความรู้สึกที่ต่างกัน เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องดีมากที่ศิลปินรู้สึกกับเพลงจริงๆ แล้วร้องออกมา เพราะในเมื่อเขารู้สึก คนดูย่อมรู้สึกตามอยู่แล้ว ไม่ว่าเขาจะอินเลิฟ หรือร้องเพลงเศร้า เพลงอกหัก เพลงแอบรัก หรืออะไรก็ตาม ไม่ใช่ศิลปินทุกคนจะเจอจุดนี้นะ สมมติเราร้องเพลงมาร้อยโชว์ มันคงมีบางจุดที่เราใช้ความรู้สึกเราไปแตะมันเองแบบบริสุทธิ์มากๆ และน้อยมากที่เราจะแสดงออกไปขนาดนั้น เพราะเราเองก็ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองบนเวทีอยู่แล้ว แต่จุดนั้นมันเป็นจุดที่เราไม่ไหวแล้ว มันเศร้า มันรู้สึกจริง ทุกคนก็เข้าใจนะ ไม่ได้มีใครบอกว่าไม่ Professional เขาไม่ได้มองกันในมุมนั้น แต่มองว่ามันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ
คนจะมองว่าคุณเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ เป็นไอดอล เป็นต้นแบบที่คนอยากตาม แต่มีมุมไหนไหมที่คุณคิดว่าคนยังไม่ค่อยรู้ และคุณอยากให้พวกเขารู้
เราเป็นคนที่แคร์ความรู้สึกทุกคนมาก ถึงขนาดนั่งอ่านคอมเมนต์หรือเก็บทุกอย่างมาใส่ใจ ไม่ว่าทุกคนจะเป็นเรื่องอะไร เราจะเก็บมาคิดหมดว่าเป็นแบบนั้นจริงไหม แล้วทำให้ดีขึ้นได้ไหม อยากให้รู้ว่า ไม่ว่าทุกคนจะชมหรือพูดอะไรในโซเชียลฯ ต่างๆ ถ้าบังเอิญไปเห็น เราจะเก็บมาทำการบ้าน เก็บมาคิด เก็บมาปรึกษาพี่ๆ เพื่อหาทางออกตลอด ซึ่งความจริงก็ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพจิตใจเท่าไร
เราเคยคุยกับศิลปินบางคนที่ชอบอ่านคอมเมนต์เหมือนกัน เขาบอกว่า ถ้าอันไหนจริงก็ดี อันไหนไม่จริงก็ปล่อยวางได้ ซึ่งเราก็เป็นคนที่ชอบตัดสินตัวเองตามฟีดแบ็ก แต่บางทีก็เก็บมาเป็นสิ่งลบๆ กับจิตใจเหมือนกัน มันเลยยากที่จะปล่อยวาง แต่เราคิดว่า ถ้าเปรียบเราเป็นสินค้าชิ้นหนึ่งในตลาด การที่คนจะมาคอมเมนต์เราฟรีๆ โดยไม่ต้องจ่ายเงินให้เขาทดลอง มันก็คือสิ่งที่ดี เราเลยชอบอ่าน ชอบเก็บมาดู
แต่ก็มีศิลปินหลายคนที่เลือกจะไม่อ่านคอมเมนต์ ไม่ดูโซเชียลฯ เลย
เราเคยพยายามตัดออกไปเหมือนกัน ในช่วงที่เจอเรื่องทุกข์ใจจนไม่ไหวแล้ว เช่น เรื่องที่บ้าน เรื่องคุณย่า หรืออะไรต่างๆ เราก็ตัดโซเชียลฯ ออกไปก่อน เพราะมันยังไม่ไหว แต่พอจิตใจกลับมาโอเค ก็ค่อยเริ่มดูพวกคอมเมนต์ต่างๆ ใหม่ แต่ก็ไม่ถึงขั้นเดินเข้าไปหาโซเชียลฯ ขนาดนั้น
ปกติคอมเมนต์ในโลกโซเชียลฯ เกี่ยวกับคุณจะเป็นคำชมส่วนใหญ่ แทบจะไม่เห็นคำตำหนิหรือเห็นข่าวไม่ดีเลย คุณมีวิธีดูแลตรงนี้อย่างไร
ความจริงไม่ได้ดูแลอะไรขนาดนั้น แต่อาจจะเป็นการวางตัวของเราด้วย คือเราไม่ได้วางตัวแบบหวือหวาหรือทำตัวเป็นสปอตไลต์ขนาดนั้น รวมถึงในชีวิตจริง ถ้าใครเจอเราในชีวิตปกติ เราก็เป็นคนธรรมดามาก ไม่ได้ใช้ชีวิตหรูหรา ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เราเจอ อาจจะมีแค่เรื่องโควิดที่ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างไปตามมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลตัวเอง
สิ่งที่เราโพสต์ลงไปในโซเชียลฯ ต่างๆ ก็อาจจะมีส่วน เราไม่ได้มีอะไรที่ดูรุนแรงหรือดูใจร้ายขนาดนั้น มันเลยทำให้เราค่อนข้างอยู่ในเซฟโซนประมาณหนึ่ง ในโซเชียลฯ คนจะไม่ค่อยรับรู้ถึงความรู้สึกของเราในมุมที่เป็นคนปกติเท่าไร เพราะเวลาโกรธใครเราก็ไม่ได้พิมพ์ลงไป และไม่ได้เป็นคนแบบนั้นอยู่แล้ว
สมัยอยู่โรงเรียนหรือมหาลัย บางทีโมโหรถติดเราก็พิมพ์ลงไป สุดท้ายกลายเป็นมาคิดว่า เราพิมพ์ให้ใครเห็น เราอยากบอกใคร เราอาจจะแค่อยากบ่นกับเพื่อนสักคนเฉยๆ เวลารู้สึกแบบนี้เราเลยเก็บไปบ่นกับพ่อแม่หรือเพื่อนแทน เราไม่ได้อยากบอกใครในเฟซบุ๊ก ในไอจี ว่าเซ็งอะไรอยู่ หรืออยากกินอะไรวันนี้ สิ่งที่คนจะเห็นในโซเชียลฯ ของเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นไลฟ์สไตล์บางอย่างที่ดูสบายๆ ไปกินข้าวกับเพื่อน ถ่ายรูปเล่น แบบนั้นมากกว่า
ฟังแล้วรู้สึกว่าคุณเป็นคนที่แคร์ความรู้สึกคนอื่นจริงๆ และไม่อยากปล่อย toxic หรือสิ่งลบๆ ไปให้คนอื่นที่ตามคุณในโซเชียลฯ
แต่การที่เราไม่ได้แชร์ลงไปในโซเชียลฯ หมายถึงคนที่อยู่รอบข้างจะโดนแทน (หัวเราะ) แต่เราคิดว่าการที่ได้บอกคนสิบคน ดีกว่าเราไปบอกคนพันคน เพราะสิบคนนี้เขาจะรู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร ทำไมเราถึงเครียดเรื่องนี้ รู้วิธีการรับมือ แต่ถ้าเราบ่นลงไปในโซเชียลฯ ซึ่งอาจจะมีเพื่อนพันกว่าคน แต่พันกว่าคนในนั้นไม่ได้เข้าใจเรา เขาเห็นแล้วอาจจะรู้สึกว่ารำคาญ จะบอกทำไม แต่พอเป็นแค่คนที่อยู่ในวงรอบข้างของเราก็เลยโดนหนักหน่อย (หัวเราะ)
ตอนนี้คุณอายุ 28 แล้ว จากวันที่เป็นน้องเล็กในค่ายเพลง BOXX MUSIC วันนี้ในค่ายก็มีศิลปินใหม่ๆ เต็มไปหมด การต้องกลายมาเป็นรุ่นพี่ ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปไหม
เปลี่ยนไปนะ บางทีเรารู้สึกว่าน้องๆ มองเราเก่งเกินไป ตอนแรกที่น้องๆ เข้ามา เรารู้เลยว่าเขาเก่งกว่าเรามาก แต่ว่าเขาไม่กล้าคุยกับเรา เราเองก็ไม่กล้าคุยกับน้อง แต่พี่ๆ ที่อยู่กับเรามานานอย่าง พี่ปอย (ปอย Portrait) พี่นัน (สุนันทา ยูรนิยม) จะรู้ว่าเราไม่มีอะไร เราติงต๊อง ทุกคนจะมองเราเป็นน้อง แต่พอกลายเป็นน้องๆ มามองเรา เขาจะมองประมาณว่า “พี่อิ้งค์เลยนะ” เพราะเขาติดภาพที่เคยเสพเพลงของเรา หรือเคยเจอเราที่คอนเสิร์ต แต่พอได้ไปต่างจังหวัด ไปเที่ยว ไปเล่นคอนเสิร์ตด้วยกัน เราก็พยายามนั่งคุยนั่งแชร์กับน้องเรื่อยๆ ตอนนี้ก็เริ่มคุยเยอะมากขึ้นแล้ว
เวลามองน้องๆ ศิลปินในค่ายวันนี้ คุณมองเห็นอะไรในตัวเขา เขามีความคิดที่เหมือนหรือแตกต่างจากคุณในวันที่เป็นน้องเล็กบ้างไหม
น้องๆ มีความแตกต่างจากเราประมาณหนึ่ง ทั้งที่อายุไม่ได้ต่างกันมาก ในความคิดของเรา คือเขาจะกล้ากว่าเราในหลายเรื่อง แต่บางเรื่องที่เขาต้องการคำปรึกษาก็จะมีมาถามบ้าง เราก็รู้สึกว่าได้เรียนรู้จากน้องเหมือนกัน น้องก็เรียนรู้จากเราได้ ทั้งในเรื่องของการทำเพลงและเรื่องของชีวิต
ก่อนหน้านี้ น้องเค้ก (SERIOUS BACON) ไม่สบาย ไปร้องเพลงแล้วเสียงไม่มี เขาก็ร้องไห้ ซึ่งเราก็เคยมีโมเมนต์นั้น เพราะตอนที่เราป่วยคือใช้เสียงสูงไม่ได้ แล้วก็เฟลกับตัวเองมากในช่วงนั้น พี่ๆ ในค่ายก็บอกให้ลองทักไปคุยกับน้อง เราเลยทักไปคุย บอกน้องว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แอ็กซิเดนต์แบบนี้ เราแก้ไขอย่างไร หรือทำอย่างไรกับโชว์ได้บ้าง บอกน้องว่าไม่ต้องเครียด มันเป็นเรื่องปกติ เราเป็นนักร้อง แล้วต้องใช้ร่างกาย ก็ต้องมีวันที่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์บ้าง
หลายคนมองว่า พออายุใกล้เลขสามจะเหมือนเป็นหมุดหมายอะไรบางอย่าง ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิต คุณเองมีทัศนคติหรือมุมมองต่อหมุดหมายนี้อย่างไรบ้างไหม
ตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำการบ้านอยู่ เรามองว่าวัยยี่สิบถึงยี่สิบปลายๆ เป็นช่วงที่ไม่ได้รู้สึกว่าต่างกันขนาดนั้น เราก็ยังเป็นตัวเราเหมือนเดิม แต่พอมาถึงช่วงที่น้องๆ ในค่ายมองเราเป็นซีเนียร์ เราก็คิดว่า พอก้าวผ่านวัยสามสิบไป จะทำอย่างไรให้ในวันที่เราไม่ได้เป็นน้องอิ้งค์แล้ว หรือไม่ได้เป็นคุณอิ้งค์ หรือไม่ได้เป็นคนที่ทุกคนเอ็นดูกับความน่าเอ็นดูแล้ว เราจะสามารถพาคุณภาพของตัวเองไปสู่อีกเลเวลหนึ่งได้ โดยไม่ต้องให้คนมาชื่นชมกับความน่ารักของเราตลอดเวลา เพราะเราคิดว่าทุกคนมีบันไดหรือกราฟชีวิตที่กำลังจะขึ้นไปในเรื่องของอายุ ทุกคนมีจุดที่พีกแล้วก็จุดที่ต้องลง แต่จะมีวิธีไหนที่ทำให้เรารับได้ ในวันที่อาจจะไม่ได้เท่าเดิมแล้ว ทั้งในเรื่องสภาพจิตใจและเรื่องผลงานที่จะทำต่อไป
มีใครในค่ายที่คุณมองว่าน่าสนใจในหมุดหมายของเลขสามบ้างไหม
พี่เอิ๊ต (ภัทรวี ศรีสันติสุข) เป็นคนหนึ่งที่เรารู้สึกว่า เขาอยู่ในวัยสามสิบแต่ดูเหมือนไม่สามสิบเลย เคยคุยกับพี่เขาเหมือนกัน เรารู้สึกว่าเราโตกว่าพี่เขาด้วยซ้ำในเรื่องการพูดจา (หัวเราะ) เวลาไปทัวร์กับพี่เอิ๊ต เราจะต้องไปนั่งเขียนคิ้วหรือแต่งหน้าให้ เพราะเขาเป็นคนที่ไลฟ์สไตล์เด็กมาก เขาคงความสดใสไว้ได้เรื่อยๆ ซึ่งทำให้เราเห็นว่า มันไม่ได้เป็นเรื่องของอายุ แต่เป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์มากกว่า
พูดถึงหมุดหมายในเรื่องของงานเพลงบ้าง คุณเพิ่งมีอัลบั้มเต็มแรกในชีวิต INK อัลบั้มนี้มีความสำคัญอย่างไร และทำไมถึงต้องเป็นปีนี้
อัลบั้มนี้วางแพลนมานานแล้ว เพราะปกติเราจะวางแพลนกับค่ายล่วงหน้าห้าปี ซึ่งก่อนหน้านี้เรามี อีพีอัลบั้ม Bliss (2560) แต่ไม่ใช่อัลบั้มเต็ม ความจริงแพลนปล่อยอัลบั้มเต็มจะอยู่ประมาณปลายปีที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์โควิดหรืออะไรต่างๆ ก็ต้องเลื่อน ซึ่งเราอยากจะปล่อยอัลบั้มแล้วมีคอนเสิร์ตเลย แต่ด้วยการทำอัลบั้มนี้ไม่ได้ราบรื่นเท่ากับตอนช่วงสถานการณ์ปกติ มันก็จะมีสิ่งที่ต้องคอยแก้ไข เช่น เรื่องความล่าช้าต่างๆ ที่พอจะทำคอนเสิร์ต สถานที่แสดงก็อาจจะยังจัดไม่ได้ จึงขยับมาเป็นปีนี้
อัลบั้มจะเริ่มจัดส่งเดือนนี้ (มิถุนายน 2565) แล้วคอนเสิร์ตก็จะตามมาหลังจากนั้นอีกประมาณสองถึงสามเดือน คือทำให้มันเป็นก้อนจบภายในปีนี้ไปเลย เราเป็นศิลปินมาตั้งหกปีแล้ว ทุกคนก็จะตกใจว่าเพิ่งมีอัลบั้มเต็มเหรอ ใช่ เพิ่งมี (หัวเราะ) เราอยากให้อัลบั้มนี้เป็นจุดเช็กอิน ที่คนที่เดินทางมากับเรา แฟนคลับที่ฟังเพลงเรามาทั้งหมด ได้เก็บสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้
ความรู้สึกของการมีอีพีอัลบั้ม กับอัลบั้มเต็ม ต่างกันเยอะไหม
ต่างกันเยอะนะ ตอนมีอีพีอัลบั้มก็ตื่นเต้น แต่มันเป็นการตื่นเต้นแบบไม่ได้คาดหวัง เพราะจำได้ว่าช่วงอีพีอัลบั้มก็มีการจัดคอนเสิร์ตปิดอัลบั้มเล็กๆ ที่ About Studio เหมือนกัน ตอนนั้นเป็นคอนเสิร์ตเดี่ยวที่เป็นโชว์เต็มๆ แรกของเรา มันตื่นเต้นเพราะไม่เคยจัดงานที่มีคนมาดูเราคนเดียวทั้งงาน แต่ตอนนั้นคนก็มาเต็มฮอลเลย แล้วก็มีการพรีออเดอร์ของต่างๆ หน้างาน เช่น แผ่นไวนิล
พอเป็นอัลบั้มเต็มในครั้งนี้ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่รวมความรู้สึกของเราทั้งหกปีเอาไว้ เพราะตอนอีพีอัลบั้ม ยังมีสิ่งที่เราไม่ได้พูดอีกเยอะ บางอย่างมันก็หายไปตามเวลา พอจะมีอัลบั้มเต็ม เราก็อยากให้มันเป็นความรู้สึกเหมือนว่า ทุกครั้งที่หยิบอัลบั้มนี้ขึ้นมา มันจะช่วยเติมพลังให้เราได้ด้วย และเป็นสิ่งที่ช่วยทบทวนความทรงจำของเราว่า ตอนนั้นเราทำอะไรอยู่ เรารู้สึกอย่างไร อัลบั้มเต็มนี้จึงใส่หลายอย่างเข้าไปค่อนข้างเยอะ หนึ่งในนั้นคือไดอารี่ที่เขียนเองหนึ่งเล่ม
ในการทำอัลบั้ม INK มีอะไรใหม่ๆ ที่คุณได้เรียนรู้เพิ่มเติมไหม
มีเยอะมาก เราได้เรียนรู้เรื่องเบื้องหลังมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการจัดการ สมมติก่อนทำอัลบั้มเราฟุ้งไปว่า อยากมีอะไรบ้าง หนึ่งสองสามสี่ห้า แต่พอตีราคามาก็เงิบเลย รู้สึกว่ามันแรงไป แต่พอจะให้ตัดอะไรออก ก็ไม่อยากตัดอะไรออกเลย เพราะชอบทุกอย่าง (หัวเราะ) มันเป็นอะไรที่ยิบย่อยมากในแต่ละชิ้น เหมือนต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด แต่ต้องทำให้อยู่ในงบจำกัดที่สุด ไหนจะเรื่องความเป็นไปได้ของการขาย ซึ่งตอนทำอีพีอัลบั้มเราไม่เคยต้องรู้เรื่องพวกนี้ แต่พอมาถึงอัลบั้มเต็ม เราก็อยากมีส่วนร่วมด้วย
อัลบั้มเต็มนี้เป็นงานที่รวมคนที่ช่วยเหลือเราเยอะมาก ทีมเมกอัพ ทีมสไตล์ลิสต์ เราต้องถ่ายภาพสำหรับอัลบั้มสิบเอ็ดลุคในหนึ่งวัน เป็นการเปลี่ยนชุดที่เยอะสุดในชีวิตแล้ว แต่ทุกคนสู้ตายมาก เราได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำเยอะมาก พอเปิดให้พรีออเดอร์อัลบั้ม กระแสตอบรับกลับมามีทั้งข้อดีและข้อที่อยากให้ปรับปรุง เราได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่คิดก็ไม่ได้ถูกใจทุกคนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้เครียดขนาดนั้น เพราะเราทำอัลบั้มนี้เพื่อให้คนที่เดินทางมากับเราได้เก็บสะสมไว้ อยากให้เขาได้รับอัลบั้มไปแล้วรู้สึกว่าคุ้มค่า
ในอัลบั้ม INK จะมีโฟโต้บุ๊กร้อยยี่สิบหน้า วัสดุทุกอย่างที่ใช้ทำ ความทรงจำทุกอย่างที่ใส่ลงไปมันแน่นมาก เราแฮปปี้กับการที่ทุกคนได้ฟังเพลง ส่วนการซื้ออัลบั้มเป็นเรื่องของแต่ละคน มีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าแฮปปี้ที่จะซื้อเราก็ดีใจมากๆ เพราะเข้าใจว่ามูลค่ามันค่อนข้างสูงในเรื่องราคา อันนี้ก็เครียดอยู่เหมือนกัน แต่อย่างที่บอกว่าไม่กล้าตัดอะไรออกไปเลย มันจึงต้องเป็นแบบนี้
อัลบั้มนี้จึงเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ความทรงจำ ที่คุณก็เข้าไปทบทวนความทรงจำของตัวเองได้ ส่วนแฟนเพลงก็เข้าไปดูสิ่งที่คุณเคยทำไว้ เป็นความทรงจำที่มีร่วมกัน
ใช่ ซึ่งตอนแรกก็รู้สึกว่าอยากให้ราคามันน้อยกว่านี้จัง แต่พยายามแล้วมันก็ได้เท่านี้จริงๆ (หัวเราะ)
ตอนนี้คุณมีความฝันเกี่ยวกับเรื่องงานเพลงที่อยากทำ แล้วยังมีความฝันในด้านอื่นๆ อีกบ้างไหม
(นิ่งคิด) ไม่ค่อยมีความฝันเรื่องอื่นๆ เท่าไร แต่จะคิดถึงสิ่งที่อยากทำหรืออยากเป็นต่อจากนี้มากกว่า เราอยากมีความสุขเยอะๆ อยากเป็นคนดูแลครอบครัวได้ ทำให้คนที่อยู่กับเรามีความสุขได้ อะไรที่ทุกวันนี้เราทำได้ก็ทำเลย เพราะตอนที่คุณย่าเสีย ก็รู้สึกว่าเรามีเวลาอยู่กับคนคนหนึ่งไม่เยอะ แม้ว่าจะอยู่กับคุณย่ามายี่สิบเจ็ดยี่สิบแปดปีแล้ว แต่รู้สึกว่ามันสั้นมากเลย ทุกวันนี้ถ้าเราทำอะไรให้คนที่เรารักมีความสุขได้ เราก็พร้อมจะทำเลย ไม่อยากรอแล้ว
ถ้าให้คุณสรุปชีวิตตัวเองในหนึ่งประโยค ในวัย 28 ปี จะสรุปว่าอย่างไร
เราคิดว่าตัวเองเป็นศิลปินที่ตั้งใจทำงานมาก เป็นลูก เป็นพี่ เป็นน้อง ที่น่ารัก แบบนี้ก็แล้วกัน (ยิ้ม)
Tags: The Frame, INK, อิ้งค์ วรันธร, Boxx Music, Ink Waruntorn, วรันธร เปานิล