แม้ปัจจุบันกลุ่มคนข้ามเพศในประเทศไทยจะต้องเผชิญหน้ากับมายาคติทางสังคมและความไม่เท่าเทียมในด้านของสิทธิทางกฎหมายหลายประการ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีบทบาทและเป็นสีสันแก่วงการบันเทิงไทย ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไร เราก็ยิ่งมองเห็นบทบาทของคนข้ามเพศในวงการอื่นๆ หลากหลายขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในฐานะนักวิชาการ นักการทูต นักกีฬา หรือบุคลากรทางการแพทย์

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ ประเทศไทยจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ประเทศที่เฟรนด์ลี่กับ LGBTQIA+ ที่สุดในเอเชีย’ และ ‘แดนสวรรค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ’

อย่างไรก็ตาม ‘บริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ’ ซึ่งเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดต่อคุณภาพชีวิตชาวสีรุ้ง กลับเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกสำรวจ หรือนำเสนอตามสื่อกระแสหลักอย่างถูกต้องสักเท่าไรนัก

เนื่องในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ คอลัมน์ The Chair จึงขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ ‘ศูนย์แปลงเพศครบวงจร’ โดย ‘โรงพยาบาลยันฮี’ ในแง่ของพัฒนาการของบริการสุขภาพคนข้ามเพศในประเทศไทย ผ่านบทสนทนาสบายๆ กับนายแพทย์โชคชัย อมรสวัสดิ์วัฒนา ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งและการแปลงเพศ

‘ความเข้าใจผิด’ ที่พบบ่อยเกี่ยวกับการแปลงเพศ

เมื่อเราต้องการที่จะเรียนรู้สิ่งใดก็ตามอย่างถ่องแท้ ขั้นตอนสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการ ‘Unlearn’ หรือละทิ้งสิ่งที่เคยรู้มา เพื่อลบความเข้าใจและภาพจำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งคำตอบจากปากของหมอโชคชัย ได้ไขข้อกระจ่างหลายประการ ได้แก่

1. ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับการแปลงเพศประการแรกคือ ความคิดที่ว่าเมื่อเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว คนข้ามเพศจะไม่สามารถมีความสุขทางเพศได้เหมือนกับผู้ที่มีเพศกำหนดสอดคล้องกับเพศสถานะ (Cisgender) โดยคุณหมอได้ยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ จากเทคนิคการแพทย์ที่ใช้ในการสร้างอวัยวะเพศชาย

ปัจจุบันมีทั้งเทคนิคการผ่าตัดที่ให้ผลลัพธ์ด้านการใช้งาน และเทคนิคที่ให้ผลลัพธ์ด้านการคงความรู้สึกทางเพศเหมือนคลิตอริส เพื่อสนองความต้องการของผู้เข้ารับผ่าตัด และไม่ว่าผู้รับบริการจะเลือกผ่าตัดด้วยเทคนิคใด ก็สามารถมีความสุขทางเพศได้

“เทคนิคเมตตอยด์ (Metoidioplasty) คือการสร้างองคชาตขนาดเล็ก (Microphallus) ด้วยการใช้คลิตอริสเดิมซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อผ่านการเทกฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน แม้การใช้งานด้วยการสอดใส่จะเป็นไปได้ยาก แต่ในด้านความรู้สึกทางเพศนั้น จะค่อยๆ กลับมาเองตามลำดับและระยะเวลาพักฟื้น

“ส่วนเทคนิคฟาลโล (Phalloplasty) ซึ่งเป็นที่นิยมกว่าที่โรงพยาบาลยันฮี คือสร้างอวัยวะเพศชายที่มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดของอวัยวะเพศชายในขณะแข็งตัว โดยการย้ายเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ มาเย็บปั้นเป็นอวัยวะเพศชายตามรูปร่างและขนาดที่ต้องการ

“สำหรับเทคนิคนี้ ความรู้สึกทางเพศในช่วงประมาณ 200 วันแรกหลังพักฟื้นอาจไม่แน่นอนบ้าง แต่หลังจากเส้นประสาทงอกสมบูรณ์ตามขนาดความยาวและผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถปรับตัวกับสรีระใหม่ได้ ก็จะสามารถมีความสุขทางเพศได้ตามปกติ มีข้อดีคือ สามารถใช้งานได้เกือบเหมือนอวัยวะเพศชาย โดยอาจใส่เครื่องมือที่ทำให้แข็งตัวสำหรับการสอดใส่”

2. ความเข้าใจผิดประการถัดมา คือการเปรียบวิธีผ่าตัดแปลงเพศเป็นเหมือนการกระโดดข้ามจากเพศกำหนด (Sex Assigned at Birth) ไปยังเพศตรงข้าม จากชายเป็นหญิง หรือจากหญิงเป็นชายแบบสลับขั้ว แต่ในความเป็นจริง การแปลงเพศก็เปรียบเสมือนการค่อยๆ เดินย่ำไปเรื่อยๆ บนเฉดสีของสเปกตรัม แน่นอนว่าจุดสิ้นสุดของการเดินทางย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

“ไม่ใช่คนข้ามเพศทุกคนที่ต้องการผ่าตัดอวัยวะเพศ ชายและหญิงข้ามเพศจำนวนมากโอเคที่จะหยุดการเดินทางของเขาไว้แค่ที่การตัดหรือเสริมหน้าอก โดยเฉพาะผู้ชาย ในประเทศไทยมีชายข้ามเพศแค่ 5-10% เท่านั้น ที่จะเลือกเดินหน้าผ่าตัดอวัยวะเพศต่อ ส่วนมากด้วยเหตุผลด้านความพึงพอใจส่วนตัว หรือด้านสถานะทางการเงิน

“นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้ารับการผ่าตัดกลุ่มนอนไบนารี (Non-binary) ซึ่งแต่ละคนก็มีความต้องการที่อาจเหมือน หรือแตกต่างออกไปจากคนข้ามเพศก็ได้ เช่น ต้องการลดขนาดหน้าอกแต่ไม่ได้ตัดออกทั้งหมด เป็นต้น”

3. ประการสุดท้าย คือหากพูดถึงการแปลงเพศในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ (Gender Transition) คำว่า ‘แปลงเพศ’ ย่อมไม่ได้หมายถึงแค่การผ่าตัดเพียงอย่างเดียว

สิ่งแรกๆ ที่หมอโชคชัยทำ เมื่อทีมสัมภาษณ์เดินทางไปถึง คือพิมพ์ลงในช่องค้นหาว่า ‘WPATH’ เพื่ออธิบายให้เราฟัง ถึงข้อตกลงสากลและไกด์ไลน์ของ ‘สมาคมวิชาชีพโลกว่าด้วยสุขภาพของคนข้ามเพศ’ (World Professional Association for Transgender Health)

“ในไกด์ไลน์ที่ว่า จะมีหลักปฏิบัติสากลของผู้มีวิชาชีพแขนงต่างๆ ที่มีส่วนในกระบวนการแปลงเพศ ไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงนักสังคมสงเคราะห์ที่จะดูแลเขาไปจนตลอดรอดฝั่ง เพื่อให้มั่นใจว่าเขาสามารถปรับตัวใช้ชีวิตในสังคมหลังจากแปลงเพศได้อย่างมีความสุข

“เพราะในความเป็นจริง การผ่าตัดเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในกระบวนการแปลงเพศของคนคนหนึ่ง คนข้ามเพศส่วนหนึ่งที่เลือกจะไม่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศใดๆ เลยก็มี น่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นที่จะมีนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้

“แต่ในด้านการให้คำปรึกษาและการประเมินความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ ที่โรงพยาบาลยันฮี เรามีก็แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่พร้อมให้ข้อมูลที่จำเป็นกับผู้รับบริการ”

ยันฮีกับบริการสุขภาพทั้ง ‘กาย’ และ ‘ใจ’ เพื่อคนข้ามเพศ

สาเหตุที่ศูนย์แปลงเพศของที่นี่ถูกเรียกว่า ‘ศูนย์แปลงเพศครบวงจร’ เพราะยันฮีมีศูนย์บริการสุขภาพคนข้ามเพศที่ครบวงจรจริงๆ เริ่มตั้งแต่การประเมินสภาพจิตใจโดยจิตแพทย์ การรับฮอร์โมนที่อยู่ภายใต้การดูแลของสูตินรีแพทย์ การผ่าตัดแปลงเพศโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

“ขั้นตอนการประเมินสภาพจิตใจนี่สำคัญมาก หลายคนมองจิตแพทย์ด้วยความรู้สึกกลัวว่าเขาจะมาตัดสินเราว่า ‘เป็น’ หรือ ‘ไม่เป็น’ แต่สิ่งที่จิตแพทย์ทำในกระบวนการนี้ คือการประเมินสภาพจิตใจ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และความพร้อมของผู้รับบริการเท่านั้น ส่วนเรื่องเป็นหรือไม่เป็น หรือการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง ถือเป็นเรื่องส่วนตัว

“นอกจากนี้ บริการของเรายังครอบคลุมไปถึงศัลยกรรมตกแต่งในส่วนอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและความสุขทางเพศสภาพของคนข้ามเพศ อย่างการผ่าตัดเปลี่ยนเสียง และศัลยกรรมปรับลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งรูปร่างหรือใบหน้า เช่น ในขณะที่ชายข้ามเพศนิยมเสริมจมูกหรือปรับโหนกแก้มให้ใบหน้าดูมีเหลี่ยมมุมขึ้น หญิงข้ามเพศจะนิยมกรอหน้าผากหรือตัดกรามให้ใบหน้าดูอ่อนหวานขึ้น เป็นต้น

“หรือแม้กระทั่งว่า หากผู้รับบริการมีความต้องการที่จะ ‘ย้อนกลับ’ ก็สามารถมาปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ได้ว่า ต้องการที่จะย้อนไปถึงขั้นไหน มีโอกาสสำเร็จเท่าไร แต่จากข้อมูลทางสถิติและประสบการณ์ส่วนตัว กรณีแบบนี้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะเรามีขั้นตอนการประเมินสภาพจิตใจ ซึ่งเป็นกลไกที่ใช้ในการลดโอกาสและความผิดพลาดของการตัดสินใจของผู้เข้ารับการผ่าตัดอยู่แล้ว”

‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคต’ ของการผ่าตัดแปลงเพศในไทย

ประเทศไทยเริ่มมีการผ่าตัดแปลงเพศมาตั้งแต่ปี 2518 และมีพัฒนาการทางการแพทย์ที่ถือว่าก้าวหน้าอย่างมาก โดยตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 5 ผู้นำด้านการผ่าตัดแปลงเพศของโลก และได้กลายมาเป็นจุดหมายในการเดินทางมาผ่าตัดแปลงเพศที่มีชื่อเสียงที่สุดในเอเชีย

หมอโชคชัยเล่าถึงอดีตในช่วงที่เขาเพิ่งเริ่มทำงานเป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดแปลงเพศได้ไม่นานด้วยรอยยิ้มว่า

“ผมมาทำงานในวงการนี้ได้ จากการชักชวนของรุ่นพี่ที่นับถือคือ พี่สุกิจ วรธำรง (หนึ่งในศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดแปลงเพศรุ่นบุกเบิกของยันฮี) เกิดจากการเฝ้ามองการทำงานของเขา และพบว่านี่เป็นงานฝีมือที่ศัลยแพทย์ต้องใช้ความเป็นศิลปินสูง เราสามารถทุ่มเทและใช้เวลากับมันได้เต็มที่ ไม่เร่งด่วนฉุกเฉินเหมือนการผ่าตัดอื่นๆ ซึ่งก็ตรงกับความชื่นชอบส่วนตัวของผม

“ประเทศไทยนี่มีชื่อเสียงด้านนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ต่างประเทศก็ต้องจ่ายเงินแพงๆ มาอบรมและดูงานกับเรา และในยุคแรกที่ผมเริ่มทำงาน คนไข้แทบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ ทั้งจากญี่ปุ่น จีน และชาติตะวันตก เรียกได้ว่าเกินร้อยละ 90 จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ที่เราเริ่มมีผู้รับบริการชาวไทยมากขึ้น ทำให้ตอนนี้สัดส่วนคนไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ของคนไข้ทั้งหมด”

หากกลับมามองที่ปัจจุบัน กลุ่มหญิงข้ามเพศ (Transwomen/Male-to-female: MTF) ถือเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนบำบัดได้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทั้งในฐานะยาที่ต้องใช้และไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์

ในขณะที่ขั้นตอนในการเข้าถึงฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของชายข้ามเพศ (Transmen/Female-to-male: FTM) ยังคงยุ่งยากและซับซ้อน จากผลสำรวจพบว่ามีชายข้ามเพศเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงการบำบัดด้วยฮอร์โมนได้ เมื่อเทียบกับหญิงข้ามเพศถึง 3 ใน 4 ที่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนได้แล้ว ถือว่ามีสัดส่วนน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับศูนย์แปลงเพศก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีสถานพยาบาลซึ่งเป็นศูนย์กลางสำหรับแปลงเพศจากชายเป็นหญิง (MTF) อยู่ในทุกภูมิภาค แต่ศูนย์แปลงเพศจากหญิงเป็นชาย (FTM) ยังถือว่ามีน้อยมากหากเทียบกัน ซึ่งยันฮีเป็นหนึ่งในนั้นที่มี

“เรื่องอนาคตคาดว่า คงมีศูนย์พยาบาลที่รองรับและมีศัลยแพทย์ที่หันมาสนใจการผ่าตัดรูปแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ดี ผมคงต้องขอเท้าความไปถึงข่าวที่ทุกคนน่าจะได้ยินผ่านหูกันมาบ้างเมื่อเร็วๆ นี้ นั่นคือ เรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

“เนื่องด้วยศัลยกรรมตกแต่งและการผ่าตัดแปลงเพศ ถือเป็นศัลยกรรมเสริมความงาม ทำให้ส่วนใหญ่จะมีแค่สถานพยาบาลเอกชนเท่านั้นที่รองรับ ส่วนบุคลากรที่สังกัดกับสถานพยาบาลของภาครัฐก็ดูแลเรื่องการรักษาโรคภัยไข้เจ็บเป็นหลัก

“หากประเทศไทยหันมาส่งเสริมด้านนี้ ก็ต้องมีการดึงบุคลากรจากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่า ปัญหารากฐานที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้จะได้รับการแก้ไขหรือไม่”

โรงพยาบาลยันฮีในฐานะองค์กร ‘เท่าเทียมทางเพศ’

“เราอาจไม่ได้มีนโยบายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศก็จริง แต่หากใครได้ลองมาทำงานที่นี่ ก็จะสังเกตเห็นได้เอง ว่าเราเป็นองค์กรที่โอบรับความหลากหลายทุกรูปแบบจริงๆ

“เริ่มตั้งแต่การจ้างงานโดยไม่มีการแบ่งแยก ไม่ใช่แค่เรื่องเพศเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้พิการและความหลากหลายในด้านอื่นๆ หลักฐานที่มีความเป็นรูปธรรมชัดเจนที่ชัดเจนที่สุด คือการที่เรามีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากมายทำงานอยู่ในฐานะบุคลากรขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล เภสัช หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายการต่างๆ”

“ในมุมมองของผม การที่องค์กรของเราโอบรับความหลากหลายเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องใช้นโยบายหรือกฎพิเศษใดๆ ไม่มีหลักการที่ซับซ้อนอะไรเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ตั้งอยู่บนสามัญสำนึกในการเคารพตัวตน การตัดสินใจของผู้อื่น และปฏิบัติต่อทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง โดยไม่แบ่งแยกว่าใครเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่เป็น เท่านั้นเอง”

Fact Box

  • ศูนย์แปลงเพศของโรงพยาบาลยันฮี เป็นศูนย์บริการสุขภาพคนข้ามเพศที่ครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ผู้ที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศ สามารถเริ่มรับบริการได้ตั้งแต่ขั้นตอนการเข้ารับคำปรึกษาเบื้องต้น การประเมินสภาพจิตใจโดยจิตแพทย์ การรับฮอร์โมนที่อยู่ภายใต้การดูแลของสูตินรีแพทย์ การผ่าตัดแปลงเพศ ตลอดจนศัลยกรรมปรับลักษณะทางกายภาพโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • วิธีการเดินทางไปยังศูนย์แปลงเพศครบวงจร โรงพยาบาลยันฮี สามารถขึ้นรถประจำทาง สาย 18, 110, 203, ปอ.18, ปอ.203 หรือรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีน้ำเงิน ลงที่สถานีบางอ้อ ทางออกที่ 4 (https://goo.gl/maps/jCgxKB5Na7CH3vweA)
  • ช่องทางการติดต่อ โทร. 02-879-0300 หรือทางเพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลยันฮี Yanhee Hospital
Tags: , , , , , , , , , , , , ,