หากใครเคยดูซีรีส์เรื่อง เลือดข้นคนจาง คงจะพอเห็นภาพว่าการทำธุรกิจกับคนในครอบครัวหรือ ‘ธุรกิจกงสี’ ไม่ได้สวยงามอย่างที่หลายคนคิด เพราะมันเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีกันในหมู่ญาติพี่น้อง อารมณ์เก็บกด ความเกรงอกเกรงใจ หรือแม้กระทั่งการเลือกที่รักมักที่ชัง แบ่งพรรคแบ่งพวก 

ถึงแม้ เลือดข้นคนจาง จะเป็นเพียงซีรีส์ในโลกมายา ทว่ารายละเอียดหลายอย่างในการทำธุรกิจกับครอบครัวนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง อันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เห็นจนชินตาในธุรกิจกงสี

The Momentum สนทนากับ ‘กวาง’ – เสสินัน นิ่มสุวรรณ์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ทำที่บ้าน ผู้เป็นตัวแทนถ่ายทอดเล่าเรื่องราวของเหล่าทายาทธุรกิจกงสี ว่าพวกเขาต้องประสบพบเจออะไรบ้าง พร้อมแชร์บทเรียนต่างๆ จากมุมมองของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกับสมาชิกครอบครัว ซึ่งแลกมาด้วยน้ำตาและเสียงหัวเราะ เพื่อให้กำลังใจและให้คำปรึกษาแก่ใครก็ตามที่ต้องรับบท ‘ทายาทกงสี’ ว่าเส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายเลย

ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเพจ ‘ทำที่บ้าน’ หน่อยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

มันเริ่มต้นจากเราเติบโตในจังหวัดลพบุรี ที่บ้านทำธุรกิจเป็นปั๊มน้ำมันเล็กๆ ในยุคที่ยังไม่มีปั๊ม ปตท. ใหญ่โตหรูหราเท่าตอนนี้ สมัยนั้นในปั๊มยังมีแค่ร้านขายของชำเล็กๆ เราก็โตมากับบรรยากาศเหล่านี้มาตั้งแต่อายุยังน้อย จากนั้นพอเรียนจบวิศวะฯ ก็ตัดสินใจว่าจะกลับมาช่วยที่บ้าน กลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว 

ตอนกลับมา เราก็วาดฝันอะไรไว้หลายอย่าง วางแผนว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จะทำธุรกิจอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น สมัยแม่เราเคยมีสมุดจดมิเตอร์น้ำมันเล่มใหญ่สีเขียว แล้วก็มีบันทึกเซ็นชื่อเข้าออกของพนักงาน สมุดจดบันทึกใบกำกับภาษีต่างๆ นาๆ เป็นระบบแบบใช้มือเขียนทั้งหมดเลย พอเราเห็นอย่างนั้นมาตลอด เราก็อยากจะเปลี่ยนเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาเพิ่มความสะดวกสบาย แต่พอเอาเข้าจริง เขาก็ยังไม่ค่อยเชื่อมือเรา ไม่เชื่อในสิ่งที่เราเสนอไป มันก็กลายเป็นปัญหาว่าทำไมพ่อแม่ไม่ฟังเรา ทั้งที่เราอยากทำอะไรหลายๆ อย่างให้มันดีขึ้น แต่เขากลับไม่ฟังเรา ไม่อนุญาต ซึ่งพอเราไปคุยกับเพื่อนๆ ที่กลับไปทำธุรกิจกับที่บ้านเหมือนเรา ก็พบว่าทุกคนเจอปัญหาแบบเดียวกันเลย 

เราเลยคิดว่าทำไมปัญหานี้มันถึงกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย ก็ไปปรึกษารุ่นพี่ ปรึกษาใครหลายคนที่ประสบปัญหาเดียวกัน ก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง พยายามไปฟังพอดแคสต์ ไปหาหนังสืออ่านว่าการรับมือกับผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไรก็ไม่มี เราก็ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาเรื่อยๆ จนสามารถเอาตัวรอดผ่านมันมาได้ เราเลยรู้สึกว่าอยากจะเป็นตัวแทนของเหล่าทายาท ออกมาเล่าเรื่องราวและปัญหาต่างๆ ที่ทายาทธุรกิจของครอบครัวต้องเจอ

หลักๆ คือเราจะเล่าประสบการณ์ของตัวเอง หยิบเอาประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ต้องเจอมาตลอด 7 ปี ในฐานะทายาท ซึ่งพอเราเล่าเรื่องทุกอย่างของตัวเองจนหมดแล้ว แต่ปัญหาที่ทายาทต้องเจอมันก็ยังมีอีกมากมายที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ก็เลยเอาปัญหาต่างๆ ที่ลูกเพจหลายคนซึ่งเป็นทายาทเหมือนกันส่งข้อความเข้ามา เช่น การเป็นทายาทเจ้าของโรงงานต้องทำยังไง เราก็ไปถามคนที่เป็นทายาทธุรกิจโรงงานที่ประสบความสำเร็จว่าเขามีเคล็ดลับอะไร ทำแบบนี้เรื่อยมาจนกลายเป็นเพจทำที่บ้านอย่างทุกวันนี้

คุณเรียนจบวิศวะฯ ซึ่งดูจะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจปั๊มน้ำมันสักเท่าไหร่ อะไรทำให้ตัดสินใจกลับมาช่วยงานที่บ้าน

การกลับมาช่วยงานที่บ้านมันเหมือนเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้มาตั้งแต่แรก เพราะเราเป็นน้องคนเล็ก อายุห่างจากพี่ๆ 4 ปี บวกกับพี่ๆ เขาไปเป็นอาจารย์ ไปทำอะไรอย่างอื่นกันหมด ถ้าเกิดว่าเราไม่เข้ามาทำตรงนี้ ธุรกิจที่บ้านก็จะหายไป เราไม่อยากปล่อยให้สิ่งที่เราผูกพันกับมันมาทั้งชีวิตหายไป สมัยก่อนเราวิ่งเล่นกับพี่ๆ หลังปั๊มน้ำมัน ก็รู้สึกผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ 

โดยส่วนตัว พอเรียนวิศวะฯ เราก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ อยากเป็นนักธุรกิจ ทำธุรกิจของตัวเองมากกว่า เพราะฉะนั้น ก็เลยรู้สึกว่าการกลับมาช่วยที่บ้านทำธุรกิจต่อนั้นมันเหมาะกับเรา ซึ่งก่อนหน้านี้สมัยยังเรียนอยู่ เราก็ช่วยที่บ้านมาตลอด แต่ไม่ได้ช่วยเยอะมาก ช่วยเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอมมากกว่า ก็เลยรู้สึกมีความผูกพันอะไรบางอย่างอยู่

เหตุผลของการกลับไปสานต่อธุรกิจที่บ้านของคุณ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องความรักความผูกพันมากกว่าความรับผิดชอบ

จริงๆ มันมีทั้ง 2 แบบนะ เราเคยทำโพลในเพจเล่นๆ โดยตั้งคำถามว่า ‘คุณกลับไปทำธุรกิจกับที่บ้านด้วยเหตุผลไหนมากกว่ากัน ระหว่างความตั้งใจหรือความรับผิดชอบ’ เกือบ 80% ตอบว่าความรับผิดชอบ พอเห็นอย่างนั้นเราก็ประหลาดใจ กลายเป็นว่าเราเป็นส่วนน้อยเสียอย่างนั้น เพราะเราอยากกลับไปทำธุรกิจที่บ้านด้วยความตั้งใจของเราจริงๆ เราไม่เคยมองว่ามันเป็นความรับผิดชอบ ซึ่งคนที่กลับไปด้วยความรับผิดชอบก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยเกิดปัญหาเยอะ ทายาทเหล่านั้นไม่ได้มีแรงจูงใจ หรืออยากจะทำสิ่งนี้ตั้งแต่แรก บางคนมันมีราคาที่ต้องจ่าย อย่างความฝันหรืองานที่ชอบที่เคยคิดไว้ สุดท้ายพอต้องกลับมาทำธุรกิจที่บ้านเพียงเพราะความรับผิดชอบ ไอ้ความรับผิดชอบนี่แหละ ทำให้เกิดปัญหาได้

เพราะเหตุนี้หรือเปล่า คุณจึงนิยามปัญหาการทำธุรกิจกับที่บ้านว่าเป็นปัญหาเรื้อรัง 

ส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ คำว่า ‘เรื้อรัง’ ในที่นี้ หมายความว่ามันเป็นปัญหาที่ฝังรากหยั่งลึก ไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลานาน เรารู้สึกว่าการทำธุรกิจครอบครัวในเมืองไทยนั้นมีความยากอยู่ เพราะว่าเรามีวัฒนธรรมของความกตัญญูกตเวที ความเชื่อที่ว่าต้องตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ซึ่งมันสร้างความลำบากใจต่อคนที่เป็นทายาท 

เราไม่ได้มองว่ามันเป็นความผิดเลย หากทายาทคนไหนไม่อยากกลับไปทำธุรกิจที่บ้าน ความกตัญญูไม่สามารถวัดได้ด้วยการกลับไปช่วยทำธุรกิจของที่บ้าน เราสามารถแสดงความกตัญญูของเราต่อผู้มีพระคุณ ต่อผู้ใหญ่ได้ แม้เราจะทำงานอะไรก็ตาม มันไม่จำเป็นว่าการกลับไปช่วยที่บ้านเท่ากับกตัญญู เราอาจจะไม่กตัญญูก็ได้ แม้เรากลับไปช่วยที่บ้าน แต่เราทำงานไปแบบส่งๆ ปล่อยปะละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่เต็มที่กับมัน ถ้าเรารู้สึกว่าจำเป็นต้องกลับไปสานต่อธุรกิจที่บ้านเพียงเพราะครอบครัวของเราสร้างเอาไว้ ถ้าคิดแบบนี้มันก็ไม่ดีต่อตัวธุรกิจเองด้วย เพราะว่าเราไม่ได้มีแรงจูงใจ มันก็ยากที่งานจะออกมาดี นอกจากนั้นมันจะส่งผลให้เกิดปัญหากับผู้ใหญ่ที่เราทำงานด้วย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าทายาทนั้นไม่ได้มีแรงจูงใจมากพอที่จะไปทำ

เรื่องความรับผิดชอบนี้คือปัญหาหลักของเหล่าทายาทหรือเปล่า หรือว่ามันมี pain point อย่างอื่นที่มากกว่านั้น

มีครับ มันจะมีปัญหาที่เป็นรูปแบบหลักๆ อยู่ เราเคยนั่งจัดรูปแบบว่าเหล่าทายาทที่กลับมาสานต่อธุรกิจของที่บ้านนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง ก็พบว่า 1. พ่อแม่ไม่ฟัง 2. ผู้ใหญ่ไม่ให้โอกาส 3. ระบบกงสี พี่ทำหนัก น้องไม่ทำ แต่สุดท้ายได้เงินเท่ากัน หรือญาติเอาเงินไปใช้ สุดท้ายปัญหามันก็วนอยู่แค่นี้ 

จริงอยู่ที่แต่ละครอบครัวก็มีปัญหาแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่สุดท้ายแล้วปัญหาหลักๆ มันก็จะวนเวียนอยู่แค่ 2-3 เรื่องนี้ เราเลยรู้สึกว่าต้องจัดกลุ่มให้ปัญหาเหล่านี้ และหาสาเหตุที่แท้จริงของมัน ถ้าเราไปถามทายาทว่าเจอปัญหาอะไรบ้าง พวกเขาก็จะบอกว่าผู้ใหญ่ไม่ให้โอกาสเขาบ้าง ผู้ใหญ่ไม่ฟังเขาบ้าง แต่พอเราได้มีโอกาสไปถามผู้ใหญ่ดูบ้างว่าการที่ทายาทกลับมาช่วยนั้นมันสร้างปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งพวกเขาก็มีปัญหาจริงๆ เหมือนกัน โดยปัญหาหลักที่พวกเขาเจอก็คือทายาทยังไม่ได้แสดงฝีมืออะไรให้เห็นเลย แต่เอะอะก็จะลงทุนเพิ่มอย่างเดียว 

พอได้ยินแบบนั้น เราก็นึกย้อนถึงตัวเองตอนที่กลับไปช่วยที่บ้านในช่วงแรกๆ เราก็เป็นคนหนึ่งที่ทำแบบนั้น เพราะเราก็อยากจะลงทุนเพิ่ม เราบอกแม่ว่าควรเปิดสาขาเพิ่ม ทั้งที่เรายังไม่ได้แสดงอะไรบางอย่างให้เขาเห็นเลยว่าเราดีพอ ซึ่งต่อมาภายหลัง พอเรารู้ว่าทั้งทายาทรุ่นใหม่และผู้ใหญ่รุ่นเก่ามีปัญหาด้วยกันทั้งคู่ แล้วจุดเชื่อมของปัญหานี้มันคืออะไร เราก็เลยย้อนกลับไปหาปัญหาเดียวก็คือ การยอมรับ

ผู้ใหญ่เองก็ยังไม่ยอมรับว่าทายาทมีฝีมือ ทายาทเองก็ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองให้ผู้ใหญ่เห็น สุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายควรต้องมาเจอกันตรงกลาง ผู้ใหญ่ก็ต้องให้โอกาสทายาทรุ่นใหม่ในการพิสูจน์ฝีมือบ้าง ด้วยงานเล็กๆ ก่อนก็ได้ ส่วนทายาทก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราก็มีฝีมือ มันคือการลดอีโก้ของตัวเองลงมาทั้งสองฝ่าย

วิธีถอยคนละก้าวแบบนี้ เป็นวิธีที่ทำได้ในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วหรือเปล่า แล้วถ้าเกิดธุรกิจนั้นกำลังย่ำแย่ และต้องการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยทันทีล่ะ 

เราเห็นด้วยที่ว่าวิธีการถอยคนละก้าวเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลจริง แต่ว่าธุรกิจนั้นต้องมีความแข็งแกร่งพอที่จะมีการเปิดพื้นที่ให้ลองทำอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง ซึ่งพอเราได้คุยกับทายาทหลายคน สิ่งแรกที่เราถามก่อนเลยก็คือ สถานการณ์ธุรกิจของที่บ้านตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเกิดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะต้องอาศัย ‘การบริการจัดการในภาวะวิกฤต’ (crisis management) มันก็ไม่มีเวลาที่จะมานั่งรอคอยหรือถอยคนละก้าว เราจะแนะนำให้ทายาทคนนั้นจำลองสถานการณ์แบบสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบมาให้ผู้ใหญ่เห็นเลย จะไม่คุยกันเรื่องการพิสูจน์ตัวเองแล้ว เพราะว่าบางธุรกิจไม่สามารถเสียเวลานานขนาดนั้นได้ แต่ว่าให้ทายาทนั้นวางตัวในลักษณะของ ‘เอางานไปขาย’

การเอางานไปขายในที่นี้หมายถึง การที่ทายาทที่กลับมาช่วยที่บ้านนั้นต้องพูดกับพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ของครอบครัวในลักษณะที่สนิทสนมเช่น ‘ป๊าทำแบบนี้สิ’ ‘ม้าทำอย่างนั้นสิ’ จริงๆ แล้วมันคือการขายไอเดีย เมื่อธุรกิจอยู่ในภาวะวิกฤต เราต้องทำทุกอย่างให้เขาเห็นชัดๆ เลยว่า จะใช้เงินเท่าไหร่ ทำอะไรบ้าง ผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงมากแค่ไหน ถ้าไม่ทำจะเป็นอย่างไร และสำคัญที่สุดคือ ถ้าทำสำเร็จจะเป็นยังไง นี่คือการทำงานแบบมืออาชีพ

แล้วคุณมีการพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวยอมรับอย่างไรบ้าง 

สำหรับเรายังไม่เคยต้องทำถึงขั้นขายงานแบบมืออาชีพอย่างที่บอกไป แต่เราจะพยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยเรื่องเล็กๆ ไปทีละนิด วิธีการของเราที่ทำก็คือการ ‘ตอด’ งานไปทีละนิด

ธุรกิจที่บ้านเราคือปั๊มน้ำมัน ซึ่งมันก็ไม่ได้เจอวิกฤตอะไรขนาดนั้น ไม่ได้มีอะไรเร่งด่วน งานที่เราต้องทำตอนแรกคือการจดบันทึกเข้าออกของพนักงาน จดบัญชีเป็นปึกๆ เช็กไลน์คน นั่งนับเงิน นั่งเฝ้าปั๊มตลอดเวลา ซึ่งเขาก็ทำเหมือนเดิมแบบนี้มา 20 ปี พอเราเข้ามามันก็คงไม่แฟร์กับเขาเท่าไหร่ ถ้าเราจะเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่างที่เขาทำกันมาเป็นสิบปีให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่เขาไม่รู้จักเลย

ก็เลยรู้สึกว่าการตอดงานนี่แหละคือคำตอบ เราใช้วิธีการไปทำงานแทนเขา เริ่มจากมิเตอร์น้ำมันง่ายๆ ก่อน เป็นมิเตอร์น้ำมันที่จดอยู่ในสมุดหนาแข็งๆ เราก็บอกแม่ว่าให้สอนหน่อย เดี๋ยวจะทำให้ ตอนนั้นเขาก็สอนด้วยวิธีแบบที่เขารู้ เขาจดมือ เราก็จดมือ ทำงานในวิธีของเขาไปเรื่อยๆ ข้อดีของการทำแบบนี้มันทำให้เรารู้ที่มาที่ไปของทุกอย่างที่เกิดขึ้น งานที่ต้องทำด้วยมือแบบนี้ทำให้เราเห็นภาพรวมของทุกอย่างว่ามันคืออะไร แล้วพอวันหนึ่งเขาเห็นว่าเราทำได้ ก็ไว้ใจให้เราทำ เราก็ค่อยเปลี่ยนมาใช้วิธีแบบที่เราอยากใช้ พอเปลี่ยนมาใช้ตาราง Excel เราใช้โปรแกรม HR ทำงานแทน ก็ไม่มีใครมาว่า เพราะต่อให้ระบบใหม่นี้มีปัญหา เราก็ยังสามารถกลับไปใช้วิธีแบบดั้งเดิมเหมือนเก่าได้

นี่มันคือการพิสูจน์ตัวเองแบบหนึ่งด้วยการแสดงให้เขาเห็นว่า เรื่องที่เขาทำได้ เราก็สามารถทำได้เช่นกัน เราไม่ได้ปฏิเสธวิธีการของเขา จากนั้นเราก็ค่อยๆ ตอดงานทีละส่วนไปเรื่อยๆ เริ่มจากมิเตอร์น้ำมัน ก็ไปเรื่องบุคลากร ไปเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่อยๆ สุดท้ายพอเวลาผ่านไป เขาก็จะไว้ใจเอง พอเราอยากจะทำอะไรที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มันก็ง่ายมากขึ้นที่เขาจะไว้ใจให้เราทำ

มีชุดความคิดชุดหนึ่งที่เราเคยคุยกับทายาทของรองเท้านันยาง เขาบอกเราว่าการกลับไปสานต่อธุรกิจที่บ้านคือการที่เราไปทำงาน แต่เราไม่ได้กลับไปเป็นเจ้าของ เพราะการที่เรากลับไปทำธุรกิจของที่บ้านนั้นก็เหมือนการทำงานอยู่ในบริษัทๆ หนึ่ง เพียงแต่ว่าครอบครับของเราเป็นเจ้าของ สุดท้ายตัวเราก็เป็นพนักงานคนหนึ่ง

สมมติเราเพิ่งได้งานใหม่ในบริษัทหนึ่ง เป็นพนักงานทั่วไป ถ้าเราเดินไปบอกเจ้าของว่าเราอยากจะไปเปลี่ยนตรงนั้นตรงนี้ เขาคงไม่ยอม เพราะเราเป็นใครก็ไม่รู้ จะไปเปลี่ยนทุกอย่างได้ยังไง แต่ทำไมทายาทหลายคนพอกลับไปทำธุรกิจที่บ้านถึงยังทำแบบนี้ เพราะว่าหลายคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ กลับไปจะทำอะไรก็ได้ คุณอาจจะเป็นพนักงานระดับ C-Level แต่คุณก็ยังไม่ได้มีสิทธิ์ทำแบบนี้ เพราะว่าคุณก็คือพนักงานคนหนึ่ง

แล้วถ้าไม่ถอยคนละก้าว มีวิธีอื่นอีกไหม 

ผมจะเป็นสายประนีประนอม (หัวเราะ) แต่ก็มีทายาทหลายคนที่เป็นสายดื้อ สายไม้แข็ง ยกตัวอย่าง ทายาทของแบรนด์ข้าวตราไก่แจ้ สมัยก่อน ตอนเขากลับไปช่วยธุรกิจที่บ้านแรกๆ ข้าวตราไก่แจ้ขายอยู่แค่ 3 อำเภอในจังหวัดชลบุรี ซึ่งทายาทคนนี้ไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม และต้องการเปลี่ยนทุกอย่างทันทีโดยไม่ประนีประนอม เขาก็ทำสำเร็จ แต่กว่าจะสำเร็จได้ก็ทะเลาะกันบ้านจะแตกไปหลายรอบ 

ทายาทคนนี้เขาใช้คำว่าดื้อ เราต้องดื้อที่จะทำ ถ้าเราเชื่อจริงๆ เขาเริ่มจากการดื้อโดยการไปซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาแทนที่วิธีจดลงสมุด จ้างคนงานมาทำแบบไม่ปรึกษาใคร แต่สุดท้ายพอผลลัพธ์มันสำเร็จ ทุกอย่างก็จะเงียบไปเอง ซึ่งพอเขาทำสำเร็จแล้ว เขาก็ไม่ได้ไปทับถมเหยียดหยามใส่ครอบครัวนะ เขาก็พยายามดื้อเรื่องอื่นต่อไปเรื่อยๆ 

ถ้าจะใช้วิธีดื้อแบบนี้ต้องเริ่มต้นดื้อด้วยเรื่องเล็กๆ ที่มันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เยอะ ทายาทคนนี้เริ่มจากใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และสอนพนักงานทุกคนให้ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โปรแกรมได้ จนทุกคนสามารถขายของได้หมดในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งพอมีเวลามากขึ้น เขาก็เอาเวลาไปขยายสาขาให้มากกว่า 3 อำเภอ จนตอนนี้ข้าวตราไก่แจ้ขายทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วย ทุกอย่างเริ่มจากการดื้อของทายาทคนนั้น

ที่จริงแล้ว ในหลายๆ ครอบครัว สุดท้ายต่อให้เราถอยแค่ไหน เขาก็ยังไม่ยอม ซึ่งก็ต้องดูพื้นฐานของแต่ละครอบครัวด้วยว่า เขาเคยทะเลาะกันมาเยอะมากแค่ไหน หรือมีปัญหาอะไรในครอบครัวอยู่แล้วหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้นต่อให้พิสูจน์ตัวเองแค่ไหน เขาก็ไม่ยอมรับ เราจะบอกเสมอว่าคนที่เป็นทายาทไม่ได้มีสถานะต่างจากคนอื่นเลย เพียงแต่ว่าเราโชคดีที่มีทางเลือกมากกว่าคนอื่นหนึ่งทาง นั่นก็คือการช่วยธุรกิจครอบครัว มันคือการสมัครงานที่แทบจะการันตีว่าเราจะได้งานแน่ๆ มันได้เปรียบแค่ตรงนี้ ที่เหลือก็ไม่ต่างจากคนอื่น

การดื้อแบบนี้จะบั่นทอนความสัมพันธ์ของเรากับคนในครอบครัวไหม

ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันในครอบครัว ถ้าดื้อสำเร็จมันก็พูดง่าย ขอยกตัวอย่างจากทายาทข้าวตราไก่แจ้อีกครั้งที่เล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาก็ดื้อไม่สำเร็จ เขาเคยรับเซลล์คนหนึ่งมาทำงาน แล้วเซลล์คนนั้นก็ทุจริต แทนที่พ่อของเขาจะต่อว่าลูกเสียๆ หายๆ ก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ว่าอะไรเลยสักคำ เพราะพ่อเขาเห็นความตั้งใจที่ลูกต้องการพัฒนาธุรกิจของที่บ้านจริงๆ 

พอเป็นครอบครัวแล้ว ทำให้ความเด็ดขาดในการตัดสินใจซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจหายไปไหม

แน่นอนว่าครอบครัวมันตัดกันไม่ขาด ตอบยาก เพราะว่าเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆ แล้ว เราจะสามารถปฏิบัติกับครอบครัวได้เหมือนกับพนักงานคนหนึ่งหรือไม่ แต่ธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวในปัจจุบัน มันมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปเป็นธุรกิจแบบมืออาชีพมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละครอบครัวอยู่ดี

ยกตัวอย่างตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างเซ็นทรัล เขาจะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมนูญครอบครัว’ ซึ่งธรรมนูญครอบครัวของเซ็นทรัลจะมีการเขียนอย่างละเอียดเลยว่า คนในครอบครัวไปทำงานในบริษัทได้ไหม ถ้าทำแล้วมีโอกาสเติบโตอย่างไรบ้าง หรือคนในตระกูลจะสามารถออกไปทำธุรกิจส่วนตัวได้ไหม หรือถ้าเกิดออกไปทำธุรกิจส่วนตัวแล้ว จะได้รับส่วนแบ่งของตระกูลน้อยลงหรือเปล่า ซึ่งในธรรมนูญนี้ก็จะมีการเขียนไว้อีกว่า ถ้าเกิดว่าคนในครอบครัวทำผิดเช่น ไปเปิดธุรกิจแข่งโดยตรงกับเซ็นทรัล หรือทำความผิดอย่างอื่น ก็จะมีการเขียนระบุไว้อย่างชัดเจนหมดว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างของการทำให้ธุรกิจครอบครัวเป็นมืออาชีพ

แต่สำหรับธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ที่ยังไปไม่ถึงจุดของเซ็นทรัล เราว่าไม่ต้องถึงขั้นมีธรรมนูญครอบครัวแบบยิ่งใหญ่หรอก แต่ว่าต้องมีกติกาว่าเราจะทำงานร่วมกันอย่างมืออาชีพ เราจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรเวลาทำงานด้วยกัน ซึ่งถ้าเราไม่มีกติกาตรงนี้ ความเป็นครอบครัวก็จะกลับมาทำร้ายธุรกิจเอง

สำหรับคนที่มีพื้นฐานความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว สามารถใช้การสานต่อธุรกิจเป็นการฟื้นความสัมพันธ์ของครอบครัวได้ไหม

ความยากของธุรกิจครอบครัวนั้นมี 2 ข้อ ข้อแรกคือการพิสูจน์ตัวเอง และข้อสองคือเราต้องบริหารธุรกิจตัวเองไปพร้อมๆ กับบริหารความสัมพันธ์ของครอบครัว 

คนพูดกันเสมอว่าเราต้องแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงาน แต่พอเอาเข้าจริงๆ องค์กรทุกที่ไม่มีใครสามารถแบ่งแยก 2 สิ่งนี้ได้อย่างหมดจดหรอก ยังไงมันก็จะต้องมีคนที่เราไม่ชอบหรือคนที่เราไม่อยากคุยด้วย ธุรกิจที่บ้านก็เหมือนกัน เราก็ไม่สามารถแยกเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าพื้นฐานครอบครัวเราไม่ดีอยู่แล้ว เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คือถ้าพื้นฐานความสัมพันธ์ภายในครอบครัวดี มันจะเป็นสปริงบอร์ด ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น แต่ถ้าพื้นฐานแย่ ทุกอย่างมันจะแย่ลงทวีคูณ ฉะนั้น เวลาทายาทกลับไปทำธุรกิจกับที่บ้านก็ต้องคอยบริหารความสัมพันธ์ตรงนี้ด้วย 

คิดอย่างไรกับค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างธุรกิจตัวเอง ด้วยมือของตัวเอง มันจะทำให้ธุรกิจครอบครัวหายไปไหม

เราว่าค่านิยมเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) นั้น สุดท้ายมันก็เป็นแค่ทางเลือกหนึ่ง การกลับไปช่วยงานที่บ้านมันก็เป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเช่นเดียวกัน เพราะว่าทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินใจ ถ้าเกิดว่าเราอยากเป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเองอย่างแท้จริง เราก็ไม่ต้องกลับมาทำงานที่บ้านก็ได้ 

แต่สำหรับการกลับมาทำงานที่บ้านนั้น เราอยากให้ทุกคนคิดถึงมันสักนิดก่อน ลองวิเคราะห์ดูว่ามันเป็นตัวเลือกแบบไหน ดีหรือไม่ดียังไง เราจะไม่ทำเพราะอะไร คือมันไม่ผิด ถ้าเราเลือกที่จะไม่สานต่อมัน แค่มันน่าเสียดายที่ว่าอะไรที่มันอยู่มาเป็นสิบๆ ปี ที่มันได้สร้างอะไรหลายๆ อย่างมามันจะหายไป

พี่นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ ทายาทธุรกิจโรงงานไม้ที่ตอนนี้ทำแบรนด์ flo furniture เคยบอกว่า อะไรที่ทำมาเกิน 10-20 ปี มันต้องมีทองอยู่ในนั้น และถ้าเราสามารถต่อยอดจากจุดนั้นได้ เราจะสามารถพามันไปได้ไกลมาก ทั้งหมดนี้เราก็แค่อยากให้ลองพิจารณาให้ดีเสียก่อน มองทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่ แล้วค่อยตัดสินใจ

มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘อาถรรพ์ของทายาทรุ่นที่ 3’ อยู่ สำหรับคุณ อาถรรพ์นี้เป็นจริงแค่ไหน

เราเคยไปอ่านบทวิจัยของ PWC ที่เกี่ยวกับทายาทของธุรกิจครอบครัว งานวิจัยชิ้นนั้นบอกว่า ทายาทรุ่นที่ 2 เหลือแค่ 40% เท่านั้นที่สานต่อธุรกิจต่อจากที่บ้าน ส่วนรุ่นที่ 3 นั้นเหลือแค่ 10% เท่านั้น เพราะฉะนั้น อาถรรพ์ของทายาทรุ่นที่ 3 มันก็คงจริงอยู่ในระดับหนึ่งเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

แต่เรามองว่ามันมาจากหลายอย่าง หลายปัจจัย หลายเหตุผล อันดับแรกสุดคือการจัดการในครอบครัว เช่น ในธุรกิจกงสี เริ่มจากบรรพบุรุษโล้สำเภาข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำธุรกิจที่ดินแดนใหม่ พอมีลูกเยอะๆ ก็เอาลูกมาเป็นแรงงานช่วยกันทำธุรกิจครอบครัวจนเติบใหญ่ แต่ช่วงเวลาที่เขาช่วยกันในตอนนั้นไม่ได้รับการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้น จะมาจัดการตอนที่ธุรกิจมันประสบความสำเร็จแล้ว เค้กก้อนใหญ่ขึ้นแล้วมันก็ทำให้เกิดปัญหาเยอะ ถ้าไม่ได้จัดการอย่างเป็นธรรมจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในครอบครัวจีนมักจะมีวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ลูกชายต้องให้มากกว่า ผู้หญิงให้น้อยกว่า เพราะว่าเดี๋ยวก็ต้องแต่งงานออกไป ฉะนั้น สิ่งนี้คือการจัดการไม่เป็นธรรม จนมันกลายเป็นการผลักทายาทออกไปโดยไม่รู้ตัว เพราะว่าเมื่อเขาเห็นพ่อแม่ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว สุดท้ายธุรกิจมันก็จะจบที่รุ่นที่ 3

อีกปัจจัยหนึ่งก็คือการรับมือกับการเติบโตของธุรกิจ เรารู้สึกว่าธุรกิจนั้นจำเป็นต้องเติบโตให้ทันกับครอบครัว สมมติว่าเราเปิดร้านข้าวมันไก่ใต้ตึก มีลูก 2 คน เราก็พอเลี้ยงได้ แต่ถ้าลูกมีหลาน หลานมีเหลน แค่ข้าวมันไก่ร้านเดียวมันก็เลี้ยงครอบครัวใหญ่ๆ ไม่ได้ ดังนั้นธุรกิจก็ต้องเติบโตให้ทันกับครอบครัวด้วย ไม่อย่างนั้นธุรกิจครอบครัวก็จะไปต่อไม่ได้

ส่วนข้อสุดท้ายคือเรื่องทัศนคติของตัวทายาทเอง เราคิดว่าทายาทรุ่นหลังๆ เขาเริ่มมีโอกาส มีต้นทุนในการลองผิดลองถูก ตามหาสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ออกไปเจอโลกข้างนอก จนธุรกิจครอบครัวกลายเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น โดยที่เขาอาจจะไม่ชอบก็ได้ วลีที่ว่า ‘รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองสาน รุ่นสามทำลาย’ มันเกิดจาก 3 เหตุผลนี้

แบบนี้ก็แสดงว่าความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวสามารถกลับมาทำลายธุรกิจของตัวเองได้เหมือนกันใช่ไหม

ขึ้นอยู่กับการปลูกฝังค่านิยมด้วยส่วนหนึ่ง เช่น ครอบครัวใหญ่ๆ พอมีลูกหลานแล้วให้เข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจของครอบครัวมากแค่ไหน ให้พวกเขามาลองนั่งหน้าร้าน เป็นพนักงานร้าน เรียนรู้ซึมซับสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ยังเด็ก โอกาสที่เด็กคนนั้นจะรู้สึกผูกพันกับธุรกิจก็มีสูง 

แต่ขณะเดียวกัน ธุรกิจครอบครัวต้องกลายเป็นธุรกิจมืออาชีพให้ได้ ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องเอาคนนอกเข้ามาช่วยงาน คนที่เป็นคนเก่งจริงๆ เชี่ยวชาญในสายงานของตัวเองจริงๆ สมมติเราทำธุรกิจแล้วเราเอาตั่วกงมาทำบัญชี เอาเหล่าอี๊มาช่วยเป็นเซลล์ แต่เราจะสามารถแข่งขันกับธุรกิจที่เอานักบัญชี นักการตลาดจริงๆ ได้ไหมล่ะ เหล่าอี๊เราก็คงสู้เขาไม่ไหวเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ธุรกิจครอบครัวต้องแปลงตัวเองไปสู่ธุรกิจมืออาชีพ การที่เราเอาแต่จะรั้งคนในครอบครัวไว้ในธุรกิจนั้นมันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดีกับตัวธุรกิจเองก็ได้

ถามว่า แล้วจะให้คนในครอบครัวไปไหนล่ะ การได้รายได้จากธุรกิจครอบครัวนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการให้รายได้โดยตรงแบบเงินเดือนหรือสวัสดิการเสมอไป แต่สามารถให้ในลักษณะของเงินปันผล หรือแบ่งหุ้นให้ก็ได้ ต่อให้ทายาทหรือคนในครอบครัวไม่ได้ทำอะไร เขาก็ยังมีหุ้นของธุรกิจอยู่ แล้วเราเอามืออาชีพเก่งๆ เข้ามาทำงานจะดีกว่า เพื่อที่จะให้ธุรกิจมันไปต่อได้

แสดงว่าโมเดลการทำธุรกิจแบบนี้ คือคำตอบและทางรอดของธุรกิจครอบครัว

เราว่าในปัจุบันมันกำลังเดินไปในทิศทางนี้หมดเลย พอมีโอกาสได้ไปคุยกับทายาทหลายคน เขาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าธุรกิจครอบครัวต้องไปต่อด้วยแนวทางนี้ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ 

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีธุรกิจที่ดีเสมอไป ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีธุรกิจที่มีรายได้เยอะ บางทีธุรกิจครอบครัวอาจจะกำลังแย่ก็ได้ ทายาทบางคนเริ่มต้นด้วยการกลับไปช่วยที่บ้านพร้อมกับหนี้ 30 ล้าน มันไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่มันติดลบเลยสำหรับบางคน

อีกทั้งการเป็นทายาทมันมีความกดดันสูงด้วย เพราะว่าทายาทกำลังแบกประวัติศาสตร์ของธุรกิจนั้นอยู่บนบ่า การที่ธุรกิจบางอย่างมันสามารถอยู่ได้มาเป็นสิบๆ ปี แล้วส่งต่อมาให้เราได้ แปลว่าคนก่อนหน้าเรานั้นทำไว้ดีมาก และต่อจากนี้ไป ถ้ามันจะเจ๊งก็เจ๊งเพราะมือของเราล้วนๆ ขณะเดียวกัน พอมาอยู่ในมือเรา แล้วเราทำได้ดีเท่าเขา เราก็จะถูกมองว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ กินใบบุญพ่อแม่ 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทายาทนั้นไฟแรงอยากจะทำทุกอย่าง เปลี่ยนแปลงทุกอย่างในรุ่นของตัวเอง อยากจะพิสูจน์ตัวเองให้คนข้างนอกเห็นฝีมือตัวเอง แล้วสุดท้ายมันก็จะวนอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการเป็นทายาทธุรกิจ

ถ้าพูดในมุมมองเศรษฐกิจ หากทายาทเหล่านั้นที่ออกไปเก็บเกี่ยวความรู้ข้างนอกกลับมาพัฒนาธุรกิจของครอบครัวตัวเอง มันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร

ก็ช่วยนะ ยกตัวอย่างตัวเราเองหลังจากกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน เราก็สามารถดูแลลูกค้าได้กลุ่มหนึ่ง และเราก็ไปเปิดสาขาเพิ่ม ซึ่งมันก็สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ เราเลื่อนขั้นให้กับพนักงานเราที่อยู่มานานมาขึ้นไปเป็นผู้บริหารได้มากขึ้น มันเป็นเรื่องดีที่ทายาททุกคนกลับมาช่วยกระจายความเจริญ แต่ว่ามันช่วยได้ไม่มากหรอก สุดท้ายเราก็ต้องพึ่งพาภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และเอื้อต่อการที่จะให้ทุกคนกลับมาช่วยกันกระจายความเจริญได้ 

เรารู้สึกว่าการเติบโตของธุรกิจของตัวเองมันกำลังตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะว่าธุรกิจปั๊มน้ำมันนั้นต้องอุ้มธุรกิจย่อยๆ อีกมากมายอยู่ในพื้นที่ปั๊มน้ำมันแห่งนี้ ทั้งร้านขายของชำ ร้านกาแฟ ร้านอาหารแฟรนไชส์ แต่มันเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มาจากส่วนกลาง การที่มีเราอยู่ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ SME รอบๆ จนสุดท้ายรายได้ที่เข้ามาทางเราก็กลับไปหาส่วนกลางอยู่ดี มันคือการขัดความเจริญของ SME รายย่อยๆ มันคือการลดรายได้ของพวกเขาในทางอ้อมเหมือนกัน ซึ่งการที่ธุรกิจปั๊มน้ำมันเติบโตนี้ มันกำลังสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านการคมนาคมในพื้นที่ต่างจังหวัด 

เราเจ็บใจที่ธุรกิจเรามันดีได้เพราะว่าคนแถวนั้นไม่ได้รับการขนส่งสาธารณะที่ดี คือแถวบ้าน ที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี แค่รถเมล์ยังไม่มีเลย แล้วทางออกของคนในพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังที่ต่างๆ คือการออกรถมอเตอร์ไซค์ เพราะว่าเขาไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดี แล้วต้นทุนในชีวิตเขาที่จะเอาไปทำธุรกิจก็หายไปอีก 

เคยเห็นประเทศไหนบ้างที่ร้านสะดวกซื้อหรือร้านกาแฟอยู่ในปั๊มน้ำมัน ร้านเหล่านี้ควรอยู่ที่สถานีรถไฟ เพราะว่าคนจำนวนมากควรจะเดินทางด้วยวิธีนั้น แต่ที่ประเทศไทยกลับอยู่ในปั๊มน้ำมัน เพราะการขนส่งสาธารณะไม่ดี ทุกคนถูกบีบให้ต้องมีรถส่วนตัว พอมีรถ ปั๊มน้ำมันก็เจริญตามไปในทางอ้อม คือการทำธุรกิจในต่างจังหวัดมันก็ช่วยกระจายความเจริญได้ในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายเราก็ต้องพึ่งภาครัฐอยู่ดีที่ต้องสนับสนุนเรื่องนี้ ต่อให้ SME เจริญมากแค่ไหน งานที่มีคุณภาพดีๆ เหมือนในกรุงเทพฯ ก็ยังหาได้ยาก สมมติคุณเรียนจบการตลาดแล้วอยากจะทำอาชีพ AE (account executive) ถามว่ามันจะมีงาน AE ให้ทำในต่างจังหวัดไหม ถ้ารัฐไม่สนับสนุนคนตัวเล็กๆ ต่อให้ช่วยกันมากแค่ไหนมันก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้

แล้วรัฐจะทำอะไรได้บ้างในการช่วยส่งเสริมความเจริญของ SME ในต่างจังหวัด หรือธุรกิจครอบครัว 

อย่างแรกสุดเลยคือ ต้องมีรัฐสวัสดิการที่ดี เช่น การขนส่งสาธารณะที่ดี ลองนึกภาพดูว่าถ้าบ้านเราอยู่อยุธยา แล้วสามารถมาทำงานในกรุงเทพฯ ได้ด้วยรถไฟความเร็วสูง คนคนนั้นทำงานได้เงินจากบริษัทในกรุงเทพฯ แล้วก็นำเงินนั้นกลับมาใช้ในบ้านเกิดตัวเองที่อยุธยา ความเจริญมันก็กระจายไปยังต่างจังหวัด มันคือการดูดเงินในกรุงเทพฯ ให้ไหลมาอยู่ที่ต่างจังหวัด

ต่อมา ถ้าเขามองเห็นเส้นทางในการเป็นผู้ประกอบการที่อยุธยา เขาก็สามารถทำธุรกิจในพื้นที่ จากนั้นคนกรุงเทพฯ ก็จะกระจายมาที่อยุธยาได้ มันคือกระจายความเจริญอย่างแท้จริง ด้วยเพียงแค่ระบบขนส่งสาธารณะที่ดี

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการปฐมพยาบาลที่ดี การทำนโยบายเพื่อดึงแรงงานมาต่างจังหวัด หรือต่อให้ธุรกิจในต่างจังหวัดขยายจริง แต่การขนส่งสาธารณะไม่ตามมา รัฐสวัสดิการไม่ตามมา คนก็ไม่ยินดีที่จะกลับมาทำธุรกิจที่ภูมิลำเนาของตัวเองอยู่ดี เรารู้สึกโกรธว่าทำไมคนไทย ไม่ว่าจะเกิดอะไร เราก็มีชุดความคิดที่ต้องกลับมาช่วยตัวเองตลอดเวลา เวลาอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลนก็ต้องบริจาค เวลาไม่มีรถเมล์ก็ซื้อมอเตอร์ไซค์ หน้าแล้งเราก็ขุดน้ำบาดาลเอง แค่นี้ต้นทุนชีวิตในต่างจังหวัดมันก็แย่อยู่แล้ว ทำไมเราต้องเพิ่มต้นทุนในการใช้ชีวิตของคนต่างจังหวัดเข้าไปอีกด้วย

ถ้าให้เลือกรัฐสวัสดิการหนึ่งอย่างในตอนนี้ เพื่อส่งเสริมธุรกิจครอบครัวในต่างจังหวัดให้เกิดความเจริญ คุณจะเลือกอะไร

เราว่ามันคือเรื่องของการสนับสนุนเงินทุน เพราะว่า SME ในต่างจังหวัดนั้นมีโอกาสเข้าถึงเงินทุนในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจยากมาก เวลาขอสินเชื่อทำได้ยากมาก และถึงแม้จะขอสินเชื่อได้แล้ว มันก็ต้องมีแรงจูงใจอีกหลายอย่างที่รัฐควรทำให้เราเดินหน้าไปต่อได้ เช่น เราอยู่ในจังหวัดที่ปลูกข้าวเยอะ ข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แล้วการที่รัฐไม่มีนโยบายในการสนับสนุนเรื่องของการแปรรูปข้าวที่จำกัดให้ข้าวนั้นเป็นเพียงแค่ข้าว แต่ในทางกลับกัน เราเป็นทายาทที่บ้านเราทำธุรกิจเกี่ยวกับสวน ไร่ นา ปลูกข้าว แล้วอยากจะตัดวงจรที่มีนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้องออกไป ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปหรือโรงสีข้าว เพื่อไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่น สาเกชุมชนหรือเหล้า เราก็ทำไม่ได้ นอกจากมีเงินทุนแล้ว มันต้องมีนโยบายที่จะมาสนับสนุนเราในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากได้มากๆ คือการปกป้องสินค้าชุมชน เวลาเราไปเที่ยวต่างจังหวัด ลงใต้ไปหัวหิน เราไปเดินตามร้านขายของฝาก ทำไมหน้าตาของฝากมันเหมือนกันหมดเลย ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน แปลว่าเราไม่มีของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนนั้นจริงๆ ใช่ไหม ถ้าเราไปอเมริกาแล้วเราไปซื้อเหล้าจากรัฐอื่นที่ไม่ใช่รัฐเคนทักกี เราก็เรียกว่าเป็นเหล้าเบอร์เบินไม่ได้ หรือถ้าเราไปญี่ปุ่น ในแต่ละจังหวัดก็จะมีของที่หาได้แค่ที่นี่เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นนมหรือเนื้อวากิวของจังหวัดต่างๆ เนื้อโกเบจะเป็นเนื้อโกเบไม่ได้ ถ้าวัวตัวนี้ถูกเลี้ยงที่จังหวัดอื่นที่ไม่ใช่โกเบ สิ่งนี้แหละ ที่ประเทศไทยยังขาดการปกป้องสินค้าจากชุมชน เพื่อที่จะทำให้การทำธุรกิจครอบครัวในต่างจังหวัด และ SME ตัวเล็กๆ ได้รับความเจริญอย่างเท่าเทียมจริงๆ

Tags: , , ,