ก่อนที่จะควักเงินซื้ออะไรสักอย่าง เราคิดถึงอะไรบ้าง? 

ในฐานะผู้บริโภค การเลือกจับจ่ายใช้สอยอะไรสักอย่างอาจต้องคำนึงถึงราคาและความพึงพอใจของตัวเราเป็นหลัก แต่สำหรับ ‘พล’ – อมรพล หุวะนันทน์ และ ‘แอ๋ม’ – ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ สองผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อ ‘moreloop’ พวกเขาเชื่อว่าการบริโภค รวมถึงการผลิต สามารถสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้มากกว่านั้น ถึงแม้จะเป็นการกระทำเพียงเล็กๆ ก็ตาม

The Momentum สนทนากับ ‘พล’ – อมรพล หุวะนันทน์ และ ‘แอ๋ม’ – ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ สองผู้ก่อตั้ง moreloop แพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำพาองค์ความรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมไปสู่ผู้บริโภค ผ่านการ Upcycling ผ้าเหลือใช้จากอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งยังส่งต่อแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ทุกคนได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จนได้รับรางวัล SEED Low Carbon Awards 2021

จุดเริ่มต้นของ moreloop คืออะไร ทำไมขยะที่เราเห็นจนชินตาถึงเป็นสิ่งมีค่าสำหรับคุณเพียงพอที่จะต่อยอดเป็นธุรกิจได้

อมรพล: ก็เริ่มจากสองฝั่งครับ เป็นฝั่ง pain กับฝั่ง passion ด้วยความที่ว่าเราจะเป็นสตาร์ทอัพ ก็จำเป็นที่จะต้องมีทั้ง 2 ฝั่งอยู่แล้ว เริ่มจาก Passion ก็จะมาจากฝั่งผม ส่วน Pain ก็คือฝั่งของแอ๋ม 

ผมตามหา passion ของตัวเองมานาน ครอบครัวผมไม่ได้มีธุรกิจอะไรเป็นของตัวเองเลย แล้วผมก็ตั้งเป้าอยากจะเป็นพนักงานเงินเดือนที่ดี ใช้ชีวิตตามทำนองคลองธรรมแบบที่ครอบครัวหวังไว้ แต่พอทำงานไปได้ 10 กว่าปี ก็เกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘เราทำได้แค่นี้หรือ’ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้มีพื้นฐานด้านการทำธุรกิจเลย ก็ต้องทำงานไปเรื่อยๆ จนมาเจอคำคำหนึ่งที่น่าสนใจที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ ก็คือการที่เราจะสามารถทำธุรกิจที่สร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้

ช่วงนั้นมีเพื่อนหลายคนเริ่มชวนไปลงทุนด้วย แต่เราไม่มีความรู้อะไรมากนัก ก็เลยลองไปเรียนดูก่อน จนมารู้จักกับคำว่า ‘สตาร์ทอัพ’ ก็คิดว่านี่คือสิ่งที่จะทำให้เราสร้างธุรกิจแบบใหม่ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ประจวบเหมาะกับที่ตอนนั้นงานประจำก็เริ่มที่จะอยู่ตัว สุดท้ายจึงตัดสินใจลาออกมาทำอะไรบางอย่างที่มันอยู่ในร่มของสตาร์ทอัพ อะไรที่เราสนใจ และสามารถแก้ไขมันได้แบบยาวๆ

สาเหตุที่สนใจเรื่องขยะก็มาจากการที่เราเคยเรียนตอนเด็กๆ ว่าวันหนึ่งขยะจะล้นโลก เพราะพลาสติกใช้เวลา 500 ปีในการย่อยสลาย เราก็นึกตามว่า เออ มันอายุยืนกว่าปู่ยาตายายเราอีก ตอนนั้นก็คิดว่าคงอีกนานมากแน่ๆ แต่เอาเข้าจริงไม่ถึง 30 ปี มันก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกไปแล้ว

เราเลยอยากจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ ผ่านกระบวนการทำธุรกิจอะไรบางอย่างไปด้วย ผมมองว่าหนึ่งในทางออกที่จะแก้ปัญหาขยะล้นโลกได้ดีที่สุด ก็คือการสร้างตลาดให้กับขยะ เพราะว่าคนในตลาดขยะจะไม่เรียกขยะว่าเป็นขยะ แต่จะเรียกว่ามันเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นเราเลยมองว่าถ้าจะสร้างตลาดออนไลน์ขึ้นมาให้กับวัตถุดิบเหลือๆ พวกนี้ มันน่าจะเป็นอะไรที่เราสามารถปั้นเป็นธุรกิจได้ และแก้ปัญหาขยะล้นโลกไปได้พร้อมๆ กัน

ธมลวรรณ: เราเป็นทายาทรุ่นที่สองของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออก ซึ่งโรงงานเราเป็นโรงงานแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) ต้องผลิตเสื้อผ้าตามออร์เดอร์ที่ได้รับมาจากแบรนด์ที่สั่งเท่านั้น พอเราสั่งวัตถุดิบ ก็ต้องสั่งแบบเผื่อสูญเสีย เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าของที่มามันจะพอดีหรือมีตำหนิมากแค่ไหน ซึ่งการสั่งวัตถุดิบเผื่อสูญเสียแบบนี้มันเป็นธรรมชาติของอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว ถ้าเรามองเป็นตัวเลขมันก็ดูน้อย แค่ 1-3% เท่านั้นที่จะเสีย แต่คิดดูว่า 1% ของวัตถุดิบสเกลใหญ่ มันจะมีวัตถุดิบเหลือทิ้งมากขนาดไหน

Pain point ของเราก็คือ การเห็น ‘ของเหลือ’ จากการสั่งเผื่อ หรือ human error ต่างๆ ที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ พอมันเหลือแบบนี้ เราก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นขยะนะ แต่เรียกมันว่า Dead Stock คำมันฟังดูแย่มาก Dead แปลว่าตาย Stock แปลว่าเก็บ ทั้งเก็บทั้งตาย มันเลยกลายมาเป็นของที่ไม่ได้รับการหมุนเวียนเลย

พอมาช่วยงานที่บ้านมาได้สักพัก เราก็พยายามหาวิธีที่จะใช้งานวัตถุดิบเหล่านี้ พยายามดูว่ามีวิธีอะไรบ้างที่จะจัดการกับ Dead Stock เหล่านี้ได้ วิธีแรกคือการขายทิ้งให้กับรถเหมาชั่งกิโลขาย ซึ่งคนที่ซื้อไปจะไม่รู้เลยว่ากว่าเราจะได้ผ้าผืนนี้มามันยากขนาดไหน หรือจริงๆ แล้วมันสามารถขายได้ราคาเท่าไร ทำอะไรได้บ้าง และในฐานะผู้ประกอบการ ก็ทำใจขายไม่ได้ เลยเก็บเอาไว้ แต่ถ้าเก็บไว้นานเกินไปจนเสื่อม เราก็ต้องหาที่ทำลายมันทิ้งอีก พอเป็นแบบนี้เราก็เลยมาลองหาดูว่าช่วงก่อนที่ผ้า Dead Stock จะเสื่อมมันสามารถทำอะไรได้บ้าง มันน่าเสียดาย ทำไมวัตถุดิบของเรามันโดนด้อยค่าไวจัง มันเป็น Pain Point ที่ติดอยู่ในใจมาตลอด สรุปก็คือมันเริ่มจากความอยากแก้ไขปัญหาของตัวเอง ไม่ได้อยากแก้ไขปัญหาให้โลก 

จนกระทั่งวันหนึ่งเราไถเฟซบุ๊ก แล้วไปเจอพี่พลโพสต์เกี่ยวกับ ‘มาร์เก็ตเพลส’ ที่เป็นสตาร์ทอัพตัวเก่าของเขา เราก็เลยโทรหาพี่พลเพื่อขอความรู้ด้านการทำตลอดออนไลน์ คุยกันไปมาก็สนใจในไอเดียที่ว่าจะทำตลาดจาก industrial waste (ขยะอุตสาหกรรม) เหมือนกันพอดี มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ moreloop

หลังจากนั้นเราตัดสินใจกันว่าจะเริ่มต้นสร้างตลาดให้กับขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่น เพราะว่าการที่จะทำเสื้อผ้าออกมาแต่ละชุดมันมีกระบวนการเยอะ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งในทุกกระบวนการก็จะ industrial waste ของตัวเอง ซึ่งเราพยายามที่จะไม่ด้อยค่ามันด้วยการเรียกมันว่า Dead Stock แต่จะเรียกมันว่า Surplus Fabric หรือว่า ‘ผ้าส่วนเกิน’ แทน ซึ่งเราได้สำรวจโรงงานที่มีผ้าส่วนเกินเหล่านี้กว่า 70 โรงงานแล้วนำมาอยู่บนแพลตฟอร์มที่อนุญาตให้เราเอาผ้าเหลือของพวกเขามาผลิตต่อได้

อยากให้ลองเทียบความท้าทายเมื่อตอนเริ่มต้น กับความท้าทายที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันให้ฟังหน่อย 

อมรพล: สิ่งที่ยากในการทำสตาร์ทอัพก็คือการที่มันมีหลายเส้นทางที่ต้องเดิน ในทุกช่วงเวลามันก็มีความยาก มีความท้าทายแตกต่างกัน ช่วงแรกก็คือการเริ่มต้นคิดไอเดีย แล้วนำไอเดียนี้ไปสื่อสารอย่างไรให้คนรู้เรื่อง และคงไว้ซึ่งการสื่อสารนั้นจนมันสามารถอยู่ในรูปแบบของธุรกิจได้ 

มันคือการบอกว่า เรามีธุรกิจประมาณนี้อยู่นะ แล้วสื่อสารกับคนที่จะมาเป็นลูกค้าให้เขาเชื่อไปกับเรา เชื่อว่าเราสามารถแก้ปัญหาให้กับเขาได้ด้วยไอเดียแบบนี้ โดยเฉพาะกับ moreloop ซึ่งมีลูกค้า 2 กลุ่มที่เราจะสามารถไปแก้ pain point ให้กับเขาได้ กลุ่มแรกคือคนในอุตสาหกรรมที่มีผ้าเหลือ อีกกลุ่มคือคนที่จะมาซื้อสินค้าของเรา เพราะฉะนั้นการสื่อสารไปยังคน 2 กลุ่มด้วยข้อความเดียวมันยากมากในตอนแรกที่เริ่มทำ

จากนั้นพอมีลูกค้าเข้ามาจริงๆ ความยากขั้นต่อไปก็คือเรื่องของภาคปฏิบัติการ (operation) สิ่งที่เราต้องทำมันมีอะไรบ้าง มันคือการลงมือปฏิบัติจริง ต้องติดต่อลูกค้ายังไง ถ่ายรูปผ้าของเขายังไง เอาภาพนั้นขึ้นเว็บยังไง เป็นการเอาไอเดียมาลงมือทำให้กลายเป็นจริง 

ตัดภาพมายังปัจจุบัน พอธุรกิจเราเริ่มเกิดแล้ว ความยากในตอนนี้ก็คือการดูแลโมเดลทางธุรกิจให้มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้เยอะมากขึ้น ใหญ่มากขึ้น รวมถึงการหาคนมาร่วมทีม ช่วยเราในสิ่งที่เราพยายามปูทางมันมาเพื่อให้ธุรกิจนี้มันเติบโตขึ้นตามเป้าหมาย

moreloop ทำธุรกิจแบบ Social Enterprise (SE) แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าหลายบริษัทสนใจเรื่องของการทำเพื่อสังคม (S) จนละเลยการทำธุรกิจ (E) ไป คุณรักษาความสมดุลของทั้งสองฝั่งนี้อย่างไร

ธมลวรรณ: ในการเริ่มต้นทำธุรกิจมันก็ยากมากอยู่แล้ว แต่พอเราอยากจะทำธุรกิจที่มันจะสร้างผลกระทบอะไรบางอย่างด้วย มันก็ยิ่งยากเข้าไปอีกเท่าตัว ถ้าเกิดเราสนใจแค่แง่มุมการทำธุรกิจอย่างเดียว ตามโมเดลซื้อถูกขายแพง อะไรก็ว่าไป แต่ถ้าเราเน้นแต่ด้านสังคม เราก็อาจจะไม่สนธุรกิจเลย

พวกเราตั้งเป้าให้ moreloop สามารถทำเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy ให้เกิดขึ้นได้จริงๆ และคำว่า ‘เกิดขึ้นได้จริง’ สำหรับเราสองคนก็คือการที่มันต้องเป็นธุรกิจได้ เราตั้งเป้าตั้งแต่วันแรกเลยว่า moreloop ต้องไม่ใช่บริษัทที่ดำเนินกิจการโดยอาศัยการบริจาคหรือความสงสาร (emotional buyer) เราต้องเป็นธุรกิจที่เติบโตเองได้จริงๆ และสามารถเพิ่มขนาดของมันได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจของเรา ก็เลยจะบอกทุกคนตลอดว่าเราไม่ใช่ NGO (Non profit organization) เพียงแค่ว่าธุรกิจของเรามันส่งผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

เราพยายามรักษาสมดุลภายในแนวทางของการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะไม่ทุ่มไปด้านใดด้านหนึ่งแบบสุดโต่ง เรามีโมเดลธรุกิจ 3 แบบก็คือ 1. เราขายผ้าให้กับแบรนด์ ดีไซเนอร์ หรือคนที่ต้องการเอาไปตัดเย็บเอง พูดง่ายๆ ก็คือขายวัตถุดิบ 2. เรา Upcycle ผ้าเหลือใช้มาทำเป็นคอลเลกชันต่างๆ ให้กับองค์กรหรือลูกค้าที่มาสั่ง 3. เรามีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง ทั้ง 3 แนวทางนี้ก็จะมีการติดตามคาร์บอนฟุตปรินต์ในแต่ละแนวทางที่เราสามารถลดลงได้ หรือป้องกันไม่ให้มันเพิ่มขึ้นจากการไม่ผลิตผ้าใหม่ 

โชคดีอีกอย่างคือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เราได้สร้างขึ้นมานั้นสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กัน เพราะยิ่งเราขายได้มากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นเท่านั้น โดยที่เราไม่จำเป็นต้องฝืนหรือทำ CSR เลย สมมติว่าทำเสื้อยืด 1 ตัว ต้องผ่านกระบวนการเยอะมาก ตั้งแต่การปลูก ปั่น ทอ ฟอก ย้อม เย็บ ย้าย แต่ละขั้นตอนสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หมด เพราะใช้น้ำ ใช้สารเคมี แต่กระบวนการของ moreloop เราตัดกระบวนการออกไปเหลือแค่เย็บและย้าย เพราะว่าเราใช้ผ้า dead stock จากโรงงานอุตสาหกรรมมาหมุนเวียนใช้ต่อ 

เพราะฉะนั้นถ้าให้พูดคือ พวกเราจริงจังมากๆ กับการคำนวณปริมาณการปล่อยคารร์บอนไดออกไซด์ที่จะผลิตออกมาในเสื้อแต่ละตัว ว่าใช้เส้นใยอะไร ย้อมสีแบบไหน หรือลักษณะการทอแบบไหน อีกทั้งเรายังมีนักวิทยาศาสตร์เป็นที่ปรึกษาในทีมด้วย ดังนั้นตัวเลขทั้งหมดของเราได้ผ่านการรับรองแล้ว เสื้อของเราจะเขียนข้อมูลอยู่ว่าเสื้อตัวนี้ลดคาร์บอนไปได้เท่าไร เป็นระยะทางขับรถกี่กิโลเมตร พอคนเห็นก็เกิดการตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป แบรนด์ moreloop ก็ยิ่งแข็งแรง

แล้วทุกวันนี้ เวลาเดินผ่านกองขยะหรือกองผ้า คุณยังมองมันเป็นขยะเหมือนเดิมไหม มุมมองที่มีต่อของเหลือทิ้งเปลี่ยนไปหรือไม่ ตั้งแต่เริ่มทำ moreloop

อมรพล: มุมมองของเราต่างไปแน่นอน สำหรับผมคำว่าขยะมันเป็นแค่ความเห็น แล้วแต่ว่าใครจะให้ความหมายของคำว่าขยะอย่างไร ยิ่งเราคลุกคลีกับธุรกิจนี้มากเท่าไร เรารู้ที่มาที่ไปของสิ่งเหล่านี้ เราเห็นมันเป็นวัสดุ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เวลาซื้อขนม เราไม่มองมันเป็นขนมอีกต่อไป แต่เรามองว่ามันคือไมโครพลาสติกที่ต้องทิ้งหลังจากกินเสร็จแล้ว (หัวเราะ) ผมว่าบางทีเราก็รู้เยอะไปนะ แต่ส่วนตัวมันก็ทำให้บริโภคอะไรต่างๆ น้อยลงมาก และคิดเยอะขึ้นมาก

แต่ถ้าในมุมของธุรกิจ เวลามองของเหลือต่างๆ เราก็จะเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมต้องทิ้ง มันน่าจะเอามาทำไรต่อได้สักอย่าง ถ้าเอามาขายของมือสองมันก็น่าจะมีคุณค่าของมันอยู่ 

ธมลวรรณ: ถ้าในมุมของเราก็คือเชิงธุรกิจ และแบรนด์ moreloop ก็ต้องบอกว่าเราตั้งต้นในธุรกิจอุตสาหกรรม เราทำแพลตฟอร์มสำหรับขยะอุตสาหกรรม เราเสียดายผ้าทุกๆ หลาที่ถูกทิ้ง เวลาเห็นผ้าที่เหลือจากเศษตัดออกมาก็เสียดาย พอหันไปมองผ้าเหลือที่ยังเป็นม้วนอยู่ ก็ต้องหันกลับมามองความจริงว่าเราไม่สามารถเก็บทุกอย่างไว้ได้ 

โดยส่วนตัว เวลาเราซื้อเสื้อก็จะรู้ว่าเสื้อสีดำมันปล่อยคาร์บอนเยอะ เราก็เลยยอมซื้อเสื้อสีขาว ทั้งที่บางทีเราอาจจะอยากได้สีดำมากกว่า เรากลายเป็นผู้บริโภคที่มีกระบวนการคิดมากขึ้นมาก

เมื่อมองไปยังแบรนด์ต่างๆ ตอนนี้เริ่มนำการ Upcycling มาเป็นจุดขายของตัวเองมากขึ้น คุณมองว่าการ Upcycling จะกลายมาเป็นเทรนด์ที่กลบความหมายของการ Upcycling จริงๆ หรือเปล่า

อมรพล: เมื่อสองปีที่แล้วเราคุยกันค่อนข้างเยอะ เรื่อง Decycling, Upcycling, Downcycling ได้ข้อสรุปว่าการทำ Circular Economy โดยรวม มันคือการวนใช้ทรัพยากร ทีนี้การจะทำ Circular Economy มันจะแบ่งได้อีกว่าคุณจะทำให้ Value Up (เพิ่มมูลค่า) มันจะอัพไหม หรือคุณจะแค่รีหรือดาวน์ แต่คือทั้งสามอย่างอยู่ในร่มของ Circular Economy ทั้งหมดนะ มันเป็นการวนทรัพยากรทั้งหมดนำมาใช้ใหม่

ส่วนเรื่อง Upcycling มันขึ้นอยู่กับว่าคนที่ใช้คำนี้เขาให้ความหมายอย่างไร มันจะมีความหมายแบบวิทยาศาสตร์จริงๆ ซึ่งแล้วแต่ประเทศด้วยว่าจะเคร่งแค่ไหน ที่เคร่งที่สุดเลยที่ผมเจอและ moreloop เป็นคนใช้ คือจะต้องมีทั้งเรื่องของราคาและเรื่องของกระบวนการ เรื่องของราคาก็คือ การที่เราเอาวัตถุดิบมาทำ คุณค่าของมันต้องสูงขึ้น ราคาต้องสูงขึ้น อันที่สอง กระบวนการ คือการได้มาของวัตถุดิบที่จะเอามาใช้รอบสอง จะต้องปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าการได้มาของวัตถุดิบรอบแรก อันนี้คือความหมายแบบวิทยาศาสตร์เลยนะ แล้วก็ต้องใช้กับคู่มือการทำ Upcycling ของกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เพราะเรารู้สึกว่ากระบวนการแรกในการปล่อยคาร์บอนของผ้ามันสูงมาก พอมารอบสอง เราแค่ดึงมันมาใช้ผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้นเอง ใช้น้อยกว่าแน่นอน อันนี้เรามองว่ามันคือความหมายของ moreloop ในการทำ Upcycling แต่บางคนอาจจะมองว่าราคาสูงขึ้นก็พอแล้ว แต่สุดท้ายถ้าขวดกลับมาเป็นขวดเหมือนเดิมคือการรีไซเคิล แต่ถ้าเป็นขวดกลับมาเป็นโคมไฟแชนเเดอร์เลียร์ ขวดกลับมาเป็นแจกันใส่ดอกไม้ มันก็คือ Upcycling เหมือนกัน แต่ว่าความหมายกับรายละเอียดมันต่างกัน อาจจะไม่ได้คำนึงถึงกระบวนการในการผลิตรอบที่สองก็ได้

สุดท้ายมันคือการยืดอายุขัยของวัตถุดิบ ไม่ต้องผลิตของใหม่ ไม่ต้องเอาของพวกนี้ไปทิ้ง จริงๆ ผมว่าทั้งสามอย่างก็ช่วยหมด แต่ว่า Upcycle มันมีความเจ๋ง เพราะทำให้คุณค่ามันขึ้นไปอีก

ธมลวรรณ: เราต้องดูสองอย่าง มันต้องมีแบบที่ moreloop ทำอยู่ โดยใช้หลักการนี้เป็น Core Business เลย กับอีกกลุ่มหนึ่งคือเป็น CSR หรือทั้งแบรนด์อาจจะไม่ได้เป็น Sustain แต่ว่ามีคอลเลกชันนี้ ซึ่งผู้บริโภคต้องแยกทั้งสองอย่างนี้ออกจากกันเท่านั้นเอง แต่สุดท้ายทำก็ดีกว่าไม่ทำ แต่ถ้าทำก็ขอให้ทำมันจริงๆ แค่นั้นเอง 

มีตัวอย่างในต่างประเทศ โรงงานเขาใช้วิธีซื้อขวดใหม่ แล้วก็เอามาทำเป็นรีไซเคิล คือทั้งขวดจากโรงงานขวด แล้วต่อสายพานเข้าโรงงานผลิตเป็นเส้นใยรีไซเคิลก็มี สุดท้ายโดนจับได้ มันถึงเริ่มเกิดเป็น Certificate ต่างๆ ที่เป็นแบบตัว Global Recycle (GRS) ที่เป็นการตรวจวัดจริงๆ หรือแม้กระทั่งหลายแคมเปญที่เราเห็นในปัจจุบัน เช่น บริจาคขวดแล้วจะทำเสื้อว่าปริมาณในการใช้ขวดจริงๆ ก่อนที่จะออกมาเป็นจำนวนเสื้อมันเท่าไร ตามที่บริจาคกับตามของที่มันออกมา ไม่เคยมีใครตรวจเช็กว่าจริงๆ แล้วมันตรงกันไหม

เราคิดว่าหลายคนอาจจะมองเป็น CSR หรือมองเป็นแค่กระแส แล้วก็ไปจับกระแสนั้น แต่เราคาดหวังว่าวันหนึ่งถ้าเขาจะเข้าไปทำมัน อย่างน้อยเขาก็ต้องทำรีเสิร์ช อย่างน้อยเขาก็ต้องรู้ว่า Upcycle คืออะไร Recycle คืออะไร วัตถุดิบเหล่านี้มีที่มาอย่างไร เริ่มมาจากขวดกว่าจะมาเป็นผ้า ทำอย่างไร เราคิดว่าอย่างน้อยก็มีคนรู้เรื่องนี้ แล้วก็พูดเรื่องนี้มากขึ้น วันหนึ่งมันอาจจะไม่เป็นแค่กระแสแล้วก็ได้ 

แล้วเกิดการแข่งขันแย่ง Supply กันเองบ้างไหม ในวงการ Upcycle

อมรพล: ปัจจุบันเราหมุนเวียนทรัพยากรกันอยู่แค่ 9% ที่เหลืออีก 91 % นี่ทิ้งหมดเลยนะ โอกาสของคนที่จะไปเอาของ จะมาหยิบจับใช้ มันคือ 91% ของทุกอย่างที่เราใช้ ที่มนุษย์ใช้ จริงๆ แล้ว Supply เยอะมาก แต่ว่า Solution ต่างหาก ว่าคุณจะแปลงของเหล่านี้เป็นอะไร ด้วยกระบวนการไหน กระบวนการการแปลงของ moreloop ก็คือ เรารวบรวมของพวกนี้มาใช้ผ่านการใช้อินเทอร์เน็ต ผ่านการใช้คนละแบบ บางคนก็เก็บมา แล้วก็เอามาทำเทคนิคอะไรต่างๆ ของเขาแล้วก็เอาไปขายอีกที มันจะมีกระบวนการใหม่ๆ อีกเยอะ ถ้ามีคนมาเห็นตัวอย่างมากพอว่ามันทำได้

การใช้ Upcycling เป็นหลักการทำธุรกิจ จำกัดหรือช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในการทำมาร์เก็ตติ้ง

ธมลวรรณ: สำหรับเราว่ามันเพิ่มนะ สมมติว่าเราทำเสื้อหนึ่งคอลเลกชันแล้วเราพิมพ์ลงไปในนั้นว่ามันใส่สบายนะคะ แล้วก็แปะราคา แต่พอเรามาทำ moreloop สิ่งที่เราพิมพ์ลงไปมันกลายเป็นเรื่องราวกว่าจะได้เสื้อรุ่นนี้ ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง

มีองค์กรหนึ่งที่อยากได้เสื้อยูนิฟอร์ม เสื้อโปโลเป็นเสื้อสีแดง เราก็มั่นใจเลย ผ้าแดงเหลืออยู่เยอะ พอจะทำได้แน่ๆ ปรากฏว่าเขาส่งจำนวนของพนักงานมา แต่ผ้าเราไม่พอ หมายความว่ามีเยอะ แต่มีหลายเฉด เช่น แดงอมส้ม แดงเชอร์รี แดงสด แดงเลือดหมู มีหลายแดง สิ่งที่เกิดขึ้นคือความน่ารักของลูกค้าที่ปกติแล้วเสื้อองค์กรมันต้องใส่เหมือนกัน พอเราไปบอกเขาว่า เราจะแปะไปให้ว่าสีแต่ละเฉดจะเหลือผ้าเท่าไร ทำได้กี่ชิ้น ลูกค้าก็เข้าไปสำรวจในองค์กรตัวเองว่าแต่ละแผนกมีกี่คน ดังนั้นองค์กรนี้ใส่แดงทั้งองค์กร แต่ฝ่ายบัญชีอาจจะแดงอมส้ม ฝ่ายจัดซื้ออาจจะแดงเลือดหมู ซึ่งมันกลายเป็นสตอรีให้เราเล่าต่อได้ว่า ถ้าเราก้าวข้ามกรอบจำกัดของวัตถุดิบ เมื่อวัตถุดิบมันจำกัดแล้ว ความสร้างสรรค์มันต้องสูงกว่า ในทางกลับกับ ถ้าวัตถุดิบไม่จำกัด ความคิดสร้างสรรค์มันก็จะต่ำ คุณใช้อะไรก็ได้ สั่งอะไรก็ได้ แต่พอมาใช้ของเรา มันใช้ของเหลือทำ เพราะฉะนั้น เฉดหรือสีที่เอามาทำมันไม่ได้ตรงกับ CI ขององค์กรนั้นๆ ก็มีหลายองค์กรเหมือนกันที่เขายอมไม่ใช้สีของเขา พนักงานเองก็ยังเซอร์ไพรส์เลย

อมรพล: อาจจะแล้วแต่วิธีการทำด้วย ถ้ามันเป็น circular แล้วก็มีแค่กระบวนการเดียวหรือว่ายึดติดกับแค่วิธีเดียวอะไรแบบนี้ เช่น ทำมาจากขวดพลาสติกเฉยๆ แล้วเล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ มันก็จะได้แค่นั้นแหละ แต่ของ moreloop มันก็คือมวลผ้า 4,000 ชนิด เราสามารถมี storytelling เกี่ยวกับเรื่องผ้าพวกนี้ได้เต็มไปหมด มีเรื่องราวเยอะมาก ความยากของคือเราจะทำยังไงให้มันพอดีกัน รวมทั้งแต่ละโปรดักต์ที่ทำออกไป เราจะหาจุดยืนแบบไหนให้มัน ความยั่งยืน ฟังก์ชัน หรือสไตล์ เพราะฉะนั้น moreloop เองยิ่งมีหลายองค์ประกอบเข้าไปใหญ่เลย แต่ละคอลเลกชันมันไม่เหมือนกัน เพราะว่าผ้ามันไม่เคยซ้ำกัน 

ทำไมถึงสนใจใน Circular Economy มีวิธีการสื่อสารอย่างไรให้คนเข้าใจมันอย่างถ่องแท้

อมรพล: ผมมองว่ามันเป็นคอนเซ็ปต์ที่ใหญ่ ในการที่เราจะหมุนเวียนของกลับมาใช้ มันก็มีข้อดีเต็มไปหมดเลย ทีนี้สิ่งที่จะต้องทำให้ได้ก็คือ ทำให้มันจับต้องได้ เราต้องทำให้มันเป็นธุรกิจที่ทำได้จริง กำไรจริง ขยายได้จริง อันนี้สำคัญมาก สำหรับการที่จะหาคนมาร่วมทีมเพิ่ม 

สำหรับตัวผู้บริโภคเอง เราก็ต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำมันคืออะไรบ้าง อย่าง moreloop เราก็จะคำนวณว่าเสื้อตัวนี้สามารถช่วยโลกยังไงได้บ้าง แปลกันโต้งๆ ว่า 1 กิโลคาร์บอนมันเป็นระยะเทียบเท่ากับระยะในการขับรถกี่กิโลเมตร เราก็สื่อสารไปในทำนองนี้ว่า การใช้ของเหลือมันมีผลดีต่อโลกใบนี้หลายอย่าง มากกว่าแค่การลดคาร์บอน เราพยายามจะทำให้มันเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด ต้องสื่อสารให้คนจับต้องได้ง่ายที่สุด

ธมลวรรณ: ก่อนจะสื่อสารกับใคร เราต้องดูผู้รับสารก่อนว่าเขาอยากจะฟังไหม เราไม่ได้สื่อสารสะเปะสะปะ ถ้าไปดูในคอนเทนต์ moreloop แทบไม่มีเลยที่เรามานั่งสอนความรู้หรือบอกวิธีแก้ปัญหาของโลกใบนี้ แต่เราทำตัวเป็นคนแก้ปัญหาให้เห็น โชว์แนวทางการแก้ปัญหาให้เห็น พอมันพ่วงกับที่พี่พลบอก สมมติว่าลูกค้าได้เสื้อไปตัวหนึ่ง แล้วเขาได้รีแคปเรื่องการลดคาร์บอนไป เขาก็จะเริ่มเกิดคำถาม พอเกิดคำถามก็อยากหาคำตอบ เราถึงค่อยบอกว่า ที่มาเป็นแบบนี้นะ เวลาเราทำผ้า มันมีมัด ย้อม เย็บ ย้าย พอเราสื่อสารตอนที่เขาอยากฟัง เขาก็จะเข้าใจง่าย 

สมมติว่าผมเป็นลูกค้าที่ไม่เคยสนใจเรื่องรักษ์โลกมาก่อน อยากซื้อเสื้อ moreloop แต่เผอิญไปสะกิดคำว่า circular economy ช่วยอธิบายแบบง่ายๆ ได้ไหมว่าคืออะไร

อมรพล: circular economy เป็นวิธีการคิดแบบหนึ่งที่ว่า ทำยังไงให้เราใช้ของที่ถูกผลิตขึ้นมาแล้วได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ทำยังไงให้ชีวิตเรารบกวนโลกให้น้อยที่สุด โดยที่เราอาจจะ reduce คือไม่ใช้เลย reuse คือใช้ซ้ำ หรือว่า recycle นำมาใช้ใหม่ จริงๆ หลักการมันแค่นั้นเอง

อีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนเข้าใจเรื่อง circular economy มากขึ้นก็คือ อาจจะลองตั้งคำถามดูก็ได้ว่าของเหล่านี้มันมายังไง แล้วพอใช้เสร็จมันไปไหนต่อ ถ้าเกิดเริ่มตอบคำถามนี้ได้ แล้วรู้สึกว่า โอ้โห มันมีผลกระทบเยอะแยะเต็มไปหมด ท้ายที่สุดเราก็จะเลือกได้ว่าจะเปลี่ยนวิธีการใช้สิ่งของต่างๆ ยังไง หนึ่งในวิธีเปลี่ยนแปลงก็คือ คิดใช้ในรูปแบบที่หมุนเวียนมากขึ้น

ธมลวรรณ: ปัจจุบันนี้ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นมันเป็นกระบวนการแบบเส้นตรง (Linear Economy) คือการที่คุณผลิต ใช้ แล้วก็ทิ้ง มันก็จะเกิดปัญหาตั้งแต่ผลิต ปล่อยคาร์บอน ใช้เสร็จ ทิ้ง เสร็จแล้วก็กลายเป็นขยะ Circular economy คือการหมุนเวียน ทำให้ผลิตน้อยลง ทิ้งน้อยลง ทีนี้ถ้าเขาสนใจลึกขึ้น เราก็ค่อยปูเข้าไปเรื่องของเสื้อผ้า ตอนจบก็ส่งลิงก์ไลน์ช็อปเข้าไป (หัวเราะ)

เคยคิดขยายหลักการ upcycling กับ circular economy ไปมากกว่า fabric garment หรือนอกเหนือจากอุตสาหกรรมแฟชั่นไหม

อมรพล: เป็นความตั้งใจอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในระยะสั้น ก็คิดว่าเราก็จะทำเรื่องผ้าบวกกับวัตถุดิบอื่นที่เหลืออยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก่อน ถ้าเข้าไปดูในไลน์ของ moreloop shop จะเห็นว่ามันจะมีสายคล้องหน้ากากที่ทำจากเทป หรือเทปที่เหลือๆ ในโรงงานต่างๆ เชือก กระดุม เราก็เอามาใช้ ยังมีวัตถุดิบที่หลงตกค้างอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เต็มไปหมด

ผ้าส่วนเกินในเมืองไทยมันมีอยู่ประมาณหนึ่งพันล้านหลาต่อปี ฉะนั้นเรากำลังจะขยายตรงนี้ขึ้นมาเพิ่ม และหลังจากนี้ถ้าเราทำแล้วยิ่งใหญ่มาก สำเร็จสุดๆ แน่นอนว่าคำว่า moreloop มันค้ำคออยู่แล้ว เราก็อยากจะมองไปในธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ตรงนั้นเป็นความตั้งใจแรกอยู่แล้วที่เราอยากจะไป แต่พอมาทำจริงมันต้องค่อยๆ ครองฐานแต่ละที่ การที่จะกระโดดไปธุรกิจอื่นๆ เราต้องท้าทาย มันเป็นความท้าทายสุดยอดอยู่แล้ว ว่าเราจะสามารถไปใช้หลักการนี้เป๊ะๆ กับอุตสาหกรรมเครื่องหนังหรือกระดาษได้ไหม หรือเราต้องปรับอะไรเพิ่มบ้าง มันไม่ง่ายแน่ๆ ฉะนั้น การที่มีคำว่า circular economy มาเป็นหัวใจของ moreloop มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในแบบอื่นอีกเยอะมากๆ คำถามคือ ชีวิตนี้จะทำได้ครบตามที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า

การชนะรางวัล Seed Low Carbon Award 2021 มีความหมายอย่างไรกับคุณ

ธมลวรรณ: รู้สึกเหมือนเป็นตัวแทนประเทศไทยเลยค่ะ (หัวเราะ) สำหรับเราการชนะรางวัลนี้ มันทำให้รู้ว่าสิ่งที่เราทำมีคุณค่าและมีความหมาย อย่างน้อยตอนนี้มันมีคนเห็น รางวัลนี้ทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้นในการที่จะทำมันต่อไป เพราะถ้าเทียบกับบริษัทใหญ่หลายบริษัท moreloop เป็นบริษัทเล็กมาก ตอนนี้เรามีแค่ 4 คน แล้วการหมุนเวียนทรัพยากรหรือว่าการลดคาร์บอนฟุตปรินต์ของเรามันอาจจะไม่ได้มากอย่างที่องค์กรใหญ่ทำ แต่ว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา เราลดการปล่อยคาร์บอนไปได้กว่า 4 แสนกิโลคาร์บอน เทียบเท่ากับระยะทางประมาณเดินทางรอบโลกร้อยรอบ นี่มันแค่อิมแพกต์จากคนเล็กๆ 2 คนเอง การที่เราถูกมองเห็น ได้รับการยอมรับจากเวทีระดับโลก ยิ่งทำให้ภูมิใจว่าสิ่งที่เราทำมันสำคัญ

อมรพล: เห็นด้วยตรงที่ว่าสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด ได้รับการยอมรับในเวทีระดับนานาชาติ แล้วก็ไม่ใช่ระดับนานาชาติธรรมดา เป็นระดับ UNDP และ UNEP ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีความซีเรียสเกี่ยวกับการตรวจเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เขาจะเช็กตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้ง people, planet แล้วก็ profits ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราพยายามผลักดันมาตลอดมันเริ่มเห็นผล 

นอกจากการยอมรับแล้ว เราก็ได้เงินสนับสนุน ได้คอนเนกชันด้วย ทำให้รู้สึกว่ามันมีคนมาช่วยเราผลักดันสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาในระดับโลก เพราะเราต้องการคนเยอะมากขึ้น ที่จะมาเห็นพวกเราดำเนินธุรกิจให้ขยายไปได้ในอนาคต ซึ่งมันมีความหมายมากสำหรับ moreloop น่าชื่นใจ

รางวัลนี้ถือเป็นความสำเร็จแล้วหรือยัง 

ธมลวรรณ: จริงๆ ก็ยังนะ แต่เรามองว่าเป็นก้าวแรกที่ออกจากคอมฟอร์ตโซน ออกจากเมืองไทย ก่อนหน้านี้ moreloop ยุ่งมากกับการทำงาน กับการหมุนเวียนผ้าพวกนี้ โดยที่เราไม่ได้ไปมองข้างนอก ไม่ได้คิดว่าเมืองนอกว่าเขามองพวกเรายังไง จนกระทั่งได้รับรางวัลนี้ มันถึงรู้ว่าคนอื่นก็เข้าใจเราเหมือนกัน

ความสำเร็จของ moreloop มันไปได้อีกไกล สำหรับ moreloop อายุมันเพิ่งขวบกว่าเอง เพิ่งเริ่ม ดังนั้นการเริ่มต้นของเรามันเริ่มต้นมาแบบมีคุณค่า ในอนาคตเราก็อยากเห็นมันเติบโต 

เป้าหมายของเราคือ ในปี 2024 เราอยากจะลดการปล่อยคาร์บอนไปได้ 1 ล้านกิโลคาร์บอน ปัจจุบันเราทำได้ประมาณ 4.2 แสนกิโลคาร์บอน ถ้าไปถึงตรงนั้นได้ก็คงจะเรียกได้ว่าสำเร็จแล้ว 

moreloop มีจุดก้าวกระโดดไปทุกปี ถ้าเรามีโอกาสคุยกันอีกในอีกสิบปีข้างหน้า คิดว่าตอนนั้นเราจะคุยเรื่องอะไรกัน

อมรพล: เราอาจจะคุยกันว่า บทเรียนของความสำเร็จในเรื่องของการขยายธุรกิจในอุตสหากรรมแฟชั่นจนสำเร็จแล้ว เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ในตอนนั้นก็คือสรุปว่าเราสามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่นได้เรียบร้อยแล้ว แล้วก็เติบโตเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้เรียบร้อยแล้ว ก็อาจจะถามว่า ก้าวต่อไปหลังจากอุตสาหกรรมแฟชั่นจะไปทางไหนต่อ อะไรคือ moreloop next step เราน่าจะได้คุยกันเรื่องนั้นมากกว่า สำหรับผมน่าจะเป็นการย้ายอุตสาหกรรม แล้วก็การย้ายไปหา loop ต่อๆ ไป 

ธมลวรรณ: มันเพิ่งผ่านไป 2 ปีครึ่งเองเนอะ อีกสิบปีเราต้องยูนิคอร์นแล้ว (หัวเราะ) จริงๆ เราคงรู้สึกว่าคำถามมันอาจจะเป็นในลักษณะว่าถ้าเราทำในรูปแบบโมเดลอื่นๆ ออกมาอีก มันน่าจะเป็นการคุยถึงเรื่องนั้น มากว่าเป็นการเล่าถึงโมเดลของ moreloop ในปัจจุบันแล้ว เพราะในตอนนี้ก็มีอะไรที่อยากทำเยอะมาก แต่เนื่องจากกำลังคน กำลังทรัพย์ กำลังเวลาของเรายังไม่เอื้อ รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ ด้วย ดังนั้นเราคิดว่าในอนาคต ถ้าเราทำสิ่งนี้ต่อไปจนเก่งกับเรื่องนี้มากๆ เราน่าจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้อีก 

Tags: , , , , , ,