ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง  “สู้แล้วรวย” เป็นวลีฮิตติดปากไปทั่วสังคมไทย ยุคที่ภาพความสำเร็จทางธุรกิจมาพร้อมกับนโยบายที่จับต้องได้ และโอกาสในการเลื่อนสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมถึง

แต่ในห้วงเวลานี้ที่ความแหลมคมทางการเมืองได้กรีดม่านบังตาหลายๆ อย่างจนขาดวิ่น สิ่งที่เคยปิดซ่อนไว้แทบจะเปลือยล่อนจ้อน คำว่า “สู้แล้วรวย” ที่เคยให้ภาพความมานะบากบั่นของปัจเจกชนผู้มุ่งสู่ความสำเร็จ อาจเสื่อมมนตร์ขลังลง กลายเป็นเพียงวาทกรรมมอมเมาและปฏิเสธความจริงว่าด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอันไม่เป็นธรรม ที่ลิดรอนสิทธิ โอกาส และกดทับผู้คนมานานแสนนาน

ที่ว่าสู้แล้วรวยนั้น สู้กับอะไร? สู้อย่างไร? ถ้าถามนักธุรกิจร้อยคน อาจจะได้คำตอบแบบร้อยเนื้อทำนองเดียวตามพล็อตสูตรสำเร็จ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นถามว่า ทำไมบางคนสู้แล้วถึงไม่รวย (มิหนำซ้ำยังสู้แล้วตาย สู้แล้วถูกล้อมปราบ ถูกจับกุมคุมขัง) สังคมที่ยกย่องคนที่สู้แล้วรวยว่าขยันขันแข็ง มีความมานะอดทน ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณค่าแบบปัจเจก ก็พร้อมจะมอบคำตอบที่ผลักไสให้เป็นความล้มเหลวของปัจเจกอย่างไม่ต้องสงสัย

เราอยู่ในสังคมที่ยกย่องคนที่ต่อสู้จนร่ำรวยมากกว่าคนที่ต่อสู้เพื่อขอขึ้นค่าแรง

ผู้เขียนนึกถึงประเด็นเหล่านี้อยู่เนืองๆ ขณะที่อ่านนวนิยายเรื่อง พยัคฆ์ขาวรำพัน (The White Tiger) ของ Aravind Adiga นักเขียนเชื้อสายอินเดีย ที่ได้รับรางวัล Booker Prize ประจำปี 2008

Aravind Adiga เขียนนวนิยายเรื่องนี้ด้วยรูปแบบของอีเมล เป็นอีเมลจาก ‘พลราม ฮาลวัย’ ผู้เล่าเรื่องและตัวเอกของเรื่อง ส่งไปถึงเหวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนในขณะนั้น หลังจากที่เขาได้รับข่าวว่า ฯพณฯ เหวินเจียเป่า กำลังจะเดินทางมาเยือนอินเดียในเวลาอันใกล้ และประสงค์จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการชาวอินเดียเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจ พลรามซึ่งในขณะนั้นเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการชาวอินเดียที่ประสบความสำเร็จ จึงเริ่มต้นเขียนอีเมลเล่าให้เหวินเจียเป่า (และเราผู้อ่าน) ฟังประหนึ่งเป็นคำสารภาพว่าเขาไต่เต้า ถีบตัวเอง และถีบคนอื่นขึ้นมาอย่างไร กว่าจะมาถึงยอดพีระมิดของความสำเร็จนี้

เราอยู่ในสังคมที่ยกย่องคนที่ต่อสู้จนร่ำรวยมากกว่าคนที่ต่อสู้เพื่อขอขึ้นค่าแรง

“ผม” ผู้เล่าเรื่อง พาเราย้อนกลับไปดูชีวิตในวัยเด็กของเขาว่าเติบโตขึ้นมาอย่างไรในครอบครัวยากจนข้นแค้นที่ไม่เพียงแต่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเศรษฐีเจ้าที่ดินที่คอยสูบเลือดสูบเนื้อเท่านั้น แต่ในบรรดาคนจนก็ยังกัดกินกันเองด้วย สังคมที่หล่อหลอมให้เด็กชายพลรามต้องคอยเรียนรู้ช่องโหว่กลโกงต่างๆ เพื่อซิกแซ็กหลบเลี่ยงไม่ให้ตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบจนเกินไปนัก

แม้ชีวิตวัยเด็กจะไม่สดใส และเข้าเรียนถึงแค่ชั้นประถมก็ต้องออกกลางคัน แต่การศึกษา (แม้จะเพียงน้อยนิด) ที่ได้รับมา บวกกับความเฉลียวฉลาดจนได้รับฉายาจากครูว่าเป็น “เสือขาว” อันหมายถึงสัตว์หายากที่ถือกำเนิดขึ้นมาเสมือนเป็น “เพชรในตม” ได้กลายเป็นแสงสว่างเตือนใจว่าเขาจะต้องดิ้นรนต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อพาตัวเองออกไปจากปลักตมนี้ให้จงได้

หลังออกจากโรงเรียนกลางคัน เขาถูกพี่ชายบังคับให้ไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านน้ำชาด้วยกัน สภาพที่ต้องคลานไปตามพื้นและสถานะอันต่ำต้อย แม้จะดูน่าอับอายสำหรับเจ้าของฉายาเสือขาวอย่างเขา แต่ไม่นานเขาก็ค้นพบว่าข้อดีอย่างหนึ่งของการทำงานนี้คือเขาสามารถแอบฟังสิ่งต่างๆ ที่ผู้คนในร้านน้ำชาพูดคุยกันได้ อย่างเช่นอาชีพไหนรายได้ดี ธุรกิจอะไรกำลังมาแรง ฯลฯ และค้นพบว่าอาชีพคนขับรถให้เศรษฐีหรือนักธุรกิจนั้นรายได้ดี นั่นคือจุดเริ่มต้นที่นำพาเขามาพบกับ มิสเตอร์อโศก เศรษฐีหนุ่มที่เขาทำหน้าที่เป็นคนขับรถให้ในเวลาต่อมา

“ผม” เฉลยให้เรารู้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ชีวิตคนขับรถของเขาจบลงหลังจากที่เขาลงมือเชือดคอมิสเตอร์อโศก ดังนั้น นวนิยายเรื่องนี้จึงมีทั้งเส้นเรื่องแบบหนังสือ How to กึ่งอัตชีวประวัติและหนทางสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ คู่ขนานกับไปเส้นเรื่องกึ่งๆ สืบสวนสอบสวนว่าชีวิตของเขามาลงเอยที่การสังหารมิสเตอร์อโศกได้อย่างไร และนอกจากสองเส้นเรื่องที่กล่าวมาแล้ว นวนิยายเล่มนี้ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนคู่มือนำเที่ยว (Guidebook) พาเราเที่ยวชมสำรวจซอกมุมต่างๆ ในอินเดีย (โดยเฉพาะนิวเดลี) ไปพร้อมๆ กันด้วย

‘เสือขาว’ ใน ‘กรงไก่’

อุปมาเรื่องกรงไก่มาจากเหตุการณ์ตอนที่พลรามบังเอิญได้เห็นบรรดาไก่ที่ถูกขังไว้ในกรงรอเชือด กำลังจิกตีกันเอง เขานำภาพที่เห็นนั้นมาเชื่อมโยงเข้ากับชะตากรรมของผู้คนในสังคมอินเดีย (โดยเฉพาะชนชั้นล่างอย่างเขา) ที่ถูกจองจำอยู่ในกรงแห่งโครงสร้างทางชนชั้น เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ในสายตาของพลราม ความร้ายกาจของกรงไก่ที่ว่านี้ นอกจากจะกดขี่บีฑาผู้คนเอาไว้ในนั้นแล้ว เมื่อใดก็ตามที่มีใครสักคนทำท่าจะแหกกรงออกไป ผู้คนที่อยู่ในกรงก็พร้อมจะคอยขัดขาและขัดขวางกันเอง

พลรามบอกกับเราว่ากลไกแห่งกรงที่ว่านี้แสดงออกทั้งในรูปแบบอำนาจดิบเถื่อนด้วยการบดขยี้คนที่ตัวเล็กกว่า ในขณะเดียวกันบรรดาคนที่ถูกกระทำ ก็คอยกำราบกันเองว่าอย่าริอาจไปละเมิด “กฎ” เด็ดขาด เพราะเมื่อเวลาที่ผู้มีอำนาจจะคิดบัญชีคืน ราคาของมันสูงลิบลิ่วจนแม้แต่ความตายของชีวิตเดียวก็จ่ายไม่พอ คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอาจต้องพลอยถูกหางเลขไปด้วย

เหตุการณ์ตอนหนึ่งที่ตอกย้ำให้เห็นภาพการทำงานของกรงไก่ที่ว่านี้ได้ดีก็คือ เหตุการณ์ที่พลรามถูกบังคับให้รับผิดแทนมาดามพิงกี้ ภรรยาของมิสเตอร์อโศก เจ้านายของเขา ในข้อหาขับรถชนคนตาย แล้วย่าของพลรามก็เขียนจดหมายมาแสดงความชื่นชมเขาว่าทำถูกแล้วที่เขายืดอกรับผิดแทนเจ้านาย เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจที่เธอจะนำไปเล่าให้ใครต่อใครฟัง กลไกของกรงไก่เปลี่ยนความอยุติธรรมที่ได้รับให้กลายเป็นเกียรติยศแห่งความซื่อสัตย์ด้วยประการฉะนี้

บรรดาคนที่ถูกกระทำ ก็คอยกำราบกันเองว่าอย่าริอาจไปละเมิด “กฎ” เด็ดขาด เพราะเมื่อเวลาที่ผู้มีอำนาจจะคิดบัญชีคืน ราคาของมันสูงลิบลิ่ว

หากความซื่อสัตย์คือคุณค่าอย่างหนึ่งที่คนรับใช้พึงแสดงออกต่อเจ้านาย นวนิยายเรื่องนี้ก็ชวนให้เราถกเถียงว่า ในสังคมที่ผู้คนไร้สิทธิ ไร้เสียง ไร้ทางเลือก และถูกกดขี่เอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา จะเป็นไปได้อย่างไรที่ความซื่อสัตย์จะกลายเป็นคุณค่าที่ต้องธำรงรักษาไว้ด้วยความภาคภูมิ? ความซื่อสัตย์ที่มีอาจไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะ “ทางเลือก” แต่เป็นเงื่อนไขบังคับอย่างหนึ่งสำหรับการมีชีวิตรอดเท่านั้น ความข้อนี้ถูกย้ำอย่างชัดเจนเมื่อพลรามบอกกับผู้อ่านว่า

“…อย่าได้ลองใจคนขับรถของท่านด้วยเหรียญเงินหนึ่งหรือสองรูปีล่ะ เพราะเขาอาจจะขโมยมันหน้าตาเฉย แต่ถ้าทิ้งเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ไว้ต่อหน้าคนรับใช้สักคน เขาจะไม่แตะต้องมันเลยแม้แต่เพนนีเดียว…” (หน้า 180)

หลังจากที่พลรามได้กลายเป็นคนขับรถให้กับมิสเตอร์อโศกแล้ว ไม่นานมิสเตอร์อโศกกับภรรยาก็ย้ายมาพำนักอยู่ที่นิวเดลี เมืองหลวงและศูนย์กลางความเจริญหลายๆ อย่างของอินเดีย ณ ที่แห่งนี้ นอกจากพลรามจะตื่นตาตื่นใจไปกับภาพเมืองหลวงอันโอ่อ่าและผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหราแล้ว ไม่นานเขาก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าเหตุที่มิสเตอร์อโศกต้องย้ายมาอยู่ที่นิวเดลีก็เพื่อทำงานวิ่งเต้นติดสินบนกับบรรดานักการเมืองและผู้มีอำนาจเพื่อให้ธุรกิจสีเทาของพ่อเขาดำเนินไปได้อย่างราบรื่น พลรามขับรถพาเจ้านายเวียนเข้าออกไปมาระหว่างธนาคารกับบ้านของนักการเมือง

บทสนทนาในรถ เสียงคุยโทรศัพท์ และท่าทีเคร่งเครียดของมิสเตอร์อโศก ทำให้พลรามเริ่มปะติดปะต่อภาพซับซ้อนของ “กรงไก่” ในประเทศนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก และในขณะเดียวกัน ด้วยความที่เขาต้องขับรถให้เจ้านายทุกวัน วิถีชีวิตอันหรูหราฟู่ฟ่าของมิสเตอร์อโศกกับมาดามพิงกี้ ก็เริ่มเป็นสิ่งเย้ายวนและ “ขายฝัน” ให้กับเขามากขึ้นเรื่อย ๆ สั่งสมและแปรเปลี่ยนเป็นความเดือดดาล พลรามเริ่มคิดหากลโกงต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกที่ว่า

“…ยิ่งผมขโมยเขามากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าเขาขโมยไปจากผมมากเท่านั้น” (หน้า 235)

ความตายของมิสเตอร์อโศก

ครั้งหนึ่ง ขณะที่พลรามกำลังขับรถให้กับมิสเตอร์อโศกและมาดามพิงกี้อยู่นั้น จู่ๆ มิสเตอร์อโศกกับมาดามพิงกี้ก็ถามคำถามยากๆ กับพลราม คำถามประเภทที่ “ผู้ดีมีการศึกษา” เอาไว้เล่นสนุกกับความไม่รู้ของคนรับใช้และหัวเราะเมื่อเห็นเขากลายเป็นตัวตลก จากนั้นมิสเตอร์อโศกก็กล่าวสรุปออกมาว่า

“พลรามอาจมีโอกาสเรียนหนังสืออยู่แค่…สองหรือสามปี เขาอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองอ่านหรอก ถึงได้รู้อะไรแบบครึ่งๆ กลางๆ ประเทศของเราเต็มไปด้วยคนแบบเขา อย่างนี้เราจะวางใจระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของเรา…ให้อยู่ในกำมือของคนแบบนี้ได้ยังไง นั่นแหละ คือเรื่องน่าเศร้าสำหรับประเทศนี้”

(ทันทีที่ผู้เขียนอ่านประโยคนี้จบลง ภาพของเหล่าผู้ปราศรัยบนเวทีชุมนุม กปปส. ที่บอกว่าตัวเองเป็นคนดี มีการศึกษาสูง เชื่อว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียงมากกว่าคนอื่น ซึ่งพร้อมใจกันขัดขวางการเลือกตั้ง ก็แวบผ่านเข้ามาในหัว ผู้เขียนเชื่อว่าหากมิสเตอร์อโศกอยู่เมืองไทย เขาคงต้องออกไปเป่านกหวีดขัดขวางการเลือกตั้งเป็นแน่!)

หากพูดกันโดยผิวเผินแล้ว ถึงแม้บิดาและครอบครัวของมิสเตอร์อโศกจะเป็นเศรษฐีเจ้าที่ดินที่กดขี่ขูดรีดผู้คนอย่างโหดร้าย แต่ด้วยความที่มิสเตอร์อโศกไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกามาช่วงหนึ่ง ความคิดความอ่านและโลกทัศน์หลายอย่างที่ได้รับมาจาก “โลกตะวันตก” ก็ทำให้เขารู้สึกแปลกแยกและไม่ลงรอยกับบิดาอยู่เนืองๆ เขาไม่เชิดชูคุณค่าของการแต่งงานและการมีภรรยาหลายคน ไม่ลงไม้ลงมือกับคนรับใช้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่เห็นดีเห็นงามกับธุรกิจสีเทาของบิดาและการใช้เส้นสายกับผู้มีอำนาจ

เราอาจจะพอเรียกได้ว่ามิสเตอร์อโศกนั้นมีความคิด “หัวก้าวหน้า” อยู่ประมาณหนึ่ง แต่เมื่อถูกทดสอบด้วยโจทย์อันแสนซับซ้อนในโลกของอำนาจและการเมือง ความคิดหัวก้าวหน้าที่มีอยู่เพียงเท่านี้ย่อมไม่เพียงพอจะทำให้เขามองเห็นความยอกย้อนและต่อกรกับมันได้ นวนิยายบอกกับเราว่ามิสเตอร์อโศกรู้สึกกระอักกระอ่วนใจอย่างยิ่งเมื่อต้องมา “ทำงานสกปรก” อย่างการวิ่งเต้นติดสินบนนักการเมือง แต่ในไม่ช้าผู้อ่านก็จะพบว่าความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่แปรเปลี่ยนเป็นความโศกเศร้าของเขานั้นไม่ได้มาจากความรู้สึกที่ว่าต้องยอมจำนนต่อโครงสร้างสังคมการเมืองเช่นนี้ หากแต่เป็นเพียงความน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมเขาต้องเอาตัวเองมาแปดเปื้อนทำงานสกปรกเช่นนี้เท่านั้น

หากเรายืมคำพูดของมิสเตอร์อโศกที่เคยใช้หยามเหยียดพลรามมาตอบโต้คืน ก็ควรจะต้องกล่าวว่า “ประเทศของเราเต็มไปด้วยคนแบบเขา” ต่างหาก คนที่ยินดีกับการให้คนอื่นทำงานสกปรกแทน เพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่แปดเปื้อน บริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่บนกองเงินกองทองอย่างสุขสบาย ห่มตนด้วยอาภรณ์แห่งการศึกษาและอุดมคติอันหรูหรา เพื่อจะชี้นิ้วหยามเหยียดคนที่อยู่ต่ำกว่าทั้งในทางชนชั้นและในทางอุดมคติ คนที่ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ และคนที่จำเป็นต้องทำงานสกปรกแทนตนเพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

สำหรับผู้เขียนแล้ว มิสเตอร์อโศกนั้นไม่เข้มแข็งพอสำหรับความคิดแบบเสรีนิยม แต่ในขณะเดียวกันก็อ่อนแอเกินไปสำหรับความคิดแบบอำนาจนิยม เขาเป็นพวกเจ้าที่ดินอำนาจนิยมที่ไร้เดียงสา พอๆ กับที่เป็นหนุ่มนักเรียนนอกหัวก้าวหน้าที่ไร้เดียงสาพอๆ กัน

มิสเตอร์อโศกนั้นไม่เข้มแข็งพอสำหรับความคิดแบบเสรีนิยม แต่ในขณะเดียวกันก็อ่อนแอเกินไปสำหรับความคิดแบบอำนาจนิยม

เมื่อมองในแง่นี้ ความตายของมิสเตอร์อโศกจึงเกิดจากการที่เขาไม่เข้มแข็งพอจะเลือกได้ว่าตัวเองจะเป็นแบบใด จะเสรีนิยมหรืออำนาจนิยม เพราะเขาล้วนได้ประโยชน์จากการเป็นทั้งสองอย่างพร้อมกัน แต่โชคร้ายที่แรงตึงเครียดระหว่างสองความคิดนี้ไม่ได้ดำรงอยู่แค่ในตัวเขาคนเดียว มันแผ่พลังส่งผ่านมาถึงพลรามด้วย ไอ้เสือขาวที่พร้อมจะกระโจนออกจากกรงไก่ทุกครั้งที่มีโอกาส

หากเราจับเอาตัวละครพลรามกับมิสเตอร์อโศกมาวางคู่กัน อาจกล่าวได้ว่าทั้งสองคนต่างก็พยายามจะ “ละเมิดกฎ” ของสังคมในแบบของตัวเอง มิสเตอร์อโศกละเมิดกฎด้วยการทำตัวเป็นเจ้านายที่ดี ปฏิบัติกับพลรามอย่างผู้มีอารยะ ไม่ยอมใช้อำนาจบาตรใหญ่กำราบคนรับใช้อย่างที่พ่อและพี่ชายมักเตือนให้ระวังอยู่เสมอ (มิหนำซ้ำยังแสดงความอ่อนแอออกมาให้พลรามเห็นอยู่บ่อยๆ) ในขณะที่พลรามก็คิดฝันอยู่เสมอว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้และไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของใคร ในทางความสัมพันธ์ส่วนตัว ถือได้ว่าทั้งพลรามและมิสเตอร์อโศกต่างก็เป็นมิตรที่ดีต่อกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรพวกเขาต่างก็เป็นศัตรูในทางชนชั้นของกันและกันอยู่ดี

ความผิดพลาดของมิสเตอร์อโศกก็คือ เขาขายฝันให้กับคนที่กำลังตื่น คนที่รู้ว่าความฝันของตนถูกปล้นไปโดยบรรพบุรุษของคนที่นำความฝันนั้นมาวางขายต่อหน้าเขา ณ ขณะนี้

Fact Box

พยัคฆ์ขาวรำพัน (The White Tiger) Aravind Adiga เขียน สุชาดา อึ้งอัมพร แปล จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เพิร์ล นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัล Booker Prize ประจำปี 2008

Tags: , , , , ,