ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือที่เรารู้จักกันดีในนามรางวัลซีไรต์ (The S.E.A. Write Award) ประกาศรายชื่อผลงานที่ผ่านเข้ารอบแรก (longlist) ประจำปี 2560 ออกมา ซึ่งปีนี้เป็นคิวของรวมเรื่องสั้น สร้างความคึกคักให้กับชุมชนชาววรรณกรรมอีกครั้ง โดยเฉพาะนักเขียนและสำนักพิมพ์ที่เข้ารอบ รวมทั้งบรรดามิตรสหายและแฟนคลับ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะหนังสือที่ได้รับรางวัลแทบจะการันตียอดขายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง แต่สำคัญกว่านั้นก็คือ เจ้าของผลงานที่ได้รับการพะยี่ห้อ ‘นักเขียนซีไรต์’ ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับจากสังคมแบบกลายๆ ว่า ไม่เพียงมีความเป็นเลิศทางด้านวรรณศิลป์ แต่ยังลุ่มลึกเข้าใจชีวิต นานวันเข้าบางท่านก็กลายเป็นปัญญาชนอาวุโส และถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำทางความคิดกันเลยทีเดียว​

แต่ตัวรางวัลซีไรต์บอกอะไรเกี่ยวกับคุณภาพของทั้งงานและคนเขียนได้ถึงขั้นนั้นไหม? คุณค่าของรางวัลทางด้านวรรณกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือระดับโลกอยู่ตรงไหนกันแน่?​

เช่นเดียวกับการประกวดชนิดอื่นๆ การประกวดวรรณกรรมมีการตลาดเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งการตลาดของผู้สนับสนุนเงินรางวัล และของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลงาน​

The Man Booker Prize รางวัลทางวรรณกรรมในโลกภาษาอังกฤษที่คนจับตามองกันมากที่สุดรางวัลหนึ่ง ได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยแผนกซื้อ-ขายลิขสิทธิ์ผลงานนักเขียนชื่อดังของบริษัทขายส่งผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ชื่อว่า Booker-McConnell (‘Booker’ เป็นนามสกุลผู้ก่อตั้งบริษัท ไม่เกี่ยวอะไรกับ ‘หนังสือ’ แต่ประการใด) บริษัทนี้ชื่อฉาวมาแต่ไหนแต่ไร เพราะได้ดิบได้ดีมาจากการทำธุรกิจน้ำตาลกดขี่แรงงานชาวกายอานา (Guyana) ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ ถึงขนาดที่ว่าเมื่อ จอห์น เบอร์เจอร์ (John Berger) นักเขียนและนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง ได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 1972 เขาประกาศยกเงินรางวัลครึ่งหนึ่งให้กับขบวนการแบล็กแพนเตอร์ในอังกฤษ (British Black Panthers) ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวผิวสี

เจ้าของผลงานที่ได้รับการพะยี่ห้อ ‘นักเขียนซีไรต์’ นานวันเข้าบางท่านก็กลายเป็นปัญญาชนอาวุโส และถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำทางความคิดกันเลยทีเดียว

รางวัลโนเบลที่ก่อตั้งโดยนายอัลเฟรด โนเบล อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะเป็นกองทุนที่เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าตัวเสียชีวิตแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่นักวิทยาศาตร์ผู้รวยล้นฟ้ามาจากคิดค้นไดนาไมต์ เขียนพินัยกรรมให้เอาสมบัติตัวเองไปก่อตั้งรางวัลให้คนที่ทำประโยชน์ต่อมนุษยชาติ (หนึ่งในนั้นคือสาขาวรรณกรรม) เพราะต้องการให้โลกจดจำตัวเองในเรื่องดีๆ บ้าง แง่หนึ่งก็เป็นแผนพีอาร์ภาพลักษณ์หลังความตายที่เข้าท่าเอามากๆ

ย้อนกลับมาที่ซีไรต์ของบ้านเรา รางวัลนี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 โดยการริเริ่มของผู้บริหารโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ที่มองว่าตัวเองมีประวัติเกี่ยวข้องกับนักเขียนระดับโลกจำนวนมาก แล้วเกิดอยากส่งเสริมนักเขียนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตอนนั้นมีแค่ 5 ประเทศ นัยว่าพอเชิญเขามารับรางวัลแล้วนอนที่นั่น ก็จะได้เพิ่มพูนชื่อเสียงของโรงแรมในฐานะ ‘ที่พักของปัญญาชนนานาชาติ’ มากยิ่งขึ้น​

ผู้เขียนเองเคยเข้าใจว่าผลงานที่ชนะรางวัลซีไรต์แต่ละปีมีแค่ ‘ชิ้นเดียว’ จากทั้งภูมิภาค คือเป็นการแข่งขันกันระหว่างงานซึ่งเป็นตัวแทนแต่ละชาติ ต่อมาจึงรู้ว่าที่จริงแล้ว เป็นการประกวดและตัดสินกันแบบของใครของมัน กรรมการตัดสินรางวัลก็มาจากนักเขียนและผู้อยู่ในแวดวงวรรณกรรมของประเทศนั้นๆ​

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงได้ชื่อว่าเป็นรางวัล ‘แห่งอาเซียน’ เพราะนอกจากจะไม่ได้แข่งกันแบบ ‘ข้ามชาติ’ เกณฑ์การตัดสินก็ไม่เห็นมีอะไรที่เกี่ยวกับภูมิภาค ถ้าไม่นับการเชิญนักเขียนจากประเทศสมาชิกมารับรางวัลที่ไทยแล้ว ก็ไม่เห็นความพยายามใดๆ ในการโปรโมตนักเขียนเหล่านี้ในระดับภูมิภาค ไม่แม้แต่จะมีการร่วมมือแปลงานข้ามวัฒนธรรมกันอย่างจริงจัง มีแต่การใช้ตัวรางวัลเป็นเครดิตทางการตลาด ทำไปทำมา รางวัลที่มีชื่อข้ามชาติก็กลายเป็นรางวัล ‘แห่งชาติ’ ที่ไม่ต่างจากรางวัลไทยอื่นๆ มิหนำซ้ำ นักเขียนหรือผลงานของเขา ก็แทบจะกลายเป็นสมบัติของชาติไปแบบงงๆ

หลายคนอาจมองว่าประเด็นเรื่องที่มาที่สีเทาบ้าง พึลึกบ้าง ดูไม่น่าจะเกี่ยวกับคุณภาพและความน่าเชื่อถือของรางวัลสักเท่าไหร่ ตราบใดที่กระบวนการหาผู้ชนะนั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของการตัดสินรางวัลทางศิลปะก็คือ มันไปผูกโยงกับเรื่อง ‘รสนิยม’ อย่างช่วยไม่ได้ อันเป็นที่มาของเสียงข้องใจที่มีอยู่ทุกปี ว่าทำไมงานนั้นได้ งานนี้ไม่ได้ แต่ถ้าอยากตั้งคำถามเรื่อง ‘มาตรฐาน’ กันจริงๆ จุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด ก็คงเป็นที่วิธีสรรหาผู้ชนะ

ปัญหาอย่างหนึ่งของการตัดสินรางวัลทางศิลปะก็คือ มันไปผูกโยงกับเรื่อง ‘รสนิยม’ อย่างช่วยไม่ได้ อันเป็นที่มาของเสียงข้องใจที่มีอยู่ทุกปี

ผู้ตัดสินรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคือสมาชิกถาวรของ Swedish Academy ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมความบริสุทธิ์และแข็งแกร่งของภาษาสวีดิช ทิม พาร์กส์ (Tim Parks) นักเขียนและนักแปลชาวอังกฤษ เคยคำนวนคร่าวๆ ไว้ว่า ในการตัดสินรางวัลโนเบลแต่ละปี คณะกรรมการทั้งหมด 18 คนซึ่งส่วนใหญ่เกิดก่อนปี 1960 จะต้องอ่านหนังสือของนักเขียนประมาณ 100 คนจากทั่วโลก หากในรอบแรกอ่านแค่ 1 ชิ้นต่อนักเขียน 1 คน รอบต่อมาก็น่าจะเป็น 2 ชิ้น 3 ชิ้นตามลำดับ เพราะรางวัลโนเบลเป็นรางวัลที่ให้ตามผลงานโดยรวมของนักเขียน การอ่านแค่ชิ้นเดียวแล้วตัดสินก็อาจดูไม่สมเหตุสมผล ฉะนั้นรวมๆ แล้ว กรรมการที่ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและมีงานของตัวเองที่ต้องทำ อาจต้องอ่านงานประมาณ 200 ชิ้นต่อปี ไม่เท่านั้น ในบรรดางานเหล่านี้ คงมีไม่กี่ชิ้นที่เขียนขึ้นในภาษาสวีดิช มีไม่เยอะที่ถูกแปลเป็นสวีดิช ที่เหลือจำนวนมากน่าจะเขียนหรือได้รับการแปลเป็นอังกฤษ แต่ก็คงไม่น้อยที่เขียนหรือแปลเป็นภาษาอื่น เช่น ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่นับรวมวรรณกรรมจากโลกที่สามที่มีภาษาเป็นของตัวเอง และอาจไม่มีประเทศที่ใช้ภาษายุโรปเลือกเอามาแปล

แล้วถ้าอย่างนั้น เขาตัดสินให้รางวัลกันด้วยอะไร? คงมีแต่เหล่ากรรมการที่รู้กันเอง แต่ ทิม พาร์กส์ เดาอย่างมีหลักการพอควรว่า อย่างหนึ่งที่พอเป็นไปได้ คือหยิบเอาประเด็นทางการเมืองมาตั้งเป็นธงแทนเรื่องวรรณศิลป์ เพราะการจะเถียงกันว่าฝ่ายไหนคือฝ่ายที่ ‘ถูกต้อง’ ในความขัดแย้งระดับชาติ โดยยึดหลักสากลประเภทสิทธิมนุษยชนมาเป็นตัวตั้ง ดูจะง่ายกว่าการถกเรื่องศิลปะทางภาษาข้ามชาติเป็นไหนๆ

ผลก็คือ เราได้เจ้าของรางวัลโนเบลที่เป็น ‘นักต่อสู้’​ ทางความคิด (ฝั่งที่ถูก) มาหลายต่อหลายครั้ง และแน่นอนว่า ไม่รวมนักต่อสู้ที่สู้กับปัญหาซึ่งไม่ใช่ความสนใจของโลก หรือโลกไม่รู้เพราะเสียงดังข้ามกำแพงภาษาไปไม่ถึง

การมอบรางวัลแก่นักเขียนที่อุทิศตัวให้กับการต่อสู้ทางการเมือง (ที่กรรมการรู้จัก) ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ตลกร้ายก็คือ นอกเหนือไปจากเหตุผลประเภทนี้ (ซึ่งไม่ใช่มาตรฐานหนึ่งเดียวในการตัดสินคุณค่าทางด้านวรรณกรรมแน่) เราไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่า กรรมการใช้เกณฑ์อะไรแน่ สิ่งที่พาร์กส์มองว่าเป็น “ความงี่เง่าโดยแท้ของรางวัลและความง่าวของเราที่ไปถือมันเป็นจริงเป็นจัง” ยิ่งปรากฏชัดเมื่อ Tomas Tranströmer กวีชาวสวีดิชซึ่งแทบไม่มีใครเคยได้เคยอ่านงาน ได้รับรางวัลมูลค่า 1.5 ล้านดอลลาร์ (ราวๆ 50 ล้านบาท) นี้ไปเมื่อปี 2011 ด้วยเหตุผลที่ว่างานของเขาทำให้คนอ่าน (กรรมการ) ได้มี “ช่องทางที่สดใหม่ในการเข้าถึงความจริง” ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า เป็น ‘ความจริง’​ ชุดที่คนอ่านภาษาสวีดิชไม่ออกไม่มีปัญญาพิสูจน์ได้

ถ้าจะว่ากันด้วยเกณฑ์การตัดสิน รางวัลบุ๊กเกอร์ไพรซ์ก็ดูจะอยู่กับร่องกับรอยมากกว่า คือตัดสินกันที่งานเขียนเพียงชิ้นเดียว และคณะกรรมการก็สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป แต่ถึงอย่างนั้น ปริมาณผลงานที่กรรมการเพียงแค่ 5 คนจะต้องอ่านเพื่อตัดสินรางวัลนั้น ก็ดูไม่ได้น้อยด้อยไปกว่าโนเบล และถึงแม้เราจะมองว่า อย่างน้อยกรรมการเหล่านี้ก็อ่านมันในภาษาของต้นฉบับ (อังกฤษ) แต่ก็มีปัจจัยอีกมากมาย ที่ทำให้การตัดสินที่ออกมาไม่สามารถได้ ‘มาตรฐาน’ สำหรับคนทุกคน เริ่มตั้งแต่การเลือกกรรมการเลยทีเดียว เป็นต้นว่า บางคนอาจเชื่อว่านักวิชาการ น่าจะมีวิจารณญาณที่ดีที่สุด แต่บางคนอาจมองว่า นั่นเป็นการตอกย้ำว่างานวรรณกรรมไม่ได้มีไว้ให้คนทั่วไปเสพ

บางคนอาจเชื่อว่านักวิชาการ น่าจะมีวิจารณญาณที่ดีที่สุด แต่บางคนอาจมองว่า นั่นเป็นการตอกย้ำว่างานวรรณกรรมไม่ได้มีไว้ให้คนทั่วไปเสพ

จูเลียน บาร์นส์ (Julian Barnes) นักเขียนสัญชาติอังกฤษที่เข้ารอบบุ๊กเกอร์ไพรซ์ แต่พลาดไปถึงสามครั้ง จนมาได้เอาครั้งที่สี่ในปี 2011 จากนวนิยายเรื่อง The Sense of an Ending เคยพูดถึงรางวัลนี้ว่าเป็นเหมือน ‘บิงโก’ ด้วยความที่รางวัลนี้มีราคาทางวัฒนธรรมสูงเหลือเกิน และก็ดันมีอิทธิพลมากจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่การส่งเสริมการขาย ก่อนการประกาศผล สื่อต่างๆ มักประโคมข่าวจนนักเขียนที่ได้รับเสนอชื่อประสาทจะกิน ในตอนที่บาร์นส์ได้รับรางวัลนั้น เขายืนยันความคิดเดิมว่า ถ้าจะให้ตัวเองไม่เป็นบ้าไปกับการคาดหวังรางวัล ก็ควรจะคิดซะว่ามันเป็นล็อตเตอรี่ “จนกว่าเราจะชนะ”

ถามว่า แล้วอย่างนั้นจะมีรางวัลพวกนี้กันไปทำไม มีประโยชน์อะไรกับสังคมหรือแวดวงหนังสือไหม?

เป็นเรื่องที่แทบไม่ต้องเถียงกันว่ารางวัลทางวรรณกรรม โดยเฉพาะเวทีใหญ่ๆ สามารถพาเจ้าของผลงานเข้าสู่แสงไฟ และพาตัวผลงานเข้าสู่ตลาดของคนอ่านที่กว้างขึ้นในต่างประเทศ พอเข้าฤดูประกาศรางวัลทีไร บรรดาร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ที่เข้ารอบก็ยิ้มแป้นกันไปพักใหญ่ เมื่อยอดสั่งซื้อหนังสือที่แปะสติกเกอร์ Longlist, Shortlist และ Winner พุ่งเอาๆ ส่วนในประเทศไทยที่นักเขียนแทบจะดำรงชีพไม่ได้ด้วยการเขียนเพียงอย่างเดียว การได้รับรางวัลครั้งหนึ่ง อาจเท่ากับการต่อชีวิตอาชีพนักเขียน หรือแม้แต่ชีวิตของสำนักพิมพ์ ถึงแม้จะเป็นเรื่องน่าเสียใจอยู่บ้างว่า ขณะที่ผู้ชนะแทบจะเป็น Bestseller ข้ามคืน น้อยคนนักที่จะถามหาผู้แพ้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังถูกจับตาในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อ​

คำถามจึงอาจไม่ใช่ว่า ควรมีสิ่งที่เรียกว่ารางวัลวรรณกรรมไหม แต่อยู่ที่ว่า ทำไมบางสังคมจึงให้คุณค่ามันอย่างเกินจริงไปมาก

ทำไมจึงฝากความเชื่อมั่นในการตัดสินทางรสนิยมไว้กับวิจารณญาณของคนไม่กี่คน และสิ่งเหล่านี้สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับวรรณกรรมแบบไหนกันแน่

ถ้าจะมีใครเป็น ‘กรรมการ’ ที่ดีที่สุดสำหรับการตัดสินงานศิลปะแขนงนี้ ก็น่าจะเป็นตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งเลือกได้เสมอว่าจะสร้างอำนาจให้ตัวเองด้วยการร่วมกันเป็นผู้กำหนด ‘มาตรฐาน’ ของสินค้า ผ่านการตั้งคำถามถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือว่าพอใจกับการเป็นเหยื่อการตลาดปีละครั้งเท่านั้น

Tags: , , , , ,