“ไม่มีประจักษ์พยานสำหรับประจักษ์พยาน”

พอล เซลาน

The Third Person เป็นงาน life performance ของปัณยวีร์ พงศ์สินไทย จิตรกรหญิงผู้ยืนหยัดทำงานศิลปะเชิงนามธรรม (Abstract Art) มาเป็นเวลานานหลายปี โดยผลงานล่าสุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Design Nation ซึ่งเธอได้จัดแสดงที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) เมื่อวันที่ 10 พฤจิกายน ช่วงเย็นย่ำที่ผ่านมา 

ความน่าสนใจของงานแสดงชุด The Third Person อยู่ตรงที่ศิลปินได้พยายามตั้งคำถามกับการเป็นบุคคลที่ 3 ทั้งในฐานะ ‘ชีวิต’ หรือกระบวนการดำรงอยู่บนโลกใบนี้ว่าสามารถเป็นไปได้หรือไม่ ภายใต้ภาวะการณ์ที่คนทั้งหลายต่างโยงใยและร้อยรัดเกาะเกี่ยวกัน การวางตัวเป็นบุคคลที่ 3 ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเป็นไปได้อย่างไร 

แม้ตัวศิลปินจะไม่ได้สื่อถึงการ ‘อยู่เป็น’ ที่กลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้ แต่การโยนคำถามเรื่องบุคคลที่ 3 กลับไปยังผู้ชมก็คล้ายกับจะชี้ชวนให้คิดไปว่า การอยู่อย่างไม่ส่วนเกี่ยวข้องใดๆ อาจเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

หากพิจารณาความเป็นบุคคลที่ 3 ผ่านระบบภาษา The Third-Person หรือ การเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 ในกรอบอธิบายของ เอมิล บ็องว็องนิสเตอ (Émile Benveniste) นักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสถือว่ามีความแปลกแยกและแตกต่างออกมาจากสรรพนามบุรุษที่ 1 และ 2 อย่างมาก ด้วยเพราะสรรพนามบุรุษที่ 1 และ 2 นั้นที่มีลักษณะเป็นขั้วความสัมพันธ์ดึงดูดระหว่างกัน ความเป็น ‘ฉัน/เรา’ บ่งชี้ถึงความเป็น ‘เธอ’ แม้เธอจะไม่ปรากฏ ในขณะที่สรรพนามบุรษที่ 3 เหมือนจะมีจักรวาลเป็นของตนเอง ความเป็นเขา/พวกเขา ไม่บ่งบอกความสัมพันธ์ใดกับ ฉัน/เธอ หรือหากจะถูกจัดให้อยู่ตรงกันข้ามกับความเป็น ‘พวกเรา’ และ ‘พวกเขา’ ก็จะเป็นไปในลักษณะของการตัดขาดและแบ่งแยก

แต่หากพิจารณาความเป็นบุคคลที่ 3 ในแง่ของศิลปะและงานจิตรกรรม บุคคลที่ 3 อาจหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่ถูกสังเกตเห็น หรือเป็นผู้สังเกต แต่ไม่พยายามเข้าไปมีส่วนข้องเกี่ยว ซึ่งให้บังเอิญว่า สภาวะที่เป็นกลางและแปลกแยกในเวลาเดียวกันนี้สอดคล้องสิ่งงานแสดงชุดนี้พยายามนำเสนอแก่ผู้ชมตลอดระยะเวลา 23 นาที

The Third Person เกิดขึ้นบนแผ่นพลาสติกสีดำทรงสี่เหลี่ยมที่มีสีอะครีลิคผสมน้ำ สีน้ำเงินเข้ม ฟ้า และทองเจิ่งนองไปทั่วผืน ตรงมุมหนึ่งจัดวางกระถางต้นไม้เล็กๆ บัวรดน้ำสีขาว สมุด/หนังสือ และแก้วกาแฟที่ศิลปินจะยกขึ้นดื่มเป็นครั้งคราว มันเป็นแก้วเซรามิคสีขาวที่มองจากมุมไกลไม่มีทางรู้ได้เลยว่าบรรจุอะไรไว้ภายใน มันอาจเป็นชา กาแฟ เบียร์ ไวน์ หรือวิสกี้ที่ศิลปินดื่มขณะทำงาน 

 

ระหว่างที่การแสดงดำเนินไปนั้นมีเสียงเพลงจากลำโพงเล็กๆ ที่วางไว้พื้นที่จัดแสดงที่ประเดี๋ยวเสียงนั้นก็ถูกกลบและถมทับด้วยเสียงยวดยานพาหนะจากการจราจรบริเวณนอกหอศิลป์/สี่แยกปทุมวัน

การแสดงเริ่มต้นเมื่อศิลปินที่ห่มคลุมร่างกายด้วยผ้าสีขาวก้าวเข้ามาในพื้นที่สี่เหลี่ยมสีดำ การเคลื่อนไหว เดิน นั่ง นอน ดื่ม อ่าน ฉีกทึ้ง รดน้ำต้นไม้ดูราวกับจะเป็นการจำลองแบบชีวิตประจำวันของศิลปิน การเคลื่อนไหวทำให้ผ้าขาวค่อยๆ ดูดซับสีเข้าไปจนเปรอะเลอะเกือบเต็มผืน ผ้าเปรอะสีเหมือนจะหนักและหน่วงรั้งการเคลื่อนไหว หรือทำให้ศิลปินก้าวเดินไปด้วยความยากลำบาก

The Third Person จบลงด้วยการที่ศิลปินปลดเปลื้องผ้าที่พาดพันออกไป ผ้าซึ่งบัดนี้ดูดซับสีสันต่างๆ เข้าไปได้กลายเป็นจิตรกรรมนูนต่ำในท่ามกลางเศษกระดาษ ดินจากกระถางต้นไม้ที่ถูกถอนออกมา กระจัดกระจายและเปรอะเปื้อนไปทั่วผืนพลาสติกสีดำ 

มองในภาพกว้างงานชุดนี้คล้ายกับจะเป็นภาพแทนของกระบวนการทำงาน การแข็งขืนดิ้นรนต่อแรงฉุดรั้งที่เรามองไม่เห็น ซึ่งในโลกศิลปะและความสร้างสรรค์อาจหมายถึงปัจจัยเศรษฐกิจ การเมือง และแม้แต่ชีวิตประจำวันที่บรรดาศิลปินทั้งหลายต้องเผชิญ 

ศิลปินได้กลายสภาพเป็นบุคคลที่ 3 ที่ได้ถูกบุคคลที่ 3 หรือผู้ชมเฝ้ามองดูอีกชั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือในความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างกันนั้นกลับมีพันธะบางอย่างเชื่อมโยงเข้าหากัน คือการเป็นบุคคลที่ 3 ของงานชิ้นนี้ได้สร้างจักรวาลแห่งความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องขึ้นมา และเราทั้งหลายก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลนี้ในชั่วขณะหนึ่ง

แต่ถ้ามองในอีกมุมที่แคบลงมา The Third Person มีลักษณะเป็นเหมือนบทบันทึกส่วนตัวของศิลปิน โดยการจำลองภาพความพยายามที่เธอพยายามหลีกหนีการวาดภาพไปสู่การทำงานด้วยวิธีการอื่น ซึ่งต้องอาศัยเรี่ยวแรงและความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะสลัดออกไป โดยสุดท้ายแล้ว ร่องรอยแห่งความพยายามดิ้นรนนั้นได้สร้างจิตรกรรมอีกชิ้นหนึ่งขึ้นมาบนผืนผ้าสีดำที่ศิลปินพยายามก้าวออกไปนั่นเอง

 

ภาพปกโดย: Wirachat Khajitworaphan

Tags: