“We must love one another or die.”

W.H. Auden

ในความรัก เราไม่ต้องฝืน หรือพยายาม นี่เป็นข้อคิดเห็นที่เราส่วนใหญ่คงเคยได้ยินได้ฟังมาไม่มากก็น้อย ว่าถ้าคนรักกันแล้ว อะไรที่ใช่ก็ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ ในความรัก เราไม่ต้องเป็นในสิ่งที่เราไม่ได้เป็น เพราะการมีความรักจะทำให้เราสามารถเป็นตัวเราเองโดยไม่จำเป็นต้องพยายาม ซึ่งความรักที่ต้องฝืนย่อมไม่ใช่ความรัก แต่การไม่พยายาม หรือปรับเปลี่ยนตัวเองเลยก็อาจทำให้ความรักไม่สามารถคงอยู่ได้ 

เพราะในความรัก เราไม่เพียงแค่รักตัวเราเอง แต่เรารักตัวเราที่เราเป็น ยามที่มีอีกคนหนึ่งอยู่กับเรา ความรักในแง่นี้อาจอธิบายได้ว่า เป็นความรักใน ‘ตัวฉันอีกคนหนึ่ง’ หรือ The Other I ที่อยู่ในตัวคนอื่น ซึ่งบทความตอนนี้จะกล่าวถึงความรักในมุมมองที่ให้ความสำคัญกับ The Other You หรือความรักใน ‘ตัวเธออีกคนหนึ่ง’ ซึ่งเริ่มต้นจากกรอบคิดทางศาสนาที่แลเห็นว่าความรักเป็นดั่งพันธกิจที่ไม่ใช่เรื่องระหว่างบุคคล หากเป็นงานของมวลมนุษย์ในการสร้างและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกัน หรือกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วนั้น ความรักสำหรับคนสองคนควรเริ่มต้นจากรากฐานนี้

ความรักในฐานะพันธกิจ

ย้อนกลับไปช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Works of Love หรือ Kjerlighedens Gjerninger (1847) ตีพิมพ์ออกมา แม้จะได้รับการตอบรับจากคนอ่านในระดับเพียงปรากฏการณ์เล็กๆ หากกลับมีความน่าสนใจในแง่ที่ผู้เขียน โซเรน เคียร์เคกอร์ด (Søren Kierkegaard) เลือกใช้ชื่อจริงของเขาแทนนามปากกา 

โซเรน เคียร์เคกอร์ด (Søren Kierkegaard) นักเทววิทยาชาวเดนมาร์ก

ด้วยเพราะงานในช่วงแรกๆ นั้น เคียร์เคกอร์ดมักจะใช้นามปากกาปกปิดตัวตน หรือไม่ก็สร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาอำพราง เช่นกรณีของ Either/or (1843) ที่ภายในเล่มเดียว เขาเป็นนักเขียน หนุ่มนักรัก จนถึงบรรณาธิการ ผู้ค้นพบต้นฉบับด้วยความบังเอิญ ฯลฯ ดังนั้นหนังสือในความจำได้หมายรู้ของคนอ่านและนักวิจารณ์จึงมีลักษณะคล้ายกับวรรณมาลัย (Anthology) ที่ประกอบด้วยชิ้นงานจำนวนมากที่มีรูปแบบและลีลาการประพันธ์แตกต่างไป ด้วยเหตุนี้การใช้นามจริงของเขาจึงมีนัยสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่เป็นการเปิดเผยตัวตน หากยังรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนเนื้อหาและการประพันธ์เรื่องให้กลมกลืนสอดพ้องกันตลอดทั้งเล่ม

ในต้นฉบับภาษาเดนมาร์ก Works of Love เคียร์เคกอร์ดได้ใช้คำว่า Kælighed แทนคำว่า ‘รัก’ และใช้คำว่า Elskov แทนความรักเชิงกามารมณ์ (erotic love) ซึ่งเขาจำแนกความแตกต่างของความรักออกเป็น 1) agape หรือ ความรักแบบสูงส่ง หรือในเชิงศาสนา ซึ่งเป็นความรักเพื่อพระเจ้า หรือเพื่อการอุทิศตน 2) eros หรือความรักเชิงกามารมณ์ ที่เกิดขึ้นระหว่างปัจเจกบุคคลทั้ง และ 3) philia หรือความรักฉันท์พี่น้องผองเพื่อน 

ต้นฉบับ Works of Love หรือ Kjerlighedens Gjerninger (1847) ที่เคียร์เคกอร์ดใช้เวลาเขียนเพียงแค่ 6 เดือน

เคียร์เคกอร์ดมองว่าทั้ง eros และ philia จะเป็นความรักที่มีระยะเวลาจำกัด แต่ agape นั้นเป็นนิรันดร์ หรือแม้ eros และ philia จะทำให้เกิดการเสียสละตน เพียงแต่การสละตนนี้เป็นไปเพื่อ The Other I หรือ ‘ตัวฉันอีกคนหนึ่ง’ หรือถึงที่สุดแล้วก็เป็นการรักในตัวเองอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่ agape เป็นความรักเพื่อ The Other You หรือ ‘ตัวเธออีกคนหนึ่ง’ ที่หลุดพ้นจากขอบเขตของความเป็นตัวฉัน

เขามีความเชื่อว่า มนุษย์เรานั้นไม่ว่าจะมีศาสนาหรือไม่ ต่างก็หวาดกลัวการถูกทอดทิ้ง ทั้งโดยพระเจ้า หรือมนุษย์ด้วยกันเอง ‘ความรัก’ จึงเปรียบได้ดั่ง ‘ยาแก้’ ที่จะขจัดความกลัวนี้ออกไป และนั่นทำให้คำกล่าวในพระคัมภีร์ที่ว่า “จงรักเพื่อนบ้าน เหมือนเช่นที่เรารักตัวเอง” มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

จงรักเพื่อนบ้าน

ใน Works of Love เคียร์เคกอร์ดได้นำเอาบทบัญญัติ “จงรักเพื่อนบ้าน เหมือนเช่นที่เรารักตัวเอง” มาอ่านและตีความใหม่ เพราะโดยความเชื่อทั่วไปแล้วนั้น ถ้อยคำนี้ถูกถ่ายเทความสำคัญไปที่ “เหมือนเช่นที่เรารักตัวเอง” หรือกระทั่งคำว่า เพื่อนบ้าน หรือ neighbor นั้นก็ถูกใช้ในความหมายของคำว่า philia คือเป็นพี่น้องพวกพ้องกัน ซึ่งสำหรับเคียร์เคกอร์ดนี่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแม้แต่ในหมู่คริสตชนเอง ด้วยเพราะ neighbor สำหรับเขาย่อมจะหมายความถึงใครก็ตามที่อยู่ถัดจากเราออกไป เป็นใครก็ได้ที่เราไม่รู้จัก เปรียบเหมือนความรักที่มอบให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย ความรักเช่นนี้แตกต่างจากความรักที่เรามีต่อคนรัก บุคลต่างๆ ที่เรามีความผูกพัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลความรักนั้นก็เป็นส่วนขยายของความรักตัวเราเอง หรือ ‘ตัวฉันอีกคนหนึ่ง’

ในขณะที่ความรักเพื่อนบ้านที่ไม่ว่าจะมีฐานะและชนชั้นแตกต่างจากเราอย่างไร คือความรักบนฐานแห่งความเสมอภาค เหมือนเช่นที่เขาอธิบายว่า “เพื่อนบ้านของเราคือความเสมอภาคของเรา เพื่อนบ้านไม่ใช่แค่คนที่คุณรักที่มีเอกสิทธิ์ในความเสน่หา ไม่ใช่มิตรสหายที่มีเอกสิทธิ์ในความเสน่หา เพื่อนบ้านไม่เพียงคนที่มีการศึกษาดี เท่ากับที่คุณมีการศึกษาดี และมีฐานะทางสังคมเท่าเทียมกันจะมีเพื่อนบ้านได้ คุณจำเป็นต้องยืนอยู่เบื้องหน้าพระเจ้า ผู้ทำให้เราเท่าเทียมกัน เพื่อนบ้านไม่ใช่คนที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่าคุณ และยิ่งเหนือกว่าคุณเท่าไหร่ก็ยิ่งไม่ใช่เพื่อนบ้าน การที่คุณรักเขาเพราะเขาอยู่สูงกว่าคุณเป็นความเสน่หาที่เกิดขึ้นง่ายๆ และเพิ่มขยายความรักตัวเองของคุณ เพื่อนบ้านไม่ใช่คนด้อยกว่าคุณ ยิ่งด้อยกว่าเท่าไหร่เขาก็ไม่ใช่เพื่อนบ้านคุณ ที่คุณสามารถเจียดปันความเห็นใจให้ได้ง่ายๆ และเพิ่มขยายความรักตัวเองของคุณ ไม่ การรักเพื่อนบ้านหมายถึงความเสมอภาค (…) หากคุณทำได้นี่ก็เป็นทางรอดพ้น และคุณ จะต้อง ทำ เพื่อนบ้านของคุณคือมนุษย์ทุกคน (…) เขาคือเพื่อนบ้านของคุณบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคร่วมกันกับคุณเบื้องหน้าพระเจ้า แต่ความเสมอภาคนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนมีโดยแท้และพวกเขามีมันอย่างสมบูรณ์”

กล่าวโดยสรุปแล้ว ความรักเพื่อนบ้านในกรอบอธิบายนี้ทำให้เรามองคนอื่นๆ สำคัญเช่นตัวเรา จะแตกต่างแต่ก็มีสถานะเท่าเทียมกัน และเป็นทั้งทางรอด และพันธกิจที่นำพามนุษย์ไปสู่ความเสมอภาคนั่นเอง

อ้างอิง

Søren Kierkegaard, Works of Love, translated by Howard & Edna Hong, (New York: Harper Collins, 2009)

Tags: , ,