เราคงเคยได้ยินคำกล่าวอันโด่งดังของสลาวอย ชิเช็ก (Slavoj Žižek) ที่ว่า “ถ้าเราสามารถให้เหตุผลได้ว่า เรารักคนคนหนึ่งเพราะอะไร นั่นก็แปลว่าเราอาจไม่ได้รักใครคนนั้นจริงๆ” ซึ่งจะผิดถูกหรือไม่อย่างไรก็คงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจและมีนัยสำคัญก็อยู่ตรงที่ชิเชกก็เป็นหนึ่งในนักปรัชญาที่แลเห็นว่า ความรักกับความเป็นเหตุผลนั้นเหมือนจะไปด้วยกันไม่ได้ และถึงจะไปกันได้ ความเป็นเหตุผลนั้นก็คงจะเป็นสิ่งที่ผู้มีความรักมองไม่เห็นและไม่เข้าใจ เหมือนคำกล่าวของเบลส ปาสกัล (Blaise Pascal) “หัวใจนั้นมีเหตุผลมากมายที่แม้แต่เหตุผลก็ไม่อาจหยั่งรู้” 

ในโลกทัศน์ทางปรัชญาถือว่า ‘ความรัก’ หรือ philos มีความสำคัญอย่างมากจนอาจกล่าวได้ว่า หากปราศจากความรักแล้ว philosophia หรือ ‘ความรักในปัญญาความรู้’ ก็ไม่สามารถคงอยู่ได้ (น่าเสียดายที่ในภาษาไทยคำว่า ‘ปรัชญา’ ที่เราใช้แทนความหมายของ philosophy ไม่สามารถเก็บความหรือถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างความรักและปัญญาเอาไว้ได้)

ทว่าความรักแบบ philos ก็มีความแตกต่างจาก eros ที่ถูกมองว่าเป็นความรักเชิงกามารมณ์ ด้วยเพราะ philosophy เมื่อแรกเริ่มนั้นเป็นทั้งศาสตร์และหลักวิธีดำเนินชีวิต ผ่านการตรึกตรองสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบถี่ถ้วน ซึ่งก็ต้องอาศัยเหตุผลมากกว่าความรู้สึกหรืออารมณ์ที่คนธรรมดามีอยู่อย่างมากมาย  ซึ่งก็ทำให้ความรักกับความไร้เหตุผล หรือความบ้า (madness) กลายเป็นข้อปัญหาที่ปราชญ์ในยุคโบราณอย่างเพลโต (Plato) นำมากล่าวไว้ในบทสนทนาที่ชื่อว่า Pheadrus ซึ่งถือกันว่าเป็นผลงานที่เพลโตได้ประพันธ์ไว้ในช่วงกลางของชีวิต เป็นห้วงเวลาที่ความคิดของเขาเริ่มสุกงอมและมีความลึกซึ้งมากที่สุด 

บทสนทนา Pheadrus ของเพลโต ที่ประพันธ์ขึ้นในช่วง 370 ปีก่อนคริสตกาล

บทสนทนา Pheadrus นับว่ามีความแปลกและแตกต่างจากงานชิ้นอื่นๆ ตรงที่ฉากบรรยากาศในท้องเรื่องอยู่นอกประตูเมือง โสเครติสผู้เปรียบเหมือนตัวละครหลักของเรื่อง ซึ่งปกติแล้วจะใช้ชีวิตอยู่แต่ในตลาด หรืออาณาเขตเมือง ได้ถูกเฟดรัสเชื้อชวนให้เดินออกไปสู่พื้นที่ที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ 

ภายหลังจากทั้งคู่เดินไปได้สักพักใหญ่ก็ได้ตัดสินใจพักเท้าและผินหลังนั่งใต้ร่มเงาไม้ในอิริยาบถผ่อนคลาย และเริ่มต้นการสนทนาที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ ความรัก ความบ้า จนไปถึงการเขียนและพูด ซึ่งก็นับได้ว่า ความรักใน Phaedrus มีแง่มุมความคิดที่แตกต่างออกไปจาก Symposium ซึ่งเป็นบทสนทนาที่เกิดภายในพื้นที่ส่วนตัวและเป็นงานกินดื่มเพื่อการเฉลิมฉลอง

เฟดรัสได้ถ่ายทอดสุนทรพจน์ของไลซิอาสที่กล่าวถึงข้อดีของความสัมพันธ์แบบไร้รัก (non-lover) ที่จะทำให้เราหรือคนหนุ่มที่ผูกพันเป็นอิสระจากอิทธิพลของอารมณ์และความปรารถนาที่มักจะเกิดขึ้นในยามที่เรามีความรัก 

ด้วยเพราะความสัมพันธ์แบบไร้รักจะไม่ทำให้เราวิตกถึงความขาดพร่องของความรัก ความเอาใจใส่แบบคนรัก ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน ทะเลาะเบาะแว้งจากการมิได้รับรัก หรือกระทั่งปั้นแต่งเรื่องโกหกขึ้นมาเพื่อปิดบัง และก็เป็นดังที่เราพอคาดเดาได้ว่า โสเครติสนั้นก็เหมือนจะเห็นคล้อยหรือชื่นชมความคิดดังกล่าวนี้ แต่เมื่อเขาเริ่มตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นออกมา เราก็จะได้เห็นความขัดแย้ง รวมถึงประเด็นปัญหาในสุนทรพจน์ของไลซิอาส

โสเครติสได้อธิบายว่า จิตวิญญาณที่เป็นอมตะของเรานั้นเปรียบเหมือนรถม้าที่มีพลขับและม้าบินคู่ ซึ่งในยามที่ปีกไม่แข็งแรงพอ เราก็โฉบเฉี่ยวท่องเที่ยวไปยังโลกเบื้องล่าง แต่คราใดที่ปีกนั้นแกร่ง รถม้านั้นก็จะนำพาเราขึ้นไปโลกเบื้องบน 

ความรักเปรียบได้เสมือนปีกของม้าที่ยกพาจิตใจเราให้สูงขึ้น แต่ความปรารถนาที่มากเกินไปก็อาจทำให้ม้ายากจะควบคุมและนำพาเราโฉบเฉี่ยวลงสู่โลกเบื้องล่าง (หรือกระทั่งสร้างหายนะมาสู่พลขับ) แต่บทเปรียบเปรยนี้ของโสเครติสก็มีนัยสำคัญที่แตกต่างจากสุนทรพจน์ของไลซิอาส ตรงที่โสเครติสเห็นว่า การตกอยู่ใต้ความปรารถนาอาจมิได้ส่งผลร้ายต่อเราเพียงอย่างเดียว แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า ‘ความบ้า’ ก็เป็นสิ่งที่ทวยเทพมอบให้แก่มนุษย์เพื่อคุณูปการหลายอย่างเช่น ในการประกอบพิธีกรรมของเทพยากรณ์แห่งวิหารอพอลโล (ที่เป็นศาสนาสำคัญในเวลานั้น) เพื่องานเลี้ยงฉลองให้เทพไดโอนิซุสที่ช่วยให้เราผ่อนคลายจากการงานอันตรากตรำ สำหรับกวีในการรังสรรค์ถ้อยคำ และสุดท้ายถูกใช้เป็นแรงขับเคลื่อนความรัก 

ภาพของรถม้าที่เป็นอุปมานิทัศน์ของวิญญาณ

แน่นอนว่าสิ่งที่โสเครติส (ร่างทรงของเพลโต) ได้กล่าวไว้ในรูปของอุปมานิทัศน์ (allegory) รถม้า อาจเรียกได้ว่าเป็นจิตวิทยารูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อราวสองพันกว่าปีแล้ว ซึ่งก็เป็นความพยายามที่จะทำให้เราเห็นถึงความซับซ้อนภายในจิตใจของมนุษย์ ที่อย่างไรเสียก็ยังคงต้องมีอารมณ์ ความปรารถนา และความต้องการพื้นฐานอย่างปฏิเสธมิได้

ความรักสำหรับเพลโตที่เปรียบได้กับปีกของม้านั้นจึงช่วยนำพามนุษย์เราให้ขึ้นไปยังโลกเบื้องบน (อันเป็นที่สถิตของทวยเทพ) แต่เพราะความรักมีส่วนผสมของความบ้าที่เป็นเหมือนแรงขับเคลื่อน (หรือสัญชาตญาณ) การเรียนรู้ที่จะควบคุมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ส่วนการตัดความรักออกไปจากความสัมพันธ์เช่นที่ไลซิอาสเสนอมา ถึงเราจะทำได้ แต่ก็ย่อมไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ และถึงที่สุดแล้ว โสเครติสเห็นว่าการยืนระยะและรักษาความสัมพันธ์แบบไร้รักถือเป็นการดูแคลนความรักที่เป็นเสมือนความสามารถที่นำพามนุษย์ไปสู่โลกเบื้องบน

ความบ้าและความรักในแง่นี้จึงเปรียบเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน เราไม่อาจเข้าใจความรักได้ทั้งหมด เหมือนเช่นที่เราไม่อาจเข้าใจความบ้า เพียงแต่ความบ้าที่เรารู้จักและเข้าใจในปัจจุบันถูกมองว่าเป็นเพียงความป่วยไข้ หรือความเสื่อมในการคิดอย่างสอดคล้องเป็นเหตุผล พูดในทำนองของมิแชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ก็คือ มนุษย์ในโลกสมัยใหม่เลิกสื่อสารกับคนบ้าไปแล้ว ไม่มีภาษาสื่อกลางระหว่างเรากับความบ้า หรือหากมีมันก็ปลาสนาการไปสิ้นแล้ว

อ้างอิง

Hackforth, Plato’s Phaedrus, (Cambridge: Cambridge University Press, 1952)

Graeme Nicholson, Plato’s Phaedrus: The Philosophy of Love, (Indiana: Purdue University Press, Year, 1999)

Tags: , ,