The Teeth of the Comb & Other Stories เป็นหนังสือที่อ่านแล้วอาจสะกิดให้เกิดความรู้สึก “แค่นี้เองหรอ แล้วมันยังไงต่อ” คงเพราะว่ามันเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่สั้นมากๆ บ้างก็มีความยาวหนึ่งหน้า บ้างก็จบภายในสองบรรทัด ตัดจบอารมณ์และการปะติดปะต่อในหัว

เราอาจเรียกเรื่องสั้นประเภทนี้ว่าแฟลช ฟิกชัน (flash fiction) หรือบางคนอาจมองมันเป็นการรวบรวมกลอนเปล่าที่เอามาเรียงไว้ด้วยกันในเล่มเดียว ด้วยความที่แต่ละเรื่องวางปะต่อกันอย่างไม่มีโครงสร้าง (อย่างน้อยก็ในการอ่านรอบแรก) อาจทำให้ต้องใช้ความอดทนสักหน่อย

The Teeth of the Comb & Other Stories เขียนโดย Osama Alomar นักเขียนชาวซีเรีย เขาเกิดที่ดามัสกัสในปี 1968 และลี้ภัยไปอยู่พิตต์สเบิร์ก เริ่มทำงานหาเลี้ยงชีพในสหรัฐอเมริกาโดยการขับแท็กซี่ ฉบับที่อ่านนี้แปลจากภาษาอารบิกเป็นภาษาอังกฤษโดยตัวผู้เขียนเอง ร่วมกับ C.J. Collins ซึ่งเป็นนักศึกษาภาษาอารบิกและบรรณารักษ์ในนิวยอร์ก

แม้จะอ่านยากและบางเรื่องตีความแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าความหมายของเรื่องคืออะไร แต่ความสนุกและความงามของหนังสือเล่มนี้คือลีลาการใช้โวหารภาพพจน์อันจัดจ้านของนักเขียน จัดมาเป็นชุด ทั้งอุปมา อุปลักษณ์ ปฏิพากย์ ฯลฯ ลักษณะเดียวกับที่กวีชอบใช้ละเลงในงานเขียน แต่ที่เด่นชัดที่สุดสำหรับงานของ Alomar เห็นจะเป็นการใช้บุคลาธิษฐาน ดัดเปลี่ยนความจริง ทำให้สัตว์ สิ่งของ หรือคำนามธรรมกลายร่างเป็นมนุษย์ กระทำ-รู้สึก-ตอบโต้ ในแบบเดียวกับที่มนุษย์ทำ และสร้างสรรค์ออกมาแหวกแนวจนนักวิจารณ์ชื่นชม

ชื่อหนังสือ ซึ่งอาจแปลเป็นไทยอย่างไม่สละสลวยได้ว่า ‘ซี่หวี’ มาจากเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยเรื่อง ซี่หวีซี่หนึ่งที่จู่ๆ ก็เกิดอยากเลียนแบบภาวะเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมมนุษย์ และพยายามยืดตัวเองออกมาให้สูงกว่าซี่หวีรอบข้าง เมื่อทำสำเร็จก็มองเพื่อนๆ อย่างดูแคลน ผลสุดท้าย มนุษย์เจ้าของหวีมาพบแล้วไม่พึงใจต่อความพิกลที่เกิดขึ้น จึงโยนหวีทั้งอันทิ้งไป เพราะสำหรับเขา หวีก็คือหวี และหน้าที่ของมันคือการสางผม

การใช้บุคลาธิษฐานนี้ยังครอบคลุมไปถึงธนบัตรในกระเป๋าของนักธุรกิจที่พลัดพรากจากเพื่อนตลอดเวลา จากมือหนึ่งสู่อีกมือ หรือ การปะทะคารมระหว่างตัวเลขเจ็ดและศูนย์ เกี่ยวกับระบบคุณค่าในโลกของตัวเลข ฯลฯ

Alomar เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงในวงวรรณกรรมอาหรับ แต่เมื่อมาอยู่ในโลกตะวันตก ชื่อของเขากลับไม่เป็นที่สนใจมากนัก อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์มองว่าเขาน่าสนใจ ในแง่ที่เป็นนักเขียนพลัดถิ่นซึ่งผลิตงานประเภทแฟลชฟิกชัน และมองว่าอุปมาทั้งหลายในงานเขียนของของเขานั้นเป็นผลลัพธ์จากการอยู่ในสังคมแห่งการเซ็นเซอร์ตัวเอง

รวมเรื่องสั้นเล่มนี้น่าสนใจในแง่วรรณกรรมสำหรับอ่านในยุคสังคมสมาธิสั้น ยุคที่ใครก็สามารถพิมพ์คำรำพันแสนกระชับในหนึ่งห้วงเวลาออกมาในโซเชียลมีเดียต่างๆ จนเกิดศัพท์อย่าง ‘ทวิตเทอะเรเจอร์’ (Twitterature) หรือบทประพันธ์ 140 ตัวอักษรในทวิตเตอร์ โลกใหม่ที่ถ้อยคำใน ‘พื้นที่เพ้อ’ อาจยกระดับเป็นวรรณกรรมได้ และงานชุดนี้ของ Alomar ก็เพิ่งพิมพ์ออกมาสดๆ ร้อนๆ ในปี 2017 นี่เอง

Alomar มักใช้เรื่องสั้นแฟนตาซีเหล่านี้เล่าประเด็นความยากจน ความอยุติธรรม ศาสนา มนุษยธรรม ไล่ไปจนถึงความเศร้าหรือเรื่องรักที่ไม่สมหวัง ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากค่านิยมในสังคมและความไม่สงบในซีเรีย

แม้จะสั้น แต่หลายเรื่องก็ตัดจบได้อย่างพลิกความคาดหมาย เหมือนการกระโดดตัวหมุนควงหนึ่งรอบก่อนลงมายืนปักหลักชูแขนอย่างสวยงามของนักยิมนาสติก แต่บางเรื่อง แม้จะใช้วิธีการเล่าแปลกใหม่น่าสนใจ กลับจบด้วยเนื้อหาและน้ำเสียงแห่งการสั่งสอนที่ทำให้เรื่องน่าเบื่อไปอย่างน่าเสียดาย

ตัวอย่างเรื่องสั้นในที่ลองคัดมาให้อ่านกัน

ฉันถ่ายเทความตรอมตรมทั้งหมดของตนลงในแก้วน้ำ แก้วหลอมละลาย …เมื่อถ่ายเทลงในถ้วยไม้ ถ้วยลุกเป็นไฟ …เมื่อถ่ายเทลงในเตาเผาของชายผู้โดนความเกลียดชังบังตา เขาก็ตายอย่างฉับพลัน …เมื่อถ่ายเทลงในปล่องภูเขาไฟอันระอุ ปากปล่องก็ปะทุพุ่งพรวดสู่สวรรค์ชั้นสูงสุด …เมื่อถ่ายเทลงไปตามความลุ่มลึกของการปฏิวัติทางภูมิปัญญา ใจของผู้คนทุกชนชั้นก็ติดไฟ

เมื่อฉันนำความทุกข์ตรมนั้นกลับคืนสู่ใจตน … รอยยิ้มก็ปรากฏขึ้นบนใบหน้าของตัวเอง

(จากเรื่อง ‘ถ่ายเทความตรอมตรม’)

เมื่อยังเด็ก ผมมักหัวเราะเยาะคนแก่ๆ อยู่เสมอ ตอนนี้ผมกลายเป็นคนแก่แล้ว และดูเหมือนว่า บรรดาความทรงจำวัยเยาว์ได้เริ่มแลบลิ้นปลิ้นตาใส่ผม แล้วพูดออกมาว่า “เฮ่ย ตาแก่ !”

(จากเรื่อง ‘พวกเขาแลบลิ้นใส่ผม’)

 

เรื่องอื่นๆ บางเรื่องเข้ามาสะกิดความคิดเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนา แบบเดียวกับที่รวมเรื่องสั้น ซัม: สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย ของเดวิด อีเกิลแมน ได้เคยทดลองเอาไว้ เช่น เรื่องของชายที่ดั้นด้นจาริกไปจนถึงยอดเขาเพื่อเปล่งวาจากับพระเจ้าว่า “ได้โปรด อย่าปล่อยให้หลักการหรือความเชื่อในศาสนาใดมากางกั้นผมจากสัจธรรม” (จากเรื่อง ‘ความฝัน’)

หรือการสำรวจประเด็นสิทธิเสรีภาพในโลกดิสโทเปียอย่างย่นย่อ ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ เป็นเรื่องของรัฐบาลนิรนามที่ประกาศกฎหมายรับรองเสรีภาพในการแสดงออกทางสีหน้าให้แก่ผู้คนในรัฐ ประชาชนดีใจ จึงเดินขบวนฉลองพร้อมฉีกยิ้มด้วยใบหน้าเปี่ยมสุขที่แสนบิดเบี้ยว ที่ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่าเสรีภาพที่ปลดปล่อยมาเพียงบางส่วนนั้น คือธรรมชาติการใช้ชีวิตของมนุษย์จริงหรือ

หากใครชอบอ่านงานเขียนสั้นๆ ที่ไม่ปะติดปะต่อกันตามทวิตเตอร์ (ซึ่งอาจเป็นทวิตเทอะเรเจอร์ก็ได้) งานของ Alomar เป็นงานชิ้นหนึ่งที่แสนกระชับและน่าศึกษา เพื่อทำให้งานเขียนสั้นๆ ของเราไปไกลกว่าคำคมสามบรรทัด

Tags: ,