The Seven-Year Itch สำนวนภาษาอังกฤษว่าด้วยอาการ ‘คัน’ หรือความ ‘อาถรรพ์’ ที่ต้องระแวดระวังการเลิกรา เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินมาเกิน 7 ปี ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เมื่อคนทั้งสองรู้เช่นเห็นชาติกันมากขึ้น ความหวานเริ่มกลายเป็นขมขื่น การอยู่ร่วมกันไม่ได้ราบรื่นเช่นเคย

แต่หากเปรียบประเทศไทยเป็นชีวิตคู่ ความสัมพันธ์ตลอด 7 ปี ระหว่าง ‘ประชาชน’ กับ ‘รัฐบาล’ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจเดิมของคณะรัฐประหาร ก็คงเป็น Toxic Relationship ที่ควรกำจัดออกมากกว่ารักษาไว้

ในวาระครบรอบการยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ได้บรรเลงมาเป็นปีที่ 7 ผู้นำรัฐประหารในวันนั้น ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้

The Momentum ชวนทบทวนความหลัง และมองไปข้างหน้าผ่านซีรีส์พิเศษ ‘The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?’ กับบทสัมภาษณ์ 7 บุคคล ว่าด้วยความทรงจำในวันนั้น และผลลัพธ์ของรัฐประหารต่อสังคมไทยวันนี้ ก่อนรัฐประหาร 2557 จะเวียนมาครบ 7 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

หนึ่งในองค์กรที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการทำงานมาตลอดทุกยุคทุกสมัยคือ ‘องค์กรสื่อ’ ที่มักได้ยินเสียงก่นด่าว่า ‘สื่อเลือกข้าง’ ‘ไม่นำเสนอความจริง’ หรือ ‘บิดเบือนข้อมูล’ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด แม้กระทั่งมาถึงยุคสื่อออนไลน์ก็ยังคงเจอกับคำถามแบบเดิมๆ

การ ‘ปฏิรูปสื่อ’ ก็ถือเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึงเมื่อครั้งเกิดการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใหม่ๆ ผ่านมาแล้ว 7 ปี วงการสื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

เสรี วงษ์มณฑา อดีตผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ปัจจุบัน นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาตอบคำถามนี้ให้ฟัง

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ช่วงที่เกิดรัฐประหาร ตอนนั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่

ก็อยู่กับทีมงาน กปปส. นั่นแหละครับ

ผลกระทบอะไรบ้างที่คุณต้องเผชิญตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

อาจารย์คงจะพูดได้ในเฉพาะด้านของสื่อที่ตัวเองรับผิดชอบ จะไม่ไปก้าวก่ายคนอื่น อยากจะบอกว่า เรื่องสื่อสารมวลชนนั้น เรา (คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน) ให้ความสำคัญอยู่ทั้งหมด 7 เรื่อง เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังเป็นข้อๆ

เรื่องแรกคือ เราสามารถปลูกจิตสำนึกของการรู้เท่าทันสื่อขึ้นมาได้บ้าง เมื่อก่อนเวลาสื่อนำเสนออะไร คนก็มักจะเชื่อเลย แต่ตอนนี้เราได้นำเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อมาพูดกับประชาชนจริงๆ ทำให้คนให้ความสำคัญระหว่างข่าวจริงกับข่าวเท็จมากขึ้น มีการตรวจสอบความจริงก่อนที่จะเลือกเสพ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังมีคนบางกลุ่มที่ยังคงเชื่ออะไรง่ายๆ แชร์อะไรง่ายๆ แต่เราพูดได้ว่า ในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ เราได้มีอิทธิพลต่อผู้คนในระดับหนึ่ง

เนื่องจากเราต้องการให้เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในสถานศึกษา ก็ปรากฏว่าทั้งระดับมัธยมฯ และระดับอุดมศึกษาได้ให้ความสนใจในประเด็นรู้เท่าทันสื่อเป็นอย่างมาก มีทั้งกิจกรรมนอกหลักสูตร และการเข้าไปปรับปรุงหลักสูตร มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่นำวิชารู้เท่าทันสื่อเข้าไปบรรจุในหลักสูตรวิชาขั้นพื้นฐาน

เรื่องที่สองคือเรื่องอุตสาหกรรมสื่อ ตอนนี้ก็รู้กันอยู่ว่าเราอยู่ในยุค Digital Disruption ซึ่งทำให้อนาคตไม่ค่อยจะสดใสเท่าไรสำหรับสื่อสารมวลชน เราก็ได้ยืดหยุ่นในกรณีเอกชนที่ประมูลเข้ามาได้ จำเป็นที่จะต้องลงทุนมหาศาลในการจัดหาเทคโนโลยี มีการพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า เราจะให้การสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อที่เอกชนจะได้มีเงินไปทำคอนเทนต์มากขึ้น ขณะเดียวกัน คนที่แบกรับต้นทุนไม่ไหวก็จะพิจารณาให้สามารถคืนเวลาได้

เรื่องที่สามคือเรื่องการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เราได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสังกัดอยู่ในคณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติ ซึ่งมีหลายคณะรวมกัน แต่คณะที่ผมดูแลอยู่ตอนนี้ คือการพัฒนาขีดความสามารถด้านการจัดการการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เราก็ได้เรียนรู้หลายๆ เรื่อง เช่น การทำประชาสัมพันธ์แบบดิจิทัล (Digital PR) ยุทธศาสตร์การทำ PR

สิ่งที่เราทำได้แล้วคือการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับคณะประชาสัมพันธ์ มีหน่วยงานต่างๆ ส่งคนเข้ามาเรียน แล้วเขาก็ติดอกติดใจไปบอกเจ้านายเขาว่าคนทั้งองค์กรควรจะเรียนด้วย ปรากฏว่ามีการติดต่อมาให้คนของกรมประชาสัมพันธ์ไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เยอะแยะมากมาย

เรื่องที่สี่คือการดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านไซเบอร์ มีการทำงานร่วมกันกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกันก็ได้รับรายงานต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจ ตั้งแต่สมัยคุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ซึ่งสมัยคุณพุทธิพงษ์ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คืบหน้าขึ้นมาในเรื่องการดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านไซเบอร์

เรื่องที่ห้าคือวัฒนธรรมในด้านสื่อ เรามีกองทุนให้คนที่จะใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ในการที่จะสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมไทยที่ดีงามออกไป แค่เพียงติดต่อเรามา เราจะพิจารณาในการให้ทุน

เรื่องที่หกคือจริยธรรมด้านสื่อสารมวลชนที่เราได้ร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งหลังร่างเสร็จจะนำเข้าไปศึกษากับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่มีอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานในการตรวจสอบปรับปรุงกฎหมายของเรา โดยตอนนี้ได้ผ่านกฤษฎีกาเรียบร้อย

สุดท้าย เรื่องที่เจ็ดคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อป้องกันภัยสาธารณะ ในการออกกฎหมายว่าเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่จะใช้ในการเตือนภัยสาธารณะนั้นจะมีอะไรบ้าง

ทั้งหมดนี้เราทำภายใต้กรอบความคิดว่า สื่อมวลชนต้องเป็นโรงเรียนให้กับสังคม แปลว่าให้ความรู้แก่สังคมในการที่จะนำไปเป็นแนวทางดำเนินชีวิตหรือการทำงาน และการสื่อสารทางวัฒนธรรมต่างๆ

โดยเรายึดหลักว่าในยุคสมัยนี้ ประชาชนทุกคนเป็นได้ทั้งผู้ผลิตข่าวสารและผู้บริโภคข่าวสาร เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีจริยธรรมทั้งทางด้านผู้ผลิตข่าวสาร และการรู้เท่าทันสื่อในการเป็นผู้บริโภคข่าวสาร

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ กปปส. เรียกร้องเพื่อปฏิรูป มีอะไรที่ดำเนินการไปแล้ว และมีอะไรที่ยังคงขาดอยู่บ้าง

ก็บอกแล้วว่าตอบได้แค่เรื่องเดียว เรื่องอื่นก็ไปถามคนอื่น เพราะมีคณะถึง 13 คณะ จะให้ไปก้าวก่ายในเรื่องของคนอื่น ผมพูดไม่ได้

หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง ปฏิกิริยาของคนไทยคราวนี้จะเป็นอย่างไร และอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

มันไม่มีอะไรที่แน่นอนไปตลอด การทำรัฐประหารในอดีต หลายครั้งก็มีคนพอใจ และบางครั้งก็มีคนที่ไม่พอใจ เพราะฉะนั้น ในอนาคต ถ้าถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนจะตอบโต้อย่างไร ต้องดูแต่ละครั้งแต่ละครา ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าการทำรัฐประหารแล้วจะต้องเกิดกระแสที่คนลุกขึ้นมาต่อต้านทุกรอบ เพราะบางครั้งการทำรัฐประหารอาจจะเกิดกระแสที่ประชาชนบอกว่า ‘มันไม่ควรทำ’ หรือบางครั้งอาจจะเกิดกระแสที่บอกว่า ‘ดีแล้วที่ทำ’ มันต้องดูเป็นสถานการณ์ไป

 

—บทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ในซีรีส์ The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?—

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 01: ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ คดีทางกฎหมายสิ้นสุด แต่การถูกหมายหัวไม่สิ้นตาม

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 02: ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ไม่ว่าเป็นการปกครองแบบใด สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องอยู่ดี กินดี และมีความสุข

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 03: ‘ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล’ เราเคยเป็นเด็กคนหนึ่ง ที่ดวงตายังคงมืดบอด

รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 04: ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ รัฐประหาร 7 ปีที่ผ่านมา ไม่เสียของ แต่เสียหายยับเยิน

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 06: ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ 7 ปี แห่งการฉ้อฉลเชิงอำนาจ เมื่อทหารไม่ใช่ผู้แก้ปัญหาที่แท้จริง

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 07: ‘จรัล ดิษฐาอภิชัย’ การลี้ภัยเป็นสิทธิมนุษยชน

Tags: , , , , ,