เมื่อได้ออกเดินทาง วินาทีที่ชอบและประทับใจไม่เคยลืมทุกครั้งคือวินาทีแรกที่เราลืมตาขึ้นในดินแดนแปลกหน้า และได้เห็นทิวทัศน์รอบตัวที่แตกต่างไปจากที่เคย และวินาทีแรกของหลวงพระบางในแต่ละครั้งที่ได้ไปก็ยังอยู่ในความทรงจำเสมอ แม้ว่าจะไปกี่รอบก็ตาม

ครั้งแรกที่เรากับเพื่อนๆ เดินทางด้วยรถบัสไร้เครื่องปรับอากาศ ภาพแรกของหลวงพระบางคือเมืองสุดปลายทางของถนนเล็กๆ ที่คดเคี้ยวชวนให้เวียนหัว ขนาบด้วยสองข้างทางที่เป็นภูเขาหินปูนสูงชัน ส่วนครั้งหลังสุดนี้ ภาพแรกที่เห็นหลังจากงัวเงียตื่นขึ้นมาจากไฟลท์ที่เช้าสุดๆ คือความเขียวขจีของหลวงพระบางในมุมสูงที่มีมนต์สะกดไปอีกแบบ การเดินทางครั้งล่าสุดของเราที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเปิดตัวเส้นทางหลวง “น่าน-หลวงพระบาง” ทำให้อดคิดต่อไม่ได้ว่าครั้งหน้านั้น ภาพแรกของหลวงพระบางจะอยู่ในรูปแบบไหน

วัดเชียงทอง

สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก หลวงพระบางเป็นที่รู้จักในฐานะราชธานีของลาวที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีค.ศ. 1995 เมืองเล็กๆ ที่เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำโขงและแม่น้ำคานแห่งนี้เคยเป็นเมืองที่เงียบสงบที่ยากต่อการเข้าถึง (มีแค่ทางเลือกไม่กี่ทาง นั่นคือรถจากเวียงจันทน์ที่ต้องผ่านเส้นทางคดเคี้ยว เรือเร็วหรือเรือช้า หรือถ้าจะบินก็มีเพียงไม่กี่สายการบินเท่านั้น และราคาไม่ถูก) เมื่อเวลาผ่านไป แม้ค่าตั๋วเครื่องบินจะถูกลงและสายการบินจะหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่มนต์​ขลังของหลวงพระบางก็ยังไม่เสื่อมคลาย ส่วนหนึ่งคงต้องขอบคุณยูเนสโกที่ช่วยให้สถาปัตยกรรมโคโลเนียลแสนสวยของเมืองยังคงอยู่ทนสภาพดีจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน และแม้ว่าธุรกิจที่อยู่ในตึกเก่าจะเปลี่ยนไปกี่มือแล้วก็ตาม

สำหรับคนไทย หลวงพระบางอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเมืองเพื่อนบ้านที่เหมาะสำหรับคนที่อยากพักผ่อนหรือเปลี่ยนบรรยากาศ นอกจากจะอยู่ห่างแค่ชั่วโมงครึ่งทางเครื่องบินแล้ว คนหลวงพระบางยังพูดภาษาไทยคล่อง (เพราะชอบดูละครไทย) แถมร้านค้าส่วนใหญ่ยังรับเงินบาทอีกต่างหาก แต่ในขณะเดียวกัน การมีสถานะเป็นเมืองมรดกโลกที่ค่าครองชีพยังไม่สูงมากทำให้ที่นี่กลายเป็นชุมชนนานาชาติที่เต็มไปด้วยโรงแรมหรู ร้านอาหารดีๆ แบบไม่ต้องกลัวจะลำบาก และถ้าอยากเที่ยวเปิดหูเปิดตา ในเมืองก็เต็มไปด้วยวัดวาอารามสวยๆ และอาคารโคโลเนียลให้ตามถ่ายรูปได้แบบจุใจหายอยาก

Satri House

ด้วยความที่จุดมุ่งหมายของทริปนี้คือการพักผ่อนโดยเฉพาะ เราจึงเลือกที่พักอย่าง Satri House ที่ดูสงบ เป็นส่วนตัวและอยู่ห่างออกจากย่านกลางเมืองออกมาประมาณ 5 นาที ที่นี่นับเป็นหนึ่งในโรงแรมยุคบุกเบิกของหลวงพระบาง โดยอาคารโคโลเนียลหลังหลักนั้นเคยเป็นตำหนักของเจ้าสุภานุวงศ์ หรือ “เจ้าชายแดง” แห่งราชวงศ์ล้านช้างและประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตำหนักแห่งนี้ถูกทิ้งร้างมาหลายสิบปีก่อนที่เจ้าของโรงแรมแห่งนี้จะซื้อต่อเพื่อนำมาทำเป็นโรงแรม โดยสร้างอาคารบริวารรอบๆ ให้ดูย้อนยุคเหมือนอาคารหลักด้วย สำหรับเรา Satri House คือโอเอซิสขนาดย่อมที่นอกจากแวดล้อมไปด้วยแมกไม้แล้ว ยังเอื้อต่อการพักผ่อนเป็นอย่างดี

และด้วยความที่มาหลวงพระบางหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยล่องเรือชมพระอาทิตย์ตกเลยสักครั้ง เมื่อพนักงานโรงแรมนำเสนอทัวร์ล่องเรือ เราก็เลยไม่ปฏิเสธ พนักงานบนเรือบอกเราว่าเนื่องจากเป็นเรือลำใหญ่ ในช่วงยังไม่ถึงไฮซีซั่นแบบนี้ ทริปหนึ่งต้องมีผู้โดยสารอย่างน้อย 4 คนถึงจะคุ้มทุน ซึ่งวันนั้นโชคดีที่มีผู้โดยสารเกือบ 10 คน ก็เลยได้ล่องเรือสมใจ นอกจากจะชมวิวแล้ว บนเรือยังเสิร์ฟอาหารว่างและเครื่องดื่มคนละแก้วให้นั่งชิลล์กันไปยาวๆ ราวหนึ่งชั่วโมง 

ด้วยความที่มีขนาดกะทัดรัด หลวงพระบางจัดว่าเป็นเมืองที่เที่ยวง่ายเมืองหนึ่ง แลนด์มาร์กส่วนใหญ่ที่อยู่ในตัวเมืองอยู่ในระยะที่เดินได้หรือขี่จักรยานถึง ตั้งแต่พิพิธภัณฑ์หลวงพระบางซึ่งเคยเป็นพระราชวังของราชวงศ์ล้านช้าง ที่เป็นที่ประดิษฐานพระบางในปัจจุบัน และตลาดเช้าที่อยู่ติดกัน วัดเชียงทอง วัดสำคัญที่มีสิมหรือพระอุโบสถที่เรียกได้ว่าเป็นอัญมณีของศิลปะล้านช้าง  พร้อมโรงราชรถและหอราชโกศที่ประดิษฐานพระโกศของเจ้าศรีสว่างวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงพระธาตุภูสี พระธาตุบนเนินเขาที่มีจุดชมวิวหลวงพระบางจากมุมสูง แลนด์มาร์กทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนถนนศรีสว่างวงศ์แบบไม่ไกลกันนัก และถนนเส้นนี้ยังเป็นถนนสายหลักที่พระจะมาบิณฑบาตรตอนเช้ามืดด้วย

ตาดกวงสี

นอกจากสถานที่ทางวัฒนธรรมแล้ว หลวงพระบางยังอุดมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ตาด” หรือน้ำตกต่างๆ ให้ได้เยี่ยมชมกันด้วย สำหรับทริปนี้ เราไปน้ำตกที่เป็นไฮไลต์อย่าง “ตาดกวงสี” ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณสามสิบกิโลเมตร แม้จะไกลออกจากเมืองไปสักหน่อย แต่ก็นับว่าคุ้มค่า เพราะน้ำสีเทอร์ควอยซ์อ่อนๆ จากหินปูนนั้นดูจะไม่ค่อยมีให้เห็นนักที่น้ำตกเมืองไทย แถมข้อดีคือตาดกวงสีแห่งนี้เป็นน้ำตกที่ไม่ต้องเดินไกลเหมือนน้ำตกส่วนใหญ่ เดินจากทางเข้าหลักเพียงไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึงแล้ว ใครที่อยากเล่นน้ำจะเตรียมชุดว่ายน้ำไปเล่นด้วยก็ไม่ว่ากัน

Manda de Laos กินอาหารลาวริมสระบัว

Chez Matt ไวน์บาร์เล็กๆ

ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น เมืองท่องเที่ยวอย่างหลวงพระบางก็นับว่าไม่แพ้ใคร ถ้าอยากชิมข้าวเปียกแบบดั้งเดิมแนะนำให้ไปตลาดเช้า แต่ถ้าอยากชิมอาหารลาวสมัยใหม่พร้อมวิวสวยๆ ขอให้ไปที่ร้าน Manda de Laos ที่เสิร์ฟอาหารลาวแบบดูดีริมสระบัวที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือถ้าอยากฉลองโอกาสพิเศษ แนะนำ Paste Laos ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งที่อยู่ในโรงแรม Apsara Luang Prabang ที่เป็นของเชฟบี บงกช สระทองอุ่นจาก Paste Bangkok นี่เอง ที่นี่เสิร์ฟอาหารลาวแบบโมเดิร์นที่หน้าตาสวยงาม พร้อมรสชาติเข้มข้น แต่ถ้าอยากลองชิมฟองดูแบบลาว (ซึ่งก็คือหมูกระทะผสมสุกี้แบบไทย) ร้านที่ฮ็อตฮิตคงหนีไม่พ้นร้านเย็นสบายที่ถ้าไม่ขับรถข้ามฝั่ง ก็ต้องเดินข้ามสะพานไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นแบบชั่วคราวเพียง 6 เดือนเท่านั้น ฟองดูลาวที่นี่จะเรียกว่าเป็นแบบดั้งเดิมก็คงไม่ถูกนัก เพราะเหมือนจะเป็นร้านสำหรับนักท่องเที่ยวมากกว่า แต่รสชาติอาหารก็จัดว่าใช้ได้ โต๊ะก็นั่งสบายดี ถ้าอยากดื่มไวน์ ลองไปที่ Chez Matt ไวน์บาร์เล็กๆในห้องแถวที่เสิร์ฟไวน์และเครื่องดื่มอื่นๆ คู่กับแพลตเตอร์โคลด์คัตและชีส ส่วนคนชอบพิซซ่าอาจลองไปที่ร้าน Secret Pizza ที่เสิร์ฟพิซซ่าเตาถ่านโฮมเมดแป้งบางกรอบ แต่อาจจะต้องใช้ความพยายามเล็กน้อยเพราะนอกจากจะเปิดสองวันต่อสัปดาห์ (อังคารและศุกร์) แล้วยังอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่ลึกลับพอสมควร

แต่ถ้าเป็นของที่ระลึก แนะนำร้าน Celadon ร้านเล็กๆ ในห้องแถวที่อยู่ไม่ไกลจากวัดเชียงทองนัก เราขี่จักรยานผ่านร้านนี้โดยบังเอิญ แต่ปรากฏว่าร้านนี้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ที่จำหน่ายของที่ระลึกแล้วนำรายได้ไปสนับสนุนการศึกษาพระพุทธศาสนาในลาว ของดีไซน์ที่ออกแบบมาอย่างดีมีทั้งพระพุทธรูปที่ได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปในถ้ำปากอู แจกันศิลาดลแบบโมเดิร์น โฟโต้บุ๊ก ไปจนถึงหนังสืออาร์ต นอกจากจะได้ของที่ระลึกที่ไม่เหมือนใครติดไม้ติดมือกลับบ้านแล้วยังได้ทำบุญไปพร้อมๆกัน

แม้เวลาของที่นี่ดูจะผ่านไปอย่างเชื่องช้ากว่าที่อื่น แต่ท้ายสุดแล้ว หลวงพระบางก็กำลังจะต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวมีกำหนดแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ถึงตอนนั้น เมืองเล็กๆ ท่ามกลางขุนเขานี้จะเป็นอย่างไร จะยัง “สะบายดี” หรือไม่

กาลเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์

Tags: ,