ความเชื่อของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับพระอาทิตย์นั้นปรากฏอยู่ในหลายลักษณะ ทั้งความเชื่อที่ว่าตนเป็นลูกหลานของพระอาทิตย์ ชื่อที่ชาวญี่ปุ่นเรียกตัวเองว่า Nippon (นิปปอน) หรือ Nihong (นิฮง) ก็มีความหมายว่าถิ่นกำเนิดของพระอาทิตย์ รวมไปถึงความเชื่อเรื่องเทพอามาเทราสึ (Amaterasu) หรือเทพแห่งพระอาทิตย์ตามความเชื่อของศาสนาชินโต ซึ่งเชื่อกันว่าจักรพรรดิของญี่ปุ่นสืบเชื้อสายมาจากเทพองค์นี้ 

กล่าวได้ว่าความเชื่อเรื่องพระอาทิตย์คือรากฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวญี่ปุ่น และกลายมาเป็นเบ้าหลอมตัวตนและจิตวิญญาณของชนชาติญี่ปุ่นด้วย

นวนิยายเรื่อง อาทิตย์สิ้นแสง (The Setting Sun) ของ ดะไซ โอซามุ (Dazai Osamu) ก็เขียนขึ้นบนความเชื่อและจิตวิญญาณดังกล่าวนี้ เหตุการณ์ฉากหลังของนวนิยายที่ผู้เขียนเลือกมาใช้คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของชาวญี่ปุ่นนั่นคือ เหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม 

ความพ่ายแพ้ดังกล่าวแปรเปลี่ยนเป็นความบอบช้ำทางจิตวิญญาณที่กัดกินไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่เพียงแต่สภาพน่าเวทนาของผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายจากสงคราม และบ้านเมืองที่กลายเป็นซากปรักหักพังเท่านั้น แต่ยังกระทบอย่างรุนแรงไปถึงแนวคิดความเป็นชาตินิยมและความภูมิใจในชนชาติของชาวญี่ปุ่น ซึ่งถือตนว่าเป็นลูกหลานของพระอาทิตย์ เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ มีความเหนือกว่าชาวเอเชียชาติอื่นด้วย เมื่อต้องกลายมาเป็นประเทศแพ้สงคราม ความพ่ายแพ้ดังกล่าวจึงกัดกินลึกลงไปถึงจิตวิญญาณ

ผู้เขียนเลือกฉายภาพความพ่ายแพ้บอบช้ำดังกล่าวนี้ผ่านชีวิตของ ‘ชนชั้นสูง’ ‘ชนชั้นขุนนาง’ ‘ผู้ดีเก่า’ ที่แต่เดิมเคยจรัสแสงเรืองรองประหนึ่งพระอาทิตย์ แต่ต้องกลายมาเป็น ‘ผู้ดีตกยาก’ ในชั่วพริบตา และจำต้องขายทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เหลืออยู่เพื่อประทังชีวิตรอดในห้วงเวลาอันอับแสงนี้

ดะไซ โอซามุ เขียนนวนิยายเรื่องนี้โดย “ได้รับเค้าโครงมาจากบันทึกของหญิงสูงศักดิ์ผู้ยอมพลีใจเป็นอนุภรรยาของนักเขียนเสเพล” (อ้างอิงข้อมูลตามที่ปรากฏใน คำนำสำนักพิมพ์) ส่วนผู้อ่านจะเชื่อตามนี้อย่างตรงไปตรงมา หรือมองว่ามันคือกลการประพันธ์รูปแบบหนึ่งที่ล้ออยู่กับพรมแดนระหว่างความเป็นเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ก็สุดแท้แต่การตีความของแต่ละคน

อาทิตย์สิ้นแสง เล่าเรื่องผ่านมุมมองสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ‘ฉัน’ ซึ่งก็คือ คาสุโกะ ผู้เล่าเรื่อง หญิงสาววัย 29 ผู้เป็นลูกสาวคนโตของตระกูลผู้รากมากดีเก่า แต่บัดนี้เธอและ คุณแม่ วัยชรา ต้องขายคฤหาสน์และทรัพย์สมบัติต่างๆ แล้วระหกระเหินมาซื้อบ้านหลังเล็กริมทะเลแห่งหนึ่งในเมืองห่างไกลตามคำแนะนำของน้าชายผู้เป็นผู้จัดการมรดก ในขณะที่ นาโอจิ น้องชายของเธอต้องไปร่วมรบในสงคราม สภาพชีวิตในบ้านหลังเล็กริมทะเลดังกล่าวนี้แม้จะไม่ถึงขั้นลำบากยากแค้น แต่การต้องเลี้ยงดูแม่ผู้แก่ชรา การรับภาระหุงหาอาหารคนเดียวในบ้าน และความสับสนเปล่าเปลี่ยวอันเนื่องมาจากการต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตใหม่ คือบททดสอบที่ไม่ง่ายนักสำหรับหญิงสาวตัวคนเดียวอย่างเธอ

ดังที่กล่าวไปในตอนต้นว่านวนิยายเรื่องนี้ได้รับเค้าโครงมาจากบันทึกของหญิงสูงศักดิ์ การเล่าเรื่องจึงดำเนินไปในลักษณะของการเขียนบันทึกประจำวันที่เล่าว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ฯลฯ ขอบเขตของเรื่องจึงจำกัดอยู่แต่เฉพาะสิ่งที่ผู้เล่าเรื่องพบเห็นและรับรู้มา ซึ่งก็ไม่ได้ไกลเกินกว่าเรื่องราวภายในบ้านและเหตุการณ์รอบๆ บ้านที่เธออาศัยอยู่ เมื่อถูกตัดขาดจาก ‘โลกภายนอก’ อย่างแทบจะโดยสิ้นเชิง เรื่องราวส่วนใหญ่จึงค่อยๆ มุ่งสู่ ‘โลกภายใน’ ของผู้เล่าเรื่อง ที่เปิดเปลือยความคิดจิตใจ ตัวตน ความใฝ่ฝัน และความปรารถนาออกมาอย่างหมดเปลือก

วิธีที่ผู้เขียนเลือกใช้เพื่อเปิดเปลือยความคิดจิตใจของตัวละครนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นก็คือการเขียน ‘จดหมาย’ อันเป็นเสมือนพื้นที่ของการสารภาพความในใจและเป็นวิธีพูด ‘ความจริง’ ในแบบที่ลึกลงไปกว่าการบรรยายความคิดความรู้สึกของตนโดยทั่วไป ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่อยู่นอกจดหมายกับสิ่งที่อยู่ในจดหมายอยู่ตรงที่ สิ่งที่อยู่นอกจดหมายคือสิ่งที่ผู้เล่าเรื่องเขียนเพื่อคุยกับผู้อ่าน และเล่าเรื่องให้ผู้อ่านฟัง ในขณะที่สิ่งที่อยู่ในจดหมายคือสิ่งที่ผู้เล่าเรื่องเขียนเพื่อคุยกับตัวเอง ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่า ‘ตัวตน’ ของตัวละครที่เขียนจดหมาย จึงแตกออกเป็นสองทาง คือตัวตนที่อยู่ในจดหมาย และตัวตนที่อยู่นอกจดหมาย

ตัวละครที่เขียนจดหมายในเรื่องนี้มีอยู่สองคนคือ ‘ฉัน’ ซึ่งก็คือคาสุโกะ ผู้เล่าเรื่อง กับนาโอจิ น้องชายของคาสุโกะ จดหมายที่คาสุโกะเขียนคือจดหมายที่เธอเขียนถึง ‘นักเขียนเสเพล’ ผู้เปรียบเหมือนครูในทางศิลปะของนาโอจิ และเธอก็ตกหลุมรักเขาอย่างหัวปักหัวปำจากการพบกันแค่ครั้งเดียว ใจความสำคัญในจดหมายที่เธอเขียนถึงนักเขียนเสเพลก็คือ เธออยากให้เขารับเธอไปเป็นอนุภรรยาและเลี้ยงดูเธอเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่จดหมายที่นาโอจิเขียนคือจดหมายที่เขาเขียนถึงคาสุโกะผู้เป็นพี่สาว อันเป็นคำสารภาพถึงที่มาที่ไปที่เขาทำตัวสำมะเลเทเมา ผลาญเงินของตระกูล และชีวิตที่แหลกสลายอันเนื่องมาจากการสูญเสียสายสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของเขากับโลกภายนอก

เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนที่เคยอ่านนวนิยายเรื่องดังของดะไซ โอซามุ อย่าง สูญสิ้นความเป็นคน (No Longer  Human) มาแล้ว ย่อมจะนึกเชื่อมโยงตัวละคร นาโอจิ ใน อาทิตย์สิ้นแสง กับตัวละคร โยจัง ในเรื่อง สูญสิ้นความเป็นคน อย่างไม่ต้องสงสัย ในแง่ที่ว่าตัวละครทั้งสองคนแทบจะเป็นเหมือนฝาแฝดที่คลอดออกมาจากครรภ์ทางวรรณกรรมเดียวกัน เป็นชายหนุ่มผู้พ่ายแพ้ สูญเสียความเชื่อมั่นในการมีชีวิต หวาดกลัวความสัมพันธ์ หวาดกลัวผู้คน และหวาดกลัวสังคม

นาโอจิ เป็นตัวละครตัวเดียวในเรื่องที่ตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์ (identity) ของตนอย่างจริงจัง เขารู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘คนนอก’ หรือเป็น ‘แกะดำ’ เสมอ ไม่ว่าจะในแวดวงสังคมของชนชั้นสูงที่เขาถือกำเนิด หรือในแวดวงของนักเขียนศิลปินสามัญชนลูกชาวนาอย่างนักเขียนเสเพลที่เขาไปคลุกคลีด้วย ความรู้สึกดังกล่าวระเบิดออกมาเป็นการโบยตีตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมองไม่เห็นตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองบนโลกนี้

อาทิตย์สิ้นแสง อาจไม่ได้ฉายภาพเหตุการณ์ในมุมกว้างว่าบรรดาชนชั้นสูงและผู้ดีเก่าของญี่ปุ่นแต่ละคนต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้างหลังจากประเทศแพ้สงคราม ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดออกมาให้เห็นว่าสภาพโดยรวมของประเทศและบรรยากาศทางความคิดจิตใจของผู้คนในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่นวนิยายเรื่องนี้ทำได้ดีก็คือ การเสาะค้นเข้าไปในเบื้องลึกความคิดจิตใจของตัวละครที่เป็นปัจเจกบุคคลเท่าที่ตัวละครที่มีมุมมองจำกัดหนึ่งคนจะบอกเล่าให้เรารับรู้ได้

หากเราแบ่งตัวละครในเรื่องนี้ออกเป็นสองกลุ่ม จะพบว่าตัวละครที่ตายไป (ไม่ว่าจะป่วยตาย หรือฆ่าตัวตาย) คือการตายไปพร้อมกับเกียรติยศและศักดิ์ศรีบางอย่าง ดังเช่นตัวละคร คุณแม่ ที่ตายไปพร้อมกับจิตวิญญาณและเลือดความเป็นผู้ดีที่ยังไม่แปดเปื้อน จุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือ เราจะพบว่า คุณแม่ เป็นตัวละครที่แบนราบอย่างยิ่ง เพราะเราจะไม่เห็นตัวตนด้านอื่นเลยนอกจากความอ่อนโยน สุขุมเยือกเย็น และไหลเรื่อย ‘ตามน้ำ’ ไปในทุกๆ สถานการณ์ คล้ายกับผู้เขียนกำลังบอกเป็นนัยว่านี่คือจิตวิญญาณความเป็นชนชั้นสูงและเลือดผู้ดีอันบริสุทธิ์ขนานแท้ที่ ‘เรา’ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใจหรือเข้าถึงในมิติอื่นได้ ทำได้เพียงรับรู้มันในฐานะความสง่างามอันไม่เปลี่ยนแปลงเท่านั้น ใบหน้าแห่งความสง่างามอันเปรียบเหมือนหน้ากากละครโนห์ (Noh Masks) ศิลปะการแสดงของชนชั้นสูงญี่ปุ่น ที่เราจะไม่ได้เห็น ‘สีหน้า’ แท้จริงของผู้แสดง เห็นได้เพียงหน้ากากแบบใดแบบหนึ่งที่ผู้นั้นเลือกสวมใส่ให้ตัวเองเท่านั้น

ส่วนตัวละครอย่าง นาโอจิ ที่เลือกจบชีวิตตัวเองลงด้วยการฆ่าตัวตายนั้น ก็เป็นการฆ่าตัวตายหลังจากพบว่าเขาไม่สามารถทนหลอกตัวเองต่อไปในความปลิ้นปล้อนจอมปลอมต่างๆ ได้ มองไม่เห็นว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีต่อไปได้อย่างไร ทางเลือกจึงหดแคบลงเหลือเพียงสองทาง ถ้าอยู่อย่างมีเกียรติไม่ได้ ก็ขอตายอย่างมีเกียรติ ซึ่ง ‘เกียรติ’ ที่ว่านี้ไม่ว่าจะเป็นแวดวงชนชั้นสูง หรือแวดวงนักเขียนศิลปินก็ให้เขาไม่ได้

ในขณะที่ตัวละครอย่าง ‘ฉัน’ (คาสุโกะ) กับ ‘นักเขียนเสเพล’ ที่ไม่ได้เลือกความตาย แต่กลับพยายามดิ้นรนปรับตัวไปตามสถานการณ์เพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป แม้จะไม่ ‘สง่างาม’ อย่างสองตัวละครข้างต้น แต่หากการมีชีวิตอยู่คือทางเลือกที่สำคัญที่สุด สิ่งอื่นใดย่อมเป็นเรื่องรองลงมา

อาทิตย์สิ้นแสง ในที่นี้จึงอาจเป็นได้ทั้งคุณค่าแบบเดิมที่อาจจะดับสูญไปตลอดกาลเพราะไม่อาจปรับตัวรับ ‘แสง’ ใหม่ ๆ และอาจหมายถึงความทอดอาลัยสิ้นหวังของผู้ที่ไม่เชื่อว่าตนจะจรัสแสงอีกครั้งได้ ผู้หัวเราะเยาะอาทิตย์ดวงใหม่ และร่ำไห้โหยหาอาทิตย์ดวงเดิม 

Fact Box

อาทิตย์สิ้นแสง
ดะไซ โอซามุ (Dazai Osamu) เขียน
พรพิรุณ กิจสมเจตน์ แปล
สำนักพิมพ์เจลิท (JLIT)

ผลงานอื่น ๆ ของดะไซ โอซามุที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว สูญสิ้นความเป็นคน (นวนิยาย) และ เมียชายชั่ว (รวมเรื่องสั้น) ทั้งสองเล่มจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เจลิท (JLIT)

Tags: , ,