ขับเคลื่อนกฎหมายคู่ชีวิต
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ( ปพพ.) มาตรา 1448 ระบุให้การสมรสเป็นสิทธิของ ‘ชายและหญิง’ ซึ่งกลุ่ม LGBT มองว่า เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 27 ที่เขียนว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน” ทำให้เมื่อปีกลาย มีคู่รักเพศเดียวกันนำเรื่องนี้ขึ้นยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ปพพ.1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และสามารถยื่นเรื่องได้ตามมาตรา 231 ว่าด้วยอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณี ( 1 ) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ ( 2 ) กฎ คำสั่งหรือหการกระทำอื่นใดของหน่วยงานรัฐหรือของเจ้าหน้าที่รัฐ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง
การยื่นเรื่องดังกล่าวเพราะผู้ยื่นมองว่า การจดทะเบียนสมรสเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ดำเนินการให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้ก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 แต่ที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า เรื่องนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง อีกทั้งเรื่องการสมรสเพศเดียวกันก็จะมีการออกกฎหมายอยู่แล้วโดยอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งรอนำเข้าสู่วาระของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยกฎหมายคู่ชีวิตนั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายร่าง ร่างที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ เรียกได้ว่าเป็นร่างที่ 6 กลุ่ม LGBT ต้องการให้กฎหมายสามารถเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ได้ในสมัยประชุมนี้
กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
ในปีนี้ มีความพยายามยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไข ปพพ.มาตรา 1448 อีกครั้ง แต่เปลี่ยนมาใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ในการยื่นแทน ซึ่งมีความว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ” ซึ่งก็ต้องรอผลการพิจารณาต่อไป ในขณะที่ทางพรรคก้าวไกลนั้นพยายามเสนอเรื่องการแก้ไข ปพพ.มาตรา 1448 อีกทางหนึ่งนอกจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กล่าวมาคือภาพรวมของการเคลื่อนไหว พ.ร.บ.คู่ชีวิตในขณะนี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่า เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้ว คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วม ( วิป ) รัฐบาลและฝ่ายค้านจะมีมติโหวตไปในทางไหน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตร่างล่าสุดนั้น นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีทั้งสิ้น 44 มาตรา สิทธิที่ยังขาดคือ
- การให้สวัสดิการข้าราชการกับคู่สมรสเพศเดียวกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้กระบวนการยุ่งยาก
- การให้คนต่างชาติเข้ามาสมรสในประเทศไทย เพื่อไม่ให้มีปัญหาชาวต่างประเทศในประเทศที่ยังไม่ยอมรับกลุ่ม LGBT มาใช้สิทธิสมรส โดยมีข้ออ้างว่า “เกี่ยวข้องกับมิติด้านความมั่นคง”
- การให้สิทธิในการที่คู่สมรสเพศเดียวกันอุ้มบุญได้ เพราะ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ยังให้สิทธิเฉพาะสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย การจ้างอุ้มบุญจะถูกมองเป็นการค้ามนุษย์
นายกิตตินันท์กล่าวว่า “การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 213 ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า ปพพ.มาตรา 1448 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะทำให้ไม่สามารถแก้ ปพพ.มาตรา 1448 ได้ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น มองได้อีกมุมหนึ่งว่าแม้สิทธิจะยังไม่ครอบคลุม แต่ถ้ากฎหมายออกมาบังคับใช้สักระยะ เราก็จะสามารถเห็นปัญหาของความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นได้ และสามารถปรับแก้กฎหมายให้ก้าวหน้า เหมาะสมต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งร่างกฎหมายก็พยายามหาจุดศูนย์กลางที่เหมาะสม อย่างเรื่องการจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็ต้องมีการระบุว่า จดคู่ชีวิตแล้วจะจดทะเบียนกับอีกคนตาม ปพพ.1448 ไม่ได้อีก หรือการหย่าของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็ให้ใช้คำว่า หย่าด้วยเหตุแห่งการยกย่องบุคคลอื่นใด”
สิทธิที่พึงได้ ไม่ใช่เพียงแค่คู่ชีวิต
สิ่งที่ดูจะเป็น ‘กล่อง’ ที่กว้างกว่ากฎหมายคู่ชีวิต คือกฎหมายที่ป้องกันการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เพราะจะคุ้มครองดูแลทุกอัตลักษณ์ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงมีการเยียวยาชดเชยหากเสียหาย แม้ว่าการสมรสระหว่างเพศเดียวกันจะเป็นที่จับตามากกว่า เพราะเป็นการแสดงถึงการยอมรับอัตลักษณ์และความรักของ LGBT ในระดับกฎหมาย
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีการตั้งคณะทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBT โดยมีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เป็นประธาน รวบรวมปัญหาที่ LGBT ประสบเพื่อผลักดันให้พรรคขับเคลื่อนแก้ไข
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้จัดงานเสวนา ‘Gender rights, Political rights: มองความล้าหลังในความก้าวหน้าของ LGBT ไทย’ เพื่อเป็นการชี้ให้เห็นว่า ในประเทศไทยแม้การยอมรับตัวตนของ LGBT อยู่ในระดับที่ดี แต่นโยบายหรือกฎหมายบางฉบับก็มีความล้าหลัง ไม่เป็นไปตามสิทธิที่เหมาะสมของผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มาร่วมแสดงความเห็นในงานด้วยตัวเองว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้นดูมีความเป็นอนุรักษนิยม ซึ่งถูกครึ่งหนึ่ง คืออะไรที่ดีเราก็อนุรักษ์ไว้ แต่อะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง เดินไปข้างหน้าเราก็ต้องเปลี่ยน พรรคจะต้องก้าวเข้าสู่ยุคอุดมการณ์ทันสมัย พรรคสนับสนุนเรื่องสิทธิกลุ่ม LGBT เพื่อการสร้างสังคมทันสมัยและเท่าเทียม
สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำไปแล้วตามกลไกของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่นายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นรัฐมนตรี คือการส่งเสริมเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ซึ่งนายจุรินทร์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พม.เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ด้วย
ความก้าวหน้าของการออกนโยบายคือมีการออกข้อตกลง (MOU) เพื่อป้องกันการกีดกันการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่ง MOU กำหนดให้บริษัท สถาบันการศึกษา หรือหน่วยราชการมีภารกิจในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ คือการสร้างพื้นที่การทำงานที่เอื้อกับทุกเพศ
เนื้อหาใน MOU ประกอบด้วย 1.การอนุญาตให้บุคลากร นักศึกษา สามารถแต่งกายตามเพศวิถีได้ 2.การจัดพื้นที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ 3.การสมัครงานและกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร ที่กำหนดเรื่องความสามารถและคุณสมบัติมากกว่าการใช้กรอบเพศมาตัดสิน 4.การใช้ถ้อยคำ กิริยาท่าทาง เอกสารต่างๆ ที่ต้องให้เหมาะสมต่อแต่ละอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ให้เกิดการตีตรา การกลั่นแกล้ง หรือลดทอนคุณค่าของเพศใด 5.การสรรหากรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงาน ให้พิจารณาถึงความสามารถมากกว่าการใช้กรอบเพศตัดสิน 6.ป้องกันแก้ปัญหาหรือการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และในอนาคตจะมีการปรับปรุงเนื้อหา MOU ให้ทันสมัยขึ้นไปอีก
ในวันที่ 4 มี.ค. 2563 พม.มีการเซ็น MOU กับหน่วยงานต่างๆ ไปแล้ว 24 หน่วยงาน ทั้งภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา รวมถึงรัฐวิสาหกิจบางแห่ง อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัล, บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บมจ.ปตท. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณวิทยาเขตพัทลุง รวมทั้ง MOU จังหวัดนำร่อง คือจันบุรีและปทุมธานี ซึ่งพรรคต้องการให้ทำ MOU เพิ่มในจังหวัดและองค์กรต่างๆ โดยนายจุรินทร์ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคการเมืองแรก และเป็นหน่วยงานที่ 25 ที่จะลงนาม MOU ดังกล่าว
ในปี พ.ศ.2564 จะครบรอบวาระ 6 ปีในการใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ จะมีการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ให้คณะกรรมการมีการกำหนดกรอบเวลาในการวินิจฉัยเยียวยาให้แล้วเสร็จใน 96 วัน ขยายได้ 30 วัน จากเดิมที่ไม่มีกรอบเวลา และการเปิดช่องให้องค์กรอื่นหรือผู้อื่นร้อง วลพ.แทนผู้เสียหายได้ เพราะมีบางกรณีที่ผู้ถูกเลือกปฏิบัติกลัวจะเกิดปัญหาจึงไม่กล้าลุกขึ้นมาร้องเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามายัง วลพ.ยังมีไม่มากนัก อย่างเช่นที่เราเห็นในช่วงเดือนมิถุนายนนี้เองที่มีบางโรงเรียนมีการออกระเบียบในเชิงตีตราว่า เด็กที่เป็น LGBT มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมไม่เหมาะสม ต้องจับตาดูแล นักเรียนก็อาจไม่กล้าร้องเรียนเอง จำเป็นต้องมีกลไกในการยื่นร้องแทนเพื่อไกล่เกลี่ยให้ปรับเปลี่ยนนโยบาย
ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ที่นับเป็นกลไกสำคัญให้ผู้ต้องการร้องเรียนมาร้องเรียนผ่านศูนย์ให้ดำเนินการต่อให้ได้
กฎหมายรับรองเพศ
กฎหมายรับรองเพศ คือกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ที่ข้ามเพศแล้วสามารถใช้สิทธิตามเพศใหม่ได้ เช่น การใช้คำนำหน้านาม การรักษาพยาบาลในวอร์ดผู้ป่วยตามเพศใหม่ที่ไม่ใช่เพศกำเนิด เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการยกร่างของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ผู้ที่มีบทบาทมากในการผลักดันคือ นางสาวชมพูนุท นาครทรรพ ประธานยกร่างกฎหมายและคณะทำงานของนายจุติ ไกรฤกษ์
นางสาวชมพูนุท—บางคนอาจรู้จักว่าคือคู่ชีวิตของดาราและผู้กำกับหญิงชื่อดัง ‘บุ๋ม’ รัญญา ศิยานนท์ นั่นเอง น.ส.ชมพูนุทได้วางแผนการทำหัวข้อในการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับลักษณะใดที่ควรรับรองในการข้ามเพศ และนำเอาผลมาประมวลในเดือนกรกฎาคม เพื่อยกร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้
การทำหัวข้อเกี่ยวกับกฎหมายรับรองเพศนั้นมีรายละเอียดสำคัญหลายประการ อาทิ ให้เลือกว่าจำเป็นต้องแปลงเพศหรือไม่ ไปจนถึงสามารถได้สิทธิรับรองเพศตามเพศใหม่ การรับรองเพศใหม่จะสามารถรับรองได้เมื่อบุคคลอายุเท่าไร เช่น 16,18 หรือ 20 ปี หน่วยงานใดที่จะต้องเป็นผู้รับรองเพศ การเก็บประวัติและการเปิดเผยประวัติของเพศเดิม ใครจะสามารถเปิดเผยได้และเหตุที่จะเปิดเผยได้คืออะไร ฯลฯ การสำรวจเช่นนี้เป็นไปตามนโยบายของนายจุติ ไกรฤกษ์ ที่ต้องหาจุดศูนย์กลางที่สมดุลและเป็นที่ยอมรับได้
ส่วนเรื่องของการแปลงหรือไม่แปลงเพศ นายกิตตินันท์ ธรมธัช ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนกฎหมายได้มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการแปลงเพศหรือไม่แปลงเพศหลายประการว่า
“ต้องดูที่เจตจำนง คนข้ามเพศมีทั้งคนที่ข้ามเพศสรีระคือการแปลงเพศ และคนที่ข้ามเพศสภาพ คือมีลักษณะ การแสดงออกภายนอกต่างจากเพศกำเนิดทุกประการ แต่เขาไม่ได้ต้องการแปลงเพศ หากมีการยอมรับเจตจำนง ทั้งสองกลุ่มนี้ต้องได้สิทธิที่เท่าเทียมกัน ซึ่งความที่เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ลื่นไหล ทำให้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘การย้ายเพศ’ เกิดขึ้นได้ อย่างในเยอรมนี ก็มีกรณีคนที่ขอข้ามเพศเป็นผู้หญิง แต่ต่อมาก็ย้ายเพศกลับมาเป็นเพศชายได้ การเอาอวัยวะเพศมาตัดสินหรือเป็นเงื่อนไขบางครั้งใช้ไม่ได้กับเจตจำนงของผู้ต้องการข้ามเพศ
“การถูกเลือกปฏิบัตินั้น เราถูกเลือกปฏิบัติจากคำนำหน้านาม เช่นบางคนก็เปลี่ยนตัวเองเป็นเพศใหม่ได้แบบลักษณะภายนอกเหมือน 100% แต่พอเจ้าหน้าที่รัฐหรือบางฝ่ายเห็นคำนำหน้านามก็ให้ต้องใช้สิทธิตามเพศกำเนิด คำนำหน้านามกลายเป็นตัวกำหนดสิทธิและหน้าที่ เช่นเรื่องการเกณฑ์ทหาร คำนำหน้านามเป็นนายก็ต้องไปเกณฑ์ทหารแล้วไปเขียนในใบ สด.43 เอาว่า ‘เพศสภาพไม่ตรงเพศกำเนิด’ เราใช้คำว่า ‘รับรองเพศ’ ไม่ใช่การ ‘อนุญาตให้ใช้สิทธิตามเพศใหม่’ เพราะการรับรองคือการยอมรับอัตลักษณ์ที่ตัวตนคนคนนั้นเป็น
“ซึ่งการรับรองเพศนั้น ก็จะต้องหารือกันให้ได้ข้อสรุปว่า ‘ลักษณะแบบไหนควรได้รับการรับรองเพศสภาพตามเพศใหม่’ อาจต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองเช่น ให้กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการรับรอง แต่ยืนยันว่าหลักการของกฎหมายคือไม่ใช่การเรียกร้องอย่างสุดโต่ง สิทธิมนุษยชน กฎหมายต้องให้คุณค่ากับการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเหมาะสม อย่างเช่นที่ถกเถียงกันคือเรื่องที่ชายหญิงกลัวว่าจะถูกพวกข้ามเพศหลอกแต่งงาน หรือกระทั่งกรณีที่เคยมีประวัติอาชญากรรมขณะที่ยังเป็นเพศตามเพศกำเนิด พอเป็นเพศใหม่จึงยังต้องเก็บข้อมูลของเพศเดิม สำคัญคือเราต้องกำหนดว่า จะเปิดเผยกับใคร ใครมีหน้าที่เปิดเผย เปิดเผยอย่างไร ที่จะเป็นการรักษาสิทธิของคนข้ามเพศในระดับที่พอดี”
นายกิตตินันท์สรุปหลักการของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศไว้ว่า “มันแบ่งได้ 5 ระดับ ระดับแรกคือความเข้าใจว่า เรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งเรื่องความเข้าใจ—ยังผิดพลาดตรงที่หลายคนยังมีวิธีคิดเรื่องเพศกำเนิดกับรสนิยมทางเพศต้องสอดคล้องกัน ต้องเปลี่ยนแปลงความรู้ตรงนี้ สอง การเข้าถึง คือการเน้นย้ำความเข้าใจว่า คนเราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิที่ควรได้ คนเราเกิดมามีสิทธิติดตัว และสิทธิตามกฎหมายที่รัฐต้องจัดสรรให้ เช่น การเรียนฟรี การรักษาพยาบาลฟรี สาม การยอมรับความหลากหลายทางเพศ ยอมรับสิทธิของเขา สี่ การให้ความเคารพในการเป็นตัวตนของเขา และไปถึงขั้นห้า คือการไม่ละเมิดกลุ่ม LGBT ในรูปแบบต่างๆ เช่นการเหยียด การเลือกปฏิบัติ การตีตรา การใช้ความรุนแรง แต่ตอนนี้เหมือนเรายังย่ำอยู่ที่ข้อแรก”
สิทธิ LGBT พิการ
นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย เป็นผู้แทนไทยที่ลงสมัครเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2564-2567 ซึ่งจะมีการโหวตเลือกในเร็วๆ นี้ และยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เธอมองเรื่องสิทธิของ LGBT พิการว่า “ปัจจุบัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการยังไม่ครอบคลุมเรื่องมิติทางเพศ และกฎหมายตัวนี้ไปสังกัดอยู่กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ขณะที่ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ไปอยู่กับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มันกลายเป็นการทำงานแยกส่วนหน่วยงานใครหน่วยงานมัน
“อย่างการเลือกปฏิบัติ คนที่เป็น LGBT พิการจะร้องว่าถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ถ้าผู้เลือกปฏิบัติอ้างว่าไม่ใช่เหตุแห่งเพศก็ตีความยาก ก็ต้องไปร้องศาลปกครองเอาเอง ปัญหาคือรัฐสวัสดิการสำหรับคนพิการที่ถูกเลือกปฏิบัติยังไม่เพียงพอ อย่างคนหูหนวกเป็นใบ้ จะแจ้งว่าถูกเลือกปฏิบัติก็ยังไม่มีล่าม ก็ให้ใช้วิธีเขียน หรือบางครั้งการสื่อความหมายของล่ามก็ผิด อย่างกรณีหากมีคนที่แทงคนที่มาทำร้ายรังแกเพื่อป้องกันตัวเอง แปลผิดกลายเป็นพยายามฆ่าไปได้เลย ปัจจุบันมีล่ามที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงยุติธรรมแค่ราวๆ 10 คน และล่ามก็มีในส่วนของ 4 หน่วยงานคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร) ศาลยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ระเบียบใครระเบียบมันอีก ผู้ถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกล่วงละเมิดมีปัญหาในการร้องเรียนมาก จำเป็นต้องมีกลไกที่ช่วยเหลือ
“ในเรื่องการทำงาน ปกติคนพิการก็ถูกเลือกปฏิบัติพออยู่แล้ว อย่างช่วงโควิด-19 ระบาด คนพิการตกงานเยอะ เพราะหลายคนทำอาชีพขายลอตเตอรี่ หรือทำงานนวด ไม่มีสถิติที่รวบรวมชัดเจนว่า คนพิการที่ทำงานได้มีกี่คน เงินช่วยเหลือเยียวยาคนพิการก็ยังน้อย ได้แค่พันเดียวจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และลำบากที่จะต้องไปแสดงตัวตามภูมิลำเนา ทั้งนี้ จากการทำงานร่วมกับมูลนิธิสวิง พบว่า มีกลุ่มค้าบริการทางเพศที่เป็นคนพิการหูหนวกราว 30 คน ความพิการก็เป็นความลำบากอยู่แล้ว การช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ อยากจะขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกด้วย ให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทำได้ง่ายขึ้น และหน่วยงานรัฐที่ช่วยเหลือก็ต้องทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกันให้มากขึ้น”
เรื่องการบูรณาการนี้ ทาง พม.ก็มีการขับเคลื่อนแก้ไขการทำงาน ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ….ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมช่วยผลักดันดำเนินการ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ จะคุ้มครอง 9 กลุ่มอัตลักษณ์ คือ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม LGBT กลุ่มผู้ติดยาเสพติด เด็กและเยาวชน ผู้หญิง แรงงาน ร่างกฎหมายนี้สาระสำคัญอยู่ในมาตรา 7 ที่ห้ามการกระทำอันแบ่งแยก กีดกัน จำกัดสิทธิเสรีภาพเพราะเหตุแห่งความแตกต่างของบุคคล โดยเฉพาะในวงเล็บสาม ที่ห้ามล่วงเกิน คุกคาม ก่อความเดือดร้อนรำคาญ หรือล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถ้ากฎหมายนี้บังคับใช้ จะพัฒนาสิทธิของประเทศไทยในการมีกฎหมายห้ามการกลั่นแกล้งรังแกได้ด้วย โดยหากมีการกระทำที่ละเมิด สามารถร้องต่อคณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ (คชป.) เพื่อไกล่เกลี่ยและชดเชยความเสียหายได้
สาเหตุที่ต้องมีกฎหมายนี้ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งนั้น นายกิตตินันท์ ธรมธัช ระบุว่า เพื่อเป็นการรวบรวมการขจัดการเลือกปฏิบัติให้อยู่ในกฎหมายเดียวกัน ไม่ต้องไปหาหน่วยงานเฉพาะเรื่อง “อย่างเช่น ถ้าเกิด LGBT คนหนึ่ง เป็นทั้งคนพิการ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV แถมยังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อีกต่างหาก ก็สามารถร้องเรียนทุกปัญหาที่คณะกรรมการชุดเดียวได้เลย ก็คือการบูรณาการเรื่องสิทธิและความยุติธรรมในรูปแบบหนึ่ง”
ทั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่า การขับเคลื่อนสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ มีกฎหมายหลายฉบับที่ต้องออกมาสร้างความเท่าเทียมและเหมาะสมต่อผู้ถูกปฏิบัติ ซึ่งด้านหนึ่งประเทศไทยก็โชคดีที่ความเป็น LGBT ได้รับการยอมรับว่ามีตัวตน แต่หากสามารถผลักดันกฎหมายรับรองสิทธิได้อย่างครอบคลุม ประเทศไทยจะก้าวหน้าไปได้อีกขั้นหนึ่ง คือการส่งเสริมบทบาทของ LGBT ยอมรับศักยภาพมากกว่าตีกรอบด้วยเพศวิถี เป็นการเพิ่มโอกาสต่างๆ ในชีวิต มากกว่าจะถูกตีกรอบแค่ต้องทำอาชีพเกี่ยวกับความงาม และจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อความเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อ LGBT สามารถสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวได้อีกมหาศาล แต่การผลักดันสิทธิต่างๆ ดังกล่าวมาทั้งหมดต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่หยิบยกขึ้นมาเมื่อมีวาระ เช่นเดือนไพรด์ หรือช่วงพรรคการเมืองจะหาเสียงเท่านั้น และการผลักดันที่ดี คือการสร้างแนวร่วมที่ไม่ใช่ LGBT ให้เห็นความสำคัญของสิทธิและร่วมเป็นผู้สนับสนุน (LGBT Allies)
นี่คืออีกบทหนึ่งในการพิสูจน์ความจริงใจของภาครัฐและฝ่ายการเมืองต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนที่น่าจับตามอง
Tags: LGBT, The Proud of Pride