งานวิจัยล่าสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เผยว่าทัศนคติโดยรวมของคนไทยต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นบวก มีการสนับสนุนให้ออกกฎหมายและนโยบายที่ปกป้องคุ้มครองคนกลุ่มนี้ แต่คนที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกตีตราเลือกปฏิบัติ ใช้ความรุนแรง และแบ่งแยก

งานวิจัยนี้ชื่อ ‘รับได้แต่ไม่อยากสุงสิง: การสำรวจระดับชาติเกี่ยวกับประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ และทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย’ มีคนไทยอายุ 18-57 ปี จำนวน 2,210 คนจากทั่วประเทศเข้าร่วมทำแบบสำรวจ โดยเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวน 1,349 คนและคนไทยที่ไม่ได้ระบุว่าตนเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน 861 คน รวมถึงการอภิปรายกลุ่มย่อย จำนวน 12 กลุ่ม ทั้งหมด 93 คน โดยผู้เข้าร่วมเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พิษณุโลก และปัตตานี

หนึ่งในข้อค้นพบที่สำคัญ คือ ร้อยละ 69 ของคนไทยที่ไม่ได้ระบุว่าตนเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม มีทัศนคติที่ดีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่งานวิจัยดังกล่าวยังเผยว่า การยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก โดยเฉพาะในครอบครัว กลุ่มเพื่อน และในชนบท

ข้อมูลชี้ว่าคนไทยมักยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่นอกครอบครัวมากกว่าที่จะยอมรับคนในครอบครัวตัวเอง ร้อยละ 53 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้ข้อมูลว่าถูกละเมิดทางคำพูด ร้อยละ 16 เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ และร้อยละ 42 บอกว่าต้องแสร้งว่ารักเพศตรงข้ามเพื่อให้คนที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือที่บ้านยอมรับ

การตีตราและเลือกปฏิบัติส่งผลร้ายแรงต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยร้อยละ 49 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ บอกว่าเคยคิดฆ่าตัวตาย ในขณะที่ร้อยละ 17 เคยพยายามฆ่าตัวตายแล้ว นอกจานี้ เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต แต่หลายคนให้ข้อมูลว่าเจออุปสรรคในการรับบริการดังกล่าว และ ถูกเลือกปฏิบัติในสถานบริการด้านสุขภาพ

“แม้ว่าในสังคมไทย จะมีการยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นที่รู้จักมากขึ้นในพื้นที่สื่อ และ สังคม แต่คนที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนต้องถูกข่มเหงเพียงเพราะตัวตนของเขา หรือคนที่พวกเขารัก” เรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยกล่าว

“โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา นายจ้าง ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ สื่อมวลชน และ ภาคประชาสังคม เพื่อนำข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้ไปปรับใช้ ให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

แม้จะมีข้อค้นพบเกี่ยวกับการตีตรา และ การเลือกปฏิบัติที่น่าเป็นห่วง แต่การศึกษายังเผยข้อค้นพบที่เป็นบวกด้วย ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ที่เป็นคนที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ สนับสนุนให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงบริการและสิทธิต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม หลายคนสนับสนุนมากกว่าที่จะต่อต้านการให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศได้จดทะเบียนใช้ชีวิตร่วมกับคนที่เขารัก ได้สิทธิรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม การระบุเพศนอกจาก ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ ในเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการไม่ปฏิเสธการรับบริจาคเลือดจากชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณร้อยละ 20 รู้สึกเป็นกลางกับประเด็นที่กล่าวมา

กลุ่มที่ให้ข้อมูลว่าถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดคือ ผู้หญิงข้ามเพศและไบเซ็กชวลชาย ร้อยละ 61 ของผู้หญิงข้ามเพศเคยถูกล้อเลียน หรือตั้งฉายา ร้อยละ 22 เคยถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 11 เคยถูกทุบตีหรือทำร้ายร่างกาย และร้อยละ 8 เคยถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะที่ร้อยละ 14 ของไบเซ็กชวลชายต้องสูญเสียเพื่อนเพียงเพราะวิถีทางเพศของพวกเขา และกว่าร้อยละ 9 ที่ต้องไม่มีที่อยู่อาศัย

สำหรับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน การศึกษาพบว่าร้อยละ 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และ ร้อยละ 32 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศให้ข้อมูลว่าเคยถูกเลือกปฏิบัติในงานปัจจุบันที่ทำอยู่หรือในที่ทำงานเก่า ในแง่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ พบว่าร้อยละ 16 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศเคยถูกเลือกปฏิบัติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งรูปแบบ

“การเลือกปฏิบัติมีหลายรูปแบบและผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัตินี้อยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะจากคนในครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งจากคนแปลกหน้าที่ร้านอาหาร” กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยกล่าว

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้เสนอแนะต่อรัฐบาลให้ริเริ่มจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ รวมทั้งการติดตามผลด้านการศึกษา และการจ้างงานของกลุ่มประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดเก็บข้อมูลประชากรของประเทศ นอกจากนั้นในรายงานฉบับนี้ยังมีข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปกฎหมายและนโยบาย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการบังคับใช้กฎหมาย นโยบายและดำเนินโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของคนทุกคนในสังคม

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่: https://www.undp.org/content/undp/en/home/librarypage/democratic-governance/tolerance-but-not-inclusion.html

ภาพ: REUTERS/ Athit Perawongmetha
Tags: , , ,