*** ขอบอกเอาไว้ก่อนเลยว่า บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจากหนัง สยามสแควร์
ถ้าไม่เคยมีประวัติฉีดวัคซีนป้องกันการสปอยล์มาก่อน แนะนำให้เซฟเก็บไว้อ่านอีกทีหลังดูหนังจบแล้ว ***

อาจหักมุมไม่รุนแรง แต่มันก็เหวอมากพอให้สบถดังๆ ได้เหมือนกัน

​เมื่อราวๆ 30 ปีก่อน เคยเกิดเหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่ไปทั่วทั้งเวิ้งสยามสแควร์ พร้อมๆ กับการหายตัวไปอย่างลึกลับของเด็กสาวคนหนึ่ง ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นเรื่องเล่าสยองขวัญปากต่อปากจนถึงปัจจุบันว่า วิญญาณของเด็กสาวคนนั้นยังคงวนเวียนอยู่ในสยาม หากใครบังเอิญเจอและโดนผูกด้ายแดงเข้าที่ข้อมือจะมีอันเป็นไป

ตำนานเล่าสยองขวัญข้างต้นนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ใน สยามสแควร์ หนังยาวเรื่องล่าสุดของ ไพรัช คุ้มวัน เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มเพื่อนนักเรียนมัธยมปลายในโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่ง ที่พาตัวเองเข้าไปพัวพันกับตำนานสยองขวัญดังกล่าวทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ จนโดนด้ายแดงผูกติดข้อมือกันถ้วนหน้า ทำให้พวกเขาต้องช่วยกันหาวิธีหนีให้พ้นจากตำนานบ้าๆ นี้ไปให้ได้ ก่อนที่ชีวิตของพวกเขาจะโดนวิญญาณเด็กสาวพรากไปในท้ายที่สุด

ทว่าทางออกที่ต้องการกลับไม่ได้นำพามาแค่เส้นทางเท่านั้น แต่ยังเปิดเผยความจริงของตำนานสยองขวัญที่น่าเหลือเชื่อและน่าสนใจมาก เพราะใครจะไปคิดว่าอยู่ดีๆ หนังผีพล็อตหลอนๆ ที่มีจังหวะการหลอกแบบโหดๆ แอบตลกบ้างเป็นครั้งคราวเรื่องนี้ จะพลิกพล็อตไปเล่นเรื่องการเดินทางข้ามกาลเวลา มิติคู่ขนาน และผีเทียมแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยตอนกลางเรื่อง ชนิดที่ทำเอาคนดูเกือบทั้งโรงเหวอไปกับความกล้าหักมุม 360 องศาได้ขนาดนี้

ที่สำคัญคือการพล็อตทวิสต์ของ สยามสแควร์ ได้นำไปสู่ประเด็นหลักของหนัง ที่ว่าด้วยการสร้าง ‘ผีเทียม’ ซึ่งเป็นผีที่เกิดจากการสื่อสารทั้งคำพูดหรือการเขียนต่อๆ กันไปเรื่อยๆ เกิดการผลิตซ้ำทางวาทกรรมด้วยความเชื่อมากกว่าเหตุผลข้อเท็จจริง จนสุดท้ายจากสิ่งที่ไม่เคยมีตัวตนอยู่บนโลกก็ถือกำเนิดขึ้น ไปพร้อมๆ กับชุดความจริงบางอย่างที่โดนกลบฝังด้วยความเชื่อที่ขาดข้อเท็จจริง ซึ่งหลายครั้งหลายหนที่ผีเทียมได้สร้างความเจ็บปวดให้คนที่เกี่ยวข้องอยู่บ่อยๆ

วิธีขับไล่ผีเทียมที่เกิดจากการผลิตซ้ำทางวาทกรรม คงไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าการหาความจริงมาลบล้างความเชื่อผิดๆ รวมทั้งยังต้องเลิกการผลิตซ้ำและเลิกให้ค่ากับผีเทียมเหล่านั้น เหมือนกับการที่ตัวละครในเรื่อง สยามสแควร์ เลือกวิธีปิดตาไม่มองผีเทียมแทนการใช้พระหรือสวดมนต์แบบหนังผีเรื่องอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าสนใจและแปลกใหม่มาก กับการดูหนังผีไทยที่ไม่มีพระหรือพิธีกรรมทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวละครกลุ่ม Ghost Your Dad (แปลง่ายๆ ว่า ผีพ่อคุณอะ) ถึงจะกลัวผี แต่ก็เลือกที่จะมองด้วยเหตุและผลมากกว่าความเชื่อแบบเดิมๆ

นอกจากเรื่องผีเทียมที่เป็นแมสเสจหลักของหนังแล้ว สยามสแควร์ ยังแทรกประเด็นทางสังคมแง่มุมอื่นๆ ลงไปอีกหลายเรื่อง ที่ชัดเจนรองลงมาหน่อยก็เห็นจะเป็น ‘ความเปลี่ยวเหงาจากสังคมก้มหน้า’

ความจริงการก้มหน้าดูจอมือถือตลอดเวลาในยุคนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดซะทีเดียว เพราะความจำเป็นในการใช้งานมือถือของคนเราไม่เท่ากัน แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าระหว่างการไถมือถือ ได้เงยหน้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวมากแค่ไหน เพราะก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่าแต่ละคนมีขีดความอดกลั้นต่อความน้อยใจต่างกัน อย่างตัวละคร เมย์ (อิษยา ฮอสุวรรณ) ที่ลึกๆ อาจคิดว่าเพื่อนสนิทอย่าง จุ๊บเล็ก (มรกต หลิว) ไม่เข้าใจตัวเธอ เลยหันไปคุยกับเพื่อนที่รู้จักกันทางไลน์มากกว่าเงยหน้ามาคุยกับจุ๊บเล็ก ที่มักเตือนด้วยความหวังดีแต่แอบแรงอยู่บ่อยๆ จนเกิดเป็นรอยร้าวในความสัมพันธ์คนทั้งสอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่นำไปสู่ต้นกำเนิดผีเทียมในเรื่อง

ถึงจะบอกว่า สยามสแควร์ เป็นหนังที่มีประเด็นซ่อนเอาไว้เยอะมาก ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องเก็บรายละเอียดไปหมดทุกเม็ด จริงๆ เอาแค่เข้าไปดูแบบไม่คิดอะไรเลยก็ยังได้ เพราะจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่องของหนังทำได้ดีทีเดียว อาจไม่หักมุมรุนแรงเท่า Cabin in the Wood (2012) แต่มันก็เหวอมากพอให้สบถดังๆ ได้เหมือนกัน

Tags: ,