พูดกันตรงๆ เลยว่าสำหรับผู้เขียนแล้วผลงานของ ธนพล วิรุฬหกุล เป็นสิ่งที่เขียนถึงยาก เพราะงานของเขาไม่ใช่ละครเวทีที่มีเรื่องราวชัดเจน ไม่เคยมีบทพูดประโยคสนทนา หากแต่เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่มีคอนเซ็ปต์บางอย่างเป็นเส้นยึดเหนี่ยวแก่นกลางที่ชัดเจน หากแต่ก็ต้องใช้เวลาตีความคอนเซ็ปต์หลักนั้นอีกทอดหนึ่ง

สิ่งที่เกิดขึ้นใน The Retreat เป็นเวลา 75 นาทีนั้นเริ่มต้นด้วยชายคนหนึ่งนั่งอยู่กับโต๊ะที่มีเครื่องปิ้งขนมปังควันโขมง จากนั้น ชายหญิงอีกสี่คนเดินเข้าฉากมา พวกเขาเคลื่อนไหวเกาะเกี่ยวซึ่งกันและกันและพ่วงไปด้วยวัตถุอื่นเสมอ เก้าอี้ โซฟา กระถางต้นไม้ ขาปลอม เครื่องปิ้งขนมปัง ฯลฯ จากนั้นพวกเขาก็แยกกันบ้าง จับคู่บ้าง รวมตัวกันบ้าง (แต่ยังคงแนบติดกับวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่งตลอดเวลา) และสุดท้ายพร็อพประกอบฉากทั้งหมดก็ถูกทำลายอย่างถ้วนหน้า ไม่คงเหลือสภาพเดิมอีกต่อไป

ธนพลมักเรียกงานของตัวเองว่าเป็นงานแดนซ์ (Dance) แต่ทั้งนี้มันก็ไม่ใช่การเคลื่อนไหวด้วยท่วงท่าสวยงามเพลิดเพลินตา ผู้เขียนคิดว่างานของธนพลอย่าง Hipster is the King (2014) กับ The Retreat เป็นการล้อกันอย่างบังเอิญ ในขณะที่งานชิ้นแรกนักแสดงยืนเฉยๆ เป็นส่วนใหญ่จนทำให้ผู้ชมอึดอัดและโวยวายในใจว่าเมื่อไหร่จะขยับสักที ส่วนงานชิ้นหลังเริ่มต้นด้วยความนิ่ง ก่อนจะตามด้วยการขยับเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดและดูเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น จนเราแอบภาวนาในใจว่าหยุดเสียทีเถอะ

อาจกล่าวได้ว่า The Retreat เป็นงานที่ ‘โหด’ ที่สุดของธนพล ทุกการขยับของนักแสดงล้วนหวาดเสียวจะนำไปสู่การบาดเจ็บ (การทุ่มเก้าอี้จนแตกเป็นเสี่ยง การเหวี่ยงเครื่องปิ้งขนมปังไปรอบตัว) ระหว่างคนดูเกิดความไม่สบายใจ เป็นห่วงเป็นใยว่านักแสดงทำประกันแล้วหรือยัง (ซึ่งภายหลังได้รับคำตอบว่าทำแล้ว) ช่วงแรกที่นักแสดงเกาะกลุ่มเป็นแผงไปด้วยกัน ผู้เขียนนิยามว่านี่เป็นการแสดงแบบ Self-Torment หรือทรมานตัวเอง ต่อมาเมื่อเข้าสู่ช่วงการฟาดฟันอุปกรณ์ประกอบฉาก คำว่า Self-Obliteration หรือการทำลายตัวเองจนสิ้นซากก็ผุดเข้ามาในหัว

อีกคำคีย์เวิร์ดที่นึกถึงขณะชม The Retreat คือ Haptic หรือลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส ในทางภาพยนตร์ Haptic Cinema นั้นหมายถึงหนังที่ผู้ชมรู้สึกว่าสามารถจับต้องได้ เช่น คลิปทำอาหารที่เน้นพื้นผิวของอาหารอย่างชัดเจนหรือหนังสยองขวัญที่มีฉากฆ่าชำแหละถึงเลือดถึงเนื้อ ส่วน The Retreat ก็อาจจัดเป็น Haptic Theatre เพราะเรารู้สึกเจ็บปวดร่วมไปด้วยในฉากที่นักแสดงผูกติดทับซ้อนกัน หรือกระทั่งการจับ เสียดสี กระทบกับเก้าอี้ไม้ (ที่น่าจะไม่ได้ขัดเสี้ยนออก)

เช่นนั้นแล้วทั้งการทำลาย-การทรมาน-การสัมผัสได้ของ The Retreat นำไปสู่อะไร ตอนที่ดูจบใหม่ๆ ผู้เขียนก็รู้สึกจนปัญญาเหลือจะกล่าว แต่ในรายละเอียดของการแสดงมีคำหนึ่งที่ถูกเน้นบ่อยครั้ง นั่นคือ Otherness หรือความเป็นอื่น วัตถุสิ่งของต่างๆ บนเวทีน่าจะเป็นหัวใจสำคัญ บ้างก็ตีความไปในแนววัตถุนิยม/ทุนนิยม บ้างก็ตีความว่ามันสื่อถึงตัวตน ความคิดความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะแนวทางไหนก็ดูเหมือนว่าเหล่าตัวละครไม่สามารถแยกเป็นอื่นกับวัตถุ (และนัยความหมายของวัตถุ) เหล่านั้นได้อย่างง่ายๆ ตามคำโปรยของละครที่ว่า “เมื่อทุกอณูของขนมปังที่คุณปิ้ง ถูกปิ้งจนไหม้มันกลายเป็นสีดำสนิท คุณไม่สามารถทิ้งมันไป แล้วยังไงต่อ?” คำถามคือวิธีการเดียวที่จะหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้นได้คือการทำลายมันให้ถึงขั้นมูลฐานเช่นนั้นหรือ

อีกกิมมิคหนึ่งของ The Retreat ที่ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่อง ‘ความเป็นอื่น’ คือช่วงต้นเรื่องที่เปิดฉากอย่างขำขัน ผู้ชมหัวเราะกันเบิกบานเกินกว่าจะสังเกตได้ว่าหน้าเวทีมีไมค์ตัวหนึ่งคอยอัดเสียงผู้ชมเอาไว้ หลังจากนั้นไม่นานเสียงหัวเราะของผู้ชมถูกเล่นผ่านลำโพง การหัวเราะกลายเป็นเรื่องน่าขนลุก เสียงของเราเหมือนไม่ใช่ของเรา (เช่นเดียวกับความไม่คุ้นเคยเมื่อฟังเสียงตัวเองที่ถูกอัดไว้) นำมาซึ่งความแปลกแยกกระอักกระอ่วน ตกลงแล้วเราสมควรจะหัวเราะตัวละครตรงหน้าหรือไม่ พวกเขาเป็นเพียงแค่ตัวละคร หรือแท้จริงเราเป็นภาพแทนของตัวเรา หรืออาจเป็นแบบจำลองสังคมของยุคนี้

อาจจะต้องทิ้งทายแบบเชยๆ ทำนองว่า The Retreat ไม่ใช่งานสำหรับทุกคน (ผู้เขียนนึกออกเลยว่าหากมอบหมายให้นักศึกษามาดูงานชิ้นนี้คงหนีไม่พ้นการถูกก่นด่าทางเฟซบุ๊ก) แต่อย่างน้อยที่สุดมันไม่ใช่งานประเภท just another play หรือก็แค่งานอีกชิ้นหนึ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไป หากแต่น่าจะอยู่ในห้วงคำนึงและมีความหมายลื่นไหลได้ไปอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง

The Retreat แสดงถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2561 ณ สตูดิโอชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BTS สนามกีฬาแห่งชาติ) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/1600702633361912

เครดิตภาพ: เดือน จงมั่นคง

Tags: , , ,