สารภาพตั้งแต่บรรทัดแรกเลยว่าไม่ได้เข้าใจเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด แต่ด้วยความหลงใหลใคร่รู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเวลามานาน ติดตามหนังสือหรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลามาพอสมควร หนังสือเล่มหนาเพียง 216 หน้านี้จึงดึงดูดเราในทันที

โดยเฉพาะสิ่งสะดุดตาแรกเห็นคือหน้าปกหนังสือ ขอชื่นชมทีมงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนออกแบบปก น้ำใส ศุภวงศ์ เพราะหลังจากอ่านจบแล้วกลับมาย้อนดูจะพบว่าแนวคิดหนังสือทั้งเล่มได้รับการย่อย่อยด้วยภาษาภาพเรียบร้อยแล้ว จากจุดเล็กๆ สีดำ เมื่อมองตามเข็มนาฬิกาที่แปรเปลี่ยนรูปทรงไปเรื่อยๆ จนกลายมาสู่หลุมดำ (ซึ่งเกิดจากการเจาะกระดาษให้ทะลุไปสู่หน้ารองปกอีกที)

ไม่มีนาฬิกาเรือนใดในโลกเดินตรงกัน

เวลาในชีวิตประจำวันของเราขึ้นตรงกับนาฬิกา แต่หนังสือเล่มนี้กำลังนำเสนอแนวคิดที่เขย่าการรับรู้คนทั่วไปว่า ไม่มีเวลาที่เป็นสากลของจักรวาลตามที่เชื่อกันมา เพราะภายใต้ระเบียบของเวลา (The Order of Time) ที่ดูเที่ยงตรงนั้นเต็มไปด้วยความไร้ระเบียบมากมายซ่อนอยู่ มีแต่เวลาที่เหมาะสม (proper time) ของแต่ละคน และยังมีเวลาที่เป็นไปได้มากมายอีกนับไม่ถ้วน ผันไปตามตัวแปรอย่างมวลและแรงดึงดูดที่ยิ่งมากก็ยิ่งทำให้เวลาเดินช้าลง

เพราะมนุษย์มีข้อจำกัดเรื่องการรับรู้ และมีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำมากเมื่อเทียบกับความเร็วแสง จึงทำให้ไม่อาจรับรู้ความแตกต่างระหว่างนาฬิกาสองเรือน

เครือข่ายเวลาที่กระเพื่อมถึงกัน

เมื่อไม่มีเวลาสากลอีกแล้ว เวลาดำรงอยู่โดยตัวมันเองอย่างไร

อย่าเพิ่งกุมขมับ เพราะส่วนงดงามที่เราชอบที่สุดคือคำอธิบายว่าโลกใบนี้คือโลกของเหตุการณ์ มากกว่าจะเป็นโลกของสรรพสิ่ง โลกที่มีมิติหนึ่งคืออวกาศหรือพื้นที่ ส่วนอีกมิติหนึ่งคือเวลา ซึ่งสัมพัทธ์ไปตามการเพิ่มขึ้นของเอ็นโทรปี (กระบวนการทางกายภาพในระบบอุณหพลศาสตร์ ยิ่งระบบไร้ระเบียบ ยิ่งมีค่าสูง) หากเปรียบเป็นภาพตามความเข้าใจ เราคือปลาที่กำลังแหวกว่ายอยู่ในก้อนเจลลี่ยักษ์ที่มีระลอกคลื่นกระทบชนบิดงอเป็นวงกระเพื่อมได้ไม่รู้จบ และนั่นทำให้คนมีการรับรู้เวลาสัมพัทธ์สั้นยาวไม่เท่ากัน ซึ่งสนามนี้มีชื่อเรียกกันว่า ‘กาลอวกาศ’ หรือ สนามโน้มถ่วง (gravitational field)

ไม่มีปัจจุบัน แล้วตลอดกาลนี้นานแค่ไหน

เมื่อเวลาเป็นเรื่องการรับรู้ส่วนตัว มีเพียงเวลาท้องถิ่น ไม่ใช่ปรากฏการณ์ระดับเอกภพอีกต่อไป ความพร่าเลือนของอดีต ปัจจุบัน และอนาคตจึงเกิดขึ้นทันที เกิดจากความไม่แน่นอนของเอนโทรปีตามหลักควอนตัมฟิสิกส์ มอบประสบการณ์ “ชั่วโมงโบยบินไปคล้ายนาที และนาทีก็อาจช้าเชื่องหน่วงหนักราวกับเป็นศตวรรษได้ในอีกด้านหนึ่ง” นั่นจึงเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดบางความฝันที่เกิดขึ้นชั่วครู่ แต่คงอยู่ในนั้นเหมือนชั่วนิรันดร์ หรือคนที่เคยมีประสบการณ์ใช้ยาแอลเอสดีเคยได้พบชั่ววินาทีมหากาพย์แสนอัศจรรย์

มนุษย์แต่ละคนคือองค์รวม

ตามหลักชีววิทยา ร่างกาย โต๊ะ คอมพิวเตอร์ หมอก ภูเขา ฯลฯ เหล่านี้คือการประชุมกันของสสาร หากการรับรู้ของเราละเอียดพอ ทั้งหมดที่กล่าวมาคือการรวมตัวกันของมวลเล็กๆ มหาศาลที่ยึดเหนี่ยวกันในพื้นที่ว่าง ตัวตนของเราจึงไม่มีอะไรเลย เกิดขึ้นและดำรงอยู่จากการสะท้อนของโลก เว้นแต่เหตุการณ์ที่ลงมือทำ ผู้เขียนยกตัวอย่างวรรณกรรม 3,000 หน้า Remembrance of Things Past ผลงานชิ้นเอกของมาร์เซล พรุสต์ ที่แสดงให้เห็นการยึดโยงตัวละครกับอดีตด้วยร่องรอยความทรงจำ และพื้นที่ความทรงจำนี้เองที่กลายเป็นที่มาของอัตลักษณ์ของเรา รวมไปถึงความทุกข์ของเราด้วย

เราจึงไม่ได้ทุกข์เพราะความทุกข์ แต่เราอยู่ในความทรงจำของตัวเอง ทั้งที่ควรอยู่ในโลกที่ไร้กาลเวลาตามหลักฟิสิกส์ แต่กลับต้องมายึดโยงอยู่กับการล่วงไปของเวลา และพยายามคาดหวังความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ในอนาคต “เราจึงเป็นทุกข์กับเวลา และเวลาคือความทุกข์”

เหตุใดการเข้าใจเรื่องเวลาจึงสำคัญ เพราะมันเกี่ยวกับข้องกับตัวตน ปัจจุบัน ความจริง

ความลี้ลับของเวลา (The Order of Time) เหมือนคนที่เข้าถึงยากๆ แต่อยู่ใกล้ชีวิตเราทุกวัน ภายนอกเธอดูเรียบง่าย แต่ก็ปิดบังเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจไว้อีกมาก ทำได้เพียงคาดเดาจากประสาทรับรู้ทั้งหมดที่เรามีอยู่อย่างจำกัด

สำหรับคนทั่วไป หนังสือเล่มนี้มีหลุมอากาศของการอ่านอยู่บ้างในช่วงกลางเล่ม เหมือนหลุมดำของกาลเวลาที่ทำให้การอ่านชะงักงันเหมือนติดอยู่ในชั่วนิรันดร์ 2-3 บท แต่หากนับว่าการทำความเข้าใจเรื่องเวลาสำคัญแก่การรับรู้เรื่องตัวตน ปัจจุบัน และความจริง เราสามารถอ่านข้ามไปบ้างเหมือนกด Skip Ads ที่เราไม่อยากชม ไปพบความงดงามของคำอธิบายในตอนท้ายเล่มได้โดยไม่เสียอรรถรสเลย

Fact Box

คาร์โล โรเวลลี (Carlo Rovelli) นักฟิสิกส์ทฤษฎีด้านอวกาศและเวลา ผู้เขียนหนังสือขายดีระดับนานาชาติ อย่างหนังสือ Seven Brief Lessons on Physics และ Reality is Not What It Seem ได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่างๆ 41 ภาษา