***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของนวนิยาย
‘กระทรวงสุขสุดๆ’ (The Ministry of Utmost Happiness) นวนิยายเล่มที่สองในรอบยี่สิบปีของ ‘อรุณธตี รอย’ (Arundhati Roy) นักเขียนหญิงชาวอินเดียผู้โด่งดังจากนวนิยายเรื่องแรกของเธอ ‘เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ’ (The God of Small Things) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1997 และได้รับรางวัล Booker Prize ในปีนั้นไปครอง ส่งผลให้เธอกลายเป็นนักเขียนอินเดียร่วมสมัยคนสำคัญและถูกจับตามากที่สุดคนหนึ่ง
จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่านวนิยายเรื่องที่สองของเธอ ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 2017 จะบรรจุสิ่งใดไว้บ้าง และสายตาอันแหลมคมของเธอ ‘มองเห็น’ อะไรบ้างในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา เพราะ อรุณธตี รอย ไม่ได้เป็นเพียงนักเขียนนวนิยาย แต่บทบาทที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันของเธอคือการเป็นปัญญาชนสาธารณะและเป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้ (activist) ผู้วิพากษ์สังคมการเมืองอย่างเผ็ดร้อนเสมอ
‘อัญจุม’ ตัวละครเอกของเรื่อง เกิดมาโดยมีทั้งอวัยวะเพศชายและอวัยวะเพศหญิงในตัว เธอเป็นในสิ่งที่สังคมอินเดียเรียกว่า ‘ฮิจรา’ (Hijra) คำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในสังคมอินเดีย ฮิจราอยู่ในสถานะต่ำต้อยและถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากสังคม แต่พวกเขาก็พยายามเกาะกลุ่มกันจนกลายเป็น ‘สำนัก’ และใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชนของตัวเอง (ในอินเดียมีชุมชนชาวฮิจราหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ) อัญจุมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสำนักที่ชื่อว่า ‘บ้านขวาบกาห์’
นวนิยายเรื่องนี้วางชีวิตของอัญจุม—ตัวละคร ทาบทับไปกับเหตุการณ์ร่วมสมัยที่สำคัญระดับโลกหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 ที่ถึงแม้เหตุวินาศกรรมดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นในอีกฟากฝั่งของโลก แต่ผลกระทบของมันก็เผยให้เห็นรากเหง้าความขัดแย้งและความเกลียดชังระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมในสังคมอินเดียที่คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา
จากเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 ที่กระแสความเกลียดชังมุสลิมจากลัทธิการก่อการร้ายโหมกระพือในโลกตะวันตก ขณะเดียวกัน ในซีกโลกตะวันออก ความเกลียดชังระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมในอินเดียก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อเกิดการสังหารหมู่และการก่อจลาจลไล่ฆ่ากันระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมที่รัฐคุชราตในปี 2002
นวนิยายใช้เหตุการณ์นี้เป็นจุดพลิกผันสำคัญในชีวิตของอัญจุม เมื่อเธอต้องเดินทางจากเดลีไปทำธุระสำคัญที่รัฐคุชราตในช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่พอดี เธอรอดตายจากฝูงชนบ้าคลั่งมาได้อย่างหวุดหวิด แต่ความโหดร้ายสยดสยองของเหตุการณ์นั้นก็กลายเป็นบาดแผลทางใจ ที่ทำให้สภาพจิตใจของเธอบอบช้ำแหลกสลาย จนไม่อาจใช้ชีวิตแบบเดิมในชุมชนชาวฮิจราได้อีกต่อไป
หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ อัญจุมย้ายออกจากบ้านขวาบกาห์มาอยู่ที่สุสานร้างแห่งหนึ่งหลังโรงพยาบาล ใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวังซังกะตายอยู่ท่ามกลางหลุมศพมากมาย เป็นเช่นนั้นอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วแสงสว่างก็ค่อยๆ ส่องเข้ามาในชีวิต ด้วยความช่วยเหลือจากมิตรยามยากหลายคน จากกระท่อมกลางสุสานในตอนแรกจึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นเกสต์เฮาส์สวนสวรรค์ บ้านพักพิงของคนยากไร้อนาถา ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงทำให้อัญจุมผู้สูญเสียตำแหน่งแห่งที่ของตนบนโลกใบนี้ได้ค้นพบตัวตนและความหมายของชีวิตอีกครั้ง
เรื่องราวนับจากจุดนี้เป็นต้นไป เนื้อหาค่อยๆ ขยับตัวเองไปสู่การเป็นนวนิยายการเมือง (Political Novels) อย่างเต็มตัว สายตาของผู้เล่าค่อยๆ ละจากกลุ่มตัวละครหลักไปโฟกัสที่ ‘เหตุการณ์’ และ ‘ฉากหลัง’ ของเหตุการณ์เหล่านั้น กล่าวคือ เริ่มจากทารกปริศนาที่ถูกทิ้งไว้ ณ มุมหนึ่งของเมือง จากนั้นจึงใช้เทคนิคการเขียนประหนึ่งการเคลื่อนกล้องในงานสารคดี นำพาสายตาของผู้อ่านสำรวจลัดเลาะไปยังหลืบมุมต่างๆ ของเมืองนิวเดลี เริ่มตั้งแต่ย่านเสื่อมโทรมยากไร้ของคนไร้บ้าน/คนอนาถาที่ถูกเมืองทอดทิ้ง ผลลัพธ์ด้านกลับของ ‘การพัฒนา’ และ ‘ความเจริญ’ อันเนื่องมาจากการรุกคืบของกลุ่มทุนต่างชาติ ไปจนถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐที่เบียดขับคนตัวเล็กตัวน้อยออกไปจากพื้นที่
เมืองนิวเดลี (หรืออินเดียทั้งประเทศ) ที่มีอายุนับพันปีในนวนิยายเรื่องนี้ จึงเปรียบเสมือนกับหญิงชราที่ถูกบีบบังคับให้แต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ เก็บเนื้อหนังเหี่ยวย่นเข้าไปซุกไว้ใต้เสื้อผ้าอาภรณ์แห่งความเจริญ ต้องกลายเป็น ‘กะหรี่’ เพื่อให้รัฐและทุนพากันรุมเสพสังวาสได้อย่างเต็มที่
ถัดจากนั้น สายตาของผู้เล่าค่อยๆ พาเราไปอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในอินเดีย ผู้นำการประท้วงที่เปลี่ยนจากนักบุญกลายเป็นนักปลุกระดมบ้าคลั่ง มวลชนกลุ่มต่างๆ ที่มาปักหลักตามเวทีน้อยใหญ่ของตัวเอง นักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน ศิลปิน ปัญญาชน ชาวบ้านที่ถูกสารพิษ กลุ่มแม่ผู้ตามหาลูกที่ถูกอุ้มหาย ฯลฯ
จากนั้นสายตาของผู้เล่าจึงละจากเหตุการณ์และบรรยากาศโดยรวมในที่ชุมนุมกลับมาโฟกัสที่อัญจุมและสมาชิกเกสต์เฮาส์สวนสวรรค์อีกครั้ง พวกเขามาร่วมสังเกตการณ์ในที่ชุมนุมแห่งนี้ด้วย และตามมาด้วยเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันระหว่างอัญจุมกับแกนนำผู้ชุมนุมคนหนึ่งว่าจะจัดการอย่างไรดีกับทารกปริศนาที่ถูกทอดทิ้งไว้ และในความชุลมุนนี้เองที่ทารกปริศนาได้ถูกใครคนหนึ่งอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย
นวนิยายใช้เหตุการณ์นี้เป็นจุดตัดเชื่อมโยงมาสู่ตัวละครสำคัญอีกหนึ่ง นั่นคือ ‘ตีโล’ สถาปนิกสาวผู้มีชาติกำเนิดอันคลุมเครือ ปมเรื่องชาติกำเนิดนี้ทำให้เกิดช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างตีโลกับแม่ เป็นปมที่บ่มเพาะความรู้สึก ‘เป็นอื่น’ ขึ้นในตัวเธอและทำให้เธอรู้สึกเป็น ‘คนนอก’ อยู่ตลอดเวลา
เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ตีโลเลือกเรียนด้านสถาปัตยกรรม และคบหากับ ‘มูซา’ เด็กหนุ่มร่วมชั้นเรียนจากแคชเมียร์ซึ่งหน้าตาดีและเงียบขรึม โลกภายในอันซับซ้อนของตีโลและมูซาเกี่ยวกระหวัดกันอย่างลึกซึ้ง แต่ทว่าก็ดูจะเป็นความสัมพันธ์คลุมเครือไร้คำนิยามเมื่อมองจากมุมของ ‘พิปลาภ ดาสคุปตา’ และ ‘นาคา’ สองหนุ่มนักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ที่ได้รู้จักกับตีโลผ่านการทำละครเวทีร่วมกัน และต่างตกหลุมรักตีโลเข้าอย่างจัง
จากจุดของความสัมพันธ์ระหว่างตีโล มูซา พิปลาภ และนาคา เปิดฉากไปสู่ข้อพิพาทและสงครามความขัดแย้งในดินแดนแคชเมียร์
ในการชำแหละปมความขัดแย้งอันสลับซับซ้อนในดินแดนแคชเมียร์ ผู้เขียนใช้เทคนิคในการเล่าเรื่องและรูปแบบการเขียนอันหลากหลาย เพื่อเปิดทางให้แต่ละ ‘เสียง’ และต่าง ‘มุมมอง’ มาปะทะสะท้อนโต้ตอบกัน ทั้งมุมมองจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐ (อินเดีย) ที่เผยให้เห็นว่ามองความขัดแย้งในแคชเมียร์อย่างไร ผ่านนโยบายการทำสงครามกับกองกำลังกลุ่มต่างๆ ทั้งบนดินและใต้ดิน การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในที่ลับและที่แจ้ง การอุ้มฆ่า การสังหารหมู่ การขายความลับ การค้าอาวุธ ฯลฯ
นวนิยายใช้ทั้งเทคนิคทางวรรณกรรมและเทคนิคแบบการรายงานข่าวในการถอดรื้อประวัติศาสตร์บาดแผลในแคชเมียร์ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ประวัติศาสตร์ฉบับของทางการและประวัติศาสตร์ฉบับของฝ่ายต่อต้านจึงขับเคี่ยวกันไปในบันทึกความทรงจำ บันทึกคำให้การ ภาพถ่าย ข่าวตัด ข้อเขียนปกิณกะที่ซ่อนความหมายไว้อย่างคลุมเครือ เมื่อประวัติศาสตร์ของทางการตกมาอยู่ในมือของฝ่ายต่อต้าน ความจริงจึงกลายเป็นอาวุธที่ต่อต้านตัวมันเอง
อรุณธตี รอยวางตัวละครทั้งสี่ตัว—ตีโล มูซา พิปลาภ และนาคา ไว้คนละเหลี่ยมมุมทางการเมืองและทางประวัติศาสตร์ ต่างคนต่างถูกคมเขี้ยวของสงครามและความขัดแย้งบดขยี้กลืนกินไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทุกคนจึงกลายเป็น ‘แคชเมียร์’ ในแบบของตัวเอง แคชเมียร์ในนวนิยายเรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงดินแดนแห่งข้อพิพาทและสงคราม แต่คือความทรงจำ บาดแผล และประวัติศาสตร์ส่วนตัว ทั้งในฐานะผู้กระทำและถูกกระทำ ที่ย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงความหมายในการดำรงอยู่ของแต่ละคน
หากนำเอาชะตากรรมของตัวละครหลักอย่างอัญจุม ตีโล และทารกปริศนาที่ถูกทิ้งไว้ รวมถึงตัวละครอื่นๆ ในเรื่องนี้มาวางเทียบกัน เราอาจอธิบายผลงานชิ้นนึ้ของ อรุณธตี รอย ได้ด้วยคำว่า ‘การเมืองของลูกกำพร้า’ เพราะมันคือเรื่องราวการดิ้นรนต่อสู้ของบรรดา ‘ลูกกำพร้า’ ที่ทั้งถูกแม่ผู้ให้กำเนิดและ ‘แผ่นดินแม่’ ปฎิเสธหรือทอดทิ้ง แม่และแผ่นดินแม่ที่ทอดทิ้งลูกของตัวเองเพราะเรื่องเพศ สีผิว วรรณะ และชาติกำเนิด ทอดทิ้งให้เผชิญชะตากรรมบนแผ่นดินแม่ที่ปฏิเสธทั้งแม่ของพวกเขาและพวกเขาเช่นกัน
‘กระทรวงสุขสุดๆ’ ซึ่งเป็นทั้งชื่อเล่มและชื่อบทหนึ่งในนวนิยายเรื่องนี้ เรียกได้ว่ามันคืออำนาจในการสถาปนาความเป็นแม่ และคืนอำนาจความเป็นแม่ให้กับบรรดาลูกกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง ในขณะเดียวกัน มันก็คือการปฏิเสธและต่อต้านอำนาจของ ‘ความเป็นพ่อ’ ในนามของอุดมการณ์ปิตาธิปไตยด้วย อำนาจของปิตาธิปไตยที่ฝังรากแฝงลึกอยู่ในทุกองคาพยพของสังคม ทั้งศาสนา ชนชั้น วรรณะ รัฐ ทุน สงคราม หรือแม้แต่ขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองที่พยายามกีดกันผู้หญิงออกไป
ความย้อนแย้งจึงอยู่ตรงที่แม้ฝ่ายต่อต้านจะต่อสู้เรียกร้องจนได้ชัยชนะหรือได้รับเอกราช แต่อุดมการณ์ปิตาธิปไตยที่แฝงฝังอยู่ในอุดมการณ์ทางการเมืองก็ไม่ได้ปลดปล่อยผู้หญิงให้ได้รับเอกราชตามไปด้วย เรือนร่างของความเป็นหญิงจึงไม่เคยถูกปลดแอก มันจึงเป็นทั้งสงครามที่อยู่ ‘ในบ้าน’ และ ‘นอกบ้าน’ สิ่งนี้ต่างหากที่ดูจะเป็นสงครามอันไม่มีวันสิ้นสุดอย่างแท้จริง
ที่สุดแล้ว อาจสรุปได้ว่านวนิยายเรื่องนี้ เป็นการเมืองและการต่อสู้ของบรรดา ‘ลูกกำพร้า’ บน ‘แผ่นดินแม่’ ที่ยังคงตกเป็นอาณานิคมอำพรางภายใต้อำนาจปิตาธิปไตยเสมอ
หมายเหตุจากผู้เขียน:
- อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ‘เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ’ (The God of Small Things) ได้ที่: https://themomentum.co/the-god-of-small-things-arundhati-roy-review/
- คำว่า ‘การเมืองของลูกกำพร้า’ ที่นำมาใช้เป็นชื่อบทความนี้ เป็นความประทับใจจากการได้อ่านบทความเรื่อง ‘October Sonata รักที่รอคอย: การเมืองของลูกกำพร้าและปัจเจกบุคคล’ ของ ‘คนมองหนัง’ จึงขอนำมาใช้ด้วยความเคารพในพลังของถ้อยคำ สามารถอ่านบทความนี้ได้ที่: https://konmongnangetc.com/2015/01/31/october-sonata-review/
Fact Box
- กระทรวงสุขสุดๆ (The Ministry of Utmost Happiness) • อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) เขียน / สดใส แปล / สำนักพิมพ์มติชน พฤษภาคม 2563