มีหนังการเมืองหลายเรื่องที่เป็นหนังในดวงใจใครหลายคน เช่น Gandhi (1982) ที่เล่าถึงชีวประวัติของมหาตมะ คานธี Schindler’s List (1993) ที่ตีแผ่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือ Lincoln (2012) ที่เปิดเผยช่วงชีวิตของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

แต่นอกจากหนังการเมืองที่พูดเรื่องการเมืองโต้งๆ แล้ว ยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่หน้าหนังดูเหมือนจะเป็นหนังแมส แอ็กชัน สยองขวัญ หรือการ์ตูนทั่วไป แต่กลับยัดไส้ ‘สารทางการเมือง’ ได้อย่างแนบเนียนและคาดไม่ถึงThe Momentum เลือกหนังสุดป๊อปที่มีประเด็นแฝงทางการเมือง 8 เรื่อง รับรองว่าคุณจะเกิดอาการจุกเสียดไม่ใช้น้อย เมื่อทราบว่า “มันคือหนังการเมืองหรือเนี่ย!”

 

Photo : Walt Disney Studios

8. Zootopia (2016)

ภาพยนต์แอนิเมชันลำดับที่ 55 ของสตูดิโอวอลต์ ดิสนีย์ ที่ไม่ได้มีจุดขายเพียงแค่ความน่ารักของบรรดาตัวละครสัตว์ในเรื่อง หรืออารมณ์ขันจากจอมขโมยซีนอย่างเจ้าสลอทเท่านั้น Zootopia มาเหนือเมฆด้วยการใส่เรื่องราวของมนุษย์โดยถ่ายทอดผ่านบริบทของสัตว์ ไล่ตั้งแต่เผ่าพันธุ์ของสัตว์ชนิดต่างๆ กับประเด็นการเหยียดชาติพันธุ์ หรือการแบ่งแยกชนชั้น งานจราจรที่ไม่ได้รับความนิยมในสายงานของตำรวจมากนัก ระบบมาเฟีย การคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงหน่วยงานราชการที่มักจะเดินเรื่องช้าไม่ต่างจากเจ้าสลอท

ประเด็นทางการเมือง: ชาติพันธุ์ ชนชั้น มาเฟีย ระบบราชการ การปกปิดปัญหาจากฝ่ายปกครอง และการหักหลังในเกมการเมือง
ฉากเด็ด: ทุกนาทีที่แสนมีค่าของเจ้าสลอท!
ระดับความเครียด: 0/5

 

Photo : Warner Bros. Pictures

7. The Lego Movie (2014)

แอนิเมชันเรียกเสียงฮาที่ไม่น่าจะมีอะไรมากกว่าการผจญภัยของตัวต่อจิ๋วสีเหลือง แต่แท้จริงแล้วโลกของตัวต่อเลโก้เป็นโลกในอุดมคติที่ทุกๆ อย่างได้ถูกเซตระบบโดยผู้คุมอำนาจ ไล่ตั้งแต่การที่ประชากรเลโก้มีหน้าที่ที่ต้องทำเป็นกิจวัตร เพลงความสุขที่ตัวต่อทุกตัวพากันประสานเสียงปลุกใจ และคู่มือในการใช้ชีวิตที่ถูกเขียนมาเพื่อให้ทุกคนอยู่ในกรอบที่ถูกวางไว้

ประเด็นทางการเมือง: การปกครองแบบเผด็จการ
ฉากเด็ด: Freedom Friday วันประกาศอิสระที่แท้จริงแล้วคือวันอังคาร !
ระดับความเครียด: 0/5

Photo : 20th Century Fox

6. Avatar (2009)

Avatar ว่าด้วยเรื่องของโลกมนุษย์ในอนาคตที่ขาดแคลนพลังงานจากทรัพยากรธรรมชาติ ต่างจากพิภพแพนโดราของชาวเผ่านาวี สถานที่ซึ่งอุดมไปด้วยความสมบูรณ์ทางทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คงไม่น่าแปลกใจสักเท่าไร เมื่อแพนโดรากลายเป็นเป้าหมายในการโจมตีของมนุษย์ โดยการใช้มนุษย์แฝงกายในร่างนาวีเพื่อสอดแนมและสืบค้นข้อมูลจากพวกเขา

ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางของหนังเรื่องนี้เห็นทีจะหนีไม่พ้นแนวคิดของผู้สร้างที่จิกกัดประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศของพวกเขาเองได้อย่างเจ็บแสบ เพราะสหรัฐอเมริกาก็เคยมีประเด็นการบุกรุกพื้นที่ของชาติอื่นเพื่อยึดเอาทรัพยากรมาเป็นของตนให้พูดถึงอยู่เช่นกัน และดูท่าจะไม่มีวันจบสิ้น…

ประเด็นทางการเมือง: การล่าอาณานิคม ความบ้าอำนาจของสหรัฐอเมริกา
ฉากเด็ด: สุนทรพจน์ปลุกใจเอาคืนผู้บุกรุก
ระดับความเครียด: 2/5

Photo : Universal Pictures

5. The Purge (2013)

มีอะไรซ่อนอยู่ในกองเลือดบนท้องถนนในคืนล้างบาปอย่างนั้นหรือ? The Purge ว่าด้วยเรื่องราว 12 ชั่วโมงล้างบาปประจำปีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐบาลให้อิสระในการฆ่ากันได้โดยไม่ผิดกฎหมายเพื่อลดจำนวนประชากร เนื่องจากอเมริกาในเวลานั้นคือประเทศที่เพียบพร้อมในทุกๆ ด้าน การออกกฎเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการลดจำนวนประชากร และสร้างความสมดุลทางระบบเศรษฐกิจ (ฟังดูไม่เข้าท่าเอาเสียเลย)

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกซ่อนในหนังคือเรื่องของชนชั้นและสถานะทางสังคม หนังพยายามจะชูแนวคิดที่ว่า ‘หากคุณมีเงินมากเท่าไร คุณก็ยิ่งมีความพร้อมในการป้องกันตัวเองในค่ำคืนกระหายเลือดมากเท่านั้น’ ในขณะเดียวกันหนังก็ยังซ่อนกับดัก ‘ฐานะที่มั่งคั่งไม่ได้มีส่วนช่วยในการชำระล้างจิตใจคนเลย’ ด้วยเช่นกัน

ประเด็นทางการเมือง: นโยบายการบริหารประเทศที่ไม่เข้าท่า และชนชั้นทางสังคม
ฉากเด็ด: ความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านที่แสนน่ารัก
ระดับความเครียด: 3/5

Photo : Warner Bros. Pictures

4. Mad Max: Fury Road (2015)

โลกในอนาคตเข้าสู่วิกฤตการณ์แห้งแล้งเต็มตัว พื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นทะเลทราย ทรัพยากรอย่างน้ำมัน น้ำ และกระสุน กลายเป็นของหายาก กระนั้นก็ตาม ‘อิมมอร์ทัน โจ’ ผู้นำที่ปกครองเมืองขุมทรัพย์น้ำก็เลือกจะบริหารบ้านเมืองอย่างเผด็จการเต็มรูปแบบ ทั้งการเกณฑ์เด็กเกิดใหม่เข้าสู่กองทัพร่วมรบ (วอร์บอย) กำหนดให้ผู้หญิงมีหน้าที่ในการผลิตประชากรและป้อนน้ำนมเท่านั้น รวมถึงการมีสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวในการเลือกปล่อยน้ำสู่ประชาชน

นอกจากนี้ ชุดความคิดที่โจสร้างให้เหล่าวอร์บอยเชื่อว่า การได้ร่วมรบกับโจถือเป็นเกียรติ หรือการได้ตายเพื่อโจจะเป็นการคืนสู่สวรรค์วัลฮาลาก็ถือเป็นมายาคติดีๆ นี่เอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ‘ฟูริโอซา’ หนึ่งในทหารหญิง ผู้ได้รับความไว้วางใจอันดับต้นๆ ของโจจึงเลือกที่จะหนีจากความเสื่อมโทรมทั้งหลายแหล่ ซึ่งได้นำไปสู่จุดเริ่มต้นแห่งการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ โดยมี ‘แมกซ์’ ผู้รอดชีวิตจากการเป็นถุงเลือดของเหล่าวอร์บอยคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เคียงข้าง

จุดเด่นของ Mad Max นอกจากจะเน้นเล่าเรื่องด้วยภาพมากกว่าบทพูดแล้ว งานสร้างฉากแอ็กชันก็อลังการ จัดเต็มอย่างบ้าระห่ำ ไม่เปิดโอกาสให้คนดูได้พักหายใจ อย่างไรก็ตาม ด้วยประเด็นปัญหาสังคมทั้งหลายที่ผู้กำกับ จอร์จ มิลเลอร์ เลือกใช้ก็คงจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า ‘Madmax คือหนังแอ็กชันการเมืองชัดๆ!’

ประเด็นทางการเมือง: การปกครองแบบเผด็จการ การปฏิวัติ สิทธิสตรี และวัฒนธรรมรถยนต์
ฉากเด็ด: ไล่ล่าบนท้องทะเลทราย
ระดับความเครียด: 4/5

Photo : CJ Entertainment

3. Snowpiercer (2014)

หนังบอกเล่าเรื่องราว 17 ปี  หลังเกิดภาวะโลกร้อน โลกทั้งใบในปี 2031 ตกอยู่ในยุคน้ำแข็ง พืชพรรณและอาหารขาดแคลน มนุษย์พากันล้มหายตายจาก เห็นจะมีก็แต่รถไฟขับเคลื่อนพลังงานสูงของวิลฟอร์ดที่กลายเป็นเสมือนโลกใบใหม่ของบรรดาผู้รอดชีวิต การขาดแคลนทุนทรัพย์และความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพส่งผลให้กลุ่มคนผู้ไร้ทางเลือกจำต้องอยู่แออัดกันในโบกี้หางขบวน ในขณะที่โบกี้หัวขบวนก็ถูกจับจองจากผู้ที่มีฐานะและวิชาชีพชั้นสูง

ความแยบยลของตัวหนังเล่าผ่านการจิกกัดชนชั้นของมนุษย์ในโลกยุคใหม่ (รถไฟ) ซึ่งถูกแบ่งไว้อย่างชัดเจนด้วยขบวนโบกี้ที่พ่วงต่อกันลดหลั่นลงไปในแต่ละขบวน ความแร้นแค้นและการถูกกดขี่อย่างป่าเถื่อนเป็นเวลานานทำให้ชนชั้นหางขบวนเกิดการลุกฮืออันนำไปสู่การก่อจลาจลอย่างบ้าคลั่ง

ท้ายที่สุดแม้บทสรุปของหนังอาจไม่ถูกจริตของใครหลายคน รวมไปถึงยังแอบจิกกัดบรรดาฝรั่งผิวขาวได้อย่างแสบสันต์ แต่ตลอดระยะเวลาที่หนังได้บอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเอกของเรื่องได้เผชิญไล่ตั้งแต่ท้ายขบวนยันหัวขบวน เราพบว่า Snowpiercer ทำให้เรารู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับคำว่า ‘ชนชั้น’ เลยทีเดียว

ประเด็นทางการเมือง: ชนชั้นทางสังคม
ฉากเด็ด: วินาทีที่วิดีโอปลุกใจในห้องเรียนเริ่มฉาย
ระดับความเครียด: 4/5

Photo : Intercom

2. White God (2014)

ดูเผินๆ White God อาจเป็นเพียงแค่เรื่องราวการพรากจากกันระหว่างสุนัขและเด็กสาวผู้เป็นเจ้าของ แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้นอีกขั้น เราจะเห็นว่าสารที่แท้จริงที่ตัวหนังต้องการจะสื่อให้คนดูรับรู้แฝงอยู่ในพล็อตเรื่องที่ถูกนำเสนอได้อย่างลงตัว ภายใต้แนวคิดหลัก ‘อิสระที่สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตพึงได้รับ’

เมื่อเป็นเช่นนั้นเฮเกน (สุนัขตัวเอก) และพรรคพวกจึงพากันออกทวงถามถึงสิทธิ์ที่มันควรจะได้รับในฐานะผู้อยู่อาศัย แม้พวกมันจะถูกตีค่าว่าเป็นแค่สัตว์เลี้ยงก็ตาม ซึ่งไม่ต่างอะไรจากชนกลุ่มน้อยที่ไร้สิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น หรือกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ถูกเพิกเฉยราวกับไม่ใช่มนุษย์

คำถามที่น่าสนใจหลังชมภาพยนตร์เรื่องนี้คือ หากภาครัฐให้ความสำคัญในการกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตได้ดีกว่าที่ควรจะเป็น เรื่องราวทั้งหมดจะบานปลายจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมสุดหดหู่ดังเช่นที่เราได้รับชมหรือไม่

ประเด็นทางการเมือง: ชนกลุ่มน้อย ผู้ลี้ภัย การถูกกดขี่ การบริหารจัดการที่ย่ำแย่จากหน่วยงานรัฐ และการก่อม็อบ!
ฉากเด็ด: การประกาศกร้าวลุกฮือจากผู้ที่ไม่ขอทนก้มหัวอีกต่อไป
ระดับความเครียด: 5/5

Photo : Walt Disney Studios

1. Toy Story 3 (2010)

เว็บไซต์ whatculture.com มองทะลุประเด็นการเมืองที่ซ่อนไว้ในหนังไตรภาคเรื่องราวของของเล่นเรื่องนี้อย่างน่าสนใจไว้ว่า “เรื่องราวทั้งหมดในเรื่อง แท้จริงแล้วคือเรื่องราวการอพยพของชาวยิวนั่นเอง”

เนื้อเรื่องเล่าถึงช่วงวัยเปลี่ยนผ่านของเจ้าของของเล่น เมื่อเติบโตขึ้น ความสนใจผันแปร ของเล่นทั้งหมดจำต้องถูกจัดเก็บไว้ในสถานที่ของมัน ไม่ต่างอะไรจากการที่ผู้ปกครองประเทศ (เจ้าของของเล่น) ได้ปิดตายประเทศและสละประชาชน (ของเล่น) ให้เดินตามโชคชะตาของตนเอง

เหตุการณ์กลับตาลปัตรเมื่อบรรดาของเล่นทั้งหลายจับพลัดจับผลูถูกนำไปบริจาคยังสถานเลี้ยงเด็ก ‘ซันนี่ไซด์’ ซึ่งถูกอุปมาว่าเป็นนรกแคมป์นาซี ที่นี่เองที่เหล่าของเล่นผู้อพยพทั้งหลายได้ล่วงรู้ความจริงถึงจิตใจที่ย่ำแย่ของมนุษย์ด้วยกันเอง (ของเล่นชิ้นอื่นๆ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าผู้ปกครองค่ายกักกันรายใหม่ (เด็กในสถานรับเลี้ยง) ที่สนุกกับการทารุณพวกเขาด้วยสารพัดวิธี บทสรุปของเรื่องยังเปรียบได้กับการคืนสู่สรวงสวรรค์ของเหล่าผู้อพยพ (ของเล่น) อีกด้วย

ประเด็นทางการเมือง: การอพยพ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
ฉากเด็ด: การส่งต่อที่ปะปนไปด้วยความสุขและคราบน้ำตา
ระดับความเครียด: 1/5

Tags: , , , , , , , , ,