เมื่อพูดคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ ทุกอย่างก็ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวไปหมด เรื่องในอดีตอันไกลโพ้น ต้นกำเนิดของบางสิ่งบางอย่าง ความเปลี่ยนแปลงที่คืบคลานมาในแต่ละช่วงเวลา เรื่องเล่ามากมายที่ถูกพูดถึงและไม่ถูกพูดถึง ประวัติศาสตร์ในคาบทรงจำสมัยเด็กไม่ได้ชวนให้เราอยากรู้อยากเห็นเลยสักนิด ทุกอย่างกลายเป็นข้อมูลไม่ชวนสนใจ แต่เมื่อเติบโตเราจึงรู้ว่าประวัติศาสตร์มีความสำคัญอย่างไร ทั้งยังสนุก น่าตื่นเต้น เต็มไปด้วยเรื่องน่ามหัศจรรย์ เพราะไม่ได้มีแค่เรื่องของชาติบ้านเมืองเท่านั้น มันยังมีสิ่งอื่นๆ ที่รายล้อมเราอีกมาก เราจะได้เห็นความเป็นมา เห็นวิวัฒนาการ เห็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่จะเป็นทั้งบทเรียนหรือสิ่งที่จะนำไปต่อยอด ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องสนุกอย่างเหลือเชื่อ และทำให้เราพบว่าในทุกเรื่องราวนั้นมีเรื่องเล่า ในทุกเรื่องเล่านั้นมีเรื่องราว ขอให้สนุกกับอดีตของมนุษยชาติ
ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ผู้เขียน: ภาณุ ตรัยเวช
สำนักพิมพ์: มติชน
เมื่อเอ่ยถึงสาธารณรัฐไวมาร์ มันคงไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูคนทั่วไปเท่าไรนัก แต่หากพูดถึงประเทศเยอรมนีเราเชื่อแน่ว่าทุกคนคงต้องรู้จัก และทั้งสองแห่งนี้ก็คือที่ๆ เดียวกัน สาธารณรัฐไวมาร์มีอายุประมาณสิบสี่ปี ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังเปลี่ยนระบอบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย แล้วสิ้นสุดไปหลังจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นครองอำนาจ
เนื้อหาในหนังสือจะไล่เรียงมาตั้งแต่การเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามที่อาจกล่าวได้ว่าไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายว่าจะเกิดขึ้น กระทั่งปี 1914 ภายใต้การนำของกษัตริย์วิลเฮล์มที่ 2 ประเทศเยอรมนีก็ประกาศสงครามกับรัสเซียและฝรั่งเศส จนนำความย่อยยับมาสู่ตัว กษัตริย์วิลเฮล์มที่ 2 ต้องสละราชสมบัติและไม่ได้กลับขึ้นครองราชย์อีกเลย เหตุการณ์หลังจากนั้นก็เต็มไปด้วยการปะทะกันของหลายฝ่าย เมื่อถึงปี 1919 ประชาชนก็มีนายกรัฐมนตรี เหล่านักการเมืองเปิดสภาฯ ครั้งแรกในเมืองไวมาร์ ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่แล้วทั้งหมดก็ล่มสลาย ผลกระทบที่ซัดเข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่าทำให้การเมืองภายในระส่ำระส่าย พร้อมกันนั้นเด็กหนุ่มที่เคยใฝ่ฝันจะเป็นศิลปินก็ก้าวเท้ามาในโลกของนักการเมือง จากคนตัวเล็กๆ ฮิตเลอร์กลายเป็นนักพูดที่ประสบความสำเร็จมาก
“นี่คือกุญแจแห่งความสำเร็จของฮิตเลอร์ มันไม่ได้อยู่ที่เขาพูดอะไร แต่อยู่ที่เขาพูดอย่างไร”
เส้นทางการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์เริ่มมาจากตรงนั้น เขาคือนักโฆษณาชวนเชื่อที่เก่งกาจ โน้มน้าวใจผู้ฟังได้ยอดเยี่ยม เขาลงสมัครประธานาธิบดีในเดือนเมษายน 1932 แม้ว่าจะพ่ายแพ้ไม่ได้รับตำแหน่ง แต่พอผ่านไปหนึ่งปีเขาก็ได้อำนาจมาไว้ในมือ ระหว่างนั้นที่การเมืองเสียดุลอำนาจ เขาก็กอบโกยโอกาสไว้ ปัจจัยหลายอย่างส่งให้เขาก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ และแน่นอนเขากลายเป็นคนที่โลกนี้จะต้องจดจำ ไม่ใช่ในฐานะวีรบุรุษ แต่ในฐานะปีศาจร้ายในคราบมนุษย์
ประวัติศาสตร์กระดาษโลก
ผู้เขียน: Ian Sansom
ผู้แปล: พลอยแสง เอกญาติ
สำนักพิมพ์: โอเพ่นเวิลด์ส
ปัจจุบันเราคงนึกภาพไม่ออกแล้วว่าหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปจะเป็นอย่างไร เรามีพร้อมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต รถยนต์ เครื่องซักผ้า ไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่กระดาษ ซึ่งทั้งหมดที่เรากล่าวว่าข้างต้นกระดาษดูจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุด เพราะมนุษย์เริ่มใช้กระดาษมาราว 2,000 ปีแล้ว จากวัตถุล้ำค่าหายากกลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็จับต้องได้ ซึ่งในศตวรรษที่ 19 ถือเป็นจุดรุ่งโรจน์ของกระดาษ เมื่อเรามีเครื่องผลิตกระดาษเข้ามาแทนที่การผลิตด้วยมือ
“การบอกลากระดาษในวันนี้ก็คงคล้ายการตัดสินใจเข้าสักวันว่าจะเลิกพูดเพราะเขียนเป็นแล้ว”
กระดาษเดินทางอย่างเชื่องช้า ทว่าไปเรื่อยๆ และเข้าไปมีบทบาทสำคัญในหลายๆ ด้าน เราจะได้รู้ทั้งกระบวนการผลิตกระดาษในอดีต การเข้ามาของอุตสาหกรรม การกำเนิดของแผนที่ การจดบันทึกเรื่องราวที่ผันผ่าน วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ที่กระดาษแทรกซึมเข้าไปอยู่ในนั้น
กระดาษยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวเราถึงโลกจะหมุนไปไกลแค่ไหน วันนี้เราอาจไม่ต้องซื้อหนังสือเป็นเล่มมาอ่าน ไม่ต้องปริ๊นเอกสารสำคัญมาเก็บ ไม่ต้องไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร แต่ไม่ว่าอย่างไรกระดาษก็จะไม่หายไป ประวัติศาสตร์กระดาษโลกจะถ่ายทอดความมหัศจรรย์ของกระดาษที่เราไม่เคยรู้ และไม่เคยตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของมัน กระดาษคือสิ่งที่บรรจุทุกอย่าง รองรับอารยธรรมของมนุษย์มานับพันปี มันปฏิวัติเศรษฐกิจโลก วัฒนธรรมการอ่าน ศิลปะ สถาปัตยกรรม และอีกหลายสิ่ง ซึ่งชวนให้ขบคิดว่าจะมีวันที่กระดาษตายไปจากเราจริงๆ หรือ
ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
ผู้เขียน: คริส เบเคอร์ และ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
สำนักพิมพ์: มติชน
หากพูดถึงประวัติศาสตร์ไทยอะไรคือสิ่งที่คุณนึกถึงเป็นดันดับแรก ชั่วโมงน่าเบื่อคาบวิชาสังคมศึกษา? การกู้ชาติบ้านเมืองสมัยพระเจ้าตากฯ? การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5? หลักสูตรที่เราได้เรียนกันก็คงไม่พ้นอะไรแบบนี้ แต่นอกจากตำราเรียนยังมีเรื่องอีกสารพัดที่เราไม่รู้ และคงไม่มีทางรู้ได้จากในห้องเรียน
“แต่ที่เมืองใหญ่เช่นอยุธยา กษัตริย์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่สะสมทรัพย์ศฤงคารจากการทำสงคราม การค้าขาย และสร้างระบบช่วงชั้นสังคมที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง”
ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยเป็นหนังสือแปลและปรับปรุงมาจาก A History of Thailand ของ คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร เนื้อหาหนักแน่น ย่อยง่าย ครอบคลุมทุกมิติ เห็นภาพประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างตัวมาจนถึงปัจจุบัน สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศ การฟื้นฟูดินแดน ชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นมาอย่างไร ภูเขาอัลไตคือที่ไหน แต่ละรัชกาลเป็นอย่างไร การขยายอำนาจทางการค้าเริ่มเมื่อไร อำนาจรัฐเริ่มก่อร่าง ความเป็นชาตินิยม บริบทของโลกที่เกี่ยวข้อง และการปฏิรูปครั้งใหญ่ทางการเมืองการปกครอง การเปลี่ยนผ่านของขั้วอำนาจที่หลายคนขึ้นมามีบทบาทสำคัญ กลิ่นคาวเลือดและความรุนแรงที่ปะทุขึ้น ทุกเหตุการณ์ถูกกล่าวถึงอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แม้บางเหตุการณ์ไม่ได้ลงรายละเอียดลึก แต่ก็ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงของเรื่องราวทั้งหมดได้เป็นอย่างดี เป็นหนังสือที่เปิดมุมมองด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง เน้นไปที่รัฐชาติเป็นแกนเรื่องหลัก ฉายให้เห็นความเป็นมาและวิวัฒนาการทางสังคม ผลสืบเนื่องของแต่ละจุดแต่ละตอนที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา
ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง
ผู้เขียน: Erik Sass
ผู้แปล: สุวิชชา จันทร
สำนักพิมพ์: a book
ประวัติศาสตร์โลก! เมื่อพูดคำว่าโลกแสดงว่ามันจะต้องครอบคลุมทุกเรื่องตั้งแต่เล็กไปจนถึงใหญ่ แล้วการเล่าทั้งหมดในคราวเดียวจะดึงดูดความสนใจของเราได้ตลอดรอดทางจริงหรือ? เราจะเมาข้อมูลและตัวหนังสือจนพับหลับไปเลยหรือเปล่า? ดังนั้น ถ้าคุณกำลังมองหาประวัติศาสตร์ย่อยง่าย ไล่เรียงอารยธรรมโลกมาตั้งแต่ 5000 B.C. “ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง” คือคำตอบ! เพราะมีครบทุกรสชาติให้ลิ้มลอง แต่คุณก็รู้ใช่ไหมว่าความหนาแค่ 500 หน้าคงไม่สามารถบรรจุทุกเรื่องละเอียดยิบได้จริงๆ แต่หนังสือก็มีเกร็ดที่ไม่เคยคิดถึงอยู่มากมาย
“สิ่งแรกๆ ที่มนุษย์เราใช้ประโยชน์จากธัญพืชคือการหมักให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ เบียร์เป็นแหล่งคุณค่าทางโภชนาการที่มีฤทธิ์มึนเมาเป็นของแถม”
ใครจะรู้ว่าเราจะเลี้ยงเด็กด้วยฝิ่น ทำลูกปัดประดับอัณฑะ ที่มาของพีระมิดรูปร่างพิลึก การพนันที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ยุคหิน การรักษาสายเลือกบริสุทธิ์ของเชื้อสายกษัตริย์ ภาพลักษณ์ของชาวไวกิ้ง การเลี้ยงเด็กด้วยฝิ่น และอีกมากเรื่องที่เราไม่เคยรู้ ผู้เขียนพยายามที่จะทำให้หนังสือเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม บางครั้งมันจึงกระโดดไปมาระหว่างยุโรป เอเชีย แอฟริกา อเมริกา ซึ่งผู้อ่านอาจเกิดความสับสนได้ แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเราจะได้เห็นเส้นทางเชื่อมโยงของเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกัน จากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง เรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอีกอารยธรรมส่งผลกระทบไปยังอีกอารยธรรมจนล่มสลาย อะไรแบบนี้ถ้าไม่มีคนมาชี้ให้เห็นเราก็คงไม่รู้ ความสนุกของเรื่องจริงอัดแน่นจนเราวางแทบไม่ลง
วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ
ผู้เขียน: John Sutherland
ผู้แปล: สุรเดช โชติอุดมพันธ์
สำนักพิมพ์: บุ๊คสเคป
ในบรรดาหมวดหนังสือทั้งหมด ชั้นหนังสือวรรณกรรมดูจะน่าสนใจมากที่สุดสำหรับเรา มันเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่เฝ้ารอให้ไปค้นหา แล้วเมื่อยิ่งค้นก็ยิ่งจมจ่อมอยู่กับมัน วรรณกรรมพาเราท่องไปในโลกแห่งจินตนาการที่ดูไม่มีวันจบสิ้น บางครั้งก็เผลอคิดว่าหากโลกไร้ซึ่งวรรณกรรม ชีวิตนี้คงแห้งแล้งน่าดู คำถามต่อมาที่อยากรู้จึงเป็นแล้วต้นธารของวรรณกรรมมาจากไหน?
จอห์น ซัตเทอร์แลนด์ จะพาเราไปสำรวจเรื่องราวต่างๆ ของโลกวรรณกรรมผ่านทั้งวรรณกรรมชื่อดัง นักเขียนคนสำคัญ เหตุการณ์ที่เป็นเพียงจุดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ ทว่ามีความหมายและผลสืบเนื่องในแบบที่เราไม่เคยคิด เหล่านี้เองคือสิ่งที่จอห์นหยิบยกมาเล่าได้อย่างชวนติดตาม
วรรณกรรมเปลี่ยนแปลงได้ทั้งตัวผู้แต่งและตัวผู้อ่าน ขับเคลื่อนสังคมได้ ฉุดรั้งให้บางคนอยู่กับที่ก็ได้ นี่จึงเป็นเสน่ห์ที่หลายคนพยายามรังสรรเรื่องที่ตกอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจให้ออกไปผ่านสายตาของนักอ่าน ความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมไม่ได้อยู่แค่ยอดขาย แต่ขึ้นอยู่กับว่ามันส่งผลกับใคร อย่างไร เมื่อไร ต่างหาก บางครั้งหนังสือที่มียอดขายพียงน้อยนิด กลับส่งต่ออิทธิพลมาอย่างยาวนาน ให้เกิดงานอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่วรรณกรรมเท่านั้น
“วรรณกรรมที่ดีเลิศไม่ได้ทำให้สิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น แต่มันช่วยขยายขอบเขตของจิตใจและความรู้สึกอันละเอียดอ่อน จนมาถึงจุดที่เราสามารุจัดการกับความซับซ้อนต่างๆ ได้ดีขึ้น แม้ว่าบ่อยครั้งเราอาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราอ่านเสียทีเดียว”
Tags: ประวัติศาสตร์