ในการบรรยายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2012 ออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) พูดถึงนวนิยายเรื่อง The Museum of Innocence หรือ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ในฉบับแปลภาษาไทยว่า ตอนที่เขาเริ่มคิดจะเขียนนวนิยาย เขามีความคิดเกี่ยวกับการเปิดพิพิธภัณฑ์อยู่ด้วยในใจ แต่ไม่ใช่ในความหมายที่ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากการประสบความสำเร็จของนวนิยาย ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์เพื่อแสดงถึงความมีชื่อเสียงของนวนิยาย หากแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความคิดของนวนิยาย โดยความคิดนี้เริ่มต้นในช่วงปี 1995-1997

หลังจากนั้นในปี 1998 ปามุกซื้ออาคารเก่าหลังหนึ่งไว้ และเริ่มพัฒนาความคิดเรื่องนวนิยายและพิพิธภัณฑ์ให้ออกมาเป็นรูปธรรม ในปี 2002 เขาเริ่มเขียนนวนิยายและคิดถึงการทำพิพิธภัณฑ์ โดยที่ในขณะเดียวกัน เขาเริ่มทำพิพิธภัณฑ์และคิดถึงการเขียนนวนิยาย

ปามุกขยายความส่วนนี้เพิ่มว่า พิพิธภัณฑ์ไม่ได้เป็นภาพประกอบของนวนิยาย และตัวนวนิยายเองก็ไม่ได้เป็นคำอธิบายของตัวพิพิธภัณฑ์ ทั้งสองอย่างเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ใช่ความเกี่ยวข้องของภาพกับคำในแบบเดิม แต่ซับซ้อนและเป็นปริศนามากกว่านั้น

เขาปรารถนาจะตีพิมพ์นวนิยายให้ออกจำหน่ายในวันเดียวกับที่เปิดพิพิธภัณฑ์ และต้องการให้ตัวนวนิยายเป็นเหมือนสูจิบัตรหรือสิ่งพิมพ์ประกอบการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ ตัวนวนิยายเองก็มีลักษณะเด่นของนวนิยายในศตวรรษที่ 19 เขาต้องการให้ทั้งนวนิยายและพิพิธภัณฑ์เสริมสร้างจุดเด่นแก่กันและกัน

อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาของเขาไม่ประสบผลสำเร็จด้วยเหตุผลหลายประการที่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ ที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่อาจเปิดตามกำหนดได้ นวนิยายพิมพ์ออกมาก่อนในปี 2008 หลังจากนั้นอีกสี่ปี พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาจึงเปิดให้เข้าชมได้ ในปีเดียวกันนั้นเอง ปามุกก็ตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Innocence of Objects หรือ ความไร้เดียงสาของวัตถุ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนสูจิบัตรของพิพิธภัณฑ์ออกมา

ปามุกมีความคิดเกี่ยวกับการเปิดพิพิธภัณฑ์อยู่ด้วยในใจ แต่ไม่ใช่ในความหมายที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากความสำเร็จของนวนิยาย หากแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความคิดของนวนิยาย

The Innocence of Objects เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นด้านความคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ของปามุกและภาพภายในของพิพิธภัณฑ์ ปามุกเล่าถึงการพบกันในปี 1982 ระหว่างเขากับเจ้าชายอาลี วาสิบ (Ali Vâsib) แห่งจักรวรรดิออตโตมาน ผู้ต้องลี้ภัยทางการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปตั้งแต่ปี 1924 ทั้งสองพบกันในงานเลี้ยงชุมนุมครอบครัวและแลกเปลี่ยนเรื่องราวแก่กันและกัน

เจ้าชายอาลีเล่าให้ปามุกฟังเรื่องชีวิตระหว่างเนรเทศ และปรารภถึงการใช้ชีวิตในตุรกีหลังจากได้รับอนุญาตจากทางการให้กลับสู่มาตุภูมิอีกครั้ง เจ้าชายอาลีเล่าว่า เขากำลังมองหางานที่มีรายได้เพียงพอให้ใช้ชีวิตอีกครั้งได้ในอิสตันบูล แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครอยากให้การช่วยเหลือ ทุกคนที่ร่วมโต๊ะอยู่ก็เข้าใจว่าเหตุผลหลักที่เจ้าชายไม่ได้รับการช่วยเหลือนั้นน่าจะเป็นเพราะทางการตุรกีต้องการจัดการกับเจ้าชายแห่งจักรวรรดิออตโตมานให้ออกจากการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง

ในระหว่างที่สนทนากันนั้น ใครสักคนที่อยู่ในวงสนทนาก็เสนอขึ้นมาว่า เจ้าชายอาลีน่าจะเป็นผู้นำชมพระราชวังอือลาห์มูร์ (Ihlamur Palace) ที่เจ้าชายเคยประทับอยู่เมื่อทรงพระเยาว์ได้ เพราะพระองค์คุ้นเคยดีอยู่แล้วกับสถานที่ หลังจากนั้น ในวงสนทนาก็เริ่มพูดคุยถึงความเป็นไปได้อย่างจริงจังในการช่วยเหลือเจ้าชาย

จากเหตุการณ์นั้น ปามุกจินตนาการถึงบทบาทและท่าทีของเจ้าชายอาลีในหน้าที่ของผู้นำชมในพระราชวัง จินตนาการนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดเรื่องความเบิกบานใจในการเป็นผู้นำชมพร้อมกับการเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ในเวลาเดียวกัน และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และบทบาทของตัวละครเคมาลในนวนิยายเรื่อง พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา

หลังจากอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของความคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ปามุกเล่าถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างตัวนวนิยาย พิพิธภัณฑ์ และสูจิบัตร เราจะได้รับรู้เหตุผลว่า ทำไมจึงต้องมีหนังสือเล่มนี้ ทั้งๆ ที่แรกเริ่มเดิมที สิ่งที่ต้องทำหน้าที่เป็นสูจิบัตรของพิพิธภัณฑ์คือตัวนวนิยาย

จุดประสงค์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา คือการจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับตัวบท สิ่งที่จัดแสดงเป็นหลักคือบรรดาสิ่งของที่ฟูซุน นางเอกของเรื่องได้สัมผัส นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงภาพบรรยากาศของเหตุการณ์และบรรยากาศในช่วงที่นวนิยายเกิดขึ้น ซึ่งอยู่ในช่วงปี 1975-1984 ในหนังสือที่เป็นเหมือนสูจิบัตรเล่มนี้ เราจะได้รับรู้ถึงเบื้องหลังของการสร้างพิพิธภัณฑ์  ตั้งแต่การเลือกอาคารและสถานที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายอย่างมาก เพราะที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นั้นคือบ้านที่เป็นที่พักอาศัยของฟูซุน

ในหนังสือที่เป็นเหมือนสูจิบัตรเล่มนี้ เราจะได้รับรู้ถึงเบื้องหลังของการสร้างพิพิธภัณฑ์  ตั้งแต่การเลือกอาคารและสถานที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายอย่างมาก เพราะที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นั้นคือบ้านที่เป็นที่พักอาศัยของฟูซุน

เรายังได้รู้ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการสะสมของเก่าและของหายากในตุรกีว่ามันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างจากการเติบโตของเศรษฐกิจ แนวคิดเรื่องการสะสมในโลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีต่อการเลือกสะสมสิ่งของอย่างไร รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาเมื่อพ่อค้าของเก่าเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองไปเป็นพ่อค้าวัตถุโบราณหรือของหายากที่เป็นที่ต้องการของนักสะสม

ขณะที่เรากำลังเพลิดเพลินไปกับเรื่องการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ สิ่งหนึ่งที่ปามุกทำ คือการค่อยๆ เปิดทางให้เราเห็นขั้นตอนการเขียนนวนิยายว่าเขาทำงานกับวัตถุอย่างไร วัตถุมีบทบาทอย่างไรในการดำเนินเรื่อง ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้บรรยายออกมาชัดเจนขึ้นเมื่อเขาพาเราไปสู่แนวคิดเบื้องหลังกล่องจัดแสดงต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งชื่อตามชื่อบทในนวนิยาย ซึ่งก็เป็นชื่อบทของตัวสูจิบัตรเช่นกัน

เราจะได้รับรู้ถึงความเห็นที่ปามุกมีต่ออิสตันบูลในอดีต อิสตันบูลในปัจจุจุบัน และอิสตันบูลที่เปลี่ยนแปลงไป ทีละเล็กละน้อยที่เขาใส่ความเห็นที่ได้จากวัตถุรอบกายลงไป นำเราไปสู่จุดยืนของเขาที่มีต่อพิพิธภัณฑ์ขององค์กรขนาดใหญ่และพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล  

ท้ายที่สุด ปามุกแสดงให้เราเห็นว่า ความทรงจำกับเวลาและพื้นที่นั้นมีจุดร่วมกันอย่างไรในพิพิธภัณฑ์

ถ้าจุดประสงค์หลักของพิพิธภัณฑ์คือการสะสมสิ่งของหรือวัตถุที่เกี่ยวข้องกับ วัฒนธรรม ศาสนา และสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ เพื่อจัดแสดงให้ความรู้และความเพลิดเพลินใจ ในแง่หนึ่ง นวนิยายก็ทำหน้าที่คล้ายพิพิธภัณฑ์ เพราะในตัวบทมีการบันทึกบรรยากาศ คำพูด ความคิด ค่านิยมของตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ ให้เราสามารถค้นคว้าเพื่อต่อยอด กระทั่งสร้างความเพลิดเพลินใจในการจินตนาการไปถึงช่วงเวลานั้น

ท้ายที่สุด ปามุกแสดงให้เราเห็นว่า ความทรงจำกับเวลาและพื้นที่นั้นมีจุดร่วมกันอย่างไรในพิพิธภัณฑ์

ในบางครั้ง การทำความเข้าใจจุดประสงค์หรือรายละเอียดของสองสิ่งนี้ให้มากขึ้น อาจเรียกร้องให้เราต้องอ่านสูจิบัตรหรือคู่มือที่อธิบายแนวความคิดหรือบริบทรายรอบอย่างถูกต้องชัดเจน

ในการอ่านของคนทั่วไป แต่ละคนมีความสามารถในการรับรู้และทำความเข้าใจไม่เท่ากัน ความสามารถในการจินตนาการไม่เท่ากัน โดยเฉพาะการอ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย มีสิ่งของที่ไม่คุ้นเคย บรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย ทำให้เราไม่สามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่เรามักจะทำเมื่อเกิดความสงสัยจากการอ่าน คือการหาข้อมูลเพื่อช่วยเติมเต็มจินตนาการหรือการรับรู้ เมื่อเรามองอย่างตั้งใจไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาจากมุมนี้ เราจะเห็นว่าองค์ประกอบที่มี ไม่ว่าจะเป็นตัวนวนิยาย พิพิธภัณฑ์ หรือสูจิบัตร กำลังทำหน้าที่บางอย่างตามความต้องการของปามุก

สูจิบัตรเองก็ทำหน้าที่เป็นภาพแทนของตัวพิพิธภัณฑ์สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเอง และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นวัตถุแห่งความทรงจำสำหรับผู้ที่เคยไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเองมาแล้ว

นั่นคือการพยายามจำลองภาพของอิสตันบูลในยุคหนึ่งให้เราเห็นชัดที่สุดว่า ผู้คนในยุคสมัยนั้นใช้ชีวิตอย่างไร ข้าวของต่างๆ มีบทบาทอย่างไรในชีวิตประจำวันของตัวละครอย่างเคมาลที่หมกมุ่นอยู่กับวัตถุสิ่งของรอบกาย

และเมื่อเราสามารถมองเห็นภาพที่ปามุกมอง (แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด) เราจะเห็นว่า จากจุดนั้น สังคมเปลี่ยนแปลงผ่านเวลาอย่างไร ข้าวของต่างๆ มีอิทธิพลต่อการดำเนินไปของชีวิตอย่างไรเมื่อเทียบกับปัจจุบัน และในจุดนั้นเองที่เราจะได้รับรู้ว่าความทรงจำกับวัตถุทำงานอย่างไรเมื่อเรามองไปรอบตัว

Fact Box

  • ออร์ฮาน ปามุก เป็นนักเขียนชาวตุรกีที่มีผลงานโดดเด่นและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ในภาษาต่างๆ มากกว่า 60 ภาษา จากผลงานที่ทรงคุณค่าในโลกวรรณกรรมทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2006
  • งานเขียนของออร์ฮาน ปามุกได้รับการแปลเป็นภาษาไทยสามเรื่องแล้วดังนี้

1. My Name is Red (ไม่มีชื่อเรื่องเป็นภาษาไทย) โดยสำนักพิมพ์บลิส พ.ศ. 2553

2. The Museum of Innocence (พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา) โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2560

3. Snow (หิมะ) โดยสำนักพิมพ์บทจร พ.ศ. 2560

  • The Museum of Innocence ได้รับรางวัล European Museum of the Year ในปี 2014
  • สำหรับผู้ที่สนใจเยี่ยมชมหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ สามารถดูได้จาก http://en.masumiyetmuzesi.org
Tags: , , , ,