แม้ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามประชาสัมพันธ์ว่าจีดีพีดีขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็แถลงข่าวในทิศทางดียวกัน พ่อค้ายืนยันว่ายอดส่งออกสูงขึ้น มหาวิทยาลัยหอการค้าก็ระบุว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีมาก

แต่สื่อและชุมชนวิชาการกลับตั้งคำถามว่า ถ้าเศรษฐกิจฟื้น ทำไมคนจึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี

ล่าสุด พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกพูดเรื่องเศรษฐกิจในแง่ตัวเลขอย่างเดียว ส่วนประชาธิปัตย์ก็ชี้ว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสร้างความเหลื่อมล้ำจนน่าวิตก ทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยประกาศว่าจะฟื้นทักษิโณมิคส์แน่ๆ ขณะที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า ไม่ขอร่วมงานกับฝ่ายที่บริหารประเทศด้วยนโยบายดังที่เป็นมาตลอดสี่ปี

ถ้าเศรษฐกิจไทยดีจริงๆ ทำไมคนไทยไม่เชื่อเรื่องที่รัฐบาลพูด? ทำไมคนรู้สึกว่าไม่มีเงินทั้งที่รัฐบาลคุยเรื่องตัวเลขการเติบโตมากขึ้น? ทำไมมีแต่ข้าราชการและธุรกิจส่งออกที่ยืนยันว่าทุกอย่างดีหมดตามรัฐบาล?

รัฐบาลเผชิญปัญหาความไม่เชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจมานาน ผลสำรวจความเห็นประชาชนทุกครั้งหลังปี 2557 ล้วนชี้ว่า คนไม่พอใจรัฐบาลเรื่องปัญหาปากท้องที่สุด คนหาเช้ากินค่ำบ่นว่าการค้าขายฝืดเคืองเข้าปีที่ห้า และความรู้สึกว่ารายได้ไม่เพิ่ม ก็แทบจะเป็นฉันทานุมัติของทุกฝ่ายในสังคม

 

ตัวเลขเศรษฐกิจกับการโฆษณาชวนเชื่อ

คำตอบเรื่องเศรษฐกิจดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า คำถามนี้นำไปถามใครและใช้อะไรประเมิน แต่ถ้าเอาคำตอบของรัฐบาลนี้ในตอนนี้เป็นเกณฑ์ ตัวเลขจีดีพีสำคัญที่สุด พล.อ.ประยุทธ์จึงพูดว่า เศรษฐกิจไทยดีโดยอ้างจีดีพี ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 4.8%

ตามตัวเลขที่เป็นทางการ จีดีพีของไทยเพิ่งเข้าข่ายน่าพอใจหลังรัฐบาลบริหารประเทศเข้าปีที่ห้า ส่วนจีดีพีปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกของการรัฐประหารต่ำระดับ 1% แล้วค่อยๆ ขยับมาเป็น 3.0%, 3.3% จนถึง 3.9% ในปี 2560 อย่างไรก็ดี จีดีพีเฉลี่ยจริงๆ ในช่วงสี่ปีแรกของรัฐบาลนี้อยู่ที่ 2.8% ต่ำกว่าการเติบโตโดยเฉลี่ยของประเทศในรอบหลายปี และไม่ใช่การเติบโตระดับที่น่าพอใจ

ในช่วงที่จีดีพีประเทศต่ำอย่างเห็นได้ชัด หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอธิบายว่า จีดีพีไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าความสุขของคนในประเทศซึ่งดีได้แม้ประเทศเติบโตต่ำ แต่ในช่วงที่จีดีพีกระเตื้องขึ้น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนเดียวกันชี้แจงว่าจีดีพีคือสัญลักษณ์ว่าเศรษฐกิจดีขึ้นและคนไทยกินดีอยู่ดี

จีดีพีเป็นดัชนีว่าเศรษฐกิจโตแน่ๆ ส่วน ‘เศรษฐกิจโต’ เท่ากับ ‘เศรษฐกิจดี’ หรือไม่ เป็นเรื่องที่เถียงกันได้ในแง่ความรู้

นอกจากจะใช้ตัวเลขจีดีพีเพื่อโฆษณาว่าเศรษฐกิจดี สิ่งที่รัฐบาลทำต่อไปก็คือ การอ้างยอดส่งออก, ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และดัชนีตลาดหุ้น เพื่อยืนยันว่าเศรษฐกิจดีไปหมด

ซึ่งตัวเลขทั้งสี่ข้อสัมพันธ์กันแนบแน่นจนแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน พูดอย่างรวบรัดที่สุด ธุรกิจส่งออกเป็นที่มาของรายได้ 60-70 เปอร์เซนต์ของจีดีพีมาเกินสิบปีแล้ว การเติบโตของ จีดีพีจึงมีเหตุมาจากภาคส่งออกขยายตัว และการเติบโตของภาคส่งออกย่อมทำให้ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นสูงขึ้นตามไปด้วย เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่ขยับตามอุตสาหกรรมส่งออกและธุรกิจสนับสนุนทั้งมวล

ธุรกิจส่งออกเป็นที่มาของรายได้ 60-70 เปอร์เซนต์ของจีดีพีมาเกินสิบปีแล้ว การเติบโตของ จีดีพีจึงมีเหตุมาจากภาคส่งออกขยายตัว

การค้าและการส่งออกในสภาวะหดหู่ต่อเนื่องสามปี

ในกรณีการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยก่อนรัฐประหาร 2557 มีการส่งออกและนำเข้าซึ่งเรียกรวมๆ ว่า “มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ” 478,914 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หลังรัฐประหาร ระหว่างปี 2557-2560 ตัวเลขนี้ลดเหลือ 455,210 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 416,962 ล้านเหรียญสหรัฐ จนถึง 409,585 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วเพิ่งขยับเป็น 458,153 ล้านเหรียญสหรัฐ

สรุปสั้นๆ คือ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศจนถึงปี 2560 ยังไม่เคยสูงไปกว่าจุดที่เคยเป็นก่อนเกิดระบอบ คสช.

และถ้านับจนถึงปี 2559 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีการยึดอำนาจตกต่ำลง 14.5% คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 69,329 ล้านเหรียญสหรัฐ หากถือว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยช่วง 2557-2559 อยู่ที่ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยช่วงนั้นก็หายไปราว 2.36 ล้านล้านบาท

ในกรณีการส่งออกนั้น ประเทศไทยในปีก่อนการรัฐประหาร มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 228,498 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อคสช.ยึดอำนาจ ตัวเลขตั้งแต่ปี 2557 – 2560 ลดเหลือ 227,462 แล้วต่ำลงไปเป็น 214,309 จากนั้นจึงกระเตื้องขึ้นเป็น 215,387 และ 236,647 ตามลำดับ

เช่นเดียวกัน ถ้านับจนถึงปี 2559 มูลค่าการส่งออกตกต่ำลง 13,111 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าถืออัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ดอลลาร์ละ 34 บาท มูลค่าการส่งออกก็หดหายไป 445,774 ล้านบาท หรือเท่ากับงบบัตรทองสองปี

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ฉายภาพว่า การค้าระหว่างประเทศและการส่งออกมีปัญหาในสองปีแรกที่ คสช.ยึดอำนาจ จากนั้น ต้องรออีกสองปี กว่าที่มูลค่าการค้าจะฟื้นมาอยู่ระดับที่ดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา

จีดีพีขยายตัว
(ร้อยละ)
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ*เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)มูลค่าการส่งออก*เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)
25571455,210.60-4.9227,462.00-0.5
25583419,962.60-8.4214,309.60-5.8
25593.3409,585.60-1.8215,387.500.5
25603.9458.153.511.9236,634.709.9

* หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงพาณิชย์

ตามข้อมูลทางการของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทยหลังพล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจ มีการเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยปีละ 2.8% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่วนการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกตกต่ำต่อเนื่องในสามปีแรก และต้องรอถึงปีที่สี่ กว่าที่มูลค่าของสองเรื่องนี้จะสูงกว่าระดับที่เคยเป็น

 

ดัชนีหุ้นยุคไร้เลือกตั้งโตต่ำกว่ายุคเลือกตั้ง 10 เท่า

การเติบโตของตลาดหุ้นเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจใช้อ้างว่าเศรษฐกิจไทยดี หัวหน้าคสช.ถึงขั้นระบุว่า ตลาดหุ้นสะท้อนว่านักธุรกิจเชื่อมั่นในรัฐบาลมาก แม้การฟื้นตัวของตลาดหุ้นจะเกิดขึ้นหลังจากการยึดอำนาจผ่านไปสองปี และการฟื้นก็ไม่ได้เกิดจากปัจจัยด้านความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

ในสองปีแรกที่พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจ ดัชนีตลาดหุ้นปี 2557 ปิดที่ 1,497.67 ก่อนที่ปี 2558 จะดิ่งลงไปปิดที่ 1,288.02 ซึ่งเท่ากับดัชนีตลาดหุ้นปิดต่ำลง -14% ก่อนจะขยับเป็น 1,542.94 และ 1,753.71 ในปี 2559 และ 2560 หรือฟื้นจริงๆ เมื่อเข้าปีที่สี่ของการยึดอำนาจ

มองย้อนไปสี่ปีแรกของรัฐบาล ดัชนีตลาดหุ้นโตขึ้น 256.04 จุด เฉลี่ยปีละ 64 จุด หรือปีละ 4.2%  ถ้าเอาวันสิ้นปีเป็นตัวตั้ง และถ้าเอาดัชนีตลาดวันแรกที่คุณประยุทธ์ตั้งตัวเองเป็นนายกโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งซึ่งอยู่ที่ 1,396.84 กับวันคลายล็อคเลือกตั้งซึ่งอยู่ที่ 1,679.39  เท่ากับเพิ่มขึ้น 282.55 จุดหรือ 20.2% ในเวลาสี่ปี

ดัชนี ณ วันสิ้นปี
25571,497.67
25581,288.02
25591,542.94
25601,753.71
เปลี่ยนแปลง(จุด)256.04
เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)17.1
เปลี่ยนแปลง(ร้อยละต่อปี)4.2
ที่มา : รายงานประจำปีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2557-2560

ที่มา : รายงานประจำปีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2557-2560

 

หากการเติบโตของดัชนีตลาดหุ้นแสดงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ตัวเลขการเติบโตของตลาดหุ้นยุครัฐบาลนี้ก็ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับรัฐบาลอื่นในอดีต ตัวอย่างเช่น ดัชนีตลาดหุ้นเมื่อคุณยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้งปี 2554 คือ 1,093.31 และวันที่อดีตนายกยุบสภาเมื่อ 7 ธ.ค. 2556 คือ 1,367.42 หรือเพิ่มขึ้น 25.07 % ใน 2 ปี 9 เดือน

เมื่อเปรียบเทียบดัชนีตลาดหุุ้นยุคนี้กับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2551-2554 ตลาดหุ้นวันที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ17 ธ.ค. 2551 อยู่ที่ 445.94 และในวันทีอดีตนายกอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาเมื่อ 10 พ.ค. 2554 ก็พุ่งไปถึง 1,085.56 หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 639.62 จุด หรือสูงขึ้น 143.43% ในเวลา 2 ปี 3 เดือน

ถ้ายึดบรรทัดฐานแบบคุณประยุทธ์ว่าตลาดหุ้นแสดงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ดัชนีตลาดหุ้นยุคนี้โตเฉลี่ยปีละ 4.95% ต่ำกว่าของคุณยิ่งลักษณ์ที่โตเฉลี่ยปีละ 10.1% และห่างยุคคุณอภิสิทธิ์ที่โตปีละ 53.7% ราว 2-10 เท่า เท่ากับว่า นักลงทุนเชื่อมั่น คสช.ต่ำจนไม่ควรเทียบกับนายกฯ จากสภาผู้แทนทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย

 

มูลค่าตลาดหุ้นยุคประยุทธ์โตต่ำกว่ายุคประชาธิปัตย์-เพื่อไทย

หากเปลี่ยนวิธีดูการขยายตัวของตลาดหุ้นจากดัชนีเป็น Market Capitalization หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมด ตลาดหุ้นวันที่คุณประยุทธ์ตั้งตัวเองเป็นนายกฯ มีมูลค่า 14,037,468.08 ล้านบาท ส่วนวันคลายล็อคเลือกตั้งเป็น 17,416,178.08 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,378,710 ล้านบาท เท่ากับ 24.1% ในเวลา 49 เดือน

ในกรณีรัฐบาลเพื่อไทย มูลค่าหุ้นทั้งตลาดวันที่คุณยิ่งลักษณ์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 11 สิงหาคม 2554 คือ 8,757,443.97 ล้านบาท และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 อยู่ที่ 12,673,401.27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,915,957.3 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับมูลค่าตลาดสมัยอดีตนายกฯ ผู้นี้โต 44.7% ใน 33 เดือน

ในกรณีรัฐบาลประชาธิปัตย์ มูลค่าตลาดวันที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ เมื่อ 8 ธันวาคม 2551 คือ 3,568,223.48 ล้านบาท ส่วนมูลค่าตลาดในวันสุดท้ายที่คุณอภิสิทธิ์รักษาการนายกฯ เมื่อ 5 สิงหาคม 2554 คือ 8,757,443.97 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5,189,220.49 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับตลาดสมัยอดีตนายกฯ ผู้นี้โตขึ้น 145.4% ใน 32 เดือน

ดัชนีตลาดเปลี่ยนแปลง(จุด)เติบโตต่อปี (%)Market Cap เปลี่ยนแปลง (ล้านบาท)เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)เติบโตต่อปี (%)
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ445.94- 1,085.56639.6253.70%5,189,220.49145.40%54.50%
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร1,093.31-1,367.42274.119.10%3,915,957.3044.70%16.30%
ประยุทธ์ จันทร์โอชา1,396.84-1,679.39282.554.90%3,378,71024.10%5.90%

ต่อให้เปลี่ยนการประเมินตลาดหุ้นเป็นมูลค่าหุ้นทั้งตลาด ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือมูลค่าตลาดสมัยพล.อ.ประยุทธ์เติบโตต่ำกว่าสมัยคุณยิ่งลักษณ์และคุณอภิสิทธิ์ราว 1 เท่า และ 5 เท่า ส่วนการเติบโตรายปีของตลาดยุคคุณประยุทธ์อยู่ที่ 6% ส่วนของคุณยิ่งลักษณ์และคุณอภิสิทธิ์คือ16.3% และ 52.8%

สรุปแบบสั้นที่สุด ตลาดหุ้นเติบโตภายใต้รัฐบาลนี้น้อยกว่าที่เคยเติบโตในรัฐบาลจากการเลือกตั้งทุกชุดในช่วงปี 2551-2557 ราว 3 – 9 เท่าตัว

ตลาดหุ้นไม่ใช่เครื่องชี้เศรษฐกิจจริงหรือชีวิตทางเศรษฐกิจของประชาชนไทย แต่ถ้าจะเอาบรรทัดฐานที่รัฐบาลนี้บอกว่าตลาดหุ้นแสดงสภาพเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดัชนีตลาดหุ้นและ Market Cap ของตลาดในรัฐบาลนี้ ก็เติบโตต่ำโดยเปรียบเทียบกับการขยายตัวที่เกิดขึ้นก่อนปี 2557 อย่างชัดเจน

สรุปแบบสั้นที่สุด ตลาดหุ้นเติบโตภายใต้รัฐบาลนี้น้อยกว่าที่เคยเติบโตในรัฐบาลจากการเลือกตั้งทุกชุดในช่วงปี 2551-2557 ราว 3 – 9 เท่าตัว

จริงอยู่ ตลาดหุ้นในปัจจุบันนี้เคลื่อนไหวในทิศทางบวกมากกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ความคึกคึกในเวลานี้ก็มีเพดานการขยายตัวที่ต่ำจนไม่อาจอนุมานได้ว่าเป็นภาพสะท้อนของพัฒนาการที่น่าประทับใจ และยิ่งไม่ใช่เรื่องที่ผู้บริหารนโยบายรัฐจะโฆษณาชวนเชื่อด้วยเรื่องนี้โดยให้ข้อมูลที่ไม่ซื่อตรง

นับตั้งแต่ปี 2557 จนมีการคลายล็อคทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 กันยายน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แต่ละปีพุ่งสู่สูงสุด โดยมีพิสัยของการขยายตัวที่แคบมาก นั่นคืออยู่ในกรอบระหว่าง 1,600-1,753 ซึ่งเท่ากับว่ามีการเปลี่ยนแปลงแค่ 153 จุด หรือร้อยละ 9.59 เท่ากับแค่ปีละ 2.4% เท่านั้นเอง

เฉพาะในส่วนนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการเติบโตของตลาดหุ้นไทยในช่วงสี่ปีนี้มีเพดานบางอย่างกำกับอยู่ตลอดเวลา

 

สี่ปีซ่อมคือมายา เสียโอกาสสี่ปีคือของจริง

เว็บไซด์ประชาสัมพันธ์หัวหน้าคสช. ออกภาพโฆษณาว่า ประเทศไทยยุคนี้และต่อไป อยู่ในสภาวะ “สี่ปีซ่อม สี่ปีสร้าง” ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าน่าอับอายเพราะลอกเลียนคำขวัญของอดีตนายกฯ ทักษิณและพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2548 ทั้งหมด แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องคำขวัญคือ ตัวคำขวัญที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง

ในรอบสี่ปีที่ผ่านมา ประเด็น “รวยกระจุก จนกระจาย” เป็นหนึ่งในคำวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และประเด็น ‘จนกระจาย’ เป็นเรื่องที่คนพูดเยอะเพราะตรงกับความรู้สึกที่พบได้ทั่วไป แต่เรื่อง “รวยกระจุก” อาจเป็นอุปลักษณ์ที่ไม่ตรงความจริงอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

จริงอยู่ว่าตัวเลขธุรกิจของเจ้าสัวใหญ่สิบตระกูลแรกของประเทศในรอบสี่ปีนี้สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่หากพิจารณาอัตราการเติบโตของตลาดหุ้น ทั้งแง่ดัชนีและมูลค่าหุ้นทั้งตลาด สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบสี่ปีนี้คือความมั่งคั่งของตลาดขยายตัวขึ้นอย่างล่าช้าจนต่ำกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งราวๆ 10 เท่า

ในแง่นี้ “รวยกระจุก” อาจถูกเฉพาะกลุ่มคนรวยระดับสิบตระกูลแรกของประเทศ แต่สำหรับนักลงทุนและคนมีเงินระดับรองลงมา “เงินโตต่ำ” คือนิยามของสภาพเศรษฐกิจที่ตรงกับความเป็นจริง

ดังที่กล่าวไปแล้ว การขยายตัวของ จีดีพีหรือตลาดหุ้นเกิดจากหลายปัจจัยที่มากไปกว่าฝีมือนายกรัฐมนตรีหรือความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล แต่ในช่วงสี่ปีของรัฐบาลปัจจุบัน ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจไทยโต “ต่ำกว่าศักยภาพ” เป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์หรือผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ

สรุปสั้นๆ รัฐบาลนี้ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ เพราะไม่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และในเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวจนการเติบโตที่เกิดจริงๆ ต่ำกว่าศักยภาพที่เป็นไปได้ ประเทศก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจนการถดถอยโดยเปรียบจะตามมา

ขณะที่รัฐบาลนี้พยายามพูดเรื่องเศรษฐกิจไทยปี 2561 เติบโตกว่าที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลไม่มีความชัดเจนเลยก็คือ ทำอย่างไรให้การเติบโตเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพที่สุด ตลาดหุ้นหรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจึงเดินหน้าบนเพดานที่จำกัด และแม้แต่คนรวยก็เสียโอกาสที่จะรวยขึ้นอย่างที่เป็นมาตลอดสี่ปี

ไม่มีใครรู้ว่าสี่ปีหน้าของรัฐบาลนี้จะเป็นสี่ปีแห่งการฟื้นฟูประเทศอย่างที่ลอกเลียนคำขวัญพรรคไทยรักไทยหรือไม่ แต่ความไม่สามารถสร้างประเทศในรอบสี่ปีทำให้เห็นชัดถึงสภาวะเศรษฐกิจซึมจนคนทุกกลุ่มเสียโอกาสและเวลาอย่างไม่ควรเป็น

 

 

Tags: , , ,