ผัวเมียคนละโลก The Couple in Time เป็นละครแนวทดลองโดยนักการละครมากประสบการณ์ นิกร แซ่ตั้ง หัวหน้าคณะละครแปดคูณแปด ศิลปินศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดงปี 2553 และสวนีย์ อุทุมมา นักแสดง นักเขียนบท ผู้กำกับ นักการละครหญิงที่แม้จะแสดงคนเดียวก็ดึงดูดผู้ชมได้อยู่หมัด
ละครเวทีโรงเล็กที่ว่าด้วยเรื่องผัวๆ เมียๆ ที่แม้ว่าจะอยู่ด้วยกันมาตลอดทั้งชีวิตแต่ก็เหมือนกับว่าไม่ได้อยู่บนโลกเดียวกันจริงๆ การตายของ ‘บอล’ ลูกชายคนโตยิ่งเป็นเหตุให้ความแตกต่างและการอยู่ในคนละโลกเด่นชัด และยังทำให้ทั้งคู่ย้อนกลับไปนึกถึงจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นชนวนชั้นดีของการทะเลาะ ทว่าก็ดูเหมือนจะมีบางสิ่งที่เชื่อมผัวเมียคู่นี้เอาไว้ด้วยกัน
ผัวเมียคนละโลก : ความสามัญของชีวิตคู่
‘อ้วน’ ‘แห้ง’ ฟังดูเป็นชื่อเรียกคู่รักแสนน่ารัก ทว่าไม่ใช่กับคู่นี้ เพราะเมื่อเรียกกันแบบนี้ทีไรก็ต้องมีเหตุให้ต้องทะเลาะกันทุกที ผัวเมียคนละโลกว่าด้วยเรื่องราวแสนจะสามัญของชีวิตคู่ที่เริ่มต้นจากการติดสติ๊กเกอร์วันวาเลนไทน์ จนกลายเป็นพ่อแม่วัยใส ต้องมีครอบครัวทั้งที่ยังไม่พร้อม แต่ด้วยความรับผิดชอบ สองผัวเมียก็ประคับประคองชีวิตครอบครัวจนลูกสามคนเติบโตหมดแล้ว ทั้งคู่ก็เดินทางมาถึงช่วงวัยเกษียณ
กระทั่งลูกชายคนโตเสียชีวิต ผัวเมียคู่นี้จึงมาร้านหนังสือของลูกชายที่เป็นความฝันจากของขวัญชิ้นเดียวที่ได้รับจากพ่อในวัยเด็ก เพื่อคิดหาทางว่าจะทำอย่างไรต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความของลูก เรื่องการจัดการร้านหนังสือ เรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่เริ่มชีวิตคู่ ซึ่งแทบไม่มีเรื่องไหนเลยที่ทั้งสองจะเห็นพ้องต้องกัน ทั้งคู่ทะเลาะกันแทบจะตลอดเวลา ในการทะเลาะแต่ละครั้ง ปมปัญหาต่างๆ ก็จะค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมาให้ผู้ชมเห็นถึงความเป็นสามัญของการใช้ชีวิตคู่และการเป็นครอบครัว รวมทั้งการเกิดและการตายที่ไม่ได้เตรียมใจ แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องยอมรับมัน
ละครเวทีโรงเล็กเรื่องนี้นับว่าใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า เล่นกับสิ่งของและสถานที่อย่างมีรายละเอียด ปล่อยให้ผู้ชมใกล้ชิดกับทั้งนักแสดง เรื่องราวที่ถ่ายทอด และความรู้สึกที่นักแสดงส่งผ่าน การแสดงเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่ละเอียด ด้วยมวลความรู้สึกและการใช้สายตา นักแสดงเล่าเรื่องโดยสลับวิธี ระหว่างการแสดงที่เหมือนมีกำแพงกั้นให้มองไม่เห็นผู้ชม กับเล่าเรื่องให้ผู้ชมรับฟังโดยตรง และเนื่องจากมันเป็นเรื่องสามัญของชีวิตเราๆ บวกกับระยะความใกล้ชิดกับนักแสดง จึงทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมได้ไม่ยาก
โดยเฉพาะตอนที่ใช้เทคนิค Physical Theatre หรือศาสตร์การเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อแสดงสภาวะอารมณ์ภายในที่เป็นสัญญะของการอยู่คนละโลก ความดิบ และความเป็นไปของมนุษย์ แทนการใช้คำพูด ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกอึดอัดและกดดันจากมวลอารมณ์ความรู้สึก ที่อัดแน่นอยู่ในการเคลื่อนไหวของนักแสดงในระยะประชิด
แม้มวลอารมณ์จะแน่นอยางนั้น แต่ผัวเมียคนละโลกก็มีการแทรกมุขตลกให้ได้ขำอยู่เรื่อยๆ อย่างน้อยก็ไม่ให้ผู้ชมอึดอัดกับการทะเลาะกันแทบจะตลอดเวลา ยิ่งกว่านั้นมุขตลกต่างๆ ยังอาจเป็นสัญญะหนึ่งของรสชาติชีวิตคู่ ที่มีทั้งทุกข์และสุขปะปนกันไป ภายใต้ความเป็นครอบครัวซึ่งหมายถึงการแชร์ทั้งความรู้สึกและชีวิตร่วมกัน
โดยรวมแล้วผัวเมียคนละโลกกล่าวถึงประเด็นครอบครัวไว้ในหลายแง่มุมที่เห็นได้ชัดเจนในบริบทสังคมทุกวันนี้ เช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การสูญเสียในครอบครัว ผลกระทบจากพ่อแม่ที่มีต่อลูก ที่แม้ว่าจะนำมาสู่ปัญหาฝังรากยาวนานค่อนชีวิต แต่ท้ายที่สุดมนุษย์ก็มีวิธีอยู่ร่วมกัน และอาจจะโดยไม่รู้ตัว ตลอดเวลาที่ทะเลาะกัน พวกเขาก็ยังคงเชื่อมกันเอาไว้ด้วยคำว่าครอบครัว อาจมีบางครั้งที่อยู่ด้วยกันแต่มองไม่เห็นกัน แต่เมื่อห่างหายกันไปก็คงจะใฝ่หากันและกัน
และท้ายที่สุดแล้วละครเรื่องนี้จะทำให้ผู้ชมหวนคิดถึงบ้าน พ่อแม่ และครอบครัว อดจินตนาการไม่ได้ถึงวันที่จะไม่มีอีก
จากตายแต่ยังอยู่ในใจ ดีกว่ายังหายใจแล้วตายเป็นจากกัน
ขอบคุณภาพถ่ายโดย: ชัชฐพล จันทยุง
Fact Box
- ผัวเมียคนละโลก จัดแสดงถึงวันที่ 24 มิถุนายน (รอบ 20.00 น.) ที่ Whale Shark Books ชั้น 2 M theatre ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/theatre8x8/