ที่รัก

หลายวันก่อนผมไปร้านหนังสือที่คุณเคยแนะนำ รู้สึกแปลกดี เหมือนเข้าไปอยู่ในอีกโลกที่แปลกตา หนังสือในร้านก็ไม่เหมือนร้านประจำของผมที่คุณมักจะค่อนแคะว่าเป็นเหมือนโกดังพักหนังสือไร้วิญญาณ

ผมเดินวนอยู่นาน อยากหาอะไรที่แปลกใหม่มาอ่าน ให้เข้ากับความรู้สึกไม่คุ้นเคยที่ได้รับจากบรรยากาศของร้าน สุดท้ายก็เลือกเอาเล่มนี้มา เพราะสีปกสะดุดตาและเรื่องย่อสะดุดใจ

ผมไม่รู้ว่าคุณเคยอ่านหนังสือเล่มนี้หรือยัง ถ้ายังไม่เคยอ่าน ก็ขอให้สิ่งที่ผมเขียนเป็นเหมือนการเชิญชวนให้คุณอ่านก็แล้วกันนะ ถ้าอ่านแล้วก็ขอให้คิดเสียว่าผู้ชายคนหนึ่งพยายามค้นหาอะไรบางอย่างในหนังสือที่คุณเคยอ่านแล้วและอยากเล่าให้คุณฟัง

หนังสือเล่มที่ผมเลือกมาชื่อ นม ของฟิลิป ร็อท เท่าที่ผมลองค้นๆ ดู นี่น่าจะเป็นหนังสือเล่มแรกของเขาที่แปลเป็นภาษาไทย เนื้อเรื่องของนมแทบไม่มีอะไรเลย มันเป็นแทบจะอยู่บนเหตุการณ์แปลกประหลาดเหตุการณ์เดียว นั่นคือศาสตราจารย์ทางวรรณคดีคนหนึ่งชื่อเดวิด เคเพช ได้กลายร่างเป็นนม นมเต้าเดียวด้วยนะ นี่ยิ่งประหลาดไปใหญ่ ไหนๆ จะกลายร่างแล้วทำไมไม่กลายไปให้สุดสายพันธุ์ หรือเป็นเพราะกายภาพผู้ชายมันเอื้อได้แค่นั้น ผมสงสัยนะ ไม่รู้ว่าคนอ่านคนอื่นเขาจะสงสัยอะไรแบบนี้บ้างไหม

หลังจากอีตาเดวิด เคเพช กลายร่างเป็นนมแล้ว แกก็ไปอยู่ในโรงพยาบาล หลังจากนั้นเนื้อเรื่องที่เหลือก็เป็นเรื่องของความคิดในหัว ไม่สิ ในเต้าของแกกับผู้คนรอบข้างไม่กี่คนเลย

ศาสตราจารย์ทางวรรณคดีคนหนึ่งชื่อเดวิด เคเพช ได้กลายร่างเป็นนม นมเต้าเดียวด้วยนะ นี่ยิ่งประหลาดไปใหญ่

เรื่องที่แกพูดคุยก็มีตั้งแต่เรื่องของความเงี่ยนของแก ผมขอใช้คำนี้นะ ในเรื่องมันก็ใช้คำดุดันประมาณนี้แหละ คนแปลเขาก็พยายามทำให้เบาลง ซึ่งจริงๆ ผมว่าไม่ต้องทำก็ได้ ไม่ต้องอ่านหนังสือเราก็ปะทะกับคำพวกนี้แทบทุกเวลาอยู่แล้ว ความเงี่ยนที่วิปริตขึ้นเรื่อยๆ จากจินตนาการของแกภายใต้ข้อจำกัดของร่างกาย เรื่องของความคิดของแกที่มีต่อคู่รัก พ่อ การตรวจสอบสภาพจิตใจของตัวเอง ไปจนถึงการพูดคุยกับหมอเพื่อวิเคราะห์ถกเถียงจากอาการทางกายภาพและทางจิตใจ

ผมไม่รู้ว่าร็อทเขาเขียนเรื่องนี้ด้วยแรงบันดาลใจจากไหน แต่ผมจะลองคิดถึงมันดู ก่อนอื่นผมต้องยอมรับก่อนเลยว่าผมอ่านหนังสือเล่มบางๆ นี้หลายรอบมาก มันเหมือนเล่มเกมความคิด แต่ละรอบก็ให้ความรู้สึกไม่เหมือนเดิมสักครั้ง เหมือนมันมีความท้าทายหลายอย่างให้ค้นหา แต่พอคิดว่าหาเจอแล้วก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองคิดว่าหาเจอนั้นใช่สิ่งที่ต้องการหาหรือไม่

พฤติกรรมของเดวิด เคเพช ชวนให้คิดถึงเรื่อง culture shock แหละ ภาษาไทยเขาเรียกว่าอะไรนะ ใช่ภาวะสับสนจากการเข้าสู่วัฒนธรรมใหม่รึเปล่า? คือผมคิดว่าการไปสู่ร่างใหม่ของเคเพชมันมีส่วนคล้ายกับการออกจากบ้านเกิดที่คุ้นเคย หลักการเหตุผล ระเบียบเหตุผลที่คุ้นเคยไปสู่ประเทศใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ ที่บางอย่างมันอยู่เหนือความรู้ของเรา และเราต้องอยู่ภายใต้อำนาจของมัน เราทำอะไรไม่ได้มากกว่าการปรับตัว เพียงแต่เหตุการณ์ที่เคเพชประสบมันรุนแรงกว่าอย่างคาดไม่ถึง

จากความรู้ผิวเผินที่เหลืออยู่ของผม อาการของ culture shock ถูกแบ่งออกเป็นสี่ระยะ ได้แก่ Honeymoon-Frustration-Adjustment-Acceptance (น้ำผึ้งพระจันทร์-ไม่พอใจ-ปรับตัว-ยอมรับ) แต่ตัวของเคเพชไม่มีช่วง Honeymoon นะ แหงสิ ใครจะไปมีได้ อยู่ๆ ร่างกายก็กลายเป็นนม ทีนี้ในช่วงของสามระยะที่เหลือนี้เองที่เป็นช่วงสำคัญของเรื่องนี้

ดูเหมือนว่าร็อทเขียนนมขึ้นเพื่อทดสอบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสภาพจิตและพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในช่วงของ Frustration-Adjustment-Acceptance ในเนื้อเรื่อง เหมือนว่าเขาใช้ความมีเหตุมีผลของมนุษย์และความปรารถนาทางจิตใจเป็นของเล่น แต่เขาพลิกกลับโดยใช้ความเหนือจริงเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยๆ ดูว่าของเล่นที่เขาเลือกนั้นมันทำงานอย่างไร เพราะตรรกะที่มนุษย์ใช้รับมือกับโลกทั้งภายนอกและภายในนั้นมาจากการใช้เหตุผล แต่ถึงแม้เราจะรู้และชั่งน้ำหนักผิดชอบชั่วดีแค่ไหน หลายต่อหลายครั้งเหตุผลของเราก็หลีกทางให้อารมณ์และความปรารถนา และยิ่งมาอยู่ในภาวะที่เหตุการณ์อยู่เหนือจากความรับรู้ปกติ สภาพจิตพฤติกรรมยิ่งมีการแสดงออกที่น่าสนใจ คุณลองคิดดูสิว่าอารมณ์คนเราจะรุนแรงขนาดไหนเมื่อเหตุผลหรือความรู้ที่มีต้องจำยอมต่ออะไรที่เหนือจริง

ผมคิดว่าการไปสู่ร่างใหม่ของเคเพชมันมีส่วนคล้ายกับการออกจากบ้านเกิดที่คุ้นเคย หลักการเหตุผล ระเบียบเหตุผลที่คุ้นเคยไปสู่ประเทศใหม่

แต่ร็อทไม่ได้หยุดแค่นั้น การที่เขาเลือกตัวละครอย่างเคเพชที่เป็นผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีและใช้แกนเรื่องอย่างการกลายร่างที่เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ทุกคนที่ชอบอ่านวรรณกรรมต้องคิดถึงคาฟคามาประกอบกัน ทำให้ความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกมิติ นั่นคือตัวร็อทเองต้องพยายามไม่ให้เรื่องเล่าของตัวเองตกอยู่ใต้อิทธิพลของเกรเกอร์ แซมซา และตัวเคเพชเองที่รู้จักเรื่องของการกลายในแง่มุมวรรณกรรมเป็นอย่างดีต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีทำความเข้าใจกับเรื่องเหนือจริงที่เกิดกับตัวเอง

ผมคิดว่าที่ร็อทจงใจใช้การจับคู่กันระหว่าง ‘อาจารย์วรรณคดี’ กับ ‘การกลาย’ เป็นอารมณ์ขันที่ร้ายกาจที่เขาอาจจะล้อเล่นกับตัวเอง มันเหมือนกับตัวเขาเองก็ลองผลักเพดานที่คาฟคาสร้างไว้ ดูว่ามันจะขยับออกไปได้อีกไหม และในเวลาเดียวกันก็ต้องคอยระวังไม่ให้เพดานถล่มลงมาทับตัวเองตาย อีกอย่างคือเขาเลือกใช้คนที่เป็นปัญญาชนมาเป็นตัวละคร ถ้าลองกลับไปคิดเล่นๆ ถึงเรื่อง Frustration-Adjustment-Acceptance เราน่าจะเห็นได้ว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ความแตกต่างมันอยู่ที่ว่าแต่ละคนจะรับมือกับมันอย่างไรแค่นั้น ในแง่นี้พอเขาเลือกใช้ตัวละครที่เป็นปัญญาชน สิ่งที่ถูกนำมาล้อเล่นคือความรู้ และยิ่งเมื่อความรู้ในสิ่งที่รู้และใช้ประกอบอาชีพต้องยอมจำนนกับการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเท่าไร มันยิ่งกลายเป็นตลกร้ายเท่านั้น

ถ้าผมไม่เข้าใจผิดในเรื่องเจตนาของร็อท ผมต้องยอมรับว่าเขาใช้พลังของเรื่องเล่าในรูปแบบของความผิดเพี้ยนและเหนือจริงได้อย่างแยบคาย การใช้สิ่งที่เหนือเหตุผลมาบงการชีวิตทำให้เราได้เห็นภาพที่เราคาดไม่ถึงและคิดไม่ออกได้ชัดเจนขึ้น

ในแง่นี้พอเขาเลือกใช้ตัวละครที่เป็นปัญญาชน สิ่งที่ถูกนำมาล้อเล่นคือความรู้ และยิ่งเมื่อความรู้ในสิ่งที่รู้และใช้ประกอบอาชีพต้องยอมจำนนกับการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเท่าไร มันยิ่งกลายเป็นตลกร้ายเท่านั้น

คุณลองคิดดูเล่นๆ นะ ถ้าเราเปลี่ยนจากคำว่า ‘นม’ เป็นการเปลี่ยนอย่างอื่นดู เปลี่ยนแบบชั่วข้ามคืน เอาตัวอย่างแบบนี้ดูละกัน เช่นเปลี่ยนจากประชาธิปไตยเป็นเผด็จการในชั่วข้ามคืน สมมติว่าคุณอยู่ข้างประชาธิปไตย คุณรู้ทันทุกอย่างว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างภายใต้คำว่าเผด็จการ แต่คุณทำอะไรไม่ได้เลย คุณทำได้แค่เพียงยอมจำนน ถึงจุดหนึ่งคุณก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกับเคเพช

ผมอาจจะยกตัวอย่างที่ทำให้คุณนิ่วหน้าอยู่บ้าง แต่คุณลองคิดถึงตัวอย่างอื่นดูก็ได้ แล้วลองคิดดูว่าในภาวะเหล่านั้น ภาวะที่เราทำอะไรไม่ได้นอกจากขำขื่นและต้องดำเนินชีวิตต่อไป มันจะเจ็บปวดแค่ไหน

จริงๆ แล้วนอกจากเรื่องที่เล่ามาทั้งหมด ผมยังมีอีกอย่างอยากบอกคุณ แต่ผมจะลองไม่บอกตรงๆ ดู

ถ้าคุณยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ อ่านแล้ว อ่านอยู่ หรือกำลังจะอ่าน คุณลองอ่านสามหน้าสุดท้ายของเรื่องช้าๆ ดูนะ โดยเฉพาะกับบทกวี ‘Archaic Torso of Apollo’ ของ Rainer Maria Rilke ที่ร็อทเลือกมาใช้ปิดท้ายเรื่อง เพราะมันอาจพลิกกลับความเข้าใจบางอย่างของเรื่องทั้งหมดอีกครั้ง ถ้าเราเห็นอะไรบางอย่างเหมือนกันนะ แต่ถ้าไม่ มันก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไร มันอาจเป็นเพียงอุบายอย่างหนึ่งที่ผมวางไว้ให้คุณคิดถึงผมกว่าที่เคย

                                                                                                             ผมเอง

                                                                                                         25/09/2018

Fact Box

  • นม แปลจากงานเขียนชื่อ The Breast ของฟิลิป ร็อท  (Philip Roth) หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1972 ต่อมาร็อทได้เขียนเรื่องของเดวิด เคเพช (David Kepesh) ต่อมาอีกสองเล่มคือ Professor of Desire ตีพิมพ์ในปี 1977 และ The Dying Animal ตีพิมพ์ในปี 2001 โดยทั้งสามเรื่องรู้จักกันในชื่อ The Kepesh Trilogy (ไตรภาคเคเพช)
  • นม แปลโดยบัญชา สุวรรณานนท์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ไลบรารี่ เฮ้าส์
  • ฟิลิป ร็อท เสียชีวิตในวัย 85 ปี ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2018 เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และเป็นนักเขียนอีกคนที่ได้รับการคาดหมายว่าต้องได้รางวัลโนเบล แต่วันนั้นก็ไม่เคยมาถึง
Tags: , , , , , , ,