เมื่อพูดถึง บริษัท วี-ลัค มีเดีย หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่หลายคนอาจจะรู้จักนิตยสาร Who นิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนดังในแวดวงต่างๆ ของเมืองไทย นิตยสารฉบับสุดท้ายตีพิมพ์ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2559 ก่อนจะปิดตัวลง
ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา ชื่อบริษัทนี้กลายเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เนื่องจากหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว คือ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากข้อกล่าวหา ‘ถือครองหุ้นสื่อ’ (เพิ่มเติมข้อมูล – ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้รับคำร้องเอาไว้พิจารณา และยังมีมติ 8 ต่อ 1 เสียงข้างมากให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เอาไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย)
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องอนาคตทางการเมืองของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แต่รวมไปถึงปรากฎการณ์ ‘สองมาตรฐาน’ ต่อเสรีภาพสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการแยกนักการเมืองออกจาการสื่อ
บริษัท วี-ลัค มีเดีย บริษัททำนิตยสารวงการไฮโซ
นิตยสาร WHO จดทะเบียนจัดตั้งในนามบริษัท โซลิค มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 ต่อมา ปี 2555 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ทุนปัจจุบัน 45 ล้านบาท ประกอบธุรกิจสื่อนิตยสาร ที่ตั้งเลขที่ 1768 อาคารไทยซัมมิท ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
โดยมี สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาธนาธร ถือหุ้นใหญ่ 3,600,000 หุ้น (80%) และ รุจิรพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ บุตรสาว ถือหุ้น 765,000 หุ้น (17%)
ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2558 ธนาธร และ รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ (ภรรยาของธนาธร) ปรากฎชื่อเป็นผู้ถือหุ้น วี-ลัค มีเดีย ครั้งแรก โดย ธนาธร ถือ 675,000 หุ้น และ รวิพรรณ ถือ 225,000 หุ้น พร้อมๆ กับการที่ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ลดจำนวนการหุ้นเหลือเพียง 675,000 หุ้น
โดยเนื้อหาของการทำนิตยสารคือการติดตาม บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนดัง โดยมีคนดังเคยขึ้นหน้าปกนิตยสารมากมาย อย่างเช่น ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ หรือ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โบกมือลาจากแผง โดยนิตยสาร WHO ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ได้แก่ นิตยสารของนกแอร์ และธนาคารไทยพาณิชย์นั้น ปิดตัวลงตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้ว่าจ้างตามลำดับ โดยฉบับสุดท้ายพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม 2561
ธนาธร กับการโอนหุ้น วี-ลัค จากช่องโหว่เล็กสู่ปัญหาใหญ่
กรณี ‘หุ้น วี-ลัค’ ของ ธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกเปิดประเด็นโดยสำนักข่าวอิศรา โดยอิศราตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย มีการแจ้งเปลี่ยนผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน และเกิดขึ้นหลังวันสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562
ทั้งที่ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ว่า จะต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
ต่อมา มีผู้แย้งสำนักข่าวอิศราว่า เอกสารที่นำมาแสดงเป็น บอจ.5 ที่บริษัท วี-ลัคฯ ใช้ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้น ซึ่งตามกฎหมายให้แจ้งเพียงปีละครั้ง ไม่ใช่ใบตราสารโอนหุ้น และธนาธรก็โชว์ใบตราสารโอนหุ้นในเพจส่วนตัวว่า เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 เกิดขึ้นก่อนวันที่ไปสมัคร ส.ส. ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
ด้านสำนักข่าวอิศรา โต้กลับด้วยการตั้งข้อสังเกตต่อว่า หากธนาธรโอนหุ้นจริงตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม แล้วเหตุใดในการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 19 มีนาคม ถึงมีจำนวนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัคฯ เท่าเดิม คือ 10 คน ไม่ได้ลดลงเหลือ 5 คน ตามที่ปรากฎในเอกสาร บอจ.5 รวมถึงมีข้อสังเกตว่า ในวันที่ 8 มกราคม ธนาธรหาเสียงอยู่ที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ไม่น่าจะกลับมาทำเรื่องโอนหุ้นให้บุคคลอื่นๆ ได้ทัน
ต่อมา หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยังชี้แจงการโอนหุ้นของเขาและภรรยาไปให้กับมารดา โดยเขาได้โอนไปให้มารดาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ต่อมามารดาก็โอนไปให้หลาน 2 คน ก่อนที่หลาน 2 คนและบุคคลอื่นๆ อีก 3 คนจะร่วมกันโอนหุ้นคืนให้มารดา จนทำให้ผู้ถือหุ้น 10 คน เหลือเพียง 5 คน ตามที่ปรากฎใน บอจ.5
หลังจากนั้น ทีมกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงข้อสงสัย โดยมี รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลขาธิการพรรคพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้ชี้แจง พร้อมทั้งแสดงหลักฐาน การใช้บัตรทางด่วน easy pass เพื่อเดินทางกลับ กทม. ของธนาธร และรายละเอียดการโอนหุ้นให้หลายของ ‘สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ’
อย่างไรก็ดี หลังวิวาทะการโอนหุ้นในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีมติแจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินการสืบสวนและไต่สวนธนาธร ว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อชื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จริง และถือหุ้นเป็นจำนวน 675,000 หุ้น
แนวคิด ‘แยกนักการเมืองกับสื่อ’ เพื่อสร้างความอิสระในการตรวจสอบ
แนวคิดเรื่องแยกนักการเมืองกับสื่อออกจากกันที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 98 (3) ที่ระบุคุณสมบัติของส.ส.ว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ใจความค้ายกันนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งอยู่ในมาตรา 48 ที่ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้
โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์อย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ต้องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน จึงห้ามให้มีการแทรกแซงสื่อมวลชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม นำมาสู่การออกมาตรการห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน เพื่อให้สื่อเป็นอิสระ กล้าที่จะวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพราะสื่อมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐแล้วนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ
หากสื่อกับรัฐมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน สื่อก็จะเป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐที่ทำหน้าที่ในการรายงานข้อมูลข่าวสารอันจะก่อให้เกิดการส่งเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลให้ดีขึ้นเพียงด้านเดียว กลไกการตรวจสอบความจริงก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในการทำงานของสื่อ
อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวยังถูกท้าทายอยู่มาก เช่น ในมุมมองของ เถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีบลูสกาย แชนแนล เคยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ พรรคการเมืองต้องสื่อสารกับประชาชน ถ้าเขารู้สึกว่าสื่อกระแสหลักไม่ทำหน้าที่ให้ดี สื่อสารไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ เขาก็หาช่องทางใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน เมื่อประชาชนรู้สึกว่า สื่อกระแสหลักที่นำเสนอข้อมูลด้านเดียวมีมากเกินไปก็จะเสาะหาแหล่งข้อมูล คือ สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ
ด้าน จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้เคยถือหุ้น 1 หมื่นหุ้นของ Democracy News Network (DNN) ผู้ผลิตช่องเอเชีย อัพเดท ก็เห็นตรงกันว่า นักการเมืองควรมีสิทธิถือหุ้นและเป็นเจ้าของทีวีตราบใดที่ไม่ได้ไปพึ่งหรือเบียดเบียนภาษีของประชาชน แต่นักการเมืองและพรรคการเมืองก็สามารถทำรายงานรายรับรายจ่ายและจำนวนเงินที่ใช้ทำสื่อให้สังคมรับรู้ตรวจสอบได้
การปิดกั้นสื่อโดยรัฐ ‘เสรีภาพสื่อ’ ที่ไม่มีคนสนใจ
ย้อนกลับไปที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 อีกครั้ง จะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญของการกำหนดให้นักการเมืองแยกออกจากสื่อ ก็เพื่อให้สื่อมี ‘เสรีภาพ’ ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และประชาชนมีเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยไม่ถูกครอบงำ หรือ ปิดกั้น จากผู้ที่ถือครองอำนาจรัฐ
แต่สิ่งที่น่าสนใจในการจับประเด็นการถือครองหุ้นสื่อของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ไม่ได้พุ่งเป้าจากประเด็นเสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบ รวมถึงเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่เป็นอาการนิติศาสตร์นิยมล้นเกิน (hyper-legalism) อย่างที่ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เป็นอาการหยิบกฎหมายมาใช้แต่ไม่สนเจตนารมณ์ในการใช้กฎหมาย มีการอ้างกฎหมาย แต่ไม่เกิดความยุติธรรม
ในขณะเดียวกัน เรื่องเสรีภาพสื่อในยุคปัจจุบัน ภายใต้รัฐบาลทหารที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับไม่ถูกสนใจ ทั้งที่เกือบ 5 ปี หลังการรัฐประหาร องค์กรฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพระบุว่า สถานการณ์เสรีภาพของสื่อไทย ‘ไม่เสรี’
จากการวบรวมของศูนย์ข้อมูลกฎหมาลและคดีเสรีภาพ องค์กรที่ติดตามเรื่องสถานการณ์เสรีภาพสื่อ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 – 22 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า มีการออกมติให้ลงโทษสื่อมวลชนจากการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมือง อย่างน้อย 59 ครั้ง โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศและคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 97 และ 103/2557 รวมถึงบันทึกข้อตกลงระหว่างสื่อและกสทช. และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
อีกทั้งในช่วง 2-3 เดือนก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีการแทรงแซงสื่อในการนำเสนอข่าวสารต่อสาธารณชนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ได้แก่ การปิดวอยซ์ ทีวี หลังวิจารณ์การเลือกตั้งภายใต้คสช. การงดขายนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ เนื้อหาแคนดิเดตนายกฯ ไทยรักษาชาติ และปลดพิธีกรรายการดีเบตเลือกตั้ง เหตุตั้งคำถามชี้นำให้โจมตีรัฐบาล
แต่ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ก็ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดย กกต. ผู้ซึ่งต้องทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งอย่าง ‘เสรีและเป็นธรรม’ เลย ในทางตรงกันข้าม กกต. กลับพุ่งเป้ามาให้ความสนใจตรวจสอบอิทธิพลของนักการเมืองที่มีต่อบริษัทสื่อที่ปิดตัวลงไปแล้ว
Tags: วี-ลัค มีเดีย, หุ้นสื่อ, กกต., ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ธนาธร, หุ้นวี-ลัค