สมัยก่อน นักศึกษาเข้าใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มักจะมีโอกาสได้ชมวิดีโอเหตุการณ์สำคัญในอดีต อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โศกนาฏกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นบริเวณมหาวิทยาลัย ผ่านกิจกรรมชมรมหรือกิจกรรมไม่เป็นทางการต่างๆ
ส่วน 12 ปีให้หลังมานี้ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ที่มหาวิทยาลัยได้จัดงานปฐมนิเทศนักศึกษาแบบแสงสีเสียง ทุกๆ ปีจะมีละครการเมืองบอกเล่าประวัติมหาวิทยาลัย รวมถึงมีงิ้วการเมือง ที่ปัจจุบันดำเนินการโดยคณะสังคมสงเคราะห์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีงานแสดงแสงสีเสียง ละครและงิ้วการเมืองกลางสนามฟุตบอลที่ท่าพระจันทร์ เพื่อต้อนรับนักศึกษาเข้าใหม่
ในส่วนของละครการเมืองนี้มีเนื้อหาอยู่ 3 องก์ องก์แรกเล่าถึงยุคสมัยก่อตั้งมหาวิทยาลัย องก์ที่สองเล่าถึงวิกฤตการเมืองที่ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ และองก์สุดท้ายจะเป็นเนื้อหาที่เปลี่ยนไปทุกปี เพราะจะจับแก่นสำคัญของการเมืองไทยในช่วงนั้นเข้ามาเป็นเนื้อหาหลัก ระหว่างองก์สองและสามและแทรกด้วยงิ้วการเมืองที่วิพากษ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
แม้เนื้อหาในแต่ละปีจะปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ทั้งหมดแยกไม่ออกจากเรื่องการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับที่มาที่ไปของมหาวิทยาลัย ที่ชื่อเดิมสมัยก่อตั้งคือ ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ รวมถึงคำขวัญที่คนท่องกันเสมอว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”
ความน่าสนใจในบทละครการเมืองนี้ซึ่งเขียนขึ้นโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล อยู่ที่วิธีการเลือกและวิธีการเล่าเหตุการณ์สำคัญในอดีต ที่ต้องยอมรับว่า การบอกเล่าประวัติศาสตร์ไม่สามารถใช้ข้อเท็จจริงล้วน แต่ย่อมต้องอาศัยมุมมอง การตีความ ความน่าสนใจยังรวมไปถึงปฏิกิริยาของคนดูว่ามีการแสดงออกว่าอินกับเนื้อหาในช่วงใดบ้าง
สำหรับนักศึกษาใหม่ที่นั่งชมอยู่กลางสนามฟุตบอลในค่ำคืนนั้น เป็นโอกาสดีที่ได้ดูเรื่องย่อการเมืองไทย เชื่อแน่ว่าขณะที่นักศึกษาบางส่วนเมื่อดูแล้วอาจจะอินไปกับละคร แต่มีอีกจำนวนหนึ่งที่ดูแล้วตามไม่ทันหรือไม่เข้าใจ ขณะเดียวกัน ด้วยความอัดแน่นของประวัติศาสตร์ 80 กว่าปีให้ลงเหลือ 2 ชั่วโมง ก็มีข้อจำกัดของการเล่าอยู่บ้าง เราลองมาสรุปรวบเนื้อหาทั้งหมดกันอีกครั้ง
องก์ 1 กำเนิด ‘ประชาธิปไตย’ และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
องก์ 1 เปิดฉากที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในปี 2470 โดยมีคณะราษฎร ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษาไทยเจ็ดคนจากหลายประเทศในยุโรป สองในเจ็ดคนนั้นคือ นายปรีดี พนมยงค์ และ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ (ที่ต่อมารู้จักกันในนาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ทั้งเจ็ดคนแสดงความมุ่งมั่นว่าจะกลับเมืองไทยมาเปลี่ยนแปลงสยามประเทศให้มีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และอยู่ดีกินดี ให้ประเทศไทยเป็นดังประเทศยุโรปที่เจริญแล้ว และจะต้องมีการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ
ห้าปีให้หลัง คณะราษฎรก็กระทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 27 มิถุนายน 2475
ต่อมาสามปีให้หลัง นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็เลือกให้วันที่ 27 มิถุนายน 2477 เป็นวันก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง’
องก์แรกนี้ช่วยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนสองคน คือ ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันว่าจะมุ่งเปลี่ยนระบอบการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่เน้นย้ำว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร สกรีนบนจอเวทีขึ้นอักษรตัวใหญ่ เป็นข้อความมาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับแรก ว่า “มาตรา ๑ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
ด้วยอุดมการณ์ตั้งต้นแบบเดียวกันแต่แนวทางแตกต่าง ในเวลาต่อมา ทั้งปรีดีและจอมพล ป. ดูจะเป็นทั้งมิตรและศัตรูทางการเมืองไปในคราวเดียวกัน และต่างก็เจอภัยการเมืองจนไม่อาจกลับสู่ประเทศไทยได้อีก
องก์ 2 ประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ คือประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย
ละครองก์สอง ปูพื้นให้เห็นว่า เมื่อเข้าสู่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กับ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ 8 มีแนวทางที่ต่างกันชัดเจน
จอมพล ป.ตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับฝ่ายญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ด้านปรีดี ก็ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย โดยใช้ตึกโดมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการลับ โดยมีนักศึกษาที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ลอนดอน คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติหน้าที่
อย่างที่เรารับรู้กันในการเรียนประวัติศาสตร์ไทย เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยจึงอ้างได้อย่างภาคภูมิใจว่า ที่แท้แล้วยังมีขบวนการเสรีไทยที่เป็นกลุ่มสนับสนุนลับๆ ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่ ทำให้ไทยรอดพ้นจากสถานะประเทศแพ้สงคราม และนั่นเป็นบทบาทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภาคภูมิใจ
ต่อมา ปรีดีได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ละครในช่วงนี้เล่าถึงจดหมายที่จอมพล ป. เขียนถึงปรีดีเพื่อชี้แจงว่า เขาไม่เคยมีส่วนในการกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ “เวลานี้หรือต่อไปผมเข็ด ผมขอเป็นชาวไร่ชาวนาดีกว่า ผมเข็ดแล้ว” และขอความช่วยเหลือไม่ให้ถูกจับกุมในฐานะอาชญากรสงคราม
ด้วยชั้นเชิงแบบนักกฎหมาย ละครเล่าถึงปรีดีที่มีความคิดจะช่วยเพื่อนว่า หากไม่ทำอะไร จอมพล ป. ก็จะถูกอังกฤษจับกุมขึ้นศาลอาชญากรสงคราม ทำให้ปรีดีตัดสินใจชิงออกพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเพื่อดำเนินคดีกับจอมพล ป. โดยละครอธิบายว่า การออกกฎหมายลักษณะนี้จะไม่มีผลร้ายต่อจอมพล ป. เพราะหลักกฎหมายย่อมไม่มีผลย้อนหลัง นี่จึงเป็นการออกกฎหมายเพื่อจับกุมจอมพล ป. เพราะคาดการณ์ไว้แล้วว่า ศาลจะสั่งให้กฎหมายนี้เป็นโมฆะ แล้วยกฟ้องจอมพล ป. ในท้ายที่สุด
ต่อมา เมื่อเกิดกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ปรีดีถูกใส่ร้ายว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง และทำให้เกิดการทำรัฐประหารในปี 2490 ครั้งนั้น ปรีดีลี้ภัยออกจากเมืองไทยและไม่ได้กลับเมืองไทยอีกเลย จากนั้น จอมพล ป. ก็กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
จากนั้นก็เข้าสู่ยุคสมัยที่ทหารพยายามกำราบให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ฯ เลิกยุ่งกับการเมือง โดยในปี 2495 จอมพล ป. กวาดล้างฝ่ายตรงข้ามและกำจัดศัตรูทางการเมือง จับกุมครอบครัวปรีดี และลบชื่อผู้นำนักศึกษาออกจากทะเบียน จอมพล ป. ยังดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตอนนี้เองที่มีการเปลี่ยนชื่อจาก ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า University of Moral and Political Sciences โดยตัดคำว่าการเมืองและคำว่า Moral ออก ให้เหลือเพียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ Thammasat University
แม้สถานการณ์ตึงเครียด แต่ละครพยายามสะท้อนภาพสองผู้นำอดีตคณะราษฎรว่าที่แท้แล้วก็เป็นเพื่อนกัน ฉากหนึ่งของละครเล่าถึงเหตุการณ์ที่จอมพล ป. เพิ่งค้นพบอย่างบริสุทธิ์ใจว่า ที่แท้แล้วปรีดีไม่ได้อยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคต และมีแผนจะรื้อฟืนคดีขึ้นมาใหม่ แต่ไม่ทันไรก็เกิดการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 ทำให้จอมพล ป. ต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่น และเสียชีวิตที่นั่น
เมื่อยึดอำนาจแล้ว จอมพลสฤษดิ์ก็เข้ามารับตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย และตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดี เวลานั้นเป็นยุคสมัยจำกัดเสรีภาพนักศึกษา ตามที่เรียกกันว่าเป็นยุคสายลมแสงแดด ที่กิจกรรมมหาวิทยาลัยมีแต่งานรื่นเริง เช่น ประกวดดาวเดือน และฟุตบอลประเพณี ในฉากนี้ ละครนำเสนอภาพนักศึกษาในงานราตรีที่แต่งตัวงามโก้ ผ่านบทกวีเสียดสีที่ดัดแปลงจาก “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ของ สุจิตต์ วงศ์เทศ ที่นักศึกษาเสพความฟุ้งเฟ้อจากสถานะปัญญาชนที่สูงส่งกว่าคนรากหญ้า และอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งการหลับใหลของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่กินเวลานานสิบปี ก่อนจะตามด้วยภาพแทนความรู้สึกของนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่กลัดกลุ้มใจกับสภาพสังคมที่มีอยู่ ผ่านบทกวี “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของวิทยากร เชียงกูร ในปี 2511 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนจากยุคสายลมแสงแดด ไปสู่ยุคแสวงหา ที่นักศึกษาเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับคุณค่าของชีวิต
จากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตามด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับบรรยากาศที่นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และมีกลุ่มพลังมวลชน เช่น กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล ที่ต่อต้านนักศึกษาด้วยวิธีการรุนแรง อธิการบดีในขณะนั้น ซึ่งคือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่สหราชอาณาจักร ส่วนทหารก็บุกมหาวิทยาลัยแล้วปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาด้วยอาวุธครบมือ จนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยต้องหนีเข้าป่า
การยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ในปี 2534 พลเอกสุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งที่ตัวเองกลับมาสืบทอดอำนาจ วงจรอุบาทว์นี้นำไปสู่การออกมาชุมนุมกันที่ลานโพธิ์ ก่อนจะขยายตัวไปที่ สนามหลวง ราชดำเนิน และรัฐสภา ทหารเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 44 คน จนสุดท้าย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรียกพลเอกสุจินดาและพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า เพื่อร้องขอให้ยุติความขัดแย้ง ก่อนที่พลเอกสุจินดาจะลาออกจากตำแหน่ง
องก์ 3 ขอเธอสืบสานจิตวิญญาณธรรม
บรรยากาศประชาธิปไตยดูเหมือนค่อยๆ เติบโตเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วม จากนั้น เนื้อหาละครส่วนนี้แจกแจงว่าการเมืองไทยเกิดความขัดแย้ง โดยมีจุดเริ่มจากปมเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการคอร์รัปชันของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมสูง ทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมใหญ่คัดค้านต่อเนื่อง กระทั่งเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายน 2549 และฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนทิ้ง แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แทน แต่เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งหลัง พรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบพรรคและตั้งใหม่ในชื่อพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ก็ยังคงได้รับเสียงข้างมากตามเดิม
ละครนับจากฉากนี้ เล่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยอย่างย่นย่อ กล่าวสรุปรวบเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 การบุกยึดสถานที่ราชการและสนามบินของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คำสั่งยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ การชุมนุมของ นปช.ที่สี่แยกราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม 2553 ที่มีผู้เสียชีวิต 98 คน การเข้าสู่ตำแหน่งของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การออกกฎหมายนิรโทษกรรม การชุมนุมของ กปปส. ก่อนจะจบลงที่การยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557
ละครกล่าวถึงอาขยานของทั้งสองฝ่าย เช่นมีภาพแทนของทหารที่ออกมาพูดว่า ประชาธิปไตยคือพวกมากลากไป หรือถ้าอยากได้เสรีภาพและประชาธิปไตยก็ต้องปกครองตัวเองกันให้ได้ “อย่าต้องให้ทหารมาแก้ไขให้” ส่วนอีกฝ่าย ก็ย้ำเรื่องธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชนและเรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมกำกับว่าอย่าเลื่อนโรดแมปอีก
ช่วงท้าย มีการปลุกใจนักศึกษาว่า ประวัติศาสตร์หน้าต่อไปเป็นของชาวธรรมศาสตร์รุ่นใหม่ และแซวสถาบันตัวเองว่า สนามหญ้าซึ่งเป็นสนามบอลที่มีตำนานขับขานประชาธิปไตย วันนี้ ‘ไม่ล้อมรั้วใส่ปุ๋ย’ แล้ว
งิ้วการเมือง 2018 คสช. เป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน
งิ้วการเมืองในปีนี้ เลือกใช้ตัวละคร 4 ตัว สีเขียวแทนพลเอกนายกรัฐมนตรี สีแดงแทนนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม สีม่วงแทนกลุ่มนักเคลื่อนไหวและประชาชน และงิ้วสีขาวที่รับบทเหมือนผู้สรุป
ไดอะล็อกของงิ้ว ย้ำซ้ำๆ ไปที่เรื่องโรดแมปที่ถูกเลื่อนออกไป จึงทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนไปอีก ความล้มเหลวของกระบวนการตรวจสอบและยุติธรรม ที่แม้แต่คดีดังที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างเรื่องคดีเสือดำและคดีนาฬิกาเพื่อนก็ยังไม่ได้สามารถลงโทษผู้ที่กระทำผิดได้ และยังสะท้อนความกังวลของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะทำให้การยึดอำนาจยืดเยื้อออกไป รวมถึงการใช้อำนาจไม่มีจำกัดของมาตรา 44
ตัวละครสีขาวออกมากล่าวปิดท้ายว่า ผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว 27 ครั้ง รัฐประหาร 13 ครั้ง แต่สังคมไทยก็ยังไม่เจอทางออก
ยังไม่นับว่า ก่อนหน้านี้ การวิจารณ์นักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ยังเป็นพื้นที่ที่จำเป็นต้องละไว้เพื่อเห็นแก่ความเห็นต่าง และปีก่อนหน้านี้ ท่าทีของการเปิดรับการรัฐประหารและการให้เวลาทหารเข้ามาแก้วิกฤต ยังเป็นเรื่องที่พูดได้ทั่วไป แต่ที่ต่างออกไปในงิ้วการเมืองครั้งนี้ คือการมอง คสช. ว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน อีกทั้งเรื่องราวถูกแสดงออกมา ท่ามกลางเสียงหัวเราะอย่างครึกครื้นของผู้ชมนักศึกษาที่ดังขึ้นและมีส่วนร่วมไปกับงิ้วอย่างต่อเนื่อง
ผู้ร้ายและพระเอกในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน
ขณะที่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของอำนาจ วิธีการมองเรื่องราวในอดีตที่ไม่ได้มาจากข้อเท็จจริงล้วน แต่ย่อมมีความเห็นเจือปน เราจึงไม่เคยมีโอกาสรู้เลยว่าเราเข้าใจการเมืองในอดีตแค่ไหน เพราะข้อมูลที่มีไม่เคยครบถ้วน
สิ่งที่เล่าได้ไม่ครบ และจำเป็นต้องให้คนดูไปตั้งคำถามต่อเอง ก็เช่น ในวงจรอุบาทว์ว่าด้วยการยึดอำนาจของทหาร อะไรคือแรงจูงใจที่แท้จริง เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มอำนาจต่างๆ คืออะไร เหตุผลในการต่อต้านทักษิณของกลุ่มนักศึกษาที่มาตั้งโต๊ะล่าชื่อที่ธรรมศาสตร์กับเหตุผลของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเรื่องเดียวกันไหม ฯลฯ
การเล่าเรื่องการเมืองในยุคอินเทอร์เน็ตและกระแสโลกที่เริ่มหันขวา ก็ทำให้มุมมองและหลักการที่มีต่อการเมืองเปลี่ยนไปอยู่บ้าง คือ การเล่าเรื่องการเมืองไทยในระยะ 10 ปีมานี้ ไม่สามารถหาตัวร้ายแบบในยุคก่อน ไม่เหมือนเหตุการณ์เดือนตุลา และพฤษภา 2535 ที่สังคมไทยผ่านกระบวนการปฏิรูปการเมืองจนพอจะย้อนไปให้ตั้งแง่ต่ออำนาจเผด็จการทหาร แต่การเมืองไทยปัจจุบัน กระทั่งการใช้ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน ก็ยังไม่สากลพอจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องต้องประณาม
เรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับป๋วยและปรีดีอาจถูกบอกเล่าซ้ำในภาพแทนของคนดีศรีสังคม จนไม่ค่อยมีพื้นที่ของการวิพากษ์ เช่น วิธีศรีธนญชัยในการออกกฎหมายของปรีดี และเราอาจต้องใช้เวลาที่นานกว่านี้เพื่อที่จะบอกเล่าถึงตัวละครอย่าง สุรพล นิติไกรพจน์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีของธรรมศาสตร์ ฯลฯ ที่ไปเข้าร่วมเป็นมันสมองให้กับคณะรัฐประหารชุดต่างๆ และเรื่องราวของ สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างการปกครองที่สถาบันกษัตริย์มีบทบาท จนถูกดำเนินคดีความ และต้องลี้ภัยไปปารีสเมื่อเกิดรัฐประหารปี 2557 รวมถึงนักศึกษาและนักกิจกรรมอย่าง อั้ม เนโกะ ที่มักแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ดุดัน ที่ปัจจุบันก็ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศเช่นกัน
เสรีภาพทุกตารางนิ้วในปี 2514 และยาฆ่าหญ้าในปี 2561
ธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ยังมีอุดมการณ์เดียวกันกับในอดีตหรือไม่
ละครตอกย้ำอุดมการณ์เดิมของธรรมศาสตร์เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม โดยเล่าผ่านยุคที่ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย ในปี 2514 ก็มีคำสั่งจากทหารภายใต้อำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ยึดอำนาจเข้ามาสั่งห้ามนักศึกษาเคลื่อนไหวและเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งสัญญาตอบกลับไปว่า ธรรมศาสตร์จะไม่จำกัดเสรีภาพของนักศึกษาในการแสดงออกทางการเมือง เพราะ “ในธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว”
หลังจากนั้น นักศึกษา อาทิ ธีรยุทธ บุญมี เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฯลฯ ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ นักศึกษาจากต่างมหาวิทยาลัยก็มาเข้าร่วมด้วยรวมกันนับแสนคน จนต้องย้ายที่ชุมนุมจากลานโพธิ์ไปสู่สนามบอล จนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เจ้าหน้าที่ทหารเข้าสลายการชุมนุม การต่อสู้ครั้งนั้นลงเอยที่จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งแล้วออกนอกประเทศไทย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้สัญญา ธรรมศักดิ์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี นั่นคือความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มวลชนได้ชัยชนะ
ในด้านของผู้บริหารมหาวิทยาลัยยุคปัจจุบัน ละครก็วิจารณ์ตนเองด้วยการสอดแทรกสถานการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อพฤษภาคม 2561 ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวนัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่า พื้นที่สนามบอลกลับปักป้ายไว้ว่าเพิ่งมีการใส่ยาฆ่าหญ้า ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าไปรวมตัวกันโดยใช้พื้นที่สนามบอลได้
อย่างไรก็ดี งานนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกวิจารณ์อย่างมาก และละครเองก็แซวตัวเองในเรื่องนี้ด้วยว่า จะไม่มีธรรมศาสตร์ที่ ‘ล้อมรั้วใส่ปุ๋ย’ รวมถึงยังย้ำแก้เก้อด้วยว่า ธรรมศาสตร์ไม่ได้ใจร้าย เพราะในวันชุมนุมที่มีการปิดกั้นประตูรั้ว แล้วผู้ชุมนุมลักลอบตัดกุญแจประตูรั้วมหาวิทยาลัย แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ประกาศจุดยืนไม่คิดฟ้องร้องผู้ชุมนุม
อย่างไรก็ดี การปลูกฝังค่านิยม ‘สายลมแสงแดด’ ในกลุ่มนักศึกษารวมถึงอาจารย์ที่ยังหลงเหลือมาจนปัจจุบัน ก็มีผลต่อการตีความประโยคที่ว่า “ธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน” ในแบบที่ต่างกันไป
สำหรับละครการเมืองปี 2018 นี้ สิ่งที่เน้นย้ำในงานคือ เผด็จการที่อยู่ยาวนั้นเป็นปัญหา แต่การจะแสวงหาบทวิเคราะห์ที่ตรงไปตรงมาและหาทางออกของวิกฤตในแต่ละยุคสมัย ก็ยังถือเป็นแง่มุมที่ท้าทายที่หวังให้นักศึกษาและนักเคลื่อนไหว ต้องช่วยกันดันเพดานของข้อจำกัดให้ขยับเส้นออกไปให้ได้มากขึ้นกว่านี้
Tags: เปลี่ยนแปลงการปกครอง, ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ประชาธิปไตย, คณะราษฎร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปฏิวัติ 2475, การเมืองการปกครอง, ประวัติศาสตร์การเมือง