1.

ถึงแม้ว่าศิลปิน Tennis หรือคู่สามีภรรยาเอไลนา มัวร์ (Alaina Moore) และแพทริค ไรลีย์ (Patrick Riley) จะเพิ่งออกอัลบัม ‘Yours Conditionally’ ไปเมื่อเดือนมีนาคมปี 2017 ผ่านไปไม่ถึงปีพวกเขาก็ยังออกอัลบัม EP ‘We Can Die Happy’ เป็นมรณะสติส่งท้ายปีที่ผ่านมา ให้ทุกคนพึงระลึกถึงทุกโมงยามว่าชีวิตนั้นแสนสั้นกว่าที่คิด ในน้ำเสียงและทำนองหวานๆ คล้ายลูกอมเคลือบน้ำตาลแต่สอดแทรกข้อคิดรสขมขื่น

เอไลนาและแพทริกพบกันครั้งแรกในวิชาปรัชญา ขณะเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโดในเมืองเดนเวอร์ พวกเขาสนิทกันแบบจะทันทีทันใดเพราะต่างก็รักในปรัชญาและการผจญภัย แต่กว่าทั้งคู่จะเริ่มเล่นดนตรีด้วยกันก็หลังจากที่คบหากันหลายปี หลังจากที่เธอพบกีตาร์ของเขาเก็บซุกไว้ในตู้เสื้อผ้า ซึ่งเอไลนาเคยให้สัมภาษณ์แบบติดตลกว่า ชายหนุ่มที่เธอเคยคบก็มีกีตาร์ในตู้เสื้อผ้ากันทั้งนั้น แล้วเธอก็ไม่อยากได้ยินใครเล่น ‘Satellite’ ของเดฟ แมทธิวส์ให้ฟังอีกแล้ว (เพลงเบสิกที่หนุ่มกีตาร์มักจะเล่นให้สาวฟัง: บรรณาธิการ) ดังนั้นเธอเลยไม่เคยขอให้เขาเล่นกีตาร์ให้ฟัง จนกระทั่งช่วงชีวิตที่ออกไปล่องเรือ ถึงได้รู้ว่าต่างคนต่างก็หลงใหลในดนตรีกันมากแค่ไหน

ด้วยความฝันของแพทริกที่อยากเป็นกะลาสีและความปรารถนาถึงความเรียบง่าย รวมถึงการเป็นนายตัวเองระหว่างอยู่บนเรือ ทั้งคู่ขายทุกอย่างที่มีในเดนเวอร์เพื่อซื้อเรือใบเก่าๆ ในนาม Cape Dory และล่องเรือไปตามชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ประสบการณ์และความรู้สึกที่สั่งสมระหว่างการล่องเรือทำให้พวกเขาอยากทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับมัน โดยเฉพาะค่ำคืนหนึ่งระหว่างทั้งคู่ขึ้นฝั่งเพื่อแวะบาร์แห่งหนึ่ง เพลง ‘Baby It’s You’ ของ The Shirelles ก็ดังขึ้น พวกเขารู้สึกทึ่งกับวิธีที่เพลงถูกบันทึกและมิกซ์เสียงออกมา อุปกรณ์ดนตรีแต่ละอย่างในเพลงล้วนมีคุณลักษณะเฉพาะของมัน เอไลนาถามสามีของเธอว่าทำไมในสมัยนี้ถึงไม่มีใครทำเพลงที่สวยงามแบบนี้อีกแล้ว เขาตอบว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เราน่าจะลองทำกันดูสักตั้ง และนั่นจึงเป็นช่วงเวลาที่คณะ Tennis ถือกำเนิดขึ้น

พวกเขากลับมาทำเพลงชื่อ ‘Baltimore’ และโพสต์ลงบล็อกเพื่อแบ่งกันฟังระหว่างเพื่อนๆ ด้วยเนื้อหาเหยียดเย้ยชีวิตน่าเบื่อบนบกอย่าง “เราคว้ามันมาได้สิ เราทำมันได้สิ ถนนพวกนี้มันไม่โหดเท่าท้องทะเลหรอกน่า เมืองบัลติมอร์ หลุมบ่อขรุขระของเธอน่ะทำให้ฉันเบื่อ ไม่เห็นรึไงว่าตัวเองทำตัวน่าเศร้าแค่ไหน” (We can take it; we can make it / These streets can’t be tougher than the sea / Baltimore your potholes bore me / Can’t you see you’re acting poorly) และเมื่อเพลงนี้ขยายออกไปในวงกว้าง พวกเขาได้รับการติดต่อเซ็นสัญญาให้ออกอัลบัมทันที และประสบการณ์กับความประทับใจต่อชีวิตบนเรือ ทะเล แดด และสายลม ก็ได้กลายเป็นอัลบัมแรกของพวกเขา ‘Cape Dory’ ในปี 2011

ในโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่— Tennis เรียกเพลงของพวกเขาว่าเป็นแนวป๊อปย้อนยุค (Vintage Pop) หยิบยืมสไตล์การผลิตและวิธีการร้องเพลงจากยุค 40s, 50s และ 60s มาเรียบเรียงและทำเป็นเพลงในแบบของพวกเขา Tennis ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า “วิธีการที่เราหยิบยืมอดีตมาใช้ เพราะอดีตได้พิสูจน์คุณค่าในตัวของมันเองเรียบร้อยแล้ว พวกเราให้ความเคารพอย่างสูงสุดต่อศิลปินทุกคนที่ยอมเสี่ยงต่อความล้มเหลว พ่ายแพ้ และกลายเป็นผู้เบิกทางสร้างสรรค์แนวดนตรีในเวลาต่อมา ฉันรู้สึกอิจฉาพวกเขาที่สามารถทำแบบนั้นได้”

2.

พวกเขาผ่านยุคแห่งความสดใส แกร่งกล้า ล่องลอยบนเรือใบกับสามอัลบัมแรก ‘Cape Dory’ (2011) ‘Young and Old’ (2012) และ ‘Ritual in Repeat’ (2015) ก่อนที่จะแล่นเรือเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงในอัลบัม ‘Yours Conditionally’ (2017) ที่มาพร้อมกับกลิ่นดนตรีโซลต้นยุค 70s มันเป็นผลงานที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่พวกเขากลับไปหาแรงบันดาลใจแรกเริ่มที่ตั้งวงขึ้นมา โดยใช้เวลาสิบวันในการบันทึกเสียงระหว่างล่องเรือจากซานดิเอโกไปตามอ่าวแคลิฟอร์เนีย

ผลลัพท์ออกมาดีเกินคาด พวกเขาผลิตอัลบัมที่แต่ละเพลงต่างมีจักรวาลเป็นของตัวเอง เอไลนาใช้เทคนิคการร้องที่หลากหลายในแต่ละเพลง และการเล่นกีตาร์ของแพทริกก็ดูโดดเด่นกว่าที่เคย ที่สำคัญเนื้อเพลงพวกเขาลุ่มลึกและเติบโตขึ้น อัลบั้มนี้ได้พูดถึงการปลอบประโลมปัดเป่าความทุกข์ของคนรักให้หายไปในเพลง ‘In the Morning I’ll be Better’ ตั้งคำถามถึงบทบาทที่สังคมมอบให้ผู้หญิงในเพลง ‘Ladies Don’t Play Guitar’ หรือเพลง ‘Modern Woman’ ที่เอไลนาตั้งใจเขียนถึงความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนที่เธอทำหล่นหายไปตามกาลเวลา

ทั้ง ‘Yours Conditionally’ และ ‘We Can Die Happy’ เป็นผลงานภายใต้ค่ายเพลงของพวกเขาเองในนาม Mutually Detrimental เอไลนาและแพทริกลงมือใส่ใจรายละเอียดทุกอย่าง ตั้งแต่แต่งเนื้อเพลง เล่นดนตรี รวมทั้งโปรดิวซ์อัลบั้มเองทั้งหมด หลังจากที่ได้เก็บเกี่ยวเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างร่วมงานกับโปรดิวเซอร์อย่างจิม เอโน (Jim Eno) จากคณะ Spoon หรือแพทริก คาร์นีย์ (Patrick Carney) จากคณะ The Black Keys รวมถึงริชาร์ด สวิฟต์ (Richard Swift) อดีตสมาชิกคณะ The Shins การออกมาทำดนตรีกันตามลำพังทำให้ทั้งสองรู้สึกเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง ทั้งคู่รู้สึกเชื่อมต่อกับผลงานซึ่งทำให้เพลงของพวกเขากลายเป็นสิ่งที่มีความรู้สึก มีตัวมีตนขึ้นมาจริง ๆ

อาจกล่าวได้ว่า ‘We Can Die Happy’ เป็นภาคต่อของ ‘Yours Conditionally’ บรรจุเพลงทั้งหมด 5 เพลง ความยาวเพียง 16 นาที พวกเขาพูดถึงความบอบบางของชีวิต เส้นบางๆ ระหว่างการมีชีวิตกับความตาย รวมถึงความพยายามอย่างไม่สิ้นสุดของศิลปินที่ต้องการพูดถึงสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ ทั้งความคิด ความรู้สึก และความเชื่อที่มี

3.

We Can Die Happy เริ่มต้นอัลบัมด้วยเพลง ‘No Exit’ มันเป็นเพลงที่ Tennis เคยทำค้างไว้และกลับมาปัดฝุ่นใหม่ ในตอนแรกมันเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อประกอบฉากเต้นรำแฝงเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตาในหนังสั้นเรื่องหนึ่ง โดยเอไลนาตั้งใจที่จะแต่งเพลงเต้นรำสำหรับคนที่ไม่ยอมรื่นเริงอะไรง่ายๆ ในชีวิต แต่ในท้ายที่สุดเพลงนั้นก็ไม่ได้ถูกนำเอาไปใช้ จนกระทั่งเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา พวกเขาติดอยู่ในสถานที่เล่นคอนเสิร์ตที่ตำรวจล็อคประตูปิดตายไว้จนถึงเวลาตีสี่ของวันรุ่งขึ้น หลังเกิดเหตุก่อการร้ายที่บริเวณสะพานลอนดอนและตลาดโบโรห์ พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นข้างนอกบ้าง นอกจากเห็นเงาผู้คนวิ่งไปตามท้องถนน และแสงไซเรนสีแดงจากรถตำรวจที่ฉายผ่านหน้าต่างเข้ามาในห้อง

หลังผ่านเหตุการณ์นั้น เอไลนาหยิบเพลงนี้ขึ้นมาทำใหม่ด้วยแรงกระทบทางอารมณ์อย่างฉับพลัน เธอเรียบเรียงเนื้อเพลงในเครื่องบินระหว่างกลับบ้าน และมันก็มีความหมายง่ายๆ แต่ทรงพลังตามตัวอักษร “เราอาจจะตายในคืนนี้ พระเจ้า ฉันรู้สึกว่ากำลังจะตาย” (We could die tonight / We could die tonight / Oh my god I feel like I’m dying / Die tonight, we could die tonight / Oh my god I feel like I’m dying)

ขณะที่อีกเพลงหนึ่ง ‘Born to be Needed’ หยิบยกความสดใสของเพลงป๊อปบับเบิลกัม (Bubblegum pop) หรือเพลงวัยรุ่นที่มีต้นกำเนิดในยุค 60s มันมีเมโลดี้ซ้ำไปมาชวนติดหู คอร์ดเพลงง่ายๆ ไม่ซับซ้อน จังหวะชวนขยับเท้าไปมา มักพูดเรื่องเกี่ยวกับรักโรแมนติก ความไร้เดียงสาของวัยเยาว์ หรือประสบการณ์ความสุขส่วนตัว เหมือนอย่างเพลง ‘Sugar, Sugar’ (1969) ของคณะ The Archies หรือเพลง ‘Yummy Yummy Yummy’ (1968) ของคณะ Ohio Express สำหรับ Tennis พวกเขากลับหยิบยืมส่วนประกอบของป๊อปบับเบิลกัมนั้นมาพูดถึงวัยรุ่นในทุกวันนี้ด้วยเนื้อหาที่แตกต่างออกไป คล้ายสิ่งที่คริสทีนในหนังเรื่อง Lady Bird พยายามบอกเล่าผ่านชีวิตสมัยมัธยมปลายย่างเข้ามหาวิทยาลัยของเธอ “ทำไมฉันต้องปฏิเสธตัวเองด้วย? ไม่เคยใส่ใจสุขภาพตัวเองด้วยซ้ำ แล้วชีวิตปกติธรรมดานั่นก็ทิ่มแทงฉันเหมือนมีดแหลมๆ” (Why should I deny myself? / Never really cared about my health / The simple kind of life / Cuts through me like a sharpened knife)

ส่วน ‘I Miss That Feeling’ เพลงป๊อปช้าอ้อยอิ่งที่ขึ้นต้นด้วยเสียงคีย์บอร์ดของเอไลนาและกีตาร์ของแพทริกสอดประสานกันไป หากฟังเผินๆ คล้ายเป็นเพลงของคนอยู่ในภวังค์รัก รู้สึกวูบวาบระคนเจ็บแปลบกลางช่องอก แต่ที่มาของมันชวนประทับใจกว่านั้น เอไลนาออกมาเผยว่าเมื่อตอนเด็กๆ เธอต้องเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Elektrokardiogram หรือ EKG) เป็นประจำทุกปี เพราะหมอไม่แน่ใจว่าเธอเป็นอะไรกันแน่ รู้แต่ว่าเธอมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ โตมาถึงรู้ว่าอาการเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของโรควิตกกังวล ต่อมาเมื่อถึงวันกำหนดที่อัลบัม We Can Die Happy ต้องเสร็จสมบูรณ์ เพลง I Miss That Feeling กลายเป็นปัญหาสำหรับทั้งสอง เพราะมันยังดูขาดๆ เกินๆ ไม่ปะติดปะต่อกับเพลงอื่นในอัลบัม จนเอไลนาเกิดอาการแพนิคขึ้นมา ระหว่างที่ใจสั่น มือและเท้าเย็น และเหงื่อโทรมกาย เธอหวนคิดไปว่าอาการวิตกกังวลเข้ากันกับเพลงนี้ และมันดูเป็นตัวของเธอเองดี เธอปรับเปลี่ยนคอร์ดเพลง ทำให้กลายเป็นเพลงโทนอ่อนหวานขึ้น และอุทิศเพลงนี้ให้แก่โรควิตกกังวลของเธอ แทนที่จะติเตียนหรือปรักปรำความไม่ดีทั้งหลายของมัน

ท้ายที่สุด Tennis กลับมาเอ่ยถึงเรื่องใกล้ตัวที่สุดของพวกเขานั่นก็คือเรื่องการแต่งงาน จากมุมมองของผู้หญิงในเพลงเร็วสนุกสนานอย่าง ‘Diamond Ring’ อาจจะจริงอยู่ที่ความรักทำให้หัวใจเราพองโต วูบไหว และสั่นสะเทือน แต่ Tennis กลับมองอีกก้าวหนึ่งของความรักด้วยสายตาของคนวงใน การแต่งงานเป็นเรื่องเอาจริงเอาจังมากกว่านั้น มันกลับเป็นเรื่องของสัญญา เต็มไปด้วยสัญญะที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงระหว่างการเดินทางร่วมกันของคนสองคน “ฉันมองที่แหวนเพชรของเธอ แล้วประกายของมันก็สะท้อนหลายสิ่งหลายอย่าง และบอกกับฉันว่าความผิดพลาดมันเกิดขึ้นเร็วมาก” (I’ve been looking at your diamond rings / And reflecting on the things they tell me / That they move too quick to misbehave) แต่กระนั้นก็เป็นความรักที่ทำให้เรายินดีรับความเสี่ยงนั้น

เพลงสุดท้าย— อัลบัมนี้จะกลายเป็นอัลบัมแห่งมรณสติไปไม่ได้เลย หากไม่จบลงอย่างสมบูรณ์ด้วยเพลง ‘Building God’ เพลงช้าที่สุดในอัลบัมที่เต็มไปด้วยความอ่อนหวานที่สุดเท่าที่ Tennis เคยทำมา พวกเขาเข้าไปสำรวจความเชื่อเกี่ยวกับศาสนา แม้ทุกวันนี้เราจะมีทางเลือกเกี่ยวกับความเชื่อมากมาย แต่สุดท้ายมนุษย์ก็ยังไม่หยุดค้นหา สร้าง และตั้งคำถามถึงพระเจ้าหรือศาสดาของพวกเขา ดังนั้นในเมื่อมนุษย์ยังปรารถนาให้สังคมดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น ฝันถึงพื้นที่สักแห่งให้พวกเขา รวมถึงลูกหลานได้อาศัยอยู่ต่อไป แทนที่จะละทิ้งความเชื่อไปที่เหมือนคนรุ่นใหม่ถือปฏิบัติ Tennis กลับหวังว่าความเชื่อหรือศาสนาจะยังสามารถเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เพื่อที่จะดำรงอยู่ในสังคมที่นับวันจะทวีความโหดร้ายขึ้นเรื่อยๆ “อย่างที่ฉันพูดขณะที่มือสั่นเทา ประสานมือในมื้อเย็น ฉันเปลี่ยนมันได้ ฉันเปลี่ยนมันได้ ขอให้ฉันเป็นอย่างที่ท่านต้องการเถิด มันโอเค” (As I said with hands that quiver / Gesturing over our dinner / I can change, I can change, I can change / Let me be what you need, it’s okay) และเอไลนาก็ร้องเพลงท่อนสุดท้ายซ้ำไปมาคล้ายคร่ำครวญร้องขอสิ่งที่หัวใจต้องการ “นั่นคือสิ่งที่หัวใจฉันเฝ้าหวัง” (What my heart is hoping for / What my heart is hoping for…)

4.

แม้อัลบัม EP นี้จะแสนสั้น แต่ก็เต็มไปด้วยฝีไม้ลายมือของคณะ Tennis ทั้งภาคดนตรีและเนื้อเพลงที่ไม่ด้อยไปกว่าอัลบัมเต็มที่ผ่านมา ช่วงเวลาสั้นๆ แต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพที่มีกับ ‘We Can Die Happy’ นี้กลับทำให้เรารู้สึกอบอุ่น ตกอยู่ในห้วงเวลาต้องมนตร์ และสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรที่แท้จริงจากเอไลนาและแพทริก เราได้เข้าไปใกล้ตัวศิลปินที่เผยความรู้สึกส่วนลึกอย่างที่เราอาจไม่เคยได้รับจากใครมาก่อน มันจะเป็นมินิอัลบัมเกี่ยวกับความตาย ชีวิต และความเชื่อที่จะอยู่เคียงข้างเราไปตลอดทั้งปี โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องการกำลังใจหรือคำปลอบโยนจากคนคุ้นเคยที่ไม่รู้จัก หรือแสงสว่างวิบวับจากโคมใบน้อยในคืนมืดมิด

อ้างอิง

Tennis, Husband And Wife Indie Rock Band, Talk Marriage, Music In Mile High City https://www.huffingtonpost.com/2012/04/13/tennis-husband-and-wife-i_n_1424738ม.html

Interview: Tennis http://thereader.com/music/interview-tennis-alaina-moore/ 

Tennis – We Can Die Happy https://genius.com/albums/Tennis/We-can-die-happy

Tennis: Philosophy Grads Find Success in Music https://clasalumni.ucdenver.edu/pinnacle/profiles-archive/tennis:_philosophy_grads_find_success_in_music

Tennis Plays For Little Kids While Prepping Third Album https://www.billboard.com/articles/news/6084865/tennis-new-album-haim-tour-frozen-patrick-carney-interview

Fact Box

  • เมื่อเร็วๆ นี้ Tennis ได้โพสต์รูปของพวกเขาริมทะเลใน Instagram (https://www.instagram.com/tennisinc) พร้อมคำอธิบายว่าพวกเขากำลังออกล่องเรือกันอีกครั้งเพื่อตามหาแรงบันดาลใจสำหรับอัลบัมต่อไป ซึ่งคุณสามารถติดตามการเดินทางครั้งก่อนเมื่อต้นปี 2017 ได้ที่ blog ของ Urban Outfitters http://blog.urbanoutfitters.com/blog/uo_music_tennis_at_sea
Tags: , , ,