เสียง เดินทางโดยการสั่นผ่านอนุภาคเล็กๆ ต่อเนื่องกัน เราได้ยินเสียงเพราะคลื่นเสียงสั่นผ่านมวลอากาศเข้ามาสู่หูของเรา

เสียงเดินทางได้เร็วกว่าและไกลกว่าเมื่ออยู่ใต้น้ำที่มีมวลอนุภาคอัดแน่นกว่าในอากาศ สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลจำนวนมากใช้วิธีการสื่อสารกันผ่านการส่งเสียงใต้น้ำ

ในปี 2009 มีภาพยนตร์โฆษณาเรื่องหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชม ในภาพยนตร์โฆษณานั้น นักดนตรีวงออร์เคสตราหอบหิ้วเครื่องดนตรีไปลงเรือเล็กเพื่อต่อไปยังแพลอยที่ตั้งเก้าอี้ไว้ พร้อมจัดให้บรรเลงดนตรีกันกลางทะเล เมื่อผู้อำนวยเพลงเริ่มให้จังหวะ วงออร์เคสตราวงนี้กลับบรรเลงดนตรีออกมาเป็นเสียงต่ำๆ สูงๆ สั้นๆ ยาวๆ ด้วยสำเนียงอันแปลกประหลาด

เสียงดนตรีถูกกระจายเสียงลงสู่ท้องทะเล ไม่นานนัก วาฬหลังค่อมก็โผกระโจนขึ้นเหนือพื้นน้ำ “…เมื่อมีการสื่อสาร ทุกสิ่งย่อมเป็นไปได้…” คือใจความหลักของโฆษณาจาก Optus บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจากประเทศออสเตรเลีย (ชมคลิปภาพยนตร์โฆษณาได้ตามลิงก์นี้)

แม้บริษัทผู้ผลิตโฆษณาชิ้นนี้มีที่ปรึกษาทางด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (Queensland) เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย แต่ก่อนหน้านี้ หนังสือ (และซีดี) เรื่อง Thousand-Mile Song : Whale Music in a Sea of Sound ผลงานการแต่งของ เดวิด โรเธนเบิร์ก (David Rothenberg) ที่ตีพิมพ์ในปี 2008 อันเป็นผลงานการศึกษาถึงเสียงร้อง (หรือบางครั้งเราเองที่เหมาเอาว่ามันเป็นเสียงดนตรี) ของวาฬ รวมถึงประสบการณ์ของเขาที่เคยบรรเลงดนตรีร่วมกันกับวาฬในท้องทะเลจริงๆ มาแล้ว

และนี่คือเรื่องจริงของการศึกษาถึง ‘เสียงร้อง’ หรือ ‘ดนตรีจากสารพัดสัตว์’

 

เดวิด โรเธนเบิร์ก ชาวอเมริกัน เป็นทั้งนักเขียน อาจารย์วิชาปรัชญาและวิชาดนตรี และเป็นนักดนตรีแจ๊สที่ชำนาญเครื่องเป่าหลากหลายชนิด รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานาชนิดสำหรับการบรรเลงดนตรีร่วมสมัยอย่างดนตรีแอมเบียนต์ (ambient music) ส่วนเครื่องดนตรีที่โรเธนเบิร์กหยิบมาบรรเลงเพื่อโต้ตอบกับสารพัดสัตว์ก็คือ คลาริเน็ต (Clarinet) นั่นเอง

นักดนตรี โรเธนเบิร์ก

ในฐานะนักดนตรี โรเธนเบิร์ก มีผลงานซีดีออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งในนามของตัวเองและร่วมกันกับนักดนตรีคนอื่นๆ หลายครั้ง การบันทึกเสียงดนตรีกระทำกันนอกห้องบันทึกเสียงเพื่อเก็บบรรยากาศของธรรมชาติ เสียงนก เสียงแมลง โดยรอบ แต่สิ่งที่แปลกประหลาดกว่าผลงานดนตรีของนักซาวนด์สเคปและแอมเบียนต์คนอื่นๆ คือ เดวิด โรเธนเบิร์ก ต้องการให้บรรดาสัตว์เหล่านั้นรับฟังเสียงดนตรีของเขาแล้วส่งเสียงโต้ตอบกลับมา โดยหวังว่านั่นจะเป็นการสื่อสารข้ามสายพันธุ์ โดยมีเสียงดนตรีเป็นสื่อระหว่างกันของมนุษย์กับสัตว์

นั่นทำให้นิยามของคำว่า ‘ดนตรี’ ในทัศนะของโรเธนเบิร์กแตกต่างจากที่เคยเป็นมา โรเธนเบิร์กเชื่อว่าดนตรีคือเสียงต่างๆ ที่นำมาเชื่อมต่อกัน และเป็นการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ ด้วยความหมายอันเฉพาะตัวในการแสดงออกนั้นๆ บรรดาสัตว์หลากหลายเผ่าพันธุ์ก็จะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันด้วยสุนทรียะที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน

เช่นนี้ เสียงนกร้องในบรรยากาศอันสดใสยามเช้านั้น จะจัดให้เป็น ‘ดนตรี’ ได้หรือไม่ นี่เป็นความท้าทายใหม่ที่นักวิชาการหลายฝ่ายต่างงุนงงกับแนวคิดที่ว่านี้ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์หลายสำนักมักเห็นว่า สัตว์ส่งเสียงร้องเพื่อเรียกหาเพศตรงข้าม และเพื่อปกป้องอาณาเขต แต่โรเธนเบิร์กยืนยันว่า นกส่งเสียงร้องมากกว่าเหตุผลสองข้อนั้น นกบางชนิดส่งเสียงร้องและแสดงออกซึ่งกิริยาท่าทางอันสนุกสนาน และถ้านั่นเป็นความเพลิดเพลิน เสียงร้องนั้นก็ควรถือได้ว่าเป็น ‘ดนตรี’ (?)

หนังสือสามเล่มของโรเธนเบิร์ก

โรเธนเบิร์กใช้เวลาเกือบสิบปีเขียนหนังสือสามเล่ม เป็นไตรภาคของดนตรีจากสรรพสัตว์ คือ Why Birds Sing : A Journey into the Mystery of Bird Song (2005)  ตามด้วย Thousand-Mile Song : Whale Music in a Sea of Sound (2008) และ Bug Music : How Insects Gave Us Rhythm and Noise (2013)

ทั้งสามเล่มเป็นผลงานการศึกษาเสียงร้องของ นก วาฬ และบรรดาแมลงต่างๆ ตั้งแต่อดีต ในฐานะความงามของธรรมชาติที่เป็นแรงบันดาลใจในบทกวี เป็นบทเพลงดนตรีคลาสสิก จนถึงปัจจุบันที่เสียงเหล่านี้ถูกบันทึก-ตัดต่อเป็นซาวด์เอฟเฟ็กต์ผสมผสานไปกับบทเพลง และมีการแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลเพื่อนำมาใช้เป็นเสียงดนตรีในบทเพลงร่วมสมัยโดยศิลปินต่างๆ มากมาย (รวมถึงซีดีเพลงอันเป็นการผสมผสานดนตรีแจ๊สเข้ากับสไตล์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และการแสดงสดร่วมกันกับสัตว์ชนิดนั้นๆ ประกอบการอ่านหนังสือทั้งสามเล่มด้วยเช่นกัน)

ย้อนกลับไปเมื่อ Why Birds Sing เริ่มวางแผงได้ไม่นาน สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษนำจับประเด็นในหนังสือเล่มนี้มาทำเป็นสารคดีที่ชื่อเดียวกัน ออกอากาศในปี 2007 รายการจับเอานักวิชาการทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์และฝ่ายศิลปศาสตร์มาถกเถียงกันถึงความเป็นดนตรีของบรรดาสัตว์

เมื่อต่างฝ่ายต่างมีสิ่งที่เป็นพื้นฐานหรือหลักฐานที่ต่างกัน ข้อสรุปสำคัญจึงไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ สารคดีความยาวประมาณ 75 นาทีเรื่องนี้นำเสนอหลากหลายประเด็น ตั้งแต่ลีลาท่าทางของตัวโรเธนเบิร์กเองที่ดูตลกขบขันเมื่อพยายามจะเล่นดนตรีให้นกทั้งหลายฟัง (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะบินหนีไป) ผู้คนอื่นๆ มากหน้าหลายตาที่มีความสามารถเลียนเสียงนกชนิดต่างๆ อย่างน่าทึ่ง และนกบางชนิด เช่น นก lyrebird ที่สามารถร้องเป็นเสียงเลื่อยยนต์และเสียงชัตเตอร์กล้องถ่ายภาพได้เหมือนจนน่าตกใจ หรือผลงานการบันทึกเสียงของนักเชลโลหญิงที่พยายามบรรเลงเพลงโต้ตอบกับนกไนติงเกลจริงๆ เมื่อกว่า 90 ปีที่ผ่านมา จนถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล บันทึก-ตัดต่อ-ปรับความถี่-วนลูป ให้เสียงมนุษย์กลายเป็นเสียงนกนานาชนิด

เสียงนกร้องในบรรยากาศอันสดใสยามเช้านั้น จะจัดให้เป็น ‘ดนตรี’ ได้หรือไม่

การตัดต่อบทสัมภาษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ที่ฟังดูมีหลักการและเหตุผลที่มากกว่า ทำให้ดูเหมือนว่า ประเด็น ‘ดนตรีที่มาจากสัตว์’ ตามที่โรเธนเบิร์กเชื่อมั่นนั้นดูเลื่อนลอยออกไปทุกๆ ที ก่อนสารคดีเรื่องนี้จะจบลง ประเด็นใหม่ก็แทรกขึ้นมา พร้อมกับเพลง ‘Close to You’ ของ The Carpenters ที่มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า ทำไมพวกนกมักโผล่มาเวลาที่มีคุณอยู่ (Why do birds suddenly appear? Every time you are near?) โดยสารคดีกล่าวถึงการศึกษาของ ศาสตราจารย์เอริช จาร์วิส (Erich Jarvis) แห่งภาควิชาประสาทชีววิทยา (Neurobiology) แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) สหรัฐอเมริกา เป็นที่มาของทฤษฎีที่เชื่อว่า นกจะหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) หรือที่เรารู้จักกันง่ายๆ ว่าสารแห่งความสุขเพิ่มมากขึ้นขณะที่กำลังส่งเสียงร้อง และสารโดพามีนนี้เองมีส่วนช่วยให้นกเกิดพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้สมองเพิ่มสารโดพามีนให้มากยิ่งขึ้น พฤติกรรมที่ว่าก็คือการส่งเสียงร้อง เช่นนี้เอง การส่งเสียงร้องจึงทำให้เกิดความสุขและความพึงพอใจ แล้วเราจะเรียกการส่งเสียงเพื่อความสุขและความพึงพอใจนี้ว่าอย่างไร ถ้าไม่ใช่ดนตรี

มีคลิปวิดีโอจาก TED-Ed ที่น่าสนใจมาก คือ ‘วาฬร้องเพลงอย่างไร – สเตฟานี ซาร์ดีลิส (Stephanie Sardelis)’ สามารถชมคลิปได้ที่นี่  คลิปนี้ให้คำอธิบายอย่างละเอียดถึงความรู้ความเข้าใจของมนุษย์เราต่อเสียงร้องของวาฬ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงร้องจากวาฬหลังค่อม (Humpback whale) ที่ปัจจุบันเราค้นพบแล้วว่ามี วลี (phase) รูปแบบ (form) และความต่อเนื่อง (pattern) ที่เป็นระเบียบ เสียงร้องที่ต่อเนื่องกันเหล่านี้มีศัพท์ทางดนตรีที่เรียกว่า ท่วงทำนอง (theme) วาฬหลังค่อมในแต่ละกลุ่ม (pod) จะมีท่วงทำนองเป็นของตนเอง อีกทั้งยังมีการเลียนแบบหรือหยิบยืมวิธีการเปล่งเสียงจากวาฬหลังค่อม pod อื่นๆ เพื่อสร้างความหลากหลาย (variation) ใน pod ของตนเองด้วยเช่นกัน

เดวิด โรเธนเบิร์ก เองก็ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะได้บรรเลงบทเพลงโต้ตอบกับวาฬหลากหลายชนิด การทดลองเริ่มอย่างง่ายๆ ที่สวนน้ำ The Shedd Aquarium ที่ชิคาโก เขาใช้เวลาสามวันในช่วงเช้าทดลองบรรเลงปี่คลาริเน็ตและกระจายเสียงลงในบ่อวาฬเบลูก้า

สองวันแรก วาฬเบลูก้ายังไม่ได้ส่งเสียงร้องออกมา จนวันที่สาม จึงได้เสียงร้องในระดับเสียง (ตัวโน้ต) และความยาวที่ใกล้เคียงกัน ของเสียงปี่คลาริเน็ตที่โรเธนเบิร์กเป่า กับเสียงร้องจากวาฬเบลูก้าตัวเมียตัวหนึ่งที่ตั้งท้องอยู่

แม้ไม่ได้มีเหตุผลและหลักการมากนักในการพิจารณาอย่างลึกซึ้งว่ากิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จทางด้านประสบการณ์ทางดนตรีมากน้อยขณะไหน แต่ในการโต้ตอบกันระหว่างผู้บรรเลงสองคน เมื่อคนหนึ่งบรรเลงโน้ตดนตรี ก็คงจะหวังได้ว่าอีกฝ่ายจะบรรเลงรับกันในระดับเสียง (pitch) ความยาวของโน้ต (metre) ในท่วงทำนองหรือลีลา (phase) ที่เท่าๆ กัน ซึ่งโรเธนเบิร์กเชื่อว่าเบลูก้าตัวนั้นสามารถทำได้

เดวิด โรเธนเบิร์ก

ต่อมา โรเธนเบิร์กจึงเริ่มทดลองกับวาฬเบลูก้าในถิ่นที่อยู่จริงในทะเล ณ เกาะ Myagostrov แทบทะเล White Sea ประเทศรัสเซีย โดยตั้งเครื่องเสียงทั้งหลายอยู่ริมผาและโยงสายลำโพงและไมโครโฟนใต้น้ำลงสู่ท้องทะเล (สามารถชมคลิปได้ที่นี่) จากคลิปดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โรเธนเบิร์กใช้เวลา 3-4 วัน เรียกร้องความสนใจจากวาฬในถิ่นที่อยู่ให้มาสนใจและเข้ามาใกล้ (จนสามารถเกิดการปฏิสัมพันธ์กันด้วยเสียง)

โรเธนเบิร์กทดลองเช่นนี้กับวาฬเพชฌฆาตที่ว่ายเข้ามาในร่องน้ำที่ช่องแคบจอห์นสโตน บริเวณเกาะแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา Pod A1 คือฝูงของวาฬเพชฌฆาตที่จะเข้ามาในร่องน้ำนี้เป็นประจำในช่วงฤดูร้อนของทุกปี โรเธนเบิร์กร่วมงานกับนักดนตรีและผู้ประพันธ์เพลงอีกคนที่ชื่อ จิม โนล์แมน (Jim Nollman) ซึ่งพยายามบรรเลงดนตรีโต้ตอบกับวาฬเพชฌฆาตฝูงนี้ (ความจริง ทั้งโรเธนเบิร์กและโนล์แมนทำงานทั้งเขียนหนังสือ บันทึกเสียง และแต่งดนตรี ที่แทบจะเหมือนกัน ทั้งคู่จึงเป็นเหมือนคู่กัดกันเสียมากกว่าที่จะเป็นเพื่อนร่วมงาน แม้ทั้งสองคนจะอยู่บนเรือลำเดียวกันก็ตาม)

เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่ที่จะสามารถพบวาฬฝูงนี้ได้เป็นประจำ ทั้งนักท่องเที่ยวและนักวิทยาศาสตร์ต่างก็คุ้นเคยกับวาฬเพชฌฆาตเป็นอย่างดี ทุกตัวมีรหัสและมีการบันทึกเสียงไว้เพื่อการศึกษา และทำให้รู้ได้ว่า วาฬฝูงนี้ก็มีเอกลักษณ์ในการส่งเสียงเฉพาะกลุ่มด้วยเช่นกัน

เดวิด โรเธนเบิร์ก ยังสนใจความเป็นไปได้ ที่สิ่งมีชีวิตสองสายพันธุ์จะสื่อสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน ด้วยคุณสมบัติของเสียงหรือดนตรี

ก้าวสำคัญของโรเธนเบิร์กก็คือ การได้บรรเลงดนตรีกับวาฬหลังค่อมที่เค้าเองได้ทำกับวาฬที่เกาะเมาวี (Maui) มลรัฐฮาวาย (ชมคลิปได้ที่นี่) วาฬหลังค่อมเปรียบได้กับนักร้องเสียงเทเนอร์แห่งท้องทะเล การได้ประชันกับวาฬหลังค่อมประดุจดั่งได้ร่วมร้องไปกับ ปาวารอตตีแห่งมหาสมุทร (ลูชาโน ปาวารอตตี – นักร้องโอเปราชื่อดังชาวอิตาลี)

โรเธนเบิร์กเองก็มิอาจปฏิเสธความชำนาญของเรือท่องเที่ยวชมวาฬได้ เจ้าของเรือท่องเที่ยวชมวาฬที่เรียกกันว่า Captain Clara คือผู้ที่รู้ตำแหน่งที่อยู่ของวาฬตัวผู้เดี่ยวๆ ที่จะทำให้สามารถบันทึกเสียงใต้ทะเลได้อย่างชัดเจนโดยไม่มีเสียงอื่นแทรก โรเธนเบิร์กเชื่อว่า การที่ผู้บรรเลงส่งเสียงโต้ตอบกันนั้น ย่อมเกิดความพยายามส่งเสียงในลักษณะที่คล้ายกัน ในขณะที่โรเธนเบิร์กพยายามเป่าคลาริเน็ตให้เหมือนเสียงวาฬ ในห้วงเวลาที่เหมาะสม วาฬก็จะพยายามส่งเสียงเลียนแบบคลาริเน็ตที่โรเธนเบิร์กเป่า และถ้ามันเองกำลังพยายามหาต้นแบบของเสียงใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้เป็น variation ในแพทเทิร์นที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามฤดูกาล เสียงเป่าคลาริเน็ตของโรเธนเบิร์กก็อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ phase ใหม่ของ theme ที่วาฬหลังค่อมแห่งเกาะเมาวีด้วยก็เป็นได้

เดวิด โรเธนเบิร์ก ยังสนใจความเป็นไปได้ ที่สิ่งมีชีวิตสองสายพันธุ์จะสื่อสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน ด้วยคุณสมบัติของเสียงหรือดนตรี ที่ผู้บรรเลงหรือผู้ส่งเสียงกับผู้ที่ได้ยินได้ฟัง มีประสบการณ์นั้นร่วมกัน

ในห้วงเวลานี้เองที่ ‘เสียง’หรือ ‘ดนตรี’ คือสิ่งที่จะเชื่อมโยงเราเข้าหากันและกัน

 

FACT BOX:

ชมสารคดี Why Birds Sing ของสถานีโทรทัศน์ BBC ได้ทางลิงก์เหล่านี้

ตอนที่ 1: https://youtu.be/f_cqJsdnOrg
ตอนที่ 2: https://youtu.be/nOWQBO2B1u8
ตอนที่ 3: https://youtu.be/KsiSVROS324
ตอนที่ 4: https://youtu.be/gSJgMtnaNqI
ตอนที่ 5: https://youtu.be/2UZNrX9tssc
ตอนที่ 6: https://youtu.be/M1H9TWZiqVc

Tags: , , , , ,