ชีวิตจากนี้ไปจะเอาอย่างไรต่อ? คำถามนี้คงวนเวียนอยู่ในหัวของเด็ก ม.ปลายในประเทศไทย เพราะหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ม. 6 ทั่วประเทศตั้งตารอคอย เพื่อเฝ้ารอผลการตัดสินอนาคตว่าจะต้องไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยไหน

กว่าจะติดมหา’ลัยสักที่ ต้องเสียน้ำตาสักกี่หยด เสียเงินไปกี่บาท The Momentum พาไปย้อนดูเส้นทางการเข้ามหาวิทยาลัยกับระบบการสอบคัดเลือกเข้าระดับอุดมศึกษาแบบใหม่ และตั้งคำถามถึงความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำ หลังจากเปลี่ยนมาใช้ระบบ TCAS

รู้จักกับ TCAS

ระบบ Thai University Central Admission System หรือที่รู้จักกันในนาม TCAS เป็นระบบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาแบบใหม่ที่เริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 โดยปรับเปลี่ยนจากระบบคัดเลือกแบบแอดมิชชัน (Admission) ระยะที่ 2 ที่ใช้มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2553-2560

หลักการสำคัญของระบบ TCAS คือ ต้องการให้นักเรียนได้อยู่ในชั้นเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อป้องกันปัญหาการกั๊กที่ ผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้าเรียนอุดมศึกษาจึงมีเพียง 1 สิทธิ์ในการตอบรับสาขาที่เลือก ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยยังให้สัมภาษณ์ว่า “การรับเด็กรูปแบบใหม่ที่ชื่อ ‘ทีแคส’ นี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อแก้ปัญหาวิ่งรอกสอบ กันสิทธิ์คนอื่น ลดปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคนรวยกับคนจน” (ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 2 มิ.ย. 2560)

รูปแบบของการคัดเลือกเข้าระบบชั้นอุดมศึกษาแบบ TCAS เป็นระบบส่วนกลางที่รวมการสอบโควตา สอบรับตรง กสพท. (กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย) และแอดมิชชั่น เข้ามาด้วยกัน และเพิ่มรอบแฟ้มสะสมผลงาน รวมถึงเปลี่ยนจากการแยกสอบตรงตามแต่ละมหาวิทยาลัย มาเป็น “รอบรับตรงร่วมกัน” โดยหวังให้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสถานะทางการเงินของผู้ปกครองให้มีค่าใช้จ่ายที่ลดน้อยลง TCAS กำหนดให้สามารถสอบได้เพียงครั้งเดียวหลังจบ ม. 6 (มี.ค. — เม.ษ.) โดยใช้ข้อสอบ O-NET GAT/ PAT และ 9 วิชาสามัญ รวมทั้งคะแนน GPAX เหมือนเดิม และเพิ่มระบบเคลียร์ริ่งเฮาส์หลายรอบเพื่อยืนยันสิทธิ์ ป้องกันการกั๊กที่

TCAS มีการรับสมัครสอบทั้งสิ้น 5 รอบ ดังนี้

รอบที่ 1 : การรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)

การยื่นแฟ้มสะสมงานไปยังคณะและสถาบันที่ต้องการเรียน โดยจะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นเกรดขั้นต่ำ แม้บางแห่งไม่มีสอบข้อเขียน แต่มีเกณฑ์คุณสมบัติของคะแนนอื่นๆ เช่น กำหนดเกณฑ์คะแนนภาษา IELT และ TOFEL ในขั้นนี้ ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบตามแต่ที่คณะ และมหาวิทยาลัยกำหนดมีตั้งแต่ 200-1,000 บาท

รอบที่ 2 : การรับแบบโควตา

การคัดเลือกในรอบนี้ สามารถสมัครไปยังคณะและสถาบันที่ต้องการ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกจากการวัดคะแนนข้อเขียน คะแนนการสอบวิชาเฉพาะ หรือคะแนน GAT/PAT นอกจากนี้ บางคณะอาจจะวัดจากคะแนนสอบปฏิบัติ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสอบคัดเลือก และสอบวิชาเฉพาะ ขึ้นอยู่กับที่มหาวิทยาลัยกำหนด

รอบที่ 3 : การรับตรงร่วมกัน

การยื่นสมัครผ่าน ทปอ. ผู้สมัครสามารถเลือกได้ 4 อันดับโดยไม่ต้องเรียงลำดับ สามารถติดทุกอันดับและเลือกภายหลังได้ และหากเลือกคณะที่อยู่ในเครือกสพท. สามารถเลือกได้ 7 อันดับ โดยเป็นคณะไม่ได้อยู่ในเครือ 3 อันดับ และเลือกคณะในเครือย่อยอีก 4 การรับตรงร่วมกันคล้ายกับรอบรับตรงแบบเก่า เพียงแต่มหาวิทยาลัยเปิดรับพร้อมกันและมีการนำระบบเคลียริ่งเฮ้าส์มาใช้ เกณฑ์คะแนนที่เอามาใช้ในการสอบคัดเลือกเป็นคะแนนข้อสอบกลางอย่าง O-NET GAT/ PAT และ 9 วิชาสามัญตามที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด ค่าใช้จ่ายในการยื่นรับตรงขึ้นอยู่กับอันดับที่เลือก มีตั้งแต่ 300 500 700 และ900 บาท

รอบที่ 4 : การรับแบบแอดมิชชันเดิม

ระบบแอดมิชชันเป็นการสมัครสอบเข้าผ่านการยื่น ทปอ. สี่อันดับ โดยจำเป็นต้องเลือกอันดับ เกณฑ์คะแนนที่เอามาใช้ในการสอบคัดเลือกเป็นคะแนนข้อสอบกลางอย่าง O-NET, GAT/ PAT และ GPAX ตามที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด ค่าใช้จ่ายในการยื่นรับตรงขึ้นอยู่กับอันดับที่เลือก มีตั้งแต่ 100 150 200 และ 250 บาท ไม่มีระบบเคลียริ่งเฮ้าส์

รอบที่ 5 : การรับตรงแบบอิสระ (รอบเก็บตก)

รอบสุดท้ายของการสอบเข้าระดับอุดมศึกษา สามารถเลือกกี่คณะก็ได้ โดยยื่นและคัดเลือกผ่านทางคณะและมหาวิทยาลัยได้โดยตรง คะแนนและค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ความเหลื่อมล้ำในโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษา

จากงานเสวนา “หนึ่งความยินดีในร้อยความเศร้า: พิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทย” โดยศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (Center of Research on Inequality and Social Policy: CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 29 มิถุนายน 2561 ฉายภาพถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย ผ่านการนำเสนอผลงานการศึกษาของวิทยากรทั้ง 3 คน คือ ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค และ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์

งานเสวนาชี้ให้เห็นว่า แม้ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในการศึกษาของประเทศไทยลดน้อยลงเรื่อยๆ ในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา แต่โอกาสการศึกษาในระดับอุดมศึกษายังเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก

จากการคำนวณสถานะทางสังคมเศรษฐกิจ (SES) ปี 2554 ของ ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ประชากรอายุ 15-17 ปี ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มี 78.5 เปอร์เซ็นต์อยู่ในโรงเรียน ขณะที่ประชากรอายุ 18-21 ปีที่มักอยู่ในชั้นอุดมศึกษา มีเพียง 41.4 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในระบบการศึกษา หรือลดลงกว่าครึ่ง

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางด้านผลลัพธ์ของการศึกษาก็ยังคงแตกต่างกัน จากการศึกษาข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้อมูลรายจังหวัด ปี 2558 พบว่า จังหวัดที่มีรายได้สูง ส่งผลให้คะแนน O-NET เฉลี่ยของจังหวัดสูงด้วย หรืออาจกล่าวอีกนัยคือ นักเรียนในครัวเรือนรายได้สูง ก็ย่อมคะแนนสอบสูง และมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง นักศึกษามีรายได้ของบิดาที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยในภูมิภาค

TCAS สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริงหรือ

ระบบของ TCAS ที่มีอยู่ 5 รอบ จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริงไหม นี่เป็นคำถามที่ยังท้าทาย เพราะแม้ว่าระบบ TCAS จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการสอบตรง ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบตรงของมหาวิทยาลัยแต่ละที่ แต่ก็ยังคงมีช่องว่างทางโอกาสทางการศึกษาระหว่างนักเรียนที่ครอบครัวมีรายได้สูงกับนักเรียนที่ครอบครัวมีรายได้ต่ำ

นักเรียนที่ทางบ้านมีกำลังสนับสนุนมากกว่า สามารถเลือกที่จะยื่นสอบในระบบ TCAS ได้หลายรอบ หลายโครงการ และสามารถเลือกสอบได้หลายวิชามากกว่า โดยเฉพาะในรอบที่ 1 การยื่นแฟ้มสะสมงานที่เปิดโอกาสให้สอบได้หลายที่ อาจจะเป็นรอบที่ขยายความเหลื่อมล้ำทางโอกาสทางการศึกษา เพราะเด็กที่ทางบ้านมีกำลังทรัพย์สามารถเลือกยื่นได้หลายที่ สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการทำแฟ้มสะสมงานให้เหมาะสมกับรูปแบบของแต่ละมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ในการยื่นรอบแฟ้มสะสมงานยังกำหนดคุณสมบัติ เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของการทดสอบคะแนนสอบจากหน่วยงานภายนอก เช่น IELTS, TU-GET, CU-AAT เป็นต้น ที่ล้วนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในราคาแพง เด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าจะมีโอกาสในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษามากกว่า

ตัวอย่างการสอบคัดเลือกเข้าคณะแพทยศาสตร์ โดยส่วนใหญ่คณะแพทยศาสตร์จะเปิดทั้งหมด 3 รอบ ได้แก่ รอบแฟ้มสะสมงาน รอบโควตา และรอบรับตรงร่วม หากเป็นนักเรียนที่ครอบครัวมีฐานะ สามารถยื่นรอบแฟ้มสะสมงานที่มีเกณฑ์ต้องยื่นคะแนนสอบ BMAT ซึ่งมีค่าสอบสูงถึง 7,100 บาท ร่วมกับการทดสอบภาษาอังกฤษอย่าง IELTS หรือ TOEFL ที่มีค่าใช้จ่ายหลายพันบาท นักเรียนที่ไม่มีกำลังจ่าย อาจสอบได้แค่รอบโควตาและรอบรับตรงร่วม

ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ ให้ความเห็นว่า TCAS ไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากต้นทุนในการสอบที่ลดลงเกิดขึ้นกับทั้งนักเรียนจากครัวเรือนในกลุ่มรายได้สูงและรายได้ต่ำ นอกจากนี้การศึกษาระดับอุดมศึกษามีส่วนช่วยผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการศึกษา

สำหรับหนทางแก้ความเหลื่อมล้ำ ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ เสนอถึงการแก้ปัญหาด้วยวิธีการ Affirmative Action จากฐานของรายได้ ซึ่งหมายถึงการใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกเข้าระดับอุดมศึกษาที่แตกต่าง เพื่อให้คนอีกกลุ่มมีโอกาสทางการศึกษาและสามารถเข้ามาเรียนได้มากขึ้น

Tags: , , ,