เช้าวันนี้ ศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเชวียน (Jiuquan Satellite Launch Center) ปล่อยยานเฉินโจว-11 (Shenzhou-11) ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศได้สำเร็จ เวลา 7:30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศจีน โดยมีนักบิน 2 นาย เดินทางไปปฏิบัติภารกิจ คือ จิง ไห่เผิง (Jing Haipeng) อายุ 50 ปี และ เฉิน ตง (Chen Dong) อายุ 38 ปี
นี่คือการปฏิบัติภารกิจในอวกาศครั้งแรกของเฉิน และครั้งที่ 3 ของจิง ซึ่งเคยเดินทางไปกับยานเฉินโจว-7 และเฉินโจว-9
หลังจากที่ยานเฉินโจว-11 เข้าสู่วงโคจร จะเข้าเทียบท่าเพื่อเชื่อมต่อกับห้องปฏิบัติการทดลองอวกาศเทียนกง 2 (Tiangong-2)
นักบินอวกาศทั้งสองจะปฏิบัติภารกิจในห้องทดลองอวกาศดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อศึกษาวิจัยและดำเนินการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การใช้เทคโนโลยีอัลตราซาวด์ตรวจวินิจฉัยร่างกาย และการปลูกพืชในอวกาศ
นับเป็นครั้งที่ 6 ที่จีนส่งยานอวกาศพร้อมนักบินไปปฏิบัติภารกิจ และกินระยะเวลานานที่สุดตั้งแต่เคยมีมา ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้จีนเข้าใกล้เป้าหมายของการสร้างสถานีอวกาศแบบถาวรภายในปี 2022 และเป็นไปได้ว่าจีนจะส่งนักบินอวกาศไปเยือนดวงจันทร์และดาวอังคารในไม่ช้า
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่นักบินว่า ภารกิจนี้จะยกระดับความก้าวหน้าด้านการสำรวจอวกาศของประเทศให้ไปไกลอีกขั้น และทำให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอวกาศของโลก
นอกจากนี้ จีนยังมีแผนจะระดมทุนและสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับอวกาศอย่างน้อย 20 โครงการในปีนี้
สำนักข่าวชั้นนำของโลกยังคาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าครั้งนี้ยังแสดงถึงการชิงชัยทางอำนาจและความมั่นคงทางการเมืองระหว่าง จีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
ขณะที่มหาอำนาจเก่าทั้งสองขั้วกำลังรบรากันอย่างเข้มข้นในตะวันออกกลาง จีนก็อาจฉวยโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในศึกนี้ในที่สุด
แปลและเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวรอยเตอร์ส
อ้างอิง: http://bbc.com/news/world-asia-china-37670842, http://news.xinhuanet.com/english/2016-10/17/c_135759806.htm