Photo: flickr.com, creative commons

ดูเหมือนว่าโลกอนาคตที่หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์จะเดินทางมาถึงเร็วกว่าที่คิด เมื่อบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นประกาศว่าจะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Watson ของบริษัท IBM เข้ามาทำงานแทนพนักงาน 34 คน

เดอะ การ์เดียน รายงานว่า บริษัทประกันชีวิตฟูโกกุ มูทวล ไลฟ์ อินชัวรันส์ (Fukoku Mutual Life Insurance) เตรียมปลดพนักงานออกจากบริษัท 30 คน โดยจะนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่สามารถคิดคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เอาประกันเข้ามาทำงานแทน ซึ่งจะมีผลภายในเดือนมีนาคมนี้

ทางบริษัทจะเริ่มติดตั้งระบบ AI ในเดือนนี้ โดยสนนราคาประมาณ 200 ล้านเยน บวกกับค่าซ่อมบำรุงประมาณ 15 ล้านเยน/ปี ซึ่งนับว่าสูงเอาการ แต่ทางบริษัทกลับเล็งเห็นว่าวิธีนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณไปกว่า 140 ล้านเยน/ปี อีกทั้งเพิ่มผลประกอบการ 30% และคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 ปี

มาอินิชิ ชิมบุน (Mainichi Shimbun) หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานว่า IBM Watson สามารถอ่านใบรับรองแพทย์ และเอกสารทางการแพทย์ต่างๆ ได้เป็นหมื่นๆ ชิ้น เช่น ประวัติการรักษา และขั้นตอนการผ่าตัด ก่อนที่จะประมวลผลค่าใช้จ่ายทั้งหมดในเวลาสั้นๆ

Photo: wikimedia commons

อันที่จริง IBM Watson เข้ามามีบทบาทในแวดวงธุรกิจมาสักพัก และยังต่างจาก AI แบบ AlphaGo ของ DeepMind ตรงที่มันได้รับการพัฒนาให้คิดวิเคราะห์ได้เหมือนกับมนุษย์ ด้วยระบบ Cognitive Computing ซึ่งก็คือระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทำให้ IBM Watson สามารถเรียนรู้ เข้าใจ และคิดวิเคราะห์จากข้อมูลที่มีอยู่ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่จำกัดรูปแบบข้อมูลว่าจะต้องเป็นข้อความ รูปภาพ เสียง หรือวิดีโอ นอกจากนี้ Watson มีทักษะการจัดการความรู้ จดจำ และเข้าใจภาษามนุษย์อีกด้วย

ไม่ใช่แค่บริษัทประกันชีวิตฟูโกกุ หนังสือพิมพ์มาอินิชิ ชิมบุน (Mainichi Shimbun) ระบุว่าบริษัทอื่นๆ ในญี่ปุ่น เช่น Dai-ichi บริษัทประกันชีวิตได้ประยุกต์ใช้ IBM Watson ในระบบประเมินผลการชำระเงินก่อนหน้านี้แล้ว แม้จะไม่มีมาตรการปลดพนักงานก็ตาม ขณะที่บริษัท Japan Post Insurance มีท่าทีสนใจ AI เช่นกัน

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และ AI อาจเปรียบเสมือนฝันร้ายของเหล่าพนักงานเงินเดือน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ประชากรสูงวัยกลับเพิ่มมากขึ้นทุกที ที่สำคัญ เราต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมและเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาแต่ไหนแต่ไร ค่านิยมดังกล่าวปรากฏในแทบทุกอณูของเมืองและการใช้ชีวิต ตั้งแต่ตู้จำหน่ายสินค้า-ตั๋วอัตโนมัติ หุ่นยนต์ที่แทรกอยู่ในวัฒนธรรมมังงะ หรือการประดิษฐ์หุ่นยนต์อย่างอาซิโม จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะรู้สึกผูกพันหรือมีทัศนคติเชิงบวกต่อหุ่นยนต์

Photo: Yuriko Nakao, Reuters/profile

สำหรับคนญี่ปุ่น ความก้าวหน้าเหล่านี้น่าจะมอบความหวังมากกว่าจะเป็นภัยคุกคาม

แต่ถ้าถามว่าความเป็นไปได้ที่หุ่นยนต์จะเข้ามาเป็นแรงงานแทนคนญี่ปุ่นนั้นสูงแค่ไหน รายงานจากสถาบันวิจัยโนมูระ (Nomura Research Institute) ในปี 2015 ชี้ว่า ‘เกือบครึ่งหนึ่งของอาชีพทั้งหมดในญี่ปุ่น’

ยูมิ วากาโอะ (Yumi Wakao) นักวิจัยสถาบันโนมูระกล่าวว่า จากการสำรวจวิจัยเกี่ยวกับอาชีพในญี่ปุ่น ร่วมกับศาสตราจารย์ ไมเคิล ออสบอร์น (Michael Osborne) จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเคยศึกษาเคสคล้ายกันนี้ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร พบว่าหุ่นยนต์อาจเข้ามาทำงานแทนคน คิดเป็นกว่า 49% ของอาชีพทั้งหมดในญี่ปุ่นภายใน 20 ปี

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยกล่าวว่ามนุษย์จะถูกหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติแย่งงานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระดับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละอาชีพ โดยงานประเภทธุรการ บริการจัดส่งของ และแรงงานภาคการเกษตร มีแนวโน้มจะถูกแทนที่ด้วยแรงงานเครื่องจักรหุ่นยนต์ มากกว่าอาชีพเกี่ยวกับการเรียนการสอน การคิดการเขียนที่จะยังไม่ถูกแย่งงานในเร็วๆ นี้

รายงานวิจัยดังกล่าว สอดคล้องกับที่ วิโรจน์ จิรพัฒนกุล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่เคยทำงานในซิลิคอนวัลเลย์ ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า

“มันจะมี 2 ค่ายที่ถกเถียงกันว่าหุ่นยนต์จะมาทำงานแทนมนุษย์หรือเปล่า แต่ผมอยู่ค่ายที่มันจะไม่มาแทนที่มนุษย์ในเร็วๆ นี้ ถ้าบอกว่าเป็นงานประเภทใช้แรงงาน งานที่ทำซ้ำๆ แบบนี้มาชัวร์ ก็คือใช้เครื่องจักรแทน แต่ถ้าเป็นงานที่ยังต้องใช้ความคิด ใช้สมอง ยังไงก็ต้องเป็นคนครับ

“เพราะหุ่นยนต์ส่วนใหญ่มันถูกเทรนจากข้อมูลในอดีต มันต้องทำอะไรซ้ำๆ เยอะๆ ก่อน จึงจะเรียนรู้ได้ แต่มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้”

แน่นอนว่าเรื่องนี้ยังไม่มีบทสรุป แต่ถ้าลองถอยออกมามองภาพรวมที่ใหญ่กว่า มาตรการการใช้ AI แทนแรงงานคนของบริษัทประกัน กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้เสนอให้ทดลองใช้ AI เข้ามาทำงานแล้ว

งานที่ว่านี้ก็คือ ช่วยเหล่าบรรดาข้าราชการที่ต้องร่างคำตอบต่างๆ สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่การประชุมสภา ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายประหยัดพลังงานในที่ประชุม AI จะทำหน้าที่คิดวิเคาะห์ข้อมูล และเสนอประเด็นคำตอบจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ต่อคณะรัฐมนตรีแทนเลขาฯ ทั้งนี้ ทางรัฐมนตรีหวังว่า AI จะช่วยประหยัดเวลาการเตรียมประเด็นคำตอบต่างๆ เพื่อให้การประชุมไม่ยืดเยื้อ

ถ้าการทดลองครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลและกระทรวงอื่นๆ จะเริ่มพิจารณาการใช้ AI ในการทำงานอย่างจริงจัง ดังที่ ชินโซ อาเบะ เคยกล่าวว่าจะเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อปีที่แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ญี่ปุ่นเตรียมสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก หวังแซงจีน ทวงบัลลังก์ผู้นำด้านเทคโนโลยีอีกครั้ง)

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน AI ยังคงไม่สามารถทำงานได้โดยปราศจากข้อบกพร่อง ที่ผ่านมานักวิจัยญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งเคยล้มเลิกการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวไป เพราะมันยังไม่สามารถตอบคำถามประเภทที่ต้องอาศัยการตีความซับซ้อนได้อย่างแม่นยำนั่นเอง

คำถามต่อมาที่ทุกฝ่ายควรพิจารณาร่วมกันก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหุ่นยนต์และ AI เข้ามามีบทบาททางการเมือง และดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการประเทศ

 และถ้าวันหนึ่งหุ่นยนต์ทำทุกอย่างได้ไม่ต่างกับมนุษย์ มนุษย์จะยืนอยู่ตรงไหนในสังคม?

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

Tags: , ,