ผมกดปุ่มสั่งยาเดิม แล้วทวนยาไม่ประจำ (บางคนเรียก ‘ยาเฟอร์นิเจอร์’ ตกแต่งกับยาประจำ) ที่คนไข้ได้กลับไปครั้งก่อน เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้เวียนศีรษะ ยาหยอดตา ว่ายังใช้อยู่หรือเปล่า ต่อมาก็จะถึงช่วงขอยารอบใหม่

รอบนี้หลวงลุงขอยาฆ่าเชื้อ เพราะเป็นแผลเบาหวานที่เท้าและยังไม่หายสักที ตอนนี้ทำแผลที่อนามัย ผมตรวจดูแผลแล้วไม่มีหนอง รอบแผลไม่บวมแดงร้อน จึงบอกกับหลวงลุงไปว่า “ไม่จำเป็นต้องใช้ แค่ทำแผลทุกวันก็พอ อีกอย่างคือระดับน้ำตาลในเลือดยังสูงอยู่ การรักษาที่ดีที่สุดก็คือการควบคุมอาหารและการกินยาเบาหวานนั่นเอง”

หลวงลุงพยักหน้าเข้าใจ พร้อมเสริมว่า “เคยไปขอซื้อยาที่ร้านขายยาเหมือนกัน เภสัชฯ เขาก็ดีนะ พูดเหมือนหมอเลย ไม่ยอมขายยาฆ่าเชื้อให้”

“ครับ” ผมตอบรับเชิงเห็นด้วย ในใจนึกชื่นชมเภสัชฯ คนนั้นที่ไม่ขายยาฆ่าเชื้อพร่ำเพรื่อ ทั้งที่ร้านค้ามักจะยึดหลัก “ลูกค้าคือพระเจ้า” เป็นหลัก จังหวะที่ผมกำลังกดยืนยันการสั่งยานั้นเอง หลวงลุงก็หยิบซองยาออกมาจากย่ามให้ดู “งั้นอาตมาขอยาตัวนี้หน่อยได้มั้ย ไม่รู้ว่าที่นี่มีรึเปล่า”

ผมรับซองยามาดูต่อ ในนั้นมีขวดยาใสขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ 2 ขวด พลิกอ่านฉลากยาก็รู้สึกตื่นเต้นระคนประหลาดใจ ตื่นเต้นที่ได้ ‘จับมือ’ กับยาในตำนาน ‘ลินโค่’ (Lincomycin) และ ‘เด๊กซ่า’ (Dexamethasone) ยาตัวแรกเป็นยาฆ่าเชื้อ ส่วนยาตัวที่สองเป็นยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งสูตรยานี้ไม่อยู่ในการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ปัจจุบัน แต่เมื่อหมอรุ่นใหม่เรียนจบมาทำงานแล้วจะพบว่ามีการใช้สูตรยานี้แพร่หลายตามคลินิก โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลเอกชน ด้วยสาเหตุสองประการ คือเป็นวิธีการรักษาที่หมอรุ่นเก่าเคยชิน และเป็นวิธีการรักษาที่คนไข้ชื่นชอบ เพราะยาทั้งคู่เป็นยาฉีด

ยาตัวแรกเป็นยาฆ่าเชื้อ ส่วนยาตัวที่สองเป็นยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งสูตรยานี้ไม่อยู่ในการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ปัจจุบัน แต่พบว่ามีการใช้สูตรยานี้แพร่หลายตามคลินิก

ส่วนที่รู้สึกประหลาดใจ ก็เพราะว่าเท่าที่เคยเห็นมา หมอรุ่นเก่าจะใช้สูตรยานี้รักษาโรคไข้ไอเจ็บคอเท่านั้น ยังไม่เคยเจอว่านำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อที่ตำแหน่งอื่น และที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้นก็คือหลวงลุงได้ยาสองขวดนี้มาจากไหน เพราะขนาด “(รพ.) ที่นี่ก็ไม่มียาตัวนี้” ผมบอกกับหลวงลุงไปตามตรง และไม่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป

“พอดีมีลูกศิษย์เป็นหมอ (?) อยู่ทาง…(ภาคหนึ่งของประเทศ) พอบอกเขาไปว่าเป็นแผลที่เท้า เขาก็เอายาตัวนี้มาถวาย” ส่วนที่ว่ายานี้เป็นยาฉีด หลวงลุงก็เอายาที่ได้ไปให้เจ้าหน้าที่ที่อนามัยฉีดให้ โดยที่หลวงลุงไม่เคยรู้เลยว่ายาสองขวดนี้เป็นยาอะไร เพียงแต่ว่าเมื่อใช้แล้วจะรู้สึกว่าแผลแห้งดี

ว่าแล้วก็ผมขอหลวงลุงถ่ายรูปขวดยาเก็บไว้ เพราะผมเองก็ยังไม่เคยเห็นตัวยากับตาตัวเองมาก่อนเหมือนกัน ก่อนที่จะชวนหลวงลุงคุยถึงข้อดี-ข้อเสียของการฉีดยาในตำนานนี้

  1. ผมยังยืนยันเหมือนเดิมว่าแผลเบาหวานที่เท้าหลวงตาไม่ได้ติดเชื้อ แต่หายช้าจากระดับน้ำตาลในเลือดที่ยังคุมไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นชนิดกินตามที่หลวงลุงขอตอนแรก หรือชนิดฉีด ‘ลินโค่-เด๊กซ่า’ ที่หลวงลุงหยิบมาให้ดูทีหลัง เท่ากับว่าการฉีดยาต่อไปไม่มีข้อดี
  2. การฉีดยา ‘ลินโค่’ ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อชนิดแรงที่มีข้อบ่งใช้สำหรับคนไข้ที่แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลินเท่านั้น จะทำให้เชื้อทั้งที่ก่อโรคและไม่ก่อโรคในร่างกายดื้อยา เมื่อถึงวันที่หลวงลุงป่วยหนักจะต้องใช้ยาที่แรงยิ่งขึ้นไปอีกในการรักษา ทำให้เหลือยาที่เป็นตัวเลือกในการรักษาน้อยลง
  3. การฉีดยา ‘เด๊กซ่า’ ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกัน คล้ายกับที่มีการเอายาคล้ายกันนี้ไปผสมในยาลูกกลอน แม้ช่วงแรกจะทำให้อาการดีขึ้นทันใจ แต่การใช้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทำให้หลวงลุงเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น และเป็นไปได้ด้วยว่าการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านๆ มาเป็นผลมาจากการฉีดยาตัวนี้ นอกจากนี้ยา ‘เด๊กซ่า’ จะไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต ซึ่งมีหน้าที่หลั่งฮอร์โมนตัวหนึ่งออกมาในช่วงที่ร่างกายเจ็บป่วยรุนแรง กระทั่งฝ่อไป เมื่อวันนั้นมาถึง อาการของหลวงลุงจะเป็นหนักมาก เพราะขาดฮอร์โมนตัวที่ว่า จนหมออาจช่วยชีวิตไว้ไม่ทันก็ได้

เปรียบเทียบ ‘เด๊กซ่า’ เหมือนผู้นำที่คอยชี้นิ้วสั่งลูกน้องโดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ใช้ความคิดของตัวเอง จนลูกน้องเคยชินกับการรับคำสั่งเพียงอย่างเดียว พอผู้นำหมดอำนาจหรือเปลี่ยนมือ องค์กรนั้นก็อาจล่มสลายได้ เพราะลูกน้องซึ่งเป็นกำลังหลักคิดเองไม่เป็นแล้ว

‘เด๊กซ่า’ เหมือนผู้นำที่คอยชี้นิ้วสั่งลูกน้องโดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ใช้ความคิดของตัวเอง จนลูกน้องเคยชินกับการรับคำสั่งเพียงอย่างเดียว

“ดีนะเนี่ย ที่เอายาให้หมอดูวันนี้” หลวงลุงยิ้ม “ขอบใจหมอมาก” แล้วก็พูดถึงเภสัชฯ คนนั้นอีกรอบ “ถึงว่าวันนั้น อาตมาไปขอซื้อ (ยาฆ่าเชื้อ) ยังไง เขาก็ไม่ยอมขาย”

ผมเองก็ดีใจที่เจอคนไข้อย่างหลวงลุงที่เปิดใจรับฟังเหตุผล ไม่แน่ว่าอาจเพราะที่นี่เป็นโรงพยาบาลรัฐ หมอจึงเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่รัฐที่ประชาชนอาจจำยอมแต่โดยดี ผมเคยเจอคนไข้บางคนที่โรงพยาบาลเอกชน ที่อย่างไรเสียก็ดึงดันที่จะขอยาฉีดให้ได้ แม้จะได้อธิบายเหตุผลในลักษณะเดียวกันนี้แล้ว บางคนในจำนวนนั้นก็เข้าใจ และอาจโล่งอกเสียอีกที่ไม่ต้องฉีดยา เพราะอาจจะด้วยกลัวเจ็บ หรือจะด้วยรู้สึกว่าอาการไม่หนักมาก หมอจึงไม่ฉีดยาให้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อยากมองว่าผมประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการทำความเข้าใจกับคนไข้

สำหรับหมอด้วยกันเองจะต้องยืนหยัดบนหลักการของตนเอง และพยายามแก้ไขความเชื่อที่ผิดของคนไข้ให้ถูกต้อง ปัจจุบันโครงการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (Rational Drug Use) ซึ่งเริ่มรณรงค์มาตั้งแต่สมัยผมเป็นนิสิตแพทย์และตอนนี้นำมาใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพโรงพยาบาลแล้ว ได้ช่วยลดการจ่ายยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นของหมอลง และในท้ายที่สุด นี้ก็ต้องขออนุญาตบอกหมอรุ่นพี่ว่า “หยุดส่งต่อวัฒนธรรมลินโค่-เด๊กซ่า” ได้แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นหมอรุ่นใหม่ก็ต้องมาตามสะสางไม่สิ้นสุด

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม – ถึงหมอและคนไข้ โปรดหยุดส่งต่อวัฒนธรรมการใช้ยา ‘ลินโค่-เด๊กซ่า’ – แก้ไขเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561

Fact Box

มีหลายงานวิจัยสนับสนุนการใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteriod) เช่น ‘เด๊กซ่า’ เป็นยาเสริมในการรักษาโรคคอหอยอักเสบ พบว่าสามารถช่วยลดอาการเจ็บคอลงได้ แต่เพียงเล็กน้อย ประมาณห้าชั่วโมง ทั้งนี้ แต่ละงานวิจัยเลือกใช้ชนิดยา วิธีการบริหารยา และขนาดยาแตกต่างกัน รวมถึงวิธีการประเมินระดับความเจ็บปวด ระยะเวลาและวิธีการในการตรวจติดตามยังแตกต่างกันด้วย ทำให้มีข้อจำกัดในการเปรียบเทียบผลการรักษา (อ้างอิงจากแนวทางเวชปฏิบัติโรคคอหอยอักเสบของสมาคมโรคติดเชื้ออเมริกาปี 2012) ที่สำคัญ ไม่มีข้อสรุปถึงระยะเวลาในการรักษาทั้งหมด เท่ากับว่าถึงอย่างไรคนไข้ก็ต้องกินยาฆ่าเชื้อต่อเนื่องจนครบ 10 วันจึงจะหายขาด

Tags: , , , , , , , , , ,