นับ 1. ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าในปากหมาแมวไม่ได้มีแค่เชื้อพิษสุนัขบ้า แต่ยังมีอีกสองเชื้อที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เชื้อบาดทะยัก และเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบได้ ดังนั้นถึงแม้หมาแมวจะไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้า คนถูกหมาแมวกัดก็ยังต้องรักษาอีกสองเชื้อที่เหลือด้วย

นับ 2. ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำก๊อก ฟอกสบู่จนถึงก้นแผล ล้างซ้ำอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ระวังไม่ให้แผลช้ำ แล้วเช็ดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อโพวิโดน ไอโอดีน ซึ่งชื่อการค้าที่น่าจะรู้จักกันดี เช่น เบตาดีน หรือแอลกอฮอล์ล้างแผล (70% Alcohol) แทนได้ จากนั้นรีบไปโรงพยาบาลทันที

นับ 3. ช้าก่อนครับ… ยังไม่ต้องรีบขนาดนั้น หากเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคบาดทะยักมาก่อนให้นึกย้อนประวัติการฉีดวัคซีนให้ดีว่าได้ไปฉีดครบตามนัดหรือไม่? และครบเมื่อไร? ถ้าจำไม่ได้ก็ลองรื้อกระเป๋าสตางค์หรือลิ้นชักดูว่ายังเก็บบัตรนัดฉีดวัคซีนไว้อยู่หรือเปล่า เพราะประวัติการฉีดวัคซีนนี้จะช่วยให้เจ็บตัวน้อยลง

นับ 4. แผลหมาแมวกัด จะแบ่งออกเป็นสามแบบตามความเสี่ยงในการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ได้แก่

แบบแรกผิวหนังปกติ ไม่มีบาดแผล ซึ่งแบบนี้ไม่ต้องรักษาและไม่ต้องไปโรงพยาบาล (ถ้าสตาร์ตรถแล้ว ดับเครื่องได้ครับ)

แบบถัดมา มีรอยถลอก-ข่วน-ช้ำ แต่ไม่มีเลือดออก หรือหมาแมวเลียแผล และ

แบบสุดท้าย แผลมีเลือดออกชัดเจน หรือหมาแมวเลียตาหรือแผลเปิด

ซึ่งสองแบบหลังนี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไม่ไปโรงพยาบาลไม่ได้ครับ!

นับ 5. ถ้าหมาแมวที่กัดมีคุณสมบัติครบทั้งสามข้อ ดังต่อไปนี้ สามารถเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนได้ (ไม่อยากเจ็บตัวเยอะ ว่าอย่างนั้น) กล่าวคือ

ข้อแรก เลี้ยงดูน้องหมาน้องแมวอย่างดี อยู่แต่ในบ้าน โอกาสเจอสัตว์ตัวอื่นน้อย

ข้อสอง น้องหมาน้องแมวได้รับวัคซีนมาก่อนอย่างน้อยสองครั้ง และครั้งล่าสุดไม่เกินหนึ่งปี และ

ข้อสามมีเหตุจูงใจ เช่น แหย่หรือรังแกหมาแมวก่อน โดยจะต้องสังเกตอาการหมาแมวได้ภายใน 10 วันนับตั้งแต่วันกัด

นับ 6. ถ้าไม่ครบสามข้อ เฝ้าดูอาการไม่ได้ เช่น หมาแมวจรจัด สัตว์หนีไป หรือสัตว์ป่วย ยังไงก็ต้องยอมเจ็บตัว

นับ 7. ยาฉีดป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีสองชนิด คือ ชนิดแรกเป็นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรวม 4-5 ครั้งแล้วแต่วิธีฉีดยา โดยจะมีนัดมาฉีดจนครบภายในหนึ่งเดือน ส่วนอีกชนิดเป็นโปรตีนต้านพิษ คล้ายกับเซรุ่มงูพิษ คือฉีดเพื่อทำลายพิษโดยตรง ซึ่งชนิดหลังนี้จะฉีดในกรณีที่เป็นแผลแบบสุดท้ายเท่านั้น

นับ 8. ไม่ควรขาดนัดฉีดวัคซีนแม้แต่ครั้งเดียว! (ขีดเส้นใต้ ทำตัวหนา ถ้าไฮไลท์ได้ ก็จะขีด) เพราะจะทำให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี หรืออาจถูก “นับหนึ่ง” เริ่มฉีดวัคซีนใหม่ และที่สำคัญ ในปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา การฉีดวัคซีนป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

นับ 9. เมื่อฉีดวัคซีนครบ ภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าจะคงอยู่ตลอดชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม หากโดนหมาแมวกัดซ้ำก็ต้องไปโรงพยาบาลอยู่ดี เพื่อฉีดวัคซีนกระตุ้น โดยหากฉีดเข็มสุดท้ายภายในหกเดือน จะได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียงหนึ่งเข็ม แต่ถ้าเกินหกเดือนไปแล้ว จะต้องฉีดเพิ่มเป็นสองเข็ม (จะเห็นว่าการมีประวัติเดิมไปยืนยันกับหมอ จะช่วยลดการเจ็บตัวได้ถึง 2-3 เข็ม จะบันทึกไว้ในสมาร์ตโฟนก็ยิ่งดี)

นับ 10. อย่างที่บอกไปในนับ 1. ว่า ในปากหมาแมวยังมีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบได้ เมื่อไปโรงพยาบาลจะได้รับยาฆ่าเชื้อกลับมาด้วย อย่าลืม! กินจนครบตามที่หมอสั่งนะครับ

 

 

เรียบเรียงจาก แนวทางการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (พ.ศ. 2559) (QSMI Guideline for Pos-Exposure Rabies Treatment) ของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย 

Tags: , , , , ,