‘สเต็มเซลล์’ ดูเหมือนจะเป็นหนทางการรักษาระดับเทพที่เราได้ยินกันมานาน ปัจจุบันคลินิกเอกชนหลายแห่งทั่วโลก ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เสนอการรักษาโรคต่างๆ ด้วยสเต็มเซลล์  ไม่ว่าจะเป็นโรคพาร์กินสัน กระดูกสันหลังบาดเจ็บ หรือกระทั่งออทิสติก สเต็มเซลล์รักษาได้หมด

ฟังดูง่ายดาย โดยแพทย์นำเนื้อเยื่อจากบางส่วนในร่างกายเรา เช่น สะโพก ก่อนจะนำไปเข้าแล็บเพื่อดึงเอาสเต็มเซลล์ออกมา และฉีดมันกลับเข้าไปในร่างกายในบริเวณที่ต้องการ จากนั้นสเต็มเซลล์จะทำงานด้วยตัวเอง ซ่อมแซมส่วนที่ถูกทำลาย ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมชาติ

แต่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่ามันอาจจะไม่จริง

ในงานประชุมวิชาการทางวิทยาศาสตร์ของสหภาพยุโรปหรือ Euroscience ที่เมืองตูลูส ฝรั่งเศส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เผยว่า มีหลักฐานน้อยมากหรือแทบไม่มีเลยที่ยืนยันว่าสเต็มเซลล์บำบัดได้ผลจริงๆ และอาจจะมีผลข้างเคียงที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ธุรกิจสเต็มเซลล์นับว่าใหญ่มาก เฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีคลินิกสเต็มเซลล์หลายพันแห่งเปิดให้บริการ ทิโมธี คอล์ฟิลด์ (Timothy Caulfield) ศาสตรารย์ด้านกฎหมายและสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา แคนาดากล่าว แต่สเต็มเซลล์บำบัดส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข เช่น องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา

ในการศึกษาของคอล์ฟิลด์ เขาพบว่า สื่อและโซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยให้คลินิกที่โฆษณาการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ “สเต็มเซลล์บำบัดมักถูกฉายภาพในแง่บวก ไม่เคยกล่าวถึงข้อจำกัดและความเสี่ยง”

ปกติแล้ว การรักษาจะมีค่าใช้จ่าย 10,000 เหรียญสหรัฐ ถ้าต้องผ่าตัดหลายครั้งซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยๆ ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินประมาณ 100,000 เหรียญสหรัฐ

การบำบัดส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในช่วงการทดลองระดับคลินิก ขณะที่มีอีกมากมายยังไม่ได้มาถึงขั้นตอนนี้

บางโรค เช่น ออทิสติก สเต็มเซลล์บำบัดดูเหมือนว่าจะพิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ เคิร์สติน แมทธิวส์ (Kirstin Matthews)  มหาวิทยาลัยไรซ์กล่าว ขณะที่บางโรคมันได้ผล

สมาคมการวิจัยสเต็มเซลล์ระหว่างประเทศ (The International Society for Stem Cell Research) ได้ออกรายชื่อโรคที่ใช้สเต็มเซลล์รักษาได้และปลอดภัย เช่นการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือโรคมะเร็งเกี่ยวกับโลหิตๆ อื่นๆ ได้รับการพิสูจน์ว่าสำเร็จมาหลายทศวรรษแล้ว

สเต็มเซลล์ไขกระดูกหรือโลหิตทั้งจากผู้ป่วยและผู้บริจาคจะถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย หลังจากที่มะเร็งถูกกำจัดออกไปแล้วด้วยวิธีเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี สเต็มเซลล์ที่ถูกฉีดเข้าไปจะเริ่มแบ่งตัวและสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันใหม่และเซลล์เม็ดเลือดในร่างกาย

สมาคมการวิจัยสเต็มเซลล์ระหว่างประเทศมีรายชื่อของโรคอื่นๆ ที่ผ่านการรับรองแล้ว หากแต่ยังมีไม่มากนัก เช่น โรคเกี่ยวกับกระดูก ผิวหนัง กระจกตา “โรคเหล่านี้สามารถรักษาด้วยย้ายหรือปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ และกระบวนการรักษาขึ้นอยู่กับสเต็มเซลล์ที่อยู่ในเนื้อเยื่อที่ถูกปลูกถ่าย” แต่นอกจากกรณีเฉพาะเหล่านี้แล้ว สเต็มเซลล์บำบัดยังคงอยู่ในระยะการทดลองอยู่

ในทางปฏิบัติผู้ป่วยจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ ซึ่งนักวิจัยเตือนว่าคลินิกสเต็มเซลล์หลายแห่งไม่ได้ให้ข้อมูลที่แท้จริง

“พวกเขากำลังเสนอว่าวิธีนี้ได้ผล ไม่มีความเสี่ยง และทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิด เผื่อจะได้ค่ารักษามากขึ้น” คอล์ฟิลด์กล่าว ทั้งที่ยังมีความเสี่ยงสูงที่สเต็มเซลล์ที่ถูกฉีดเข้าไปจะเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้จนกลายเป็นเนื้องอก

ตอนนี้คลินิกยังไม่ถูกบังคับให้ลงทะเบียนการรักษา และรายงานผลว่าสำเร็จหรือล้มเหลว โดยเคิร์สติน แมทธิวส์ ชี้ว่าการรักษาทางการแพทย์ต้องใช้เวลาประมาณ 20 ปี จึงจะได้รับการยอมรับ

“20 ปี ไม่ใช่การศึกษาจากเอกสารต่างๆ แล้วเพิกเฉย ที่จริงแล้วมันเป็นการวิจัยที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องเพื่อทำความเข้าใจการรักษาและหาว่ามมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

คอล์ฟิลด์ยังเตือนว่า ผู้ป่วยต้องช่างสงสัยและหาการรักษาหรืองานศึกษา ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยที่ได้รับการยอมรับ และต้องรู้ว่า ถ้าเป็นสถาบันวิจัยหรือคลินิกที่ลงทะเบียนว่าเป็นการทดลองทางคลินิก หากผู้ป่วยยินยอมที่จะเข้าร่วม พวกเขาก็ไม่ต้องจ่ายเงินแต่อย่างใด

ที่มา:

https://www.dw.com/en/beware-of-potentially-harmful-stem-cell-therapies-researchers-warn/a-44667943