บอกกันก่อนตั้งแต่ต้นว่ารายชื่อละครเวทีและการแสดงต่างๆ ในบทความนี้ไม่ใช่อะไรประเภท ‘ละครยอดเยี่ยมแห่งปี’ หรอกนะครับ ผู้เขียนอยากใช้คำว่าเป็นผลงานที่ ‘น่าจดจำ’ ‘น่าพูดถึง’ หรือ ‘มีความสนใจบางประการ’ เสียมากกว่า เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดแล้วประโยชน์ของงานเขียนชิ้นนี้คือการบันทึกไว้ถึงละครเวที – ศิลปะที่มีชะตากรรมยากลำบากของประเทศนี้ เพราะแม้ศิลปิน โรงละคร นักวิจารณ์จะสูญสลายหายไป แต่ข้อเขียนน่าจะมีชีวิตยืนยาวได้ในโลกออนไลน์

ขอเริ่มด้วยการรีแคปถึงการแสดงที่ผมและนักเขียนท่านอื่นๆ เคยเขียนถึงไปแล้วใน The Momentum สำหรับงานที่น่าสนใจในปี 2018 ก็ได้แก่ การกลับมาของ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ใน ‘สวรรค์อาเขต’ ที่ตอกย้ำถึงความน่าเศร้าของประเทศนี้ แต่อีกฝั่งหนึ่ง ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง 2018’ ก็เป็นละครเวทีอบอุ่นจนทำให้เราลืมความวิปลาสของบ้านเมืองไปได้ชั่วคราว

สำหรับสายการแสดง เรื่องที่แข็งแรงมากๆ หนีไม่พ้น ‘เรื่องเล่าจากโรงน้ำชา’ ละครเวทีที่ทำให้ผู้ชมหัวเราะแทบขาดใจตายด้วยการแสดงระดับถวายชีวิตของเหล่านักแสดง ส่วนอีกเรื่องคือ ‘ร่อน’ ละครตลกจังหวะนรก (คำชมนะจ๊ะ) ที่นักแสดง ‘ไม่หลุด’ กันเลยแม้แต่นิดเดียว

ส่วนสายเซอร์ประหลาดล้ำ เรื่องที่โดดเด่นก็มี Albatross ละครเนื้อเรื่องซับซ้อนที่เนรมิตบรรยากาศแบบฟิล์มนัวร์ได้อย่างน่าเชื่อถือ, The Retreat งานแสดงเคลื่อนไหวทางร่างกายที่ดูแล้วเจ็บปวดพร้อมหวาดเสียวไปกับนักแสดง แต่เรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคงเป็น ‘ปรารถนา : ภาพเหมือนการเข้าสิง’ ละครเวทีมหากาพย์สี่ชั่วโมงที่ระดมเทคนิคศิลปะทุกอย่างเข้ามาใช้อย่างไม่บันยะบันยัง จนกลายเป็นประสบการณ์พิเศษที่น่าจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก  

ถัดมาผู้เขียนขอไล่เรียงถึงเหล่าการแสดงที่ไม่มีโอกาสเขียนถึงใน The Momentum ด้วยทั้งจังหวะเวลาที่ไม่ลงตัวหรือความอ่อนด้อยของตัวเองที่ไม่สามารถส่งต้นฉบับได้ทันเวลา ความตื่นเต้นของปี 2018 น่าจะเริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน (BICT 2018) แม้จะชื่อว่าละครเด็ก แต่งานหลายชิ้นผู้ใหญ่ก็ดูได้เช่นกัน สารภาพว่าบางงานก็ทำเอาผู้ใหญ่วัยสามสิบกว่าอย่างผู้เขียนเกาหัวแกรกๆ

มีงานสองชิ้นที่น่าประทับใจใน BICT ชิ้นแรกคือ Primo ผลงานเลื่องชื่อของสองศิลปินหนุ่ม อัลเฟรโด ซิโนลา และ เฟลิเป กอนซาเลซ จากเยอรมนี มีลักษณะพิเศษที่จะต้องทำการแสดงในอ่างน้ำขนาดใหญ่ ดังนั้นการหาสถานที่จัดแสดงเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ถือเป็นโชคดีมากที่บ้านเราได้ดูกัน ตัวการแสดงจะเป็นสองหนุ่มลงไปว่ายร่ายรำในอ่างคล้ายโหลปลาทองยักษ์ ส่วนผู้ชมก็ต้องนั่งๆ นอนๆ ดูผ่านกระจก กลายเป็นดินแดนพิศวงที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจอย่างเด็กไร้เดียงสาอีกครั้ง

ชิ้นที่สองคือ Sarabande โดย โนเอมิ บูแตง และ เยิร์ก มูลเลอร์ จากฝรั่งเศส การแสดงชิ้นนี้ยากจะจำกัดความถึงประเภท ฝ่ายหญิงจะนั่งเล่นเชลโลเพลงของบาคไปเรื่อยๆ ส่วนฝ่ายชายจะแสดงทั้งกายกรรมและ juggling ไปกับเหล่าท่อนเหล็กห้อยเชือกที่บางจังหวะทำเอาคนดูร้องอุทานออกมา ช่วงแรกของ Sarabande นั้นนิ่งมากจนต้องถามตัวเองว่านี่คือละครเด็กจริงหรือ แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มจังหวะความน่าตื่นเต้นจนแปรเป็นเสียงปรบมือสนั่นตอนจบโชว์

ตัดภาพมาในเดือนตุลาคม นพพันธ์ บุญใหญ่ กลับมาอย่างอลังการด้วย Siam Supernatural Tour นพพันธ์ยังคงสำรวจถึงขอบข่ายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หลังจากเล่นละครในโกดังร้างใน Co/exist พาคนดูเดินไปมาใน Yelo House ตอนเรื่อง Sleepwalker คราวนี้เขาก็ให้ผู้ชมเดินทัวร์โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศแบบน็อนสต็อป

รูปแบบของ Siam Supernatural Tour คือการพาผู้ชมเดินไปทั่วโรงละครแบบทุกซอกทุกมุม (ไปถึงกระทั่งห้องคอนโทรล) ระหว่างทางก็จะมีสถานการณ์วายป่วงมากมาย รวมถึงมีผีด้วย (แต่ผีบางตัวต้องสังเกตถึงจะเห็น) ผู้เขียนจึงรู้สึกราวกับตัวเองอยู่ในหนังลองเทคของผู้กำกับ รอย แอนเดอร์สัน เลยทีเดียว นอกจากนั้นละครยังมีความเก๋ด้วยการมีชอยส์ให้เลือกสองเส้นทาง ผู้ชมแต่ละคนจึงมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน แต่น่าเสียดายว่าสไตล์อาจจะจัดจ้านจนทำให้สารของละครส่งพลังออกมาไม่ได้มากเท่าที่ควร

ช่วงเดือนพฤศจิกายนก็เป็นคราวของงานใหญ่ประจำปีของชาวละครอย่างเทศกาลละครกรุงเทพ (BTF 2018) งานนี้ผู้เขียนได้ชมละครไปราวยี่สิบเรื่อง ซึ่งถ้าให้พูดตามตรงก็มีทั้งเรื่องที่ประทับใจ เอาใจช่วย และเหนื่อยใจ แต่เรื่องที่อยากจะพูดถึงนั้นมีสามเรื่อง หนึ่ง—Death and the Maiden โดยคณะ Peel the Limelight ละครคลาสสิกของ แอเรียล ดอร์ฟแมน ที่ในไทยเองก็เคยจัดแสดงไปหลายรอบ แต่นี่เป็นผลงานที่พิสูจน์ได้ว่าบทละครที่ดีกับการนำเสนอที่ดีจะนำไปสู่ผลงานที่น่าชื่นชม Death and the Maiden เวอร์ชันนี้ยังคงตึงเครียดกดดันเช่นเดิม โดยเฉพาะจากฝีมือการแสดงของนางเอกอย่าง เคลลี บี โจนส์  

เรื่องที่สอง—Truck ผลงานกำกับโดย กวิน พิชิตกุล และเขียนบทโดย ชนิดา ปัญญาเนรมิตดี ซึ่งผู้เขียนมักประทับใจละครที่กำกับ/เขียนบทโดยศิลปินสองรายนี้เสมอมา Truck ว่าด้วยสามหนุ่มร่างใหญ่ที่มาติดอยู่ในท้ายรถบรรทุกด้วยกัน ซึ่งนั่นคือเรื่องราวทั้งหมดของละคร มองจากพื้นผิวนี่อาจเป็นละครพูดพล่ามไหลไปเรื่อย แต่มันทำให้เห็นว่าผู้สร้างเข้าใจถึงแก่นของความแอบเสิร์ดเป็นอย่างดี จนทำให้กลายเป็นละครบทออริจินอลที่ดีมากเรื่องหนึ่ง อันเป็นสิ่งที่วงการละครบ้านเราค่อนข้างขาดแคลน

เรื่องสุดท้ายจาก BTF คือ นาง (As an actress) กับการร่วมมือกันอีกครั้งของ วิชย อาทมาท และวิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล รวมนักแสดงตัวแม่สามรุ่นสามคนอย่าง รัญญา ศิยานนท์, ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และอรัชพร โภคินภากร ว่าด้วยการเลื่อนไหลไปมาของการเล่นเป็นตัวเอง สลับกับการเล่นเป็นคนอื่น บทบาทอื่น สถานการณ์อื่น จนไปๆ มาๆ ผู้ชมก็ยากจะแยกออกว่าอะไรคือชีวิตจริง อะไรคือการแสดง หรือแท้จริงแล้วไม่อาจแบ่งแยกได้

ตอนที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษใน ‘นาง’ คือตอนของศิรพันธ์ ในขณะที่ตอนรัญญาดูแสด๊งแสดงจนเกินไปในบางฉากและตอนอรัชพรที่ดูหมกมุ่นกับเรื่องของตัวเองจนน่าอึดอัด พาร์ทของศิรพันธ์เป็นตอนที่ลงตัวที่สุด มีทั้งความเป็นธรรมชาติ เป็นมิตร แต่ขณะเดียวกันก็มีช่วงที่เธอให้การแสดงที่เฉียบคมอย่างน่าขนลุก จนเรารู้สึกว่านี่แหละคือการแสดงแบบ ‘ขั้นสูง’

ปิดท้ายปลายปีกับ Afterlight การแสดงที่เป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Art Biennale 2018 โดยดุจดาว วัฒนปกรณ์ ศิลปินหญิงที่เรารัก งานชิ้นนี้เป็นส่วนผสมหลายๆ อย่างของการเคลื่อนไหว การจัดวาง และภาพยนตร์สั้น เมื่อเราเข้าไปตัวงานช่วงแรกอาจเกิดความึนงงเล็กน้อยว่าควรเอาตัวเองไปไว้ตรงไหนของพื้นที่ แต่นี่เองคือโจทย์ของงานชิ้นนี้ มีบริเวณงานอินสตอลเลชั่นที่เดินเข้าไปอย่างยากลำบาก แต่เราก็สามารถฝ่าฟันเข้าไปเพื่อดูนักแสดงได้

นอกจากจะพูดถึงเรื่องการบุก/ชิง/ยึดครองเชิงพื้นที่แล้ว Afterlight ยังเล่นคอนเซ็ปต์นี้กับร่างกายและการเคลื่อนไหว เมื่อชมการแสดงไปสักพักเราจะเริ่มสังเกตว่าบรรดานักแสดงได้ทำการ ‘ก๊อปปี้’ ท่าทางและการเคลื่อนไหวของผู้ชม เป็นการตั้งคำถามว่าร่างกายที่ดูเป็นของเรานั้นแท้จริงแล้วมันเป็นของเราหรือเปล่า และอะไรที่เรียกได้ว่าเป็นของเราได้อย่างจริงแท้บ้าง

ผู้เขียนเชื่อว่าคำถามนี้จะคงอยู่ต่อไปในวงการละครเวทีและศิลปะใดๆ ในปี 2019 เช่นกัน

Tags: , , ,