หากจำได้ไม่คลาดเคลื่อนนัก ละครเวทีเรื่อง ‘ร่อน’ เคยทำการแสดงไปเมื่อหลายปีก่อน อาจจะเกือบสิบปีด้วยซ้ำ แต่ครั้งนั้นผู้เขียนพลาดละครไป จนเขานำกลับมาเล่นใหม่อีกครั้ง แต่เท่าที่ทราบมาก็มีความเปลี่ยนแปลงพอสมควร ทั้งคณะนักแสดงและทิศทางของละคร

ผู้กำกับของ ‘ร่อน’ คือ จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ หลายคนอาจจะคุ้นหน้าเขาในฐานะนักแสดง (ปีนี้เขาทำการแสดงที่น่าจดจำในเรื่อง ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง 2018’) แต่จตุรชัยยังมีบทบาทของผู้กำกับและคนเขียนบทด้วย โดยมากแล้วผลงานของเขามักมีโทนแบบอบอุ่นดูสบาย ทั้งโรแมนติกแบบ ‘ก่อนจูบ’ หรือสไตล์การเล่าเรื่องแบบนิทานใน ‘หมูบินได้’ แต่ทั้งนี้ผลงานของจตุรชัยห่างไกลจากละครเบาหวิวที่ดูจบแล้วก็ลืม หากแต่ยังมีความหนักแน่นแม่นยำด้วย

เนื้อเรื่องของละครว่าด้วยบ้านหลังหนึ่งที่ผู้เป็นพ่อนามว่าสุธีกลับบ้านช้าผิดปกติ สมาชิกครอบครัวที่เหลือประกอบด้วยเกสร-ภรรยา และลูกชายสองคน-สุทินและสุทัศน์ ความวุ่นวายเริ่มต้นขึ้นเมื่อพัชราแฟนเก่าของสุธีมาที่บ้าน ตามด้วยวรพงษ์เพื่อนของสุทิน, ปิ๊ก เพื่อนสาวของพัชรา และบุรุษไปรษณีย์ชื่อประหลาด ไมเคิล แฟรงก์ ทั้งนี้ละครดัดแปลงจากหนังสือ ‘ขอชื่อ สุธี สามสี่ชาติ’ ของประภาส ชลศรานนท์ แต่ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้อ่าน ดังนั้นความคิดเห็นในบทความนี้จึงมาจากตัวละครเวทีล้วนๆ

ละครเรื่องนี้จัดแสดงที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ​ แต่ไม่ใช่โรงใหญ่พันที่นั่งที่เราคุ้นเคยกัน หากแต่เป็น The Studio ห้องเล็กในหลืบที่น่าจะจุคนดูได้ราวๆ ห้าสิบคน เมื่อก้าวเข้าไปก็เห็นฉากเป็นห้องรับแขกกำแพงสีเหลืองสดใส พร้อมกับเฟอร์นิเจอร์ อย่างโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เย็น ผ้าม่าน โทรศัพท์ และด้วยความที่ห้องค่อนข้างเล็ก ที่นั่งของผู้ชมจึงห่างจากเวทีเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น

เพียงแค่ฉากแรกของ ‘ร่อน’ เราก็รู้แล้วว่าละครเรื่องนี้ไม่ได้มาทาง realistic ฉากเปิดเป็นสุทินลูกชายของบ้านกำลังพยายามโกยเครื่องบินกระดาษจำนวนมากลงถุงขยะง่อยๆ เพื่อหอบหิ้วไปทิ้งนอกบ้าน แต่ยิ่งพยายามเท่าไรเครื่องบินเหล่านั้นก็ยิ่งหกล้นออกมาจากถุง และเมื่อพัชราอาสาเข้ามาช่วยก็ดูเหมือนจะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง เป็นฉากตลกปนแอบเสิร์ดคล้ายกับกำลังดูหนัง ฌาคส์ ตาติ ที่ช่วยปรับจูนอารมณ์ของคนดูได้ดีว่าเขากำลังจะเจอละครแบบไหน

ฉากจำอีกฉากที่ผู้เขียนชื่นชอบคือ ฉากที่สองสาว พัชรากับเกสร ได้เจอหน้ากัน บทสนทนาเริ่มต้นด้วยความวางท่าของผู้ดี แต่ทั้งสองก็เริ่มเสียงแหลมสูงใส่กันมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีการแตะต้องตัวกัน แต่มันไม่ใช่การตบตีการแบบดาดๆ ตามละครโทรทัศน์น้ำเน่า เป็นฉากที่พิสูจน์ได้ดีถึงความเก๋าของนักแสดง พวกเธอต้องไต่ระดับของน้ำเสียง ท่าทาง ภาษากายให้ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ และต้องนำเสนอออกมาให้ดูตลกขบขัน ซึ่งดูเหมือนทั้งสองจะทำได้สำเร็จ นี่เป็นฉากที่เรียกเสียงฮาจากคนดูได้มากที่สุดฉากหนึ่ง

 

การดูละครเรื่อง ‘ร่อน’ ทำให้ผู้เขียนมีความสุขอยู่ไม่น้อย ละครเรื่องนี้เหมือนการรียูเนียนกันของเหล่านักแสดงที่แต่ก่อนมักเล่นละครให้กับคณะหน้ากากเปลือยของ นินาท บุญโพธิ์ทอง พวกเขาถือเป็นนักแสดงที่มีทักษะและประสบการณ์สูง นอกจากณัฐญา นาคะเวช และดลฤดี จำรัสฉาย ที่รับบทพัชรากับเกสร อีกตัวละครหนึ่งที่น่าจะเป็นที่รักของผู้ชมคือบุรุษไปรษณีย์ (วัฒนชัย ตรีเดชา) ที่จังหวะตลกของเขาเป็นแนว ‘อยู่ๆ ก็โผล่มา’ แต่ก็ทำเอาผู้ชมฮาระเบิดได้ทุกครั้ง

ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าชื่นชมที่สุดของ ‘ร่อน’ ก็คือเรื่องของ ‘จังหวะ’ ที่แม่นยำของเหล่านักแสดง แม้ในเรื่องจะมีนักแสดงสองเจเนเรชั่นมาร่วมงาน แต่พวกเขาก็สามารถปรับจูนจังหวะการแสดงให้ดูเป็นทำนองเดียวกัน อย่างละครบางเรื่องเราอาจจำได้คนนั้นตลกกว่าอีกคนเป็นพิเศษ แต่ในเรื่องนี้ผู้เขียนรู้สึกว่าความสนุกสนานของละครมาจากการแสดง ‘ร่วมกัน’ ของนักแสดงทั้งเจ็ดคน ฉากที่ชัดเจนมากคือตอนที่พวกเขาล้อมวงกันอ่านบทละคร

อย่างหนึ่งที่ผู้เขียนนึกถึงตอนที่ดูเรื่อง ‘ร่อน’ คือสิ่งที่เรียกว่า ‘กำแพงที่สี่’ (Forth Wall) มันคือกำแพงล่องหนที่กั้นระหว่างผู้ชมกับนักแสดง ละครหรือหนังบางเรื่องอาจทำเซอร์ด้วยการให้ตัวละครหันมาคุยกับผู้ชมอย่างดื้อๆ หรือที่เรียกกันว่า Break the Forth Wall เช่น หนังเรื่อง Annie Hall ที่วูดดี้ อัลเลน พูดกับคนดู หรือ Funny Games ที่ตัวร้ายของเรื่องหันมาถามความเห็นจากผู้ชม

แต่สำหรับเรื่อง ‘ร่อน’ กำแพงที่สี่นี้ถูกสร้างไว้อย่างแน่นหนา ในแง่ที่ว่าระยะห่างของผู้ชมกับนักแสดงมีน้อยมาก ดังนั้นพวกเขาย่อมมองเห็นสีหน้าหรือรับรู้ถึงปฏิกิริยาของคนดูได้อย่างชัดเจน การที่คนดูฮากันสนั่นก็ไม่ได้เป็นผลดีกับนักแสดงเสมอไป พวกเขาอาจต้องผ่อนจังหวะการแสดงในบางฉากเพื่อให้เสียงหัวเราะซาไปก่อน (มิเช่นนั้นเสียงหัวเราะจะกลบไดอะล็อกนักแสดง) หรือรู้กันดีว่าการหัวเราะนั้นเป็น ‘โรคติดต่อ’ ผู้เขียนลุ้นตลอดทั้งเรื่องว่านักแสดงจะเผลอ ‘หลุดขำ’ บ้างหรือไม่ แต่ปรากฏว่าไม่มีแม้แต่สักครั้ง เรียกได้ว่าพวกเขาสร้างกำแพงที่สี่อันโปร่งใสได้อย่างแข็งแรง โลกของตัวละครกับผู้ชมแยกขาดกันอย่างชัดเจน (ซึ่งในที่นี้เป็นเรื่องดี)

ถึงกระนั้นต้องสารภาพว่าเนื้อเรื่องของละครอาจไม่ได้ทำให้ผู้เขียนรู้สึก ‘อิน’ เท่าไรนัก อาจเพราะละครมีความยาวเพียงชั่วโมงกว่า การคลี่คลายปมในใจของพัชราและเกสรออกจะรวบรัดไปสักหน่อย แต่นั่นก็อาจเป็นช่องว่างบางประการที่ผู้กำกับต้องการให้ผู้ชมลองไปขบคิด นั่นรวมไปถึงความหมายของ ‘เครื่องบินกระดาษ’ ที่น่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเรื่อง ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจนักว่ามันสื่อถึงอะไร มันอาจจะหมายถึงชีวิตของตัวละครที่ต้องดำเนินต่อไปแม้ว่าปัญหาทุกอย่างจะไม่ได้คลี่คลายสมบูรณ์แบบ อย่างที่เราเห็นว่าผู้กำกับเลือกจะจบแบบปลายเปิด

ในอีกความหมายหนึ่ง เครื่องบินกระดาษเป็นโปรเจคต์ของสุทินและวรพงษ์ที่จะส่งข้อความให้กำลังใจกับผู้อื่น ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับละครเรื่องนี้ สารของมันอาจจะไม่ได้สร้างอิมแพ็คอะไรมากนัก แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ได้ส่งต่อ ‘ความรู้สึกดีในการชมละครเวที’ ให้กับผู้ชม ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่ละครเวทีทุกเรื่องจะทำได้

* ละครเวที ‘ร่อน’ แสดงถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ​ (The Studio) สยามสแควร์วัน ชั้น 7 (BTS สยาม) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/684843621881909/

Photo Credit: ชานนท์ โตเลี้ยง

Tags: , ,