มิถุนายนเปิดเดือนได้โหดมากเพราะมีละครเวทีเล่นพร้อมกันอย่างน้อย 3 เรื่อง ไม่ขอพูดพร่ำทำเพลงครับ ว่าด้วยแต่ละเรื่องกันไปเลย

RX3: Rose/mary with Roong&Rocket

ละครที่ดัดแปลงจากเรื่อง Rosemary with Ginger ของ เอ็ดเวิร์ด อัลลัน เบเกอร์ (Edward Allan Baker) ซึ่งต้องสารภาพว่าผู้เขียนไม่รู้จักนักเขียนบทละครคนนี้เลย รุ่นพี่นักวิจารณ์พยายามจะหาบทละครเรื่องนี้มาอ่านก่อนไปชมก็มิสามารถหาได้ จนพวกเราตัดสินใจกันว่าจะไปดูแบบสดๆ ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรไปก่อนก็แล้วกัน

RX3 นั้นว่าด้วยพี่ที่มาเยือนน้องซึ่งเปิดร้านอาหาร ฝ่ายน้องกำลังพยายามเขียนเรียงความเรื่องแม่ เพื่อหวังจะเอารางวัลไปให้แม่ ส่วนฝ่ายพี่มีอาการติดเหล้าและเพิ่งทะเลาะกับคนรักมา ละครเรื่องนี้เกิดขึ้นในสถานที่เดียว และดำเนินเรื่องแบบรวดเดียวจบ ไม่มีการเปลี่ยนฉากเปลี่ยนเวลา ความพิเศษยิ่งกว่านั้นคือ ในการชมละครเรื่องนี้เราจะได้ดูสองเวอร์ชั่นต่อกันเลย นั่นคือ Queer Version ที่ทั้งพี่และน้องเป็นเกย์ โดยเรื่องเกิดขึ้นในอเมริกา และ Thai Version ที่ตัวเป็นละครเป็นพี่สาวกับน้องสาว ส่วนฉากหลังคือพัทยา

RX3 เป็นผลงานของคณะ LiFE THEATRE กำกับโดย ครูหนิง พันพัสสา ธูปเทียน ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นเซียนด้านละครดัดแปลงอยู่แล้ว จากผลงานอย่าง The Odd Couple (Queer Version) หนึ่งในละครที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่ง หรือ LifeX3 ที่ดัดแปลงจากบทของ ยาสมินา เรซา (Yasmina Reza) ความโดดเด่นในงานของครูหนิงคือบทสนทนาที่เหมือนจะเรียบง่ายแต่ก็คมคายกินใจ และความใส่ใจในการถ่ายทอดบทพูดเหล่านั้นผ่านนักแสดง

ยิ่งเป็นโชคดีที่ RX3 เป็นการรวมตัวของนักแสดงฝีมือดี คนที่ผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษก็คือ ครูโย-อภิรักษ์ ชัยปัญหา ผู้รับเป็นโรส พี่สาว (ที่จริงๆ คือพี่ชาย) อารมณ์ร้ายใน Queer Version แม้ช่วงแรกเวอร์ชั่นเควียร์จะมีมาดและจริตจะก้านแบบฝรั่งมากๆ แต่ตัวละครโรสก็ทำให้ผู้เขียน ‘อิน’ ไปกับเธอได้ เธอเป็นตัวละครที่ในฉากหนึ่งก็แสนน่ารังเกียจ แต่ในฉากต่อเธอก็เปราะบางจนเราเห็นอกเห็นใจ ฉากหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าดีมากคือตอนที่โรสโมโนล็อกเรื่องขับรถพาลูกไปบนเขา เป็นฉากที่ยากมหาหิน แต่นักแสดงถ่ายทอดออกมาได้อย่างตราตรึงใจ

ผู้เขียนมาทราบภายหลังว่า RX3 แต่ละรอบจะสลับว่าจะเอา Queer Version หรือ Thai Version ขึ้นก่อน (ผู้เขียนได้ดู Queer ก่อน) ซึ่งฟอร์แมทแบบนี้ดูจะเป็นดาบสองคมเหมือนกัน เพราะผู้ชมจะได้ดูละครคล้ายๆ กันสองเรื่องที่ปรับเปลี่ยนบริบทบางส่วนในเวลาใกล้เคียงกัน สำหรับผู้เขียนแล้วมันทำให้เวอร์ชันสอง ‘ดร็อป’ ลงไปอย่างช่วยไม่ได้ อาจด้วยความที่รู้เรื่องทั้งหมดอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรจะมาเซอร์ไพรส์เราได้อีก

อย่างไรก็ดี ข้อดีของการเล่นสองเวอร์ชันคือการสังเกตเรื่องการตีความของแต่ละแบบ ผู้เขียนสังเกตว่าเวอร์ชันไทยจะมีแอ็คติ้งไปทางบ้านๆ และเข้าถึงง่ายขึ้น หรือบางไดอะล็อกก็ถูกลดทอนไป เป็นสิ่งที่ทำให้เราครุ่นคิดเดาใจถึงความตั้งใจของผู้สร้าง และหากมีโอกาสผู้เขียนก็อยากจะชมรอบที่เล่น Thai Version ก่อนเหมือนกัน เพราะน่าจะได้ความรู้สึกที่ต่างออกไป

ฟันธง: RX3 เหมาะกับคนที่อยากดูละครเนื้อหาเข้มข้นและการแสดงชั้นดี

Albatross

แน่นอนว่าเมื่อได้ทราบถึงข่าวสารของละครเรื่องนี้ ผู้เขียนก็ถามในใจทันทีว่า อัลบาทรอสส์คืออะไร (วะ) ภายหลังทางเพจอีเวนต์ของละครได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามันคือชื่อของนกชนิดหนึ่ง ที่มีจุดเด่นว่าจะการเต้นรำกันก่อนตัดสินใจเลือกคู่ และมันจะไม่เปลี่ยนคู่ไปตลอดชีวิต แต่ดูละครจนจบแล้วผู้เขียนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่าเรื่องราวของนกชนิดนี้มันเกี่ยวกับละครอย่างไร (ฮา)

อันที่จริงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะนี่คือผลงานล่าสุดของเฟิร์ส-ธนพนธ์ อัคควทัญญู แห่งคณะ Splashing Theatre ที่ขึ้นชื่อเรื่องละครที่ซับซ้อนชวนฉงน อย่างผลงานเรื่องที่แล้ว Teenage Wasteland มีความยาวถึงสองชั่วโมงครึ่ง ว่าด้วยชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์, กัมดั้ม และเกม RPG (!?) ส่วน Albatross เล่าถึงฆาตกรต่อเนื่องนามอัลบาทรอสส์ที่ออกมาล่าเหยื่ออีกครั้งในรอบ 16 ปี  

  จุดที่ต้องชื่นชมอย่างเลี่ยงไม่ได้ของ Albatross คือการสร้างโลกอันมีบรรยากาศเฉพาะตัวน่าหลงใหล แม้จะระบุว่าเป็นเมืองติดทะเลแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่มันมีบริบทเฉพาะตัวทั้งฆาตกรต่อเนื่องที่ยังลอยนวล ฝุ่นควันจากระเบิดนิวเคลียร์ เสียงคลื่นทะเลและนกร้อง (ดนตรีประกอบโดย ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ หรือ Beam Wong ศิลปินแนวทดลองเข้ากับละครอย่างดิบดี) นอกจากนั้นยังใช้พร็อพอย่างม่านดำหรือกระจกได้อย่างชาญฉลาด ชวนให้นึกถึงแนวคิด Mirror Stage ของ ฌาคส์ ลากอง (Jacque Lacan) เพราะละครเรื่องนี้พูดถึง identity อันแสนบิดเบี้ยว เพราะทุกตัวละครดูจะเป็นได้ทั้งเหยื่อและฆาตกรในคนเดียวกัน

ถึงจะมีความยาวสองชั่วโมงที่ไม่ได้เกินมาตรฐานอะไร แต่ผู้เขียนต้องยอมรับว่าใช้ความอึดพอสมควรกับการชม Albatross เพราะละครนำเสนอประเด็นมากมายจนนับไม่ไหว มีการแทรกฉากแฟลชแบ็คแม้จะมีการยิงโปรเจคเตอร์ว่าเรื่องราวอยู่ในวันที่เท่าไร และอันที่จริงผู้เขียนก็ชอบที่หนังไม่ได้เน้นการเฉลยว่าฆาตกรคือใคร แต่หลังจากผ่านความหนักหน่วงนานัปการ เมื่อตัวละครจบลงผู้เขียนหันไปถามเพื่อนอย่างขำๆ ว่าตกลงละครจะบอกอะไรกับเราหว่า

Albatross ยิ่งเข้าถึงยากไปอีก เมื่อนักแสดงทุกคนใช้การแสดงแบบกดทับหน้าตายดูไร้ความรู้สึก อาจจะมีเพียงตัวละครนักสืบหนุ่มที่ผู้ชมพอจะมีอารมณ์ร่วมกับเขาได้ แต่ที่จริงนั่นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะนักสืบหนุ่มคือตัวแทนของคนนอกที่เข้าไปสืบคดีด้วยความห้าวหาญ หากต้องพบกับความเจ็บปวดเกินรับไหว เราเองในฐานะผู้ชมก็คือผู้ที่เฝ้าสังเกตการณ์เมืองนี้ มันเป็นเมืองอันตรายที่ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว แต่ก็ห้ามใจที่จะไม่หันกลับไปมองได้ยาก

ฟันธง: Albatross เหมาะกับคนที่อยากดูงานที่ท้าทาย หนักหน่วง และเป็นสายดาร์ค

Peace Piece

แตงโม-ลฎาภา โสภณกุลกิจ และจั่น-วิชญ์พล ดิลกสัมพันธ์ คือนักแสดงรุ่นใหม่ที่ผู้เขียนคุ้นเคยมาสักพักจากผลงานของคณะ FULLFAT theatre ทั้งสองถือเป็นนักแสดงและคนละครฝีมือไว้ใจได้ ผู้เขียนจึงรู้สึกตื่นเต้นเมื่อทราบว่า Peace Piece จะเป็นผลงานโซโล่เรื่องแรกของแตงโม และมีจั่นทำหน้าที่กำกับและเขียนบท

Peace Piece มีความกิ๊บเก๋หลายประการ เริ่มตั้งแต่การใช้สถานที่แสดงเป็นร้านอาหารชื่อ Ekamian และเมื่อเข้าไปด้านในแทนที่จะเก็บตัวในห้องเพื่อทำสมาธิแบบนักแสดงทั่วไป แตงโมกลับออกมาทักทายผู้ชมอย่างเป็นกันเอง จนเราแอบงงว่า เอ๊ะ นี่คือการแสดงหรือเปล่า หรือว่าการแสดงได้เริ่มแล้ว

ในขณะที่กำลังงงๆ อยู่แตงโมก็พูดกล่าวขอบคุณที่เรามาร่วมงานวันเกิดของเธอ จากนั้นเธอก็เริ่มพูดโมโนล็อกไปเรื่อย เราไม่แน่ใจว่านี่ยังเป็นแตงโมที่เรารู้จักมั้ย หรือเป็นแตงโมที่กำลังสวมบทบาทของใครสักคน หรือที่จริงแล้วนั่นไม่ใช่คำถามที่สลักสำคัญอะไร

Peace Piece ดูไม่ใช่ละครเวทีแบบที่เราคุ้นชินนัก อย่างชัดเจนที่สุดคือมันไม่มี ‘เวที’ แตงโมเริ่มต้นที่ห้องอาหารชั้นหนึ่ง ก่อนจะพาเราไปยังห้องโถงและห้องนอนที่ชั้นสอง การชมละครเวทีเรื่องนี้จึงเหมือนการไปเที่ยวบ้านเพื่อน การฟังเพื่อนเล่าเรื่องราวความทรงจำของตัวเอง

มีบางช่วงของละครที่น่าสนใจมาก เช่นตอนที่แตงโมเล่าถึงวันเกิดของเธอ (ที่เดาได้ไม่ยากนักว่าตรงกับวันที่ 6 ตุลา) หรือเรื่องเพื่อนสมัยเรียนที่หายตัวไป แต่อย่างที่ชื่อเรื่องแนะนำว่า Peace Piece เรื่องราวต่างๆ ของการแสดงชิ้นนี้ถูกนำเสนอแบบเป็นชิ้นส่วนที่ไม่ค่อยปะติดปะต่อนัก (Fragment) มีบางช่วงที่ผู้เขียน ‘หลุด’ ไปจากการโมโนล็อกของแตงโม แต่ผู้สร้างก็ชาญฉลาดในการใช้พร็อพ เช่นในห้องนอนมีหนังสือวางเรียงรายเต็มไปหมด หนังสือแต่ละเล่มก็สามารถบอกเล่าตัวตนและเรื่องราวในชีวิตของเธอได้ ช่วงที่ผู้เขียนเริ่มไม่สามารถจดจ่อกับการแสดง ก็เปลี่ยนบรรยากาศไปหยิบจับข้าวของในห้องแทน และดูเหมือนนักแสดงเองจะไม่ถือสาอะไร

 

Peace Piece ถือเป็นการแสดงที่ค่อนข้างจะเป็นส่วนตัวและอาจมีเนื้อหาไปทางเบาบาง แต่ผู้เขียนก็รู้สึกชอบที่ผู้สร้างมีความกล้าจะนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ นี่เป็นผลงานที่เหมาะเจาะเหมาะสมกับช่วงวัยของทั้งนักแสดงและผู้กำกับ ถ้าพวกเขาไม่ทำงานชิ้นนี้ในช่วงชีวิตนี้ ก็อาจจะไม่มีวันทำมันได้อีก ผู้เขียนเชื่อว่าทั้งสองจะมีงานที่แข็งแรงขึ้นในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน  

ฟันธง: Peace Piece เหมาะกับคนที่ชอบละครเวทีที่มีฟอร์มไม่ค่อยเป็นละครเวที และงานแบบกุ๊กกิ๊กปนหม่นเศร้า

*RX3: Rose/mary with Roong&Rocket แสดงถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ณ BlueBox Studio (M Theatre ถ.เพชรบุรี) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/583472308705095/

*Albatross แสดงถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2561 ณ Democrazy Theatre Studio (MRT ลุมพินี) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/159960888012956/

*Peace Piece แสดงถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ณ Ekamian (ซอยสุขุมวิท 49) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/1544456955676097/

Tags: , , , ,