ชิ้นงานศิลปะของสมัคร์ กอเซ็ม เป็นผลผลิตหนึ่งจากการทำงานวิจัยทางมานุษยวิทยาในเรื่อง ‘เควียร์มุสลิม’ ภายใต้ขอบเขตการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้เป็นมุสลิมคนหนึ่ง แต่สมัคร์ไม่ใช่คนในพื้นที่ งานศึกษาของเขาจึงมีมิติที่คาบเกี่ยวระหว่างการเป็นคนนอก (พื้นที่) และคนใน (ศาสนา)
ในระยะแรกของการทำงานภาคสนาม สมัคร์เลือกทำความคุ้นเคยกับบริบทพื้นที่ผ่านการศึกษา ‘อมนุษย์’ สี่ชนิด ได้แก่ แกะ ญิน (วิญญาณในโลกทัศน์อิสลาม) คลื่นทะเล และด่านตรวจ โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้ต่างเป็นเควียร์ ในความหมายของการดำรงอยู่อย่างแปลกแยกและเป็นอื่นในสังคมนั้นๆ แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์อย่างยิ่งทางใดทางหนึ่งกับคนในชุมชนก็ตาม
กรณีศึกษาข้างต้นผลิดอกออกเป็น ‘แกะ’ วิดีโอสารคดีเชิงทดลองที่เล่าเรื่องผ่านแกะจรจัดใน ‘รูสะมิแล’ หมู่บ้านเล็กๆ ของจังหวัดปัตตานี ผู้ชมจะได้รับบทเป็นผู้สังเกตการณ์ ติดตามดูฝูงแกะเดินเร่ร่อนคุ้ยขยะหากินรอบหมู่บ้าน ตลอดความยาวกว่าสิบห้านาทีของวิดีโอ ไม่ปรากฏเสียงหรือข้อความที่ให้ข้อมูลของสิ่งซึ่งต้องการสื่อสารกับผู้ชมอย่างชัดเจน จะได้ยินเพียงแค่เสียงสวดอธิษฐานแว่วมาจากที่ไกลออกไป
เรื่องราวของแกะปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน เมื่ออับราฮัมเตรียมสละชีวิตลูกชายตามพระประสงค์ของพระเจ้า ทว่าพระองค์ทรงส่งแกะตัวหนึ่งลงมาให้เชือดแทน ด้วยคำบัญชานั้นเป็นเพียงบททดสอบ
แม้ได้รับการกล่าวถึงในเรื่องเล่าทางศาสนา แต่แกะในรูสะมิแลต่างถูกผู้คนในชุมชนสาปแช่ง เหตุเพราะมักคุ้ยเขี่ยทำลายข้าวของของชาวบ้าน บ้างบางตัวก็มีสุนัขจากชุมชนพุทธใกล้เคียงข่มขืน ผลคือแกะกลายเป็นสัตว์ไม่สะอาด ไม่เหมาะแก่การนำไปประกอบพิธี และถูกละทิ้ง
แกะเปื้อนมลทินอาจเปรียบได้กับภาพแทนของพื้นที่สามจังหวัด ซึ่งถูกปักป้ายเป็นดินแดนต้องมนตราความไม่สงบในจินตภาพของรัฐไทย หรือในทางหนึ่งก็อุปมาแกะเร่ร่อนได้ถึงความรู้สึกถูกละทิ้งหลงทางของคนในพื้นที่ กระนั้นก็ตาม แกะ ยังช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของการเบียดขับสิ่งไม่อาจยอมรับได้ภายในสังคมมลายูมุสลิม ผ่านการมีตัวตนในฐานะเหยื่อ หากพวกมันสะอาดย่อมโดนเชือด แต่ถ้าเปรอะเปื้อนต้องทอดทิ้ง
ผลงานภาพเคลื่อนไหวตั้งข้อสมมติฐานผ่านการมองแกะ เป็นตัวแนะบอกถึงโจทย์หลักข้อหนึ่งในงานศิลปะของสมัคร์ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของการมองเป็นสำคัญ ในแง่ของการนำเสนอ ก็พ้องต่อข้อจำกัดในการรับชมงานของเขาพอสมควร ด้วยความที่งานศิลปะเป็นกระบวนการหนึ่งของงานวิจัย การเข้าใจในสารที่ต้องการสื่อกับผู้ชมอย่างชัดแจ้ง ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงตาเห็น หากเรียกร้องการอ่านข้อเขียนที่ควบคู่กันกับศิลปะชิ้นนั้นด้วย
(ดูเหมือนว่า ‘การอ่าน’ ก็เป็นกิจที่มาคู่กันในการรับชมผลงานศิลปะเสมอมา โดยเฉพาะข้อคิดเห็นและความเข้าใจที่มีต่อตัวชิ้นงานในระดับลุ่มลึกขึ้น จำต้องอาศัยการอ่านบริบทรอบข้างให้มองเห็นได้ เช่น ความสนใจ/หมกมุ่นของศิลปิน ประวัติศาสตร์ รหัสทางวัฒนธรรม เป็นต้น โดยคำนึงถึงสิ่งที่ศิลปะชิ้นนั้นเข้าไปพาดพิงด้วย)
อย่างไรก็ดี แกะ ก็เป็นงานทดลองที่ทำให้เราพอมองเห็นภาพของเควียร์ในพื้นที่ และทำหน้าที่คล้ายประตูบานแรกเพื่อเปิดเข้าสู่ใจหลักหัวข้ออันละเอียดอ่อนทางศาสนาในชิ้นงานของเขา คือเรื่อง ‘เพศวิถี’ ซึ่งพยายามนำเสนอถึงวิธีการต่อรองระหว่างตัวตนทางเพศกับอัตลักษณ์ทางศาสนาของคนหลากหลายทางเพศ ผู้ดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางวัฒนธรรม จำต้องกดซ่อนความปรารถนาทางเพศของตนไว้ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากบรรทัดฐานของสังคมมุสลิม
โลกนี้ไม่มีคนอื่นเลย
“ท่านรอซูลฯ ได้สาปแช่งชายที่เลียนแบบเป็นผู้หญิง และหญิงที่เลียนแบบเป็นผู้ชาย”
ข้อความข้างต้นคือตอนหนึ่งในพระวจนะอ้างจากศาสดานบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ชี้ให้เห็นถึงผิดบาปของการมีเพศสภาพที่แปลกต่างจากทวิลักษณ์ชายหญิง
ตามทัศนะอิสลามตัวบททางศาสนาคือบัญญัติข้อห้ามอันเข้มแข็ง หากละเมิดย่อมหมายถึงการละเลยต่อหน้าที่ของศาสนิกที่ดี จึงเป็นเรื่องยากที่มนุษย์คนหนึ่งจะสวมใส่อัตลักษณ์ทั้งสองซึ่งปะทะกันอย่างรุนแรงไว้ได้อย่างไม่ลำบากใจ
นัยสำคัญในการตีกรอบพื้นที่สามจังหวัดของสมัคร์ คือต้องการศึกษาที่ทางของคนมุสลิมหลากหลายทางเพศในบริบทสังคมเคร่งครัดศาสนา พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นสนามศึกษาอันเหมาะสมต่อการทำความเข้าใจ และช่วยฉายภาพของปรากฏการณ์ได้ชัดเจนมากที่สุด
อัตลักษณ์มุสลิมที่เข้มข้น อาจคิดเล่นมองเห็นได้จากสองปัจจัยหลัก หนึ่งเป็นเหตุมาจากประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ‘ปัตตานี’ เป็นรัฐอิสระมาตลอดพันกว่าปี เพิ่งจะกลายเป็นกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ของไทยเมื่อร้อยกว่าปีหลังครั้งกำเนิดเส้นเขตแดนแบ่งรัฐชาติ จึงคงรักษาอัตลักษณ์มลายูมุสลิมของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น อีกแง่หนึ่งเป็นผลกระทบของความไม่สงบกว่าสิบสี่ปี จารีตอิสลามจำต้องถูกขับเน้นยิ่งขึ้นให้เข้มแข็ง ศาสนาแทรกซึมผ่านชีวิตประจำวัน วิถีชีวิตขับเคลื่อนด้วยความเชื่อทางศาสนาเพื่อเป็นกลไกในการขับไล่ความรุนแรง
ในด้านหนึ่งศาสนาช่วยปลดปล่อย แต่อีกด้านเป็นโซ่ตรวนผูกเอาไว้ เมื่อหลักการเข้มแข็งขึ้น ตัวบทย่อมเข้มงวดตาม เพศสภาพที่ไม่รับกันกับอักษรจึงไม่อาจยอมรับได้ เชื่อสนิทใจว่าศาสนาไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย และคับแคบเกินกว่าคนรักร่วมเพศจะแทรกตัวลงไปได้ หนึ่งในปัญหาอาจเป็นเรื่องง่ายดายในความเห็นตื้นเขินจากคนนอก คือไม่มีพื้นที่ให้กับการพูดถึงหรือทบทวนเรื่องเพศวิถีอย่างเพียงพอหรือเปล่า
สมัคร์ใช้ศิลปะเป็นพื้นที่มอบความเป็นเจ้าของเรื่องราวให้กับ ‘ปอแน’ (คำเรียกกะเทยในภาษามลายู) คนหนึ่ง ผ่านวิดีโอศิลปะ Neverland (2017) เนื้อหาส่วนใหญ่แสดงภาพปอแนกระโดดโลดเต้นเล่นทรายริมชายหาด ในท่าทางสุขล้นเกินพอดี ราวกับว่ามีชีวิตอยู่ในโลกของตัวเอง
การเลือกฉากหลังเป็นชายหาดตะโละกาโปร์ จังหวัดปัตตานี ด้วยสมัคร์มองเห็นว่าทะเลเป็นสถานที่พักผ่อนใจของคนในชุมชน จึงนำมาสื่อแทนพื้นที่อันปลอดภัยของปอแน พื้นที่เปิดกว้างของทะเลยังอุปลักษณ์ได้ถึงสถานที่ไร้ขอบเขต ไม่มีกำแพงขวางเพดานกั้นตัวตนทางเพศของเขา นอกจากนี้ การแสดงออกในพื้นที่เปิดโล่งก็เป็นการจงใจให้เห็นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
งานชิ้นนี้พาปอแนออกมาอยู่ในพื้นที่ของการมองเห็น ไม่ปกปิด น้อยที่สุดคือพาออกมาปะทะกับสายตาของผู้ชม ในวิดีโอเราจะเห็นแววตาไร้เดียงสาของเด็กๆ บริเวณชายหาด จับจ้องต้องตัวเขาอยู่บ่อยครั้ง เหมือนแนะบอกว่ามีเพียงสายตาของเด็กเท่านั้นที่มองเห็นได้
ชวนให้นึกถึงดินแดน ‘Neverland’ จากนวนิยายเรื่อง ‘Peter Pan’ อันเป็นโลกในจินตนาการของเด็กที่ทุกสิ่งสามารถเป็นจริงได้และไร้ซึ่งกาลเวลา โลกสมมติของปอแนจึงอาจอนุมานได้ถึงพื้นที่ของความปฏิเสธการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และพื้นที่ของการซ่อนเร้นหลบภัยจากความเป็นจริง
ฉากสำคัญในเรื่อง คือตอนต้นของวิดีโอที่ปอแนแสดงออกชัดถึงความทุกข์ใจ แต่เมื่อเขาสวมใส่ ‘ปาเต๊ะ’ ผ้านุ่งหรือโสร่งสำหรับสตรี ฉากกลับตัดสลับไปสู่ภาพใบหน้าอันสดใส ดูมีความมั่นใจราวกับเป็นคนละคนกับก่อนหน้า การนุ่งปาเต๊ะของปอแน คล้ายบ่งบอกถึงความสบายใจต่อภาวะครึ่งกลางระหว่างชายหญิงของตน การสวมปาเต๊ะวิ่งเล่นไปมาไม่อาจทำได้ในพื้นที่จริง ใบหน้าเปื้อนยิ้มจึงเกิดขึ้นจากความสุขของการได้แสดงอัตลักษณ์อย่างเสรีในพื้นที่ศิลปะ
การแต่งกายน้อยชิ้นเหมือนเด็กๆ นอกจากจะเป็นการสร้างความเฉพาะให้กับร่างกาย เพื่อแยกตัวเองออกจากบุคคลอื่นในพื้นที่เดียวกันแล้ว ยังใบ้ถึงกลวิธีการเล่าเรื่องว่าเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางร่างกายอีกด้วย
พื้นที่เกือบทั้งหมดของวิดีโอแสดงภาพการเต้นรำ หน้าที่อย่างหนึ่งของการเต้นคือปลดปล่อยอารมณ์ข้างในออกมา ภาพที่เราเห็นปอแนเต้นนั้นแลดูปลดปล่อยและมีอิสระ สื่อถึงภาวะปลดเปลื้องจากบางสิ่งที่สวมคลุมร่างกายของเขาเอาไว้ในโลกจริง หรือทางหนึ่งก็เป็นไปเพื่อเยียวยาบาดแผล การเต้นยังเป็นวิธีการใช้ร่างกายที่มอบความสนุกสนานให้กับผู้ที่มองเห็น จะเลือกตอบกลับด้วยความปรีดาหรือขุ่นข้องหมองใจล้วนขึ้นกับสิ่งที่เราแบกถืออยู่ทั้งสิ้น
มีคำกล่าวว่า “โลกนี้คือละคร” การแสดงของปอแนเมื่อดำเนินถึงตอนจบ ก็ยังมีบทบาทในโลกแห่งความเป็นจริงที่ต้องเล่น ข้อจำกัดที่สำคัญของมนุษย์คือไม่อาจควบคุมได้ทั้งกาลเวลาและสายน้ำ ในตอนท้ายของวิดีโอ จึงแสดงภาพปอแนเดินลงไปให้เกลียวคลื่นกลืนกินตัวเอง อันหมายถึงการกลับไปสู่ชีวิตสามัญของตนเอง หวนคืนสู่ธรรมชาติ กลับคืนสู่ทางเดินของศาสนา
สิ่งที่อยู่ข้างใน
ปอแนยังคงเป็นตัวเอกในผลงานภาพถ่ายอีกสองชุดของสมัคร์ คือ ‘คู่มือละหมาด’ และ ‘ปอแน’ เป็นตัวย้ำบอกว่าศิลปะของเขายังคงวงเวียนอยู่ในหัวข้อเดิม การคงอยู่กับเรื่องเดิมอาจไม่ใช่การทำซ้ำจำเจ แต่เป็นการต่อยอด หากเรามองเห็นว่าการสร้างงานศิลปะนั้นคือกระบวนการค้นคว้ารูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นได้ทั้งคำถามหรือผลลัพธ์ตกตะกอนจากการศึกษา
การยึดติดกับเรื่องเดิมของสมัคร์ช่วยส่งผลในแง่ของการคงรักษาคำถามต่อเรื่องเพศวิถีเอาไว้ พร้อมกันกับผลลัพธ์อันก่อตัวขึ้นตามสภาพชิ้นงานรูปแบบใหม่ คือภาพถ่าย เพื่อสื่อสารข้อความกับผู้ชมอย่างหนักแน่นยิ่งกว่าความแฟนตาซีของวิดีโอศิลปะ
ในภาพถ่ายชุด คู่มือละหมาด แสดงภาพปอแนปฏิบัติศาสนกิจห้าขั้นตอน การละหมาดคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอิสลาม ถือเป็นศาสนกิจที่มุสลิมที่ดีไม่อาจละเลยได้ ภาพชุดนี้จึงสื่อชัดว่าแม้เพศของตนจะเบี่ยงเบนจากการสร้างของพระเจ้า แต่เมื่อเกิดมาเป็นมุสลิมแล้ว ก็สามารถดำรงชีวิตตามวิถีของ ‘มุสลิมที่ดี’ เหมือนคนอื่นได้เช่นกัน โดยที่ตัวตนในพื้นที่ทางศาสนาของเขาก็ยังเป็นการประนีประนอมให้อัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองดำรงอยู่ได้ภายใต้กรอบความเชื่อ อันเห็นได้จากการสวมชุดละหมาดตามเพศสรีระ สำหรับตัวอักษรอาหรับที่เขียนประทับลงบนภาพ เป็นคำแปลความหมายของคำว่า ‘เควียร์’ ด้วยว่าในทางศาสนานั้นคำนี้ยังไม่มีคำที่ใช้เรียกสิ่งนี้ สมัคร์จึงใส่ลงไปเป็นลูกเล่นให้เควียร์มีที่ทางและความหมายในคู่มือศาสนา
ปอแน เป็นชุดภาพถ่ายแสดงภาพอากัปกิริยาที่ปอแนมีต่อสถานการณ์ต่างๆ สมัคร์จัดวางตัวแบบไว้จุดกึ่งกลางรูปถ่าย ในระยะพื้นหลังเป็นภาพบริบทรอบข้าง ที่สมัคร์เห็นว่ามีผลต่อการใช้ชีวิตของปอแนในพื้นที่สามจังหวัด ประกอบไปด้วย แกะ ญิน ด่านตรวจ มัสยิด ดอกชบา กลุ่มดะอ์วะฮ์ (ผู้เผยแพร่อิสลาม) และกุโบร์ (สุสาน)
ภาพถ่ายทั้งสองชุดนี้ประมวลความได้ถึงแนวคิดที่สมัคร์มีต่อตัวตนของปอแนคนหนึ่งในพื้นที่ ผู้อาสาเป็นกรณีศึกษาและนางแบบให้แก่งานของเขา เป็นเรื่องของความยินยอมพร้อมใจกันระหว่างผู้วิจัยกับผู้ถูกวิจัย และระหว่างศิลปินกับตัวแบบ ภายใต้ความต้องการที่จะสื่อสารสิ่งเดียวกันคือแสวงหาพื้นที่ให้กับตัวเอง
แต่ความต้องการก็ไม่ได้เป็นเรื่องคงที่ หากเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา เมื่อผลงานภาพถ่ายทั้งสองชุดทำการประชาสัมพันธ์ออกไปเพื่อเตรียมจัดแสดง นางแบบเควียร์ผู้ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ ได้ร้องขอให้สมัคร์เซนเซอร์ใบหน้าของเขาเสีย (นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในข้อเขียนชิ้นนี้เลือกใช้คำว่า ‘ปอแน’ เมื่อต้องกล่าวถึง แทนที่จะใช้ชื่อของเขาจริงๆ ทั้งที่คำนี้ไม่สุภาพเอาเสียเลยในการใช้เรียกมนุษย์คนหนึ่ง—ผู้เขียน)
ใน คู่มือละหมาด สมัคร์ใช้วิธีการพ่นหมึกสีแดงลงบนใบหน้าของตัวแบบ พาให้นึกถึง ‘ญิน’ สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติไร้รูปลักษณ์และไม่อาจมองเห็นได้ชนิดหนึ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาจากไฟ อุปไมยได้กับการมีอยู่ของเควียร์ ที่เราอาจ (เลือกที่จะ) ไม่รู้ว่าเขามีตัวตนเป็นอย่างไร ส่วนใน ปอแน สมัคร์ใช้ผ้าคลุมศีรษะสตรีหรือ ‘ฮิญาบ’ ปิดทับใบหน้าตัวแบบ เป็นการเล่นกับความหมายของฮิญาบที่แปลว่า ‘ปิดกั้น’
การจำต้องเซนเซอร์อัตลักษณ์ของตัวแบบ ชี้ให้เห็นว่าวาทกรรมเรื่องเพศภายใต้กรอบศีลธรรมยังเป็นสิ่งสำคัญที่ควบคุมความรู้สึกนึกคิดของเขาเอาไว้ แม้ว่าความต้องการเปิดเผยตัวตนทางเพศของเขาจะถูกประดิดประดอยให้กลายเป็นงานศิลปะ พื้นที่สมมติที่ทุกสิ่งดูเป็นไปได้มากที่สุดก็ตาม แต่ที่สุดแล้ว ราคาที่ต้องจ่ายมันแพงเกินไป การ (ถูกให้) เลือกประนีประนอมกับแรงกดดันจากสังคมและศาสนา คงเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความทุกข์ใจน้อยที่สุด
เมื่อตัวตนทางเพศและและศาสนาไม่อาจดำเนินไปด้วยกันได้ สำหรับปอแนแล้วนั้น เขาเลือกที่จะต่อรอง แต่กับบางคนทางออกอาจเป็นการเลือกเดินออกมา เช่นใน ‘The Day I Became…’ วิดีโอศิลปะอีกชิ้นหนึ่งของสมัคร์ เล่าเรื่องผ่าน ‘กัยนา’ มุสลิมคนหนึ่งผู้นิยามตัวเองเป็น ‘ทอม’ ตลอดความยาวกว่าครึ่งชั่วโมงของวิดีโอแสดงภาพเหตุการณ์กัยนาตัดแต่งผมทรงสั้นในร้านตัดผมชาย
กัยนาเลือกย้ายออกจากบ้านเกิดที่ยะลามาใช้ชีวิตและทำงานที่กรุงเทพฯ เนื่องด้วยความอึดอัดจากเพศวิถีของตัวเองที่ถูกตัดสินอยู่เสมอว่าเป็นบาป ซึ่งดูเหมือนความเป็นเมืองจะช่วยดูดซับแรงปะทะจากความหลากหลายได้ดีกว่าการอยู่ในชุมชนที่ความสัมพันธ์ของผู้คนนั้นทั่วถึงกัน ช่วยให้เธอสามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ ตัวตนทางเพศของตนเองได้อย่างสบายใจ
ฉากสำคัญของวิดีโอคือตอนที่เธอถอดฮิญาบออกก่อนตัดผม นอกเหนือจากเป็นการถอดสิ่งปิดกั้นออกแล้ว ยังถอดความเป็นหญิงตามที่ศาสนาบัญญัติออกไปด้วย เธอไม่จำเป็นต้องปิดบังทรงผมสั้น หลบซ่อนความเป็นชายไว้ภายใต้การปกคลุมของฮิญาบอีกต่อไปแล้ว
เมื่อช่างเริ่มทำการตัดผม จะมีเสียงพากย์คล้ายบทสวดภาษาอาหรับแทรกเข้ามาดังฟังชัด ทำให้การตัดผมของกัยนาดูเหมือนกับเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านทางร่างกาย การเปลี่ยนแปลงร่างกายไม่ใช่เรื่องของการสูญเสียหรือความตาย หากเป็นการเกิดใหม่ในร่างที่ต่างออกไป ภาพการตัดผมของกัยนาจึงคล้ายการนำเสนอถึงการเอาชนะข้อจำกัดที่ร่างกายเดิมสวมใส่อยู่ เปลี่ยนไปสู่การมีร่างกายแบบที่ตนต้องการจะเป็น ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อเธอเลือกเดินออกมาจากพื้นที่เชิงกายภาพและพื้นที่ทางศาสนา
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากผลงานเควียร์ทุกชิ้นของสมัคร์คือล้วนข้องเกี่ยวกับการนำเสนอผ่านร่างกายเป็นสำคัญ การนำเสนอรูปธรรมของร่างกายเป็นการตอบโต้สิ่งนามธรรมที่สวมทับของร่างกายของพวกเขาเอาไว้ นอกจากนี้ การถ่ายภาพของตัวแบบในระยะใกล้ มองเห็นใบหน้าชัดเจน ยังเป็นการให้คุณค่าและหยิบยื่นให้เรามองตัวแบบในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
มีข้อความหนึ่งที่สมัคร์พูดถึงชิ้นงานภาพถ่ายของตัวเอง ซึ่งมองว่าเป็นข้อสรุปที่สามารถนำมาอธิบายผลงานเควียร์ทุกชิ้นของเขาได้อย่างชัดเจน
“เพศสภาพของเขานั้นคือเรื่องระหว่างเขากับพระเจ้า ไม่มีใครหรือมนุษย์คนใดมาตัดสินค่าความเป็นคนและความเป็นมุสลิมของเขาได้ ภาพคู่มือละหมาด จึงไม่อาจสร้างความขัดข้องใจอันใดเลย หากมุสลิมที่เห็นภาพเหล่านี้เข้าใจถึงความเมตตาของพระเจ้า และการเปิดใจเพื่อมองทุกคนเป็นประชาชาติเดียวกัน ขณะเดียวกัน ถ้าหากภาพเหล่านี้ไปสร้างความรู้สึกโกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ นั่นหมายความว่าภาพถ่ายได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว เพื่อแสดงถึงทัศนคติด้านลบที่มีต่อกลุ่มเกย์มุสลิม” —สมัคร์ กอเซ็ม ระบุไว้ในบทความ “เป็นเช่นอื่น: ศิลปะเควียร์มุสลิมและอมนุษย์ 4 เรื่องในปัตตานี” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชุมวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ‘ศูนย์กลาง-ชายขอบ ตัวตน-คนอื่น ผ่านมุมมองประวัติศาสตร์ศิลป์’
การปรากฏตัวของเควียร์ในงานของสมัคร์ ไร้ซึ่งเสียงหวีดดังๆ หรือแสดงภาพของการถูกกดขี่อย่างเร่งเร้ารุนแรงเพื่อให้คนหันมามอง สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ความเรียบเรื่อยของภาพนั้นเพียงจงใจสะกิดหยิกแหย่กระบวนการคิดของเรา เพื่อตอบต่อความต้องการที่จะเปิดพื้นที่หนึ่งให้แก่การถกเถียง แลกเปลี่ยน และทบทวนถึงการเปลี่ยนแปลงของเควียร์มุสลิมในฐานะของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่ดำเนินไปอย่างเป็นพลวัต
ภาพปกบทความโดย Pasuth Sa-ingthong
Fact Box
- ก่อนหน้าที่จะทำงานวิจัยและงานศิลปะเควียร์มุสลิม สมัคร์มีบทความชื่อ ‘ปอแนใต้ปอเนาะ’ ที่ใช้กรณีศึกษาจากความทรงจำวัยเด็กของตน นำเสนอเรื่องราวรักร่วมเพศระหว่างนักเรียนชายในโรงเรียนสอนศาสนา
- สมัคร์ กอเซ็ม เป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่กำลังจะแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้