แล้วทรงเป่าปี่แก้วให้แจ้วเสียง สอดสำเนียงนิ้วเอกวิเวกหวาน

พวกโยธีผีสางทั้งนางมาร ให้เสียวซ่านซับซาบวาบหัวใจ

แต่เพลินฟังนั่งโยกจนโงกหงุบ ลงหมอบซุบซวนซบสลบไสล

พอเสียงปี่ที่แหบหายลงไป ก็ขาดใจยักษ์ร้ายวายชีวา

 

นี่คือฉากที่พระอภัยมณีใช้อำนาจแห่งเสียงเพลงปลิดชีพนางยักษ์ผีเสื้อสมุทรซึ่งเคยเป็นเมียและเป็นแม่ของลูก (สินสมุทร) อาจเพราะรู้ว่าพลังเพลงปี่นั้นมีอำนาจถึงขั้นปลิดชีวิต แต่หลังจากนั้นก็ไม่ประสงค์จะสังหารใครด้วยเพลงปี่นี้อีก ในการศึกครั้งต่อๆ มา พระอภัยมณีจึงใช้เพลงปี่นี้สะกดกองทัพข้าศึกให้หลับใหลแทน

 

เปิดสำเนียงเสียงลิ่วถึงนิ้วเอก หวานวิเวกวังเวงดังเพลงสวรรค์

ให้ขึ้นเฉื่อยเจื่อยแจ้วถึงแก้วกรรณ เหล่าพวกฟันเสี้ยมฟังสิ้นทั้งทัพ

ยืนไม่ตรงลงนั่งยิ่งวังเวก เอกเขนกนอนเคียงเรียงลำดับ

เจ้าละมานหวานทรวงง่วงระงับ ลงล้มหลับลืมกายดังวายปราณ

 

จินตนาการของกวีเอกสุนทรภู่ดั่งนิยายวิทยาศาสตร์นี้กลายเป็นเรื่องจริงในปัจจุบัน อาวุธเสียงถูกนำมาใช้ให้เห็นกันจะๆ ครั้งแรกในเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านการประชุมของกลุ่มประเทศ G20 ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2009

‘แอลราด’ (Long Range Acoustic Device: LRAD) คืออุปกรณ์รูปร่างคล้ายจานดาวเทียม เป็นแผงโลหะตั้งตรงเพื่อส่งคลื่นเสียงความถี่สูงและดังมหาศาลออกมาเพื่อให้เกิดความระคายเคืองต่อระบบการได้ยินของมนุษย์ โดยหวังผลให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงหนีแตกกระเจิงไปเพราะเสียงที่สะท้านแก้วหู

เดิมที แอลราดถูกพัฒนาขึ้นเพื่อติดตั้งบนเรือเดินสมุทร สำหรับป้องกันการปล้นของเหล่าโจรสลัดโซมาเลีย เนื่องจากแอลราดไม่ใช่อาวุธโดยตรง การใช้งานจึงมีความหลากหลาย เช่น ใช้ไล่ฝูงนกบนรันเวย์สนามบิน หรือใช้ส่งเสียงเตือนไปยังเรือนอกชายฝั่งในระยะไกล เป็นต้น ความรุนแรงของแอลราดอยู่แค่ในระดับสร้างความรำคาญ เพียงสวมเอียร์ปลั๊กก็สามารถลดความระคายเคืองต่อโสตประสาทได้ กระนั้นก็อาจมีเทคโนโลยีทางทหารที่ใช้คลื่นเสียงเป็นอาวุธซึ่งส่งผลรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บและยังไม่มีการเปิดเผยก็เป็นไปได้

 

เป็นที่รู้กันว่าหูของมนุษย์สามารถรับฟังเสียงที่อยู่ในช่วงความถี่ 20-20,000 เฮิร์ตซ์ (Hertz: Hz) คลื่นเสียงที่อยู่ในช่วงความถี่ต่ำกว่า 20 Hz หูของเราจะไม่ได้ยิน ต่อให้เปิดเสียงดังแค่ไหน เราก็ไม่ได้ยิน แต่คลื่นเสียงที่อยู่ในช่วงความถี่ต่ำกว่า 20 Hz (Infrasound) ที่มีกำลังมากๆ จะส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ ทั้งระบบสมองและระบบประสาท ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน หายใจไม่ออก ขับถ่ายผิดปกติ จนถึงขั้นหมดสติและอาจเสียชีวิตได้ ถ้าอาวุธที่ว่านี้มีอยู่จริง เราจะไม่ได้ยินเสียงของมันเลย พอรู้ตัวอีกที ระบบภายในร่างกายของเราก็ล้มเหลวหมดแล้ว คงเป็นดังเช่นนางผีเสื้อสมุทรกระมัง

เสียงที่ดังเกินไปเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง ในบ้านเรามีเทศบัญญัติควบคุมความดังของเสียง เบื้องต้นคือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจในการปรับเครื่องเสียงให้เบา เพื่อไม่ให้ก่อความรำคาญแก่ประชาชน โดยข้อกำหนดหรือวิธีปฏิบัติจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเทศบาลนั้นๆ แต่บ่อยครั้งที่เราเห็นการตั้งแผงลำโพงสีดำทะมึน ขนาดเท่าทาวน์เฮาส์ 2-3 ชั้น ตามงานวัดหรืองานบุญประจำปี ซึ่งแผดพลังเสียงได้ยินไปไกล 2-3 กิโลเมตร

นอกเหนือจากความบันเทิงของบทเพลงหรือหนังกลางแปลงที่คนในงานได้ยินกันถ้วนหน้า ลุงป้าน้าอาที่กำลังดูแลผลิตผลทางการเกษตรในไร่สวนละแวกใกล้เคียงก็ไม่อาจเล็ดลอดพลังของเสียงในกรณีนี้ไปได้ พลังอำนาจที่แท้จริงจึงอยู่ในเงื้อมมือของช่างเสียงที่นั่งอยู่หลังแท่นมิกเซอร์ เพราะสามารถบันดาลคลื่นเสียงให้แผดแทรกซอนไปทุกซอกทุกมุมทั่วทั้งหมู่บ้านและชุมชน เมื่อเป็นเช่นนี้ เสียงจากเครื่องเสียงในงานเทศกาลก็คือ ‘อาวุธ’ ของเจ้าภาพและบริษัทเครื่องเสียงนั่นเอง

 

มีตัวอย่างของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการใช้เพลงเป็นอาวุธได้อย่างน่าสนใจเรื่องหนึ่ง แถมยังเป็นภาพยนตร์การ์ตูนทางโทรทัศน์ของญี่ปุ่นซะด้วย การ์ตูนเรื่องนี้คือ Macross ที่ออกฉายเมื่อปี 1982

​การ์ตูนเรื่องนี้ผนวกเอกลักษณ์ที่เด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นชื่นชอบไว้ด้วยกัน คือการมีหุ่นรบที่ออกแบบไว้อย่างสวยงาม (แปลงร่างเป็นเครื่องบินเจ็ตได้) และวงการเพลง J-Pop ที่มีนักร้องสาวสวยเป็นไอดอล โดยพล็อตเรื่องเป็นสงครามอวกาศระหว่างมนุษยชาติกับมนุษย์ต่างดาวร่างยักษ์ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้ากว่าหลายเท่าตัว สงครามนำมาซึ่งการสูญเสียประชากรชาวโลกเกือบทั้งหมด ดาวเคราะห์โลกถูกทำลายจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีก แต่บังเอิญมีประชากรชาวโลกไม่กี่หมื่นคนรอดตายมาได้จากการดำรงชีพอยู่ในยานขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเสมือนประเทศหนึ่งในห้วงอวกาศ และบังเอิญเดินทางข้ามรูหนอนไปโผล่แถวดาวเสาร์ในขณะที่โลกถูกโจมตี

‘โชจิ คาวาโมริ’ (Shoji Kawamori) ผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์ สร้างพล็อตเรื่องอันเป็นพื้นหลังของอารยธรรมต่างดาวได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ด้วยการกำหนดให้อารยธรรมต่างดาวที่เรียกกันว่า ‘เซ็นทราดี’ ดำเนินชีวิตอยู่เพื่อการทำสงครามระหว่างดวงดาวเรื่อยมาหลายร้อยหลายพันปี ปรัชญาศาสนาความเชื่อของชาวเซ็นทราดีคือสงคราม ประชากรชาย-หญิงถูกแยกออกจากกันเด็ดขาดราวกับเป็นสองรัฐ (จำนวนประชากรน่าจะถูกควบคุมและสร้างใหม่โดยการผสมเทียมนอกมดลูก) ทำให้ชาวเซ็นทราดีไม่มีการสืบดำรงพันธุ์ตามธรรมชาติแบบชาย-หญิง นิยามของความรัก ความซาบซึ้ง ความคิดถึง ความเสียสละ ตลอดจนเรื่องราวงดงามและเศร้าโศกแบบที่มนุษย์อย่างเรามี อันเป็นผลมาจากความรัก ไม่เป็นที่รู้จักตลอดหลายหมื่นหลายพันปีของอารยธรรมเซ็นทราดี

เช่นนี้เอง เพลงป็อปสนุกใสหวานๆ ซึ้งๆ ของลิน มินเมย์ ไอดอลสาวน้อย ป็อปสตาร์ที่มีอยู่เพียงคนเดียวภายในยาน(ประเทศ)มาครอส จึงกลายเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับอารยธรรมนักรบจากต่างดาว แต่พลังอำนาจของเธอไม่ได้มุ่งผลทำลายล้างอย่างเพลงปี่พระอภัยหรือแอลราด ทว่าเป็นการแสดงให้เห็นสัมพันธภาพระหว่างหนุ่มสาว ความรัก ความเกื้อกูล ความเอื้ออาทร และความเสียสละให้กับคนที่ตนรัก (แน่นอน มันคงเป็นการชี้โพรงให้กระรอกเห็นถึงเพศสัมพันธ์ด้วย) ฉากการรบครั้งยิ่งใหญ่กับยานกองทัพเซ็นทราดีนับล้านนับแสนนั้นไม่มีดนตรีประกอบตื่นเต้นฮึกเหิมแบบหนังสงครามอวกาศของฮอลลีวูด แต่กลับเป็นเพลงรักทำนองหวานซึ้งจากการขับร้องของลิน มินเมย์ โดยก่อนหน้านี้ หนังเล่าถึงเรื่องรักสามเส้าระหว่างฮิคารุ อิชิโจ พระเอกหนุ่มยอดนักบินที่เพิ่งค้นพบรักแท้จากต้นหนสาว มิซ่า ฮายาเซะ และไอดอลสาวลิน มินเมย์ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าฮิคารุ อิชิโจ คือชายที่เคยมอบหัวใจให้แก่เธอ มันก็สายไปเสียแล้ว

 

ก่อนเปิดฉากคอนเสิร์ตในสงครามใหญ่ครั้งสุดท้าย ลิน มินเมย์ หัวใจแทบสลาย แต่นั่นก็ทำให้บทเพลงของเธอที่แผดกระจายไปทั่วจักรวาลเต็มไปด้วยพลังและความหวานซึ้งอย่างที่สุด (เพลง ‘Do You Remember Love’ และฉากจบของ Macross)

อาจเป็นตลกร้ายอยู่บ้างที่กองทัพนับล้านของเซ็นทราดีตกอกตกใจกับการที่มนุษยชาติใช้นิยามของคำว่า ‘รัก’ ปฏิบัติต่อเพศตรงข้าม จนกระทั่งเผ่าพันธุ์ที่รู้จักแต่การรบชะงักงันทำอะไรไม่ถูก เปิดช่องให้ฝ่ายมนุษย์ระดมยิงกองยานจนพังพินาศ

ในที่สุด กองทัพเซ็นทราดีบางส่วนยอมสงบศึก และใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าย่อร่างตนเองให้เท่ากับมนุษย์โลก เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ มีวิถีชีวิตแบบใหม่ แต่งงานกัน หรือไม่ก็แต่งงานกับมนุษย์โลก ค่อยๆ เพิ่มประชากร และสร้างสังคมขึ้นใหม่ตามอุดมคติอันมีความรักเป็นที่ตั้ง และใช้ชีวิตสงบสุขสืบไป

บทเพลงของสาวน้อยลิน มินเมย์ จึงมีฐานะเป็นอาวุธ แต่เป็นอาวุธที่ทรงพลังและแสนงดงามที่เราเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘วัฒนธรรม’ อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจและความรู้สึกนึกคิด ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการกระทำและการผลิกโฉมสังคมต่อไป

Tags: , , , , , , ,