สิบปีก่อน ช่วงค่ำของวันที่ 28 มกราคม 2552 หลังจาก ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร หรือช็อปเปอร์ และเพื่อนอีกคนหนึ่งออกจากโรงหนัง พวกเขาก็ขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากตัวเมืองปราจีนบุรี ระหว่างทางได้พบกับตำรวจนายหนึ่งซึ่งเปรยกับเขาว่า ให้ขับตามไปที่สถานีตำรวจ
ด้วยความบริสุทธิ์ใจแกมซื่อ เขาจึงขับตามไปโดยง่าย
เมื่อถึงสถานีตำรวจ ความสับสนและงงงันถาโถมเข้าใส่เขาไม่หยุด เริ่มตั้งแต่ถูกตบเข้าที่ใบหน้าฉาดใหญ่จากหญิงสาวนางหนึ่ง ก่อนถูกใส่กุญแจมือและพาไปยังห้องด้านหลัง ตำรวจกลุ่มหนึ่งซึ่งรออยู่ในห้องจับมือทั้งสองข้างของเขาไพล่หลัง แล้วนำถุงขยะสีดำครอบหัวก่อนทุบตีเขาไม่ยั้ง พร้อมย้ำคำถามซ้ำๆ ว่า “มึงเอาทองไปไว้ที่ไหน”
“ทอง ทอง ทองอะไรวะ…” เขาเพิ่งกลับจากดูหนังภายในตัวเมืองกับเพื่อนสนิท แต่ไม่ทันไร เขากลายเป็นผู้ต้องหาวิ่งราวทองเสียแล้ว
ความกดดันสับสนทำให้ตอบรับตำรวจทั้ง 5 นายไปว่า เขานำทองไปฝากไว้ที่ร้านขายของชำแห่งหนึ่ง และเดี๋ยวจะพาไปดูว่าร้านไหน
รถตำรวจเทียบฟุตบาทฝั่งตรงข้ามของร้านขายของชำแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนมัธยมที่เขาเรียนอยู่ ตำรวจนอกเครื่องแบบกลุ่มเดิมกรูเข้าไปในร้าน ก่อนจับหัวของชายคนหนึ่งที่กำลังนั่งเฝ้าร้านกดลงไปกับแผงขนม และตะโกนกรอกหูด้วยคำถามเช่นเดิมว่า ทองอยู่ไหน
หญิงชราเดินลงมาจากชั้นบนด้วยอาการหวาดผวา ถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนโผไปฝั่งตรงข้ามที่รถตำรวจจอดอยู่ ทันทีที่ประตูเปิดออก ช็อปเปอร์พูดทุกอย่างที่นึกขึ้นได้ในวินาทีนั้นกับหญิงชรา พร้อมทั้งอ้อนวอนให้ช่วยติดต่อครอบครัวของเขา
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ปลุกชาวบ้านร้านตลาดให้ออกมาดูความไม่ชอบมาพากล ก่อนอาสาช่วยติดต่อ สมศักดิ์ ชื่นจิตร ผู้เป็นพ่อให้รีบมาตามหาลูกชายของตน
เรื่องราวข้างต้นเล่าจากปาก สมศักดิ์ พ่อของฤทธิรงค์
ครั้งแรกที่เราเจอสมศักดิ์และฤทธิรงค์ พวกเขาสองคนกำลังอยู่ในห้องพิจารณาคดีของศาล พวกเขาดูคุ้นเคย ไม่มีทีท่ากังวลร้อนใจ อาจเพราะพวกเขามั่นใจในพยานหลักฐานในมือ หรืออีกแง่หนึ่ง อาจเป็นเพราะพวกเขาคุ้นเคยกับกระบวนการยุติธรรม เพราะผ่านการต่อสู้อย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี อันเป็นระยะเวลาที่พวกเขาเดินทางไป สน. นับครั้งไม่ถ้วน และเดินทางไปร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐอีกกว่าร้อยครั้ง
ในคดีแรกฤทธิรงค์ฟ้องว่า ตำรวจชุดสืบสวน ตำรวจภูธร จังหวัดปราจีนบุรี ซ้อมทรมานเขาระหว่างสอบสวน คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายตำรวจยศพันโทที่ซ้อมทรมานฤทธิรงค์ไปแล้ว แต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้องดาบตำรวจนายหนึ่งเพราะคดีหมดอายุความ เนื่องจากฐานความผิดของดาบตำรวจรายนี้น้อยกว่าจำเลยคนอื่นๆ คดีจึงมีอายุความเพียง 1 ปี ต่อมา ดาบตำรวจคนดังกล่าวจึงฟ้องกลับ ฤทธิรงค์ ในข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี
จากเหตุการณ์นี้ สมศักดิ์ ชื่นจิตร ผู้เป็นพ่อ ตัดสินใจวางมือจากอาชีพช่าง มาศึกษากฎหมายเพื่อต่อสู้ทวงถามความเป็นธรรมให้แก่ลูกชายในกระบวนการยุติธรรมที่กินเวลานับสิบปี เราจึงชวนสมศักดิ์พูดคุยถึงเส้นทางการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยก้อนกรวด จากหัวหน้าช่างสู่เนติกรจำเป็น ผู้ดิ้นรนขวนขวายหาความรู้เรื่องกฎหมายให้ตัวเองเพื่อลูกชายหัวแก้วหัวแหวน
ย้อนกลับไปตอนที่ฟ้องตำรวจครั้งแรก มีความมั่นใจแค่ไหนว่าจะชนะ
ผมมั่นใจตั้งแต่ ณ วินาทีแรกที่รู้ว่าลูกผมถูกกล่าวหา ผมเลี้ยงลูกผมมา ผมรู้นิสัยของลูก และผมมั่นใจว่าตำรวจทำร้ายลูกของผมจริง ผมต้องการจะฟ้องตำรวจ แต่ผมไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ในช่วง 7 ปีแรก ผมหลงทางสะเปะสะปะ ผมเข้าใจว่าถ้าไปแจ้งตำรวจ ตำรวจต้องช่วยดำเนินการให้ ก่อนมารู้ทีหลังว่า มันไม่ช่วยอะไร
ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อคนเราเกิดมาและเปล่งเสียงตอนเด็กว่า ‘อุแว๊’ นับแต่นั้น ทุกคนมีชีวิตและศักดิ์ศรีเท่ากันในฐานะมนุษย์ …ในกรณีลูกชายของผม คุณเอาเขามากระทืบ เอาถุงครอบ คุณต้องการให้เขาบอกในสิ่งที่คุณต้องการ แล้วคุณก็เอาความดีความชอบนั้นไปเสริมดาว เสริมมงกุฏบนบ่า ซึ่งมันไม่ใช่ ทุกคนอยู่ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้แต่ขอทานเขาก็อยู่ด้วยศักดิ์ศรีของเขา
ดังนั้นผมมั่นใจ ผมสู้ ตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าลูกผมถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หนึ่งในกำลังใจของผมจึงยึดมั่นกับความเชื่อตรงนี้
มีข้อถกเถียงว่า เพราะบางครั้งคนร้ายไม่ยอมรับสารภาพจึงต้องซ้อมและทรมาน
ไม่ว่าเขาทำผิดอาญาแผ่นดินหรือกฎหมายใด มันซ้อมเขาไม่ได้ คุณไม่สามารถไปตัดสินใครด้วยการทุบตี หรือเอาถุงครอบ มันต้องว่าไปตามตัวบทกฎหมาย ว่าเขามีความผิดและจะต้องรับโทษอย่างไร
เรามีศาลสถิตย์ยุติธรรม เราต้องเอาความผิดของคนนั้นขึ้นไปฟ้องและให้ศาลลงโทษ เรื่องคนทำผิดต้องปากแข็งมันเป็นแค่ข้ออ้าง คุณไปเรียนหลักสูตรมามากมาย อันไหนที่เป็นข้อเท็จจริง อันไหนที่ไม่ใช่ มันมีการสอนหมด แต่ถ้าซ้อมทรมาน มันไม่ต่างจากอันธพาล เอาอันธพาลหมู่บ้านไหนมาก็ได้ ถือมีดถือเหล็ก จับคนมาผูกเอามือไพล่หลัง ถ้าปากแข็งไม่รับก็ตีเข้าไป ไม่จำเป็นต้องไปเรียนกระบวนการสืบสวนสอบสวนหรอก
เมื่อเรื่องถึงชั้นศาล มีข้อเสนอให้ไกล่เกลี่ยไหม
มีข้อเสนอให้ไกล่เกลี่ย แต่เราไม่อยาก เรายินดีที่จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด แต่ศาลบอกว่าให้โอกาสตำรวจเขาหน่อย เขายังมีอนาคตอีกไกล แล้วก็นัดวันไกล่เกลี่ยให้เราเลย เหมือนเราถูกมัดมือชก ไปถึงเขาก็บอกว่าให้เราให้อภัยเถอะแล้วเขาจะบวชให้ ซึ่งในตอนนั้นเหลือจำเลยอยู่สองคน คนหนึ่งที่ถูกคดีในส่วนที่เป็นผู้ทรมานเสนอจะบวชให้ 1 พรรษา และมีเงินเยียวยาในส่วนของลูกชายเรา 1 ล้านบาท ส่วนอีกคนเสนอให้ 5 แสนบาทและบวชให้ 15 วัน
แต่เราก็พยายามพูดว่าหลักการของศีลธรรมกับหลักการสิทธิมนุษยชนมันต่างกัน มันไปในทิศทางเดียวกันไม่ได้ อย่างในกรณีของเรา ถ้าเราไม่มีประจักษ์พยานที่ชัดเจน เราคงเดินเข้าคุกแน่ เราคงไม่มีการไกล่เกลี่ยกัน สมมติว่าผมรับข้อเสนอนั้น ต่อไปถ้าคนเราทำผิด เราก็คงเอาพระพุทธรูปมาวางและมานั่งกราบกัน คงไม่ต้องมีศาล มีแต่โบสถ์ เวลาทำผิดก็นุ่มขาวห่มขาวและไปนั่งพนมมือกันในโบสถ์ ขออภัยกัน มันก็ไม่ต้องมีกระบวนการยุติธรรมอีกแล้ว
ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การเยียวยาโดยตัวเงิน แต่อยู่ที่คุณรับผิดชอบแล้วสังคมมันดีขึ้น ถ้าครั้งนี้คุณรับผิดชอบ ต่อไปเจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่ละเมิดสิทธิ ไม่ซ้อมทรมาน แต่ถ้าวันนั้นผมรับเงินและรับที่เขาจะบวชให้ สังคมก็ยังเป็นเหมือนเดิม เรื่องของผมก็จะหายไป และมันก็จะมีคลื่นใหม่เข้ามาทดแทนไม่จบไม่สิ้น
ผมคิดว่าอย่างน้อย หากเรานำเรื่องนี้ไปขยาย มันอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้สังคมได้ แต่ถ้ามันอยู่แค่ในห้องแคบๆ มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ สงสารกัน แต่ไม่มีการพูดต่อ มันก็คงไม่มีประโยชน์
ในเมื่อได้รับผลกระทบจากภาครัฐมากมาย ทำไมยังเลือกเชื่อใจและฝากความหวังไว้กับภาครัฐ
ทำอย่างไรได้ล่ะ ให้ผมไปโดดตึกเหรอ ถ้าผมไปโดดตึกแล้วใครจะสู้ต่อล่ะ ถึงแม้เราไม่ไว้ใจรัฐ เราก็ต้องมีวิธีการของเรา สมมติเรามีหลักฐานที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เราเอาไปเสนอเขาอย่างไร เขาก็ไม่เชื่อหรอก เราต้องหาหลักฐานที่มัน 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เขาหนีจากข้อเท็จจริงไม่ได้ ซึ่งคดีนี้ถ้าไม่มีอะไรไปยัน ผมเชื่อว่าจะโดนยกฟ้องแน่ แต่มีหมอยืนยันว่าบาดแผลเป็นจริง เพื่อนที่รออยู่ข้างหน้าตอนช็อปโดนซ้อม ได้ยินร้องโอ๊ยๆ ก็มี จำเลยคนนี้ออกมาขู่ว่าห้ามโทรไปหาใครนะ หลักฐานตอนนี้มันหนีจากข้อเท็จจริงไม่ได้
เราสู้มาเยอะ เรารู้หมดว่ากระบวนการรัฐเป็นอย่างไร แต่ถ้าไม่ใช้กระบวนการรัฐ ให้ผมถือระเบิดออกไปสู้เหรอ แต่ตอนนี้มันยังมีการต่อสู้ มันยังมีแพ้มีชนะ เราก็ไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินใจจากโลกนี้ไป อย่างน้อยขอผิดหวังสักสิบครั้งค่อยคิดแบบนั้น ยังมีเวลาได้อยู่กับลูก-เมียอีกหน่อย
ผมเคยคิดถ้าผมไม่เข้าไปหาผู้บริหารแอมเนสตี้ฯ ผมคงคิดสั้นไปแล้ว ผมได้สติจากทนายสัญญา เอียดจงดีหัวหน้าทีมต่อสู้ที่มาบอกว่า “พี่ เราต้องต่อสู้แบบถูกต้องนะ” ซึ่งถ้าผมเป็นเหมือนแต่ก่อน ไม่มีคนมาช่วยผมคิด ผมคงคุยกับไส้เดือนไปแล้ว
แต่ตอนนี้เราต่อสู้ด้วยกฎหมาย ไม่ได้เอาลูกปืนมาสู้กัน ผมมีทนายสัญญา (สัญญา เอียดจงดี) มีทนายเอก (ปรีดา นาคผิว) มีทนายข้าวฟ่าง (เติมพล ทองสุทธิ์) แต่ผมเป็นคนป่าไง เป็นอันธพาลที่ต้องมาสู้ในทางกฎหมาย แต่ผมก็ถือว่าถ้าไม่ได้ดีเอ็นเอตรงนั้นมา ก็คงเดินทางไม่ถึงตรงนี้หรอก
10 ปีที่ต่อสู้มาสูญเสียอะไรไปบ้าง
ผมเคยนับค่ากระยาสารทที่ผมซื้อไปเป็นสินน้ำใจให้คนนู้นคนนี้ ผมจดไว้ ตอนนี้ประมาณ 136,000 บาท (หัวเราะ)
ทำไมถึงต้องเป็นกระยาสารท
เราถือว่ากระยาสารทเป็นสินค้าโอท็อปของบ้านสร้าง เราอุดหนุนสินค้าบ้านเรา ถุงนึงมันมี 10 ชิ้น มันก็แบ่งกันกินได้หลายคน และมันก็เซฟตัวเราเองด้วยแหละ มันถูก ซึ่งถ้าเราซื้ออย่างอื่นมันไม่คุ้มค่า และมันยังช่วยเพื่อนเราด้วย เพราะเขาทำขาย
ค่าถ่ายเอกสารปึ๊งนึงไม่มีเซ็นรับรอง 7,000-8,000 พอเซ็นรับรองโดนอีก 28,000 นี่แค่เรื่องฟ้องนายกเทศบาลพยานเท็จคดีเดียวนะ ไม่รวมถึงคดีเล็กๆ น้อยๆ และอย่างอื่นอีกไม่รู้เท่าไร ซึ่งทุกวันนี้ผมไม่มีรายได้เลย ธรรมดาแล้วผมมีอีกอู่หนึ่งซึ่งเป็นอู่หลัก ทุกวันมีรถเครื่องเข้ามาทำ มีรายได้วันนึงกำไร 5,000 กว่าบาท ลูกน้องอีก 7-8 คน แต่พอมีเรื่องก็ต้องปิด
พอรายได้ผมหดหาย ผมเอาบ้านเอาโฉนดที่ดินไปจำนำ อย่างห้องนี้ ผมจำนำ 2 ล้าน ห้องนู้น 1 ล้าน ยุคเศรษฐกิจแบบนี้จะให้ผมไปแบมือขอใครได้ แต่บางเรื่องมันไม่จำเป็นต้องมาดราม่า ให้เขาฮึกเหิมกับเราดีกว่า เราก็จะมีแรงฮึกเหิม ผมพยายามไม่คิด ผลสุดท้ายผมก็เก็บๆ จนต้องกินยา
ความรู้สึกในตอนนี้ เป็นอย่างไรบ้าง
เราเป็นผู้นำครอบครัว เราต้องรับผิดชอบทั้งหมด สู้เพื่ออะไร เรามีเป้าหมายแต่บางครั้งมันก็เหนื่อย ทุกวันนี้ลูกป่วยเป็นโรคจิตเวช หมอวินิจฉัยว่าลูกผมเป็น PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เป็นโรคสะเทือนขวัญ ซึ่งหมอบอกว่าโรคนี้ไม่มีทางหาย อาการจะอยู่กับเราไปจนตาย เปรียบกับแผ่นซีดีแผ่นหนึ่งที่ถูกกระทบและเป็นรอย ซึ่งรอยนี้จะไม่หายไปจนกว่าแผ่นซีดีแผ่นนี้จะสูญสลายไป เพียงแต่เอามาดูได้ถ้าเราเช็ด โรคของเขาไม่เกี่ยวกับเคมีในสมอง มันเป็นโรคที่มาจากส่วนลึกของหัวใจ ภาพจำตรงนั้นมันติดอยู่ข้างในและไม่สามารถที่จะฟอร์แมตได้ คล้ายเป็นไวรัสตัวหนึ่งที่ไม่สามารถฆ่าได้
ฉะนั้น การดูแลที่ดีที่สุด คือต้องได้รับการเยียวยาจากคนรอบข้าง อย่าให้เขาพูดหรือเล่าเรื่องนั้นบ่อยๆ แต่มันคงเป็นไปไม่ได้เพราะอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
หมอบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือต้องทำให้เขาเกิดความรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ได้
แต่อย่านึกนะว่าคนรอบข้างไม่เป็นอะไร ผมเองก็ต้องกินยา ต้องไปหาหมอ แต่ถ้าผู้นำอ่อนแอ ขวัญและกำลังใจมันก็ถดถอย ผมต้องแอบไปหาหมอที่สถาบันกัลยาฯ (สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์) กินยาคลายเครียด
เราพยายามบอกสังคมว่าการเป็นเหยื่อในเรื่องแบบนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ผู้ถูกกระทำ คนที่อยู่รอบข้างของเหยื่อถูกกระทำหมด ตกเป็นเหยื่อโดยปริยาย แต่เราก็ไม่สามารถเอาความทุกข์ออกมาแชร์ได้ ถ้าเขารู้ว่าเราอ่อนแอ มันก็จะนำพาให้เขามีอาการในโรคของเขา
คิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้คุ้มค่าไหม
บางคนพยายามโทษเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องของโชคชะตา แต่เราเลือกที่จะสู้เพื่อข้อเท็จจริง สู้เพื่อให้รู้ว่าลูกเราไม่ได้กระชากทองเขา ลูกเราถูกทรมานให้รับสารภาพ ถ้าเราไม่ให้สังคมรับรู้ มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกที่ชอบของสังคม
ถ้าไปบอกคนอื่นว่าถูกตำรวจซ้อม มันไม่ตื่นเต้น มันเป็นเรื่องปกติ เขาจะบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นกับครอบครัวของเขา ผมก็เคยมีอารมณ์แบบนั้นเหมือนกัน ดูข่าวก็มีความรู้สึกร่วมว่า ‘ห่าเอ๊ย ไม่น่าเลย’ แต่เราก็ไม่ได้ทุกข์หรอก จนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เดินทางมาถึง เรารู้แล้วว่าทุกข์แบบสาหัสสากรรจ์เป็นอย่างไร ทุกข์แบบไม่สามารถหานรกขุมใดมาเปรียบ
เราต้องสู้เพื่ออิสรภาพของลูก ทั้งที่ยังไม่รู้ข้อกฎหมาย แต่ต้องทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้ลูกเราติดคุก เมื่อลูกเราไม่ได้ขโมยทองแต่กลับถูกทำร้ายก็ต้องสู้เพื่อความเป็นธรรม เมื่อสู้เสร็จแล้วมันไม่ได้หยุดแค่ตรงนั้น กระบวนการต่อสู้มันแตกหน่อเหมือนหน่อไม้
ทุกคนถามว่า “ไม่กลัวเหรอ?” สู้ทั้งกับนักการเมือง ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม ถ้าตอบว่าไม่กลัวก็ไม่ใช่ ผมเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อเชื้อไข ความกลัวมันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่มันบังเอิญเกิดความกลัวมาตั้งแต่ปี 2552 กลัวซ้ำๆ ซากๆ จนชินชา คนเราพอกลัวถึงที่สุดมันก็จะไม่กลัวแล้ว ผมเจอมาหมดทั้งมีคนยิงใส่รถที่จอดอยู่หน้าบ้าน ออกไปข้างนอกมีรถตาม มีรถฟิล์มดำมาจอดแถวหน้าบ้าน เล่นจิตวิทยาเพื่อให้ผมหยุดเรียกร้องความเป็นธรรมต่อหน่วยงานของรัฐ
แต่ผมมีกำลังใจที่ดีที่สุดคือ กำลังใจในบ้าน เราจับมือกันและบอกว่าเราต้องสู้เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ต่อมาก็คือ องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่เข้ามาชาร์จพลังให้เรา จับมือเราลุกขึ้นให้ยืนหยัดมั่นคงอีกครั้ง การต่อสู้ครั้งนี้มันเป็นรูปธรรมได้จริงๆ ก็เกิดจากองค์กรเหล่านี้ ที่ประสานให้นักกฎหมาย สื่อมวลชนเข้ามาช่วยเหลือ ช่วยเหลือเราให้ต่อสู้อย่างมีกลยุทธ์
ประเด็นสำคัญ คือชาวบ้านที่มีต้นทุนชีวิตต่ำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ยาก การเดินทางต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องหยุดงาน เคยได้เงินก็ต้องหยุด ไปก็ต้องเสียตังค์อีก จากที่เคยได้เงินทุกวันๆ ก็ต้องเสียตังค์ทุกวันๆ ทั้งที่จริงแล้วเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องตามหาข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ทุกข์ร้อน แต่รัฐกลับพยายามผลักภาระให้กับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ผลักภาระนั้นกลับเข้าสู่ครอบครัวของเขา ทั้งที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำ สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้บ้านเมืองเราด้อยพัฒนา
Fact Box
- 26 มิถุนายนของทุกปี นับว่าเป็นวันต่อต้านการซ้อมทรมานสากล ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามทำสัญญากับ UNCAT(2550) และ ICCPED (2555) จึงมีพันธะผูกพันต่อการออกกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 สนช. เพิ่งถอนวาระในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว
- สมศักดิ์ และฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจคดีอาญาฐานซ้อมทรมาน 1 คดี ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นตัดสินว่าจำเลยกระทำผิด ฟ้องคดีอาญาพยานเท็จอีก 4 คดี และคดีแพ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในกรณีซ้อมทรมาน ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางของการต่อสู้ สมศักดิ์เล่าว่ายังมีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นอีกมาก เช่น นำชื่อของเขาเข้าไปอยู่ในบัญชีผู้ติดสารเสพติดของ ป.ป.ส. ฯลฯ