แม้คำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ จะได้รับการพูดถึงในที่สาธารณะอยู่บ่อยๆ ทั้งจากอาจารย์ นักวิชาการ หรือคนทำงานภาคสังคม แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว หลายคนอาจยังไม่แน่ใจในความหมาย มองว่าอยู่ห่างไกลชีวิตประจำวัน และคิดว่าเป็นเรื่องของคนบางกลุ่มเท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว คำๆ นี้เกี่ยวข้องกับทุกคน สีผิวที่แตกต่าง เชื้อชาติที่หลากหลาย เพศที่มากกว่าแค่ชายหรือหญิง ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ทั้งนั้น ยิ่งกับโลกปัจจุบันที่การเดินทางข้ามพรมแดนเป็นเรื่องปกติ (ทั้งทางกายภาพและข้อมูลข่าวสาร) ทุกคนเลยมีโอกาสเจอกับความแตกต่างหลากหลายได้ตลอดเวลา

ความเข้าใจต่อเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความแตกต่างหลากหลาย อยู่โดยเคารพคุณค่าของกันและกัน เพื่อให้แต่ละวันไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรง แน่นอนว่าต้องเริ่มต้นจากทำความเข้าใจหลักการอย่างถูกต้อง และพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับการถกเถียงก็สำคัญเช่นเดียวกัน

หนึ่งในนั้นควรอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นในสถานศึกษา

วิชาสิทธิมนุษยชนศึกษาในมหาวิทยาลัย

ย้อนกลับไปในปี 2554 ผศ.ดร.ชิดชนก ราฮิมมูลา ที่ขณะนั้นเป็นประธานร่างหลักสูตรของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองเห็นว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นเรื่องใกล้ตัวคนทุกคน โดยเฉพาะกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องอยู่กับความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงมายาวนาน เลยเกิดความคิดที่จะนำเรื่องนี้เข้าไปในหลักสูตรของคณะรัฐศาสตร์

ผศ.ดร.ชิดชนก ราฮิมมูลา

“พื้นที่สามจังหวัดเกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย เด็กบางคนถูกละเมิด บางคนพ่อถูกยิงเสียชีวิต สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเขานะ อาจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ก็ให้คำแนะนำว่าควรบรรจุเรื่องนี้ไปในหลักสูตร” ผศ.ดร.ชิดชนก ราฮิมมูลา ที่ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ เล่าถึงความคิดเริ่มต้นที่พัฒนามาเป็นวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา

พ.ศ.2555 วิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา ได้เข้ามาเป็นวิชาบังคับของนักศึกษาในสาขาการปกครองท้องถิ่น ส่วนสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การปกครอง และนโยบายสาธารณะ ยังกำหนดไว้เป็นวิชาเลือก จนกระทั่งปี 2559 ทางคณะได้ปรับให้เป็นวิชาเลือกในทุกสาขา

ในช่วงแรก ผศ.ดร.ชิดชนก ราฮิมมูลา เป็นผู้รับผิดชอบการสอน เน้นการบรรยายหลักการต่างๆ ที่นักศึกษาควรเข้าใจ หลังจากนั้นเริ่มชักชวนคนทำงานในประเด็นต่างๆ มาถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อให้หลักการเหล่านั้นจับต้องได้ และเห็นถึงการนำไปใช้มากยิ่งขึ้น เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ฯลฯ

จากการเข้ามาเพียงครั้งคราว คณะรัฐศาสตร์ได้เซ็น MOU ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย เพื่อจัดการเรียนการสอนในวิชา ‘สิทธิมนุษยชนศึกษา’ เริ่มต้นในปีการศึกษา 2559 จนกระทั่งเทอมล่าสุดมีการสอนทั้งหมด 4 ครั้ง คือ สิทธิมนุษยชนศึกษาเบื้องต้น และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR), สถานการณ์ผู้ลี้ภัย, การต่อต้านการซ้อมทรมาน, และกลไกระหว่างประเทศ

“เราเริ่มจากชวนคนนอกมาเป็นครั้งคราว ชวนหลายกลุ่มนะ ด้วยแอมเนสตี้มีกิจกรรมของตัวเองชัดเจน กระบวนการได้มาตรฐาน สอนสนุก นักศึกษาชอบ เวลาผ่านไปก็เกิดแอมเนสตี้คลับ บางคนถึงขนาดไปฝึกงานกับแอมเนสตี้ที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นเลยเซ็น MOU ด้วยกัน เขียนออกมาเลยว่า หนึ่งเทอมจะทำอะไรบ้าง

“การเรียนการสอนทั้งหมด 15 สัปดาห์ แอมเนสตี้ก็รับผิดชอบไป 3 สัปดาห์ เทอมนี้ขอไป 4 สัปดาห์ เราเอารายวิชามาดูด้วยกัน จะเสริมกันและกันยังไง การสอนไม่ใช่แค่เล็คเชอร์แล้ว แต่มีการฉายหนัง ตอบคำถาม แล้ววิทยากรอายุไม่ห่างกับนักศึกษามาก บรรยากาศเลยเป็นกันเอง แต่ในส่วนเนื้อหาก็เป็นไปตามหลักวิชา ข้อเท็จจริงคือข้อเท็จจริง”

มยุรี คงเชื้อ มูฮำหมัด เจ๊ะแต และซูรัยดา สาเมาะ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งสามคนเลือกเรียนวิชา ‘สิทธิมนุษยชนศึกษา’ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน

“เรารู้ว่าสิทธิมนุษยชนอยู่ในชีวิตประจำวันนะ เลยอยากรู้ว่าตัวเองเกี่ยวข้องยังไงบ้าง” เป็นเหตุผลของมยุรี

“ผมอยากเข้าใจสิทธิมนุษยชนในมุมกว้าง” มูฮำหมัด ให้เหตุผลของตัวเองบ้าง

“เราบ้านอยู่ในสามจังหวัด ชีวิตต้องเจอกับเรื่องสิทธิ์เยอะ เลยอยากรู้ว่าตัวเองเรียกร้องได้แค่ไหน” ซูรัยดาอธิบาย

เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้าเรียนวิชานี้ ทั้งสามคนตอบตรงกันว่าได้รับความรู้ตามที่ต้องการ เห็นความเชื่อมโยงของ ‘ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน’ กับชีวิตของตัวเอง

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการเรียนโดยอาจารย์ประจำวิชา และคนนอกอย่าง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย ทั้งสามคนสะท้อนความรู้สึกออกมาคล้ายกันว่า เนื้อหาจากการสอนทั้งสองแบบเหมือนกัน แตกต่างด้วยวิธีการสอนที่เป็นกันเอง ซึ่งทำให้วัยรุ่นอย่างพวกเขาเข้าใจสิทธิมนุษยชนได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการยกตัวอย่างเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน และข่าวสารที่ทุกคนรับรู้อยู่แล้ว

“ทั้งสองแบบสอนเหมือนกันนะ แต่อาจารย์จะเน้นวิชาการ ทั้งคาบไม่มีมุขเลย (ยิ้ม) ถ้าตั้งใจได้ทั้งคาบก็ได้ความรู้ครบถ้วน แต่คนนอกรู้ว่าจะพูดกับนักศึกษายังไง เลยโฟกัสได้ง่ายกว่า” มูฮำหมัด พูดความรู้สึกของตัวเอง

“อาจารย์สอนตามหลักการ ส่วนคนนอกเอาประสบการณ์มาแบ่งปัน มีกิจกรรมให้ทำด้วย หรือต่อให้ครั้งไหนไม่มีกิจกรรม คนสอนก็ใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย มันไม่เครียดนะ ทำให้ตื่นตัวมาสนใจเนื้อหาได้ตลอดทั้งคาบ” มยุรีบอกแบบนั้น

“หนูชอบที่คนนอกเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบันนะ ไม่ใช้เนื้อหาจากตำราอย่างเดียว ชวนให้แสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม ถ้าอันไหนตอบได้ก็ตอบ ไม่รู้ก็บอกตรงๆ” ซูรัยดารู้สึกดีกับการได้ถกเถียงตั้งคำถาม

ห้องเรียนสิทธิมนุษยชน จากนักศึกษาสู่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน

มูฮัมมัดมุมิน มูหนะ เรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สมัยเป็นนักศึกษา เขาเคยลงทะเบียนเรียนวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา พอถึงช่วงต้องหาองค์กรเพื่อฝึกงาน เขายังไม่ได้สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่จับพลัดจับผลูได้เข้าไปฝึกงานที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย ความรู้ที่เคยท่องจำก็เปลี่ยนไปราวกับเป็นคนละเรื่อง

“เราลงเรียนวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา แอมเนสตี้เคยเข้ามาทำกิจกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชน จำได้ว่ามีคนประทับใจมากจนอยากร่วมงานด้วย แต่ตัวเองไม่ได้ขนาดนั้น ด้วยความที่เรียนวิชาโทสื่อสารมวลชน พอต้องฝึกงานก็สับสนว่าไปสายไหนดี เราอยากฝึกกับองค์กรระหว่างประเทศ ไปๆ มาๆ เลยมาที่แอมเนสตี้

“ตอนนั้นไม่ได้มีความรู้อะไรมาก เข้าใจว่าแค่ไหนคือละเมิด เช่น กิจกรรมรับน้องในมหาวิทยาลัย แต่รู้แค่นั้นแหละ พอเข้าไปฝึกงาน แค่วันที่สอง หัวหน้าให้ไปฟังคดีซ้อมทรมานของ อิสมาแอ เต๊ะ แล้วต้องกลับมาเขียนสรุป ตอนฟังเขาเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น เราน้ำตาไหลเลยนะ ทั้งที่เป็นคนปัตตานี แต่ไม่รู้ว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น เลยพยายามอ่านเพิ่มเติม หลังจากนั้นเลยได้รู้เรื่องสิทธิมนุษยชนอีกหลายเรื่อง”

เมื่อฝึกงานครบ 4 เดือน มูฮัมมัดมุมินได้รับคำชวนให้มาดูแล ‘แอมเนสตี้คลับ’ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักศึกษาที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษชนและอยากทำกิจกรรมร่วมกัน ก่อนจะขยับมาเป็น ‘เจ้าหน้าที่ประสานงานฝ่ายนักกิจกรรมภาคใต้’ พื้นที่ทำงานอยู่ปัตตานีเป็นหลัก จนกระทั่งย้ายมาประจำอยู่กรุงเทพฯ ในบทบาท ‘ผู้ช่วยฝ่ายนักกิจกรรมและสิทธิมนุษชนศึกษา’ โดยหนึ่งในความรับผิดชอบ คือการประสานงานให้เกิด ‘ห้องเรียนสิทธิมนุษยชน’ ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งเป็นคนสอนเองในบางรายวิชาด้วย

“เราทำ MOU กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ตอนนี้มี มอ.หาดใหญ่ และปัตตานี กิจกรรมไม่ได้ตายตัว หลักๆ คือซัพพอร์ทงานด้านสิทธิมนุษยชน ให้ความรู้กับนักศึกษา รับนักศึกษาฝึกงาน อย่างของปัตตานีมีวิชา ‘สิทธิมนุษยชนศึกษา’ อยู่แล้ว เลยเข้าไปร่วมกัน ช่วงแรกแอมเนสตี้ยังสอนไม่กี่ครั้ง เราก็เป็นผู้ช่วย ระหว่างนั้นตัวเองได้เข้าอบรมที่ต่างๆ อ่านหนังสือเพิ่มเติม เจอใครก็พยายามถาม แล้วเริ่มมาสอนจริงจังในปีต่อมา บางคาบพาผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ มาบรรยายด้วย

“เรื่องสิทธิมนุษชนชน เป็นชุดความคิด ชุดคุณค่า ชุดอุดมการณ์บางอย่าง การเชื้อเชิญให้ใครมาเห็นด้วย เราต้องเข้าใจในตัวหลักการก่อน ทำไมถึงเชื่อแบบนี้ เชื่อแบบนี้ดียังไง มันเกี่ยวข้องกับชีวิตยังไง นอกจากนั้น การสอนของแอมเนสตี้พยายามจะเชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนเข้าหาชีวิตนักศึกษา เราไม่ต้องการให้ใครต้องแบกเป้อีกใบ คุณมีเป้ของตัวเองอยู่แล้ว แค่เติมเรื่องสิทธิมนุษยชนเพิ่มเข้าไป สิ่งสำคัญคือคุณจะใช้ชีวิตยังไงโดยเคารพสิทธิของคนอื่น ไม่ไปละเมิดใคร

“เราชวนตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ทำไมการรับน้องของปัตตานีต้องให้รุ่นน้องโกนหัว มันละเมิดไหม โกนหรือไม่โกนส่งผลยังไง ตามหลักการต้องเคารพเนื้อตัวร่างกายนะ ก็เปิดพื้นที่ให้ถกเถียง ซึ่งไม่ได้มีคำตอบตายตัวเสมอไป บางครั้งก็ยกเรื่องในข่าวมา ตอนนั้นมีข่าวเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ชวนให้คิดว่าอากาศบริสุทธิ์สำคัญยังไง ก็เพื่อความมั่นคงในชีวิต มนุษย์อยู่รอดได้ มันมากกว่าแค่ทำความเข้าใจความแตกต่างแล้ว แต่รัฐมีหน้าที่นี้ด้วย ก็เชื่อมโยงไปสิทธิมนุษยชน

“เอาจริงๆ ทุกคนรู้แหละว่าอะไรละเมิด แค่ไม่ถูกพูดด้วยหลักการ ไม่มีการขมวดออกมาให้ชัดเจน การชวนให้นักศึกษาได้คิด ทำให้มองเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัว ไม่ใช่แค่รู้สึกว่า ไม่โอเคๆๆ แต่เขาจะไม่โอเคอย่างมีหลักการและเหตุผล”

สิทธิมนุษยชน…เรื่องในชีวิตประจำวัน

“ตัวเองชอบเรื่อง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ข้อ เห็นความเชื่อมโยงกับชีวิตตัวเอง ฟังคนมาบรรยายก็เห็นลึกขึ้น กว้างขึ้น ชัดเจนขึ้น และมีตัวอย่างประกอบด้วย เรากลายเป็นคนสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เรื่องไหนไม่รู้ก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม” มยุรีบอกว่าตัวเองได้รับอะไรจากวิชานี้

“ชอบเรื่องผู้ลี้ภัยค่ะ เข้าใจว่าแบบไหนถูกกฎหมาย แบบไหนผิดกฎหมาย เรื่องสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ก็ได้ความรู้ ตัวเองเรื่องเกี่ยวกับเด็กไปเล่าให้รุ่นน้องได้ฟังด้วย” ซูรัยดา เห็นพูดถึงความชอบ

“ผู้ลี้ภัยเหมือนกันครับ ผมเคยสงสัยว่าโรฮิงยาเข้าประเทศไหนได้บ้าง ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ตอนกรณีฮาคีม (ฮาคีม อัล อาไรบี นักเตะบาห์เรนลี้ภัยในออสเตรเลีย แล้วเคยมาถูกจับในประเทศไทย) พอเล่าว่าออสเตรเลียคือประเทศที่ให้สิทธิกับผู้ลี้ภัยอย่างมาก ผมสนใจอยากไปเลยนะ อยากรู้ว่าเป็นอย่างที่บอกไหม” มูฮำหมัด สะท้อนความรู้สึก

เราถาม ผศ.ดร.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์ประจำวิชา ‘สิทธิมนุษยชนศึกษา’ ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญยังไง ทำไมนักศึกษาถึงต้องเข้าใจเรื่องนี้

“ในปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้ง่าย บางครั้งบิดเบือนด้วย การถูกปลุกเร้าให้เกลียดชังเลยเกิดขึ้นได้ง่าย เรามีหลายช่องทางที่จะละเมิดผู้อื่นได้อย่างเกินขอบเขต การเรียนวิชานี้เป็นการเตือนตัวเอง การจะทำอะไรออกไป ต้องคำนึงถึงคนอื่นด้วย ไม่ไปละเมิดจนทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ไปทำให้คนอื่นต้องเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ ถ้าทุกคนดำรงตรงนี้ได้ ก็ไม่มีความเกลียดชังที่สะสมจนกลายเป็นความรุนแรง”

ในฐานะนักศึกษารัฐศาสตร์ การเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนคือพื้นฐานที่สำคัญ ในฐานะพลเมือง การมองเห็นความเชื่อมโยงถึงบทบาทของตัวเองคือองค์ประกอบที่สำคัญ และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การตระหนักว่าทุกความแตกต่างหลากหลายเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงกระทำได้ และเราไม่ควรไปละเมิดคุณค่าเหล่านั้น

มูฮัมมัดมุมิน มูหนะ เจ้าหน้าที่จาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย มองว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย หากแต่การพูดคุยกันเพียงไม่กี่ครั้ง คงไม่ชัดเจนขนาดว่าเห็นการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยปฏิกิริยาระหว่างคาบเรียนของนักศึกษา ก็สะท้อนว่าพวกเขาเริ่มเกิดความสนใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การกระทำอื่นๆ ในอนาคต

“ถ้าเป้าหมายใหญ่ของแอมเนสตี้ คือทุกคนสามารถเอ็นจอยเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นแอ็คทีฟซิติเซน แต่เป้าหมายเล็กของแอมเนสตี้ในไทย คืออยากให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง คนจะไปหาความรู้ต่อ หรืออาจเทคแอ็คชั่นบางอย่างในแบบของตัวเอง

“การนำเรื่องสิทธิมนุษชนเข้ามาในคลาสเรียน เราเห็นว่าคนเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นนะ เนื่องจากเป็นเรื่องไอเดียเลยวัดผลยาก แต่ถือเป็นก้าวแรกที่ชวนตั้งคำถาม หลังจากนี้เขาคงตื่นตัวและเกิดการตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ ในสังคมมากขึ้น”

การบรรจุเรื่อง ‘สิทธิมนุษชน’ เข้าไปในวิชาเรียน นักศึกษาบางคนอาจมองเป็นหนึ่งวิชาที่ต้องลงทะเบียน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะสุดท้ายแล้ว ข้อมูลจากการบรรยาย บรรยากาศของการถกเถียง และตัวอย่างที่ได้ยินมา อาจทั้งนำไปใช้ทำข้อสอบ พร้อมกับปรับใช้กับเหตุการณ์ในชีวิตจริงด้วย

Tags: ,