สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงาน Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 บอกว่า ประเทศไทยหลัง ‘The Lost Decade’ พ้นทศวรรษจากความขัดแย้งทางการเมือง ต้องมุ่งหน้าสู่ความทันสมัย ปรับตัวสู่ดิจิทัล

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ จากที่ไม่มีความขัดแย้งก็เริ่มมีความขัดแย้งในสังคมจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในที่สุด แน่นอนว่าสถานการณ์แบบนี้ย่อมสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมในประเทศ เรียกว่าเป็น The Lost Decade

“แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ เราใช้เวลาในช่วงสามสี่ปีหลังมานี้ นำความสงบและเสถียรภาพทางการเมืองกลับมา และหยุดการถดถอยทางเศษฐกิจได้ และยังการวางรากฐานสำคัญที่จะสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับประเทศ

“จังหวะนี้สำคัญที่สุดในการทรานสฟอร์มประเทศ คนชอบพูดกันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยจะดี มันอยู่ที่ว่าแต่ละคนคิดอย่างไร เราเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ป่วยแห่งอาเซียน มีคนออกมาอยู่นอกถนน จีดีพีโตแค่ 1% แต่ภายในสามปีจีดีพีเรากระโดดมาถึง 4.8% เรามีหนี้ต่างประเทศแค่ 40% ของจีดีพี

รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดี เป็นประเทศที่เหมาะแก่การเข้ามาลงทุน “คุณไปดูทุกตัวชี้วัดได้เลย ดุลบัญชีเดินสะพัดต่างๆ เราเข้มแข็งมาก การปรับแรงกิ้งต่างๆ ก็ดีขึ้นทุกตัว ไม่ว่าใครจะบอกว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ประวัติศาสตร์จะเป็นตัวตัดสินในสิ่งที่เราทำ”

เขากล่าวว่า เมืองไทยมีโอกาสอยู่หน้าประตูบ้าน พลังของการเติบโตย้ายมาอยู่ในเอเชียมากขึ้น และอาเซียนเป็นศูนย์กลางที่สำคัญมาก ทั้งแรงงานและซัพพลายเชนต่างๆ ประเทศไทยอยู่ตรงกลางของอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงหรือ CLMV นั่นคือ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม ถ้ารวมกับไทยด้วยแล้วมีประชากรมากถึง 250 ล้านคน และเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ

สมคิดมองว่าประเทศไทยต้อง ‘Redefine Economic Structure’ หรือนิยามโครงสร้างทางเศรษฐกิจเสียใหม่ โดยเฉพาะเรื่องลดการพึ่งพาการส่งออก และสร้างดีมานด์ในประเทศไทยให้มากขึ้นตามแผนปฎิรูปของคสช. ตามหลักการความสมดุลทางเศรษฐกิจ (Balance Economy) แต่ตอนนี้ ไทยไม่มีความสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างท้องถิ่นและการส่งออก มันไม่เกิดเพราะคนส่วนใหญ่คน เมื่อคนจนไม่มีอำนาจซื้อก็ทำให้นักธุรกิจเน้นที่ภาคการส่งออกอย่างเดียว พอเกิดปัญหาเศรษฐกิจโลก ประเทศด้อยพัฒนาก็มักเอาการค้าไปขึ้นอยู่กับการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมันผิด สมคิดเห็นว่า เราจึงต้องเปลี่ยนภาคการเกษตร เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร สร้างความหลากหลายในการปลูก ปรับสู่การเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

เขากล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่ผลิต เน้นความหลากหลาย และใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยมีภาคบริการที่โดดเด่น เช่น การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และการเงิน แต่ยังต้องการการพัฒนา โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่แค่ให้นักท่องเที่ยวไปหัวเมืองใหญ่เพียงเท่านั้น แต่ต้องไปเที่ยวเมืองรอง เช่น เชียงราย ลำพูน พะเยา  แต่ที่ผ่านมาการเดินทางไม่สะดวก ฉะนั้นจำเป็นต้องลงทุนด้านคมนาคม และไม่ใช่ต่างคนต่างทำอีกต่อไป รถไฟ ถนน ต้องไปถึง โดยใช้งบประมาณในจังหวัด

“เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยเซกเตอร์ด้านบริการกว่า 60% ของจีดีพี เช่น ท่องเที่ยว ส่งออก แบงค์กิ้ง เป็นต้น ยกตัวอย่างการท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา แต่ต้องให้เขาไปเที่ยวเมืองอื่นๆ ด้วย ถ้าเราทำโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้ดี มีระบบขนส่งมวลชน และไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เมืองใหญ่เป็นศูนย์กลางที่มีรถไฟ ถนน การกระจายรายได้ก็จะไปสู่ท้องถิ่น” สมคิดกล่าวและพูดถึงเซกเตอร์อื่นๆ เช่น ต้องเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหาร รถยนต์ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ต้องก้าวไปอีกขั้น และจะพัฒนาอุตสาหกรรมแหลมฉบังและท่าเรือให้ใหญ่ขึ้น เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออก

เขายกตัวอย่างภาคใต้ว่า หลายสิบปีแล้วที่ไม่เจริญ รายได้ของภาคใต้ ถ้าไม่ใช่ท่องเที่ยว ก็มาจากอาหารทะเลและยางพารา ปีไหนราคาตลาดโลกสูงก็สบาย เราก็ต้องนำความเจริญเข้าไป เราจะสร้างรถไฟรางคู่จากชุมพรไปถึงสุราษฎร์ธานี ตัดถนนใหม่ ให้นักท่องเที่ยวลงไป แล้วเขาก็จะบริโภคสินค้าท้องถิ่นมากขึ้น  

“เมกะโปรเจกต์ก็หยุดมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ตอนนี้เรากำลังมีรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมสามสนามบิน มีแหลมฉบังเฟสสาม พอมองกลับมาที่กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าอีกสามสี่สายที่กำลังจะขึ้น ในเมืองเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ก็กำลังมีรถไฟภายในเมือง”  

รองนายกรัฐมนตรียังพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยว่า “คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท (ต่อปี) มีถึงสี่ล้านคน ต่ำกว่าแสนบาทมีอยู่ 11 ล้านคน แล้วพวกเขาจะอยู่ได้อย่างไร เกษตรกรในประเทศกว่า 20 ล้านคนยังผลิตพืชผลอย่างเดียว ไม่มีเทคโนโลยี แล้วจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร ถ้าเราอยู่กันแบบนี้ก็แก้ไขไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำก็ไม่มีวันหมดไป มันเป็นปัญหาสั่งสมที่ต้องแก้ด้วยการปฏิรูป และอยู่ที่ความจริงใจของรัฐบาลในการทำสิ่งเหล่านี้”

“เราอยู่ในช่วงที่รัฐบาลลงทุนเยอะมาก เป็นการสร้างดีมานด์ใหญ่ในปีข้างหน้า ผมไม่ให้กระทรวงไหนทำงานเชื่องช้า” สมคิดกล่าว

ปิดท้ายก่อนเดินลงจากเวที รองนายกรัฐมนตรีกล่าวทีเล่นทีจริงถึงสถานการณ์หลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร “อย่ากังวล ผมมีลางสังหรณ์ว่านายกฯ คนต่อไปจะหน้าตาคล้าย ๆ คนเดิม” เรียกเสียงฮือฮาจากนักธุรกิจนับร้อยคนในห้องประชุม และสื่อมวลชน

สำหรับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นขุนพลเศรษฐกิจให้กับหลายรัฐบาล เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ และปัจจุบัน นอกจากจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการสานเครือข่ายให้บุคคลต่างๆ มาสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศชัดสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

Tags: , , ,