ใกล้หมดปี 2017 แล้ว แต่วงการละครเวทียังมีความเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน ถึงจะเพิ่งจบ ‘เทศกาลละครกรุงเทพ’ ไปหมาดๆ เมื่อเดือนพฤศจิกายนก็ตาม โดยในสัปดาห์นี้มีการแสดงให้เลือกชมหลายชิ้น สองชิ้นที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจคือ Something Missing และ PLAN B : The Master Plan
Something Missing เป็นผลงานร่วมกันของคณะละครจากไทยและเกาหลีใต้ B-Floor และ Momggol โดยผู้กำกับ ธีระวัฒน์ มุลวิไล และ Jongyeoung Yoon ความพิเศษของการแสดงชุดนี้คือแสดงมาแล้วในปี 2558 และ 2559 ซึ่งแต่ละครั้งไม่ใช่เพียงการรีสเตจเล่นซ้ำ หากแต่มีการพัฒนาดัดแปลงเรื่อยมา สำหรับคราวนี้เป็นการเล่นครั้งที่สาม แต่ Something Missing 2017 ไม่ถือว่าเป็นเวอร์ชันที่สาม อาจเรียกว่าฉบับ 3.2 เพราะธีระวัฒน์บอกว่าเขาทำการแปลงจากฉบับที่เล่นที่เกาหลีไปเมื่อเดือนก่อนอีกที
การแสดงชิ้นนี้เป็นรูปแบบ Physical Theatre หรือการเน้นการเคลื่อนไหวทางร่างกาย ประกอบด้วยนักแสดงเจ็ดชีวิต (ไทย 4 เกาหลี 3) ช่วงต้นของเรื่อง เราเห็นพวกเขาวิ่งกันเป็นวงกลมบ้าง ขี่จักรยานบ้าง ต่อด้วยการยื้อแย่งจักรยาน ตามมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง เริ่มกระทบกระทั่งทางกาย ก่อนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นราวกับว่าไม่มีอะไรมาหยุดสถานการณ์เหล่านี้ได้อีก ระหว่างชม ผู้เขียนแอบคิดในใจว่าคนพวกนี้ไปเอาแรงมาจากไหน ต้องฝึกซ้อมมากแค่ไหนถึงทำได้ขนาดนี้ แต่นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังได้จากคณะ B-Floor เสมอ
ช่วงครึ่งหลังของ Something Missing เริ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะเนื้อเรื่องที่ว่าด้วยกลุ่มหนุ่มสาวที่สมาชิกคนหนึ่งนอนแน่นิ่งเสียชีวิต พวกเขาพยายามหาว่าใครเป็นคนฆ่า ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาพยายามแก้ตัวว่านี่เป็นเพียงการหยอกล้อกันเล่น ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นความตั้งใจของผู้สร้างหรือไม่ แต่ผู้เขียนอดคิดถึงกรณีของ ‘น้องเมย’ ไม่ได้ และอันที่จริงเรื่องของความรุนแรงในค่ายทหารเป็นสิ่งที่สังคมไทยกับเกาหลีใต้มีร่วมกันจนแทบจะบ้านพี่เมืองน้อง อย่างเมื่อปี 2554 มีกรณีฉาวที่ทหารหนุ่มวัยยี่สิบปีถูกซ้อมจนตาย ถึงขั้นผู้บัญชาการกองทัพบกเกาหลีใต้ต้องลาออกทีเดียว (ส่วนของไทยนั้น…)
Something Missing เพิ่มความคมคายยิ่งขึ้น เมื่อมาถึงเรื่องของชายหนุ่มที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตด้วยการพ่นสเปรย์สีแดงใส่ ศพของเขานอนนิ่งสนิทที่พื้น ทว่ารอยสเปรย์สีแดงยังคงปรากฏเด่นชัดบนกำแพง (ซึ่งรอยสีแดงเหล่านี้เป็นสิ่งแรกที่ผู้ชมได้เห็นเมื่อเดินเข้าโรงละคร) คงคล้ายกับที่ผู้สร้างเขียนไว้ในสูจิบัตรว่า “บางสิ่งเกิดขึ้น บางสิ่งหายไป แต่บางสิ่งดำเนินต่อไป” เช่นนั้นแล้วการสูญเสีย การตาย การฆาตกรรม (อำพราง?) ไม่ได้ทำให้สสารหรือสิ่งมีชีวิตใดๆ หายไปอย่างลึกลับ แต่มันคงเหลือ ‘ร่องรอย’ อะไรบางอย่างเสมอ
ช่วงครึ่งหลังของ Something Missing เริ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะเนื้อเรื่องที่ว่าด้วยกลุ่มหนุ่มสาวที่สมาชิกคนหนึ่งนอนแน่นิ่งเสียชีวิต พวกเขาพยายามหาว่าใครเป็นคนฆ่า ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาพยายามแก้ตัวว่านี่เป็นเพียงการหยอกล้อกันเล่น ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นความตั้งใจของผู้สร้างหรือไม่ แต่ผู้เขียนอดคิดถึงกรณีของ ‘น้องเมย’ ไม่ได้ และอันที่จริงเรื่องของความรุนแรงในค่ายทหารเป็นสิ่งที่สังคมไทยกับเกาหลีใต้มีร่วมกันจนแทบจะบ้านพี่เมืองน้อง อย่างเมื่อปี 2554 มีกรณีฉาวที่ทหารหนุ่มวัยยี่สิบปีถูกซ้อมจนตาย ถึงขั้นผู้บัญชาการกองทัพบกเกาหลีใต้ต้องลาออกทีเดียว (ส่วนของไทยนั้น…)
Something Missing เพิ่มความคมคายยิ่งขึ้น เมื่อมาถึงเรื่องของชายหนุ่มที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตด้วยการพ่นสเปรย์สีแดงใส่ ศพของเขานอนนิ่งสนิทที่พื้น ทว่ารอยสเปรย์สีแดงยังคงปรากฏเด่นชัดบนกำแพง (ซึ่งรอยสีแดงเหล่านี้เป็นสิ่งแรกที่ผู้ชมได้เห็นเมื่อเดินเข้าโรงละคร) คงคล้ายกับที่ผู้สร้างเขียนไว้ในสูจิบัตรว่า “บางสิ่งเกิดขึ้น บางสิ่งหายไป แต่บางสิ่งดำเนินต่อไป” เช่นนั้นแล้วการสูญเสีย การตาย การฆาตกรรม (อำพราง?) ไม่ได้ทำให้สสารหรือสิ่งมีชีวิตใดๆ หายไปอย่างลึกลับ แต่มันคงเหลือ ‘ร่องรอย’ อะไรบางอย่างเสมอ
ฉากสุดท้ายของละครยังเสียดสีได้เจ็บปวด เมื่อกลุ่มคนมาเยี่ยมชมรอยสีแดงบนกำแพงราวกับทอดน่องในสถานที่ท่องเที่ยว แต่พวกเขาดูจะไม่แยแสกับศพที่นอนอยู่ มันอาจจะคล้ายกับการที่เราพร่ำพรรณนาว่าการฆ่าล้างยิวเป็นเรื่องโหดร้ายหรือเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเรื่องน่าละอาย เพียงเพื่อพยายามจะมีส่วนร่วมกับโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์ แต่เราอาจไม่ได้สนใจความตายของปัจเจกเลยก็ได้ว่าพวกเขาเป็นใคร ทำอาชีพอะไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร หรือแท้จริงแล้วพวกเขาตายอย่างไร
การแสดงอีกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนสังคมได้ดีคือ PLAN B : The Master Plan โดยผู้กำกับ พีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข ซึ่งเคยทำการแสดงมาแล้วเมื่อต้นปี 2559 ในชื่อ PLAN B ในฉบับนี้ยังมีคอนเซ็ปต์คล้ายเดิม นั่นคือการเป็นละครแนว Participatory Theatre หรือการแสดงที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วม
เมื่อเราเข้าไปในโรงละคร เราจะพบเพียงฉากสีดำเปล่าๆ และนักแสดงชายหนึ่งเดียวของเรื่อง (กวิน พิชิตกุล) ชายผู้นี้จะเชิญชวนให้เราไปนั่งเก้าอี้อย่างนอบน้อม แต่เมื่อผู้ชมนั่งกันเรียบร้อยกลับมีเสียงประกาศเป็นเสียงผู้หญิง (ในลีลาเนิบนาบแบบ Siri) ว่าการแสดงไม่อาจเริ่มได้ เนื่องจากผู้ชมจะต้องผ่านการ ‘ยืนยันตัวตน’ เสียก่อน ดังนั้นขอเชิญผู้ชมทุกท่านลงไปนั่งที่พื้น
ท่ามกลางความมึนงงของผู้ชม กวินเริ่มตั้งคำถามว่าเพื่อเช็กคุณสมบัติของผู้ชม เช่นว่า “คุณมีคนใช้หรือไม่” “คุณมีบัตรเครดิตไม่จำกัดวงเงินหรือไม่” “คุณเคยเข้าโรงเรียนด้วยการฝากเข้าหรือไม่” ผู้ชมที่มีลักษณะเข้าเกณฑ์ดังกล่าวจะสามารถเดินไปนั่งเก้าอี้เบาะนุ่มแสนสบายได้ ส่วนผู้ชมที่เหลือต้องนั่งพื้นแข็งๆ ต่อไป โดยไม่ต้องใช้การสังเกตมากนัก เราก็เริ่มจับได้ว่าละครกำลังเสียดสีเรื่องชนชั้นและสิทธิพิเศษ
เอาเข้าจริงรูปแบบของ PLAN B : The Master Plan ท้าทายไม่ใช่น้อย โดยปกติแล้วผู้ชมชาวไทยจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับละครแบบ Participatory Theatre เท่าไรนัก มักจะมีอาการขัดเขินจนทำให้เกิดบรรยากาศกระอักกระอ่วน แถมละครเรื่องนี้ยังเรียกร้องให้ผู้ชมมีส่วนร่วมด้วยการแชร์หรือสารภาพเรื่องราวชีวิตของตัวเอง (คุณอาจต้องยอมรับว่าเคยเส้นเข้าโรงเรียนใดๆ) แต่ละครก็ผ่านพ้นไปได้เนื่องด้วยกวินเป็นนักแสดงที่มีไหวพริบดีเยี่ยม แม้จะเผชิญกับผู้ชมที่ไม่ได้เต็มใจจะมีส่วนร่วมนัก แต่เขาสามารถหาวิธีการพลิกผันสถานการณ์ได้
หลังจากใช้คำถามมากมายเพื่อเช็กคุณสมบัติ แต่ก็มีผู้ชมหลายคนที่ไม่สามารถขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ พวกเขาอาจเป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนที่ไม่ได้มีชีวิตหวือหวาอะไร เสียงของผู้บรรยายแดกดันขึ้นมาว่า “พวกคุณใช้ชีวิตมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” มันทำให้ชวนคิดว่าพวกเขาที่ยังนั่งพื้นเป็นพวกที่ ‘ขาด’ อะไรบางอย่างในชีวิต หรือพวกคนที่ได้ไปนั่งเก้าอี้เป็นพวกที่มีอะไรมาก ‘เกิน’ ไป
แม้จะมีคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจ ผู้เขียนก็รู้สึกว่าจังหวะเรื่องของ PLAN B : The Master Plan เรียบนิ่งไปเสียหน่อย จนผู้ชมบางคนอาจรู้สึกอึดอัด ทว่าความวนไปวนมาของคำถาม และสถานการณ์ที่ผู้ชมไม่ได้ไปนั่งเก้าอี้ทั้งหมดเสียทีนี่เอง ที่อาจเป็นหัวใจของละครเรื่องนี้ที่กำลังฉายภาพโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย
อีกสิ่งที่ผู้เขียนตระหนักได้ถึงความร้ายกาจของละครเรื่องนี้ คือผู้เขียนเป็นคนแรกๆ ของเหล่าผู้ชมที่ได้ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ เพียงเพราะกวินรู้จักผู้เขียนเป็นการส่วนตัวในฐานะนักวิจารณ์ กวินเดินเข้ามายกมือไหว้และเชิญผู้เขียนไปนั่งทันที ฉากแรกของละครจึงกลายเป็นฉากสำคัญที่สุดและชี้เป้าไปที่ปัญหาทันที บางทีตัวผู้เขียนเองควรจะเป็นผู้ที่รู้สึกละอายใจที่สุดในการชมละครเรื่องนี้
FACT BOX:
- Something Missing จัดแสดงถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/1497904600301248
- PLAN B : The Master Plan จัดแสดงถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2560 ณ Democrazy Theatre Studio ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/1756670291040853