ตอนดึกของคืนหนึ่งในเดือนกรกฎาคมปี 1958 จู่ๆ ชายในเครื่องแบบสามนายก็บุกเข้าไปในห้องนอนของสองสามี-ภรรยา พวกเขาสาดไฟจากกระบอกไฟฉายไปที่เตียงนอน พบร่างของคนสองคนกำลังผวากอดกันด้วยความหวาดกลัว ตำรวจนายหนึ่งส่องไฟไปที่ใบหน้าของของคนทั้งสอง ตะโกนบอกให้ลุกจากเตียง พวกเขาถูกจับกุมแล้ว

สองสามี-ภรรยาซึ่งถูกกระชากตื่นจากความหลับใหลคือ มิลเดรด (Mildred) และริชาร์ด เลิฟวิง (Richard Loving) พลเมืองของรัฐเวอร์จิเนีย ทั้งสองเป็นคู่รักที่เพิ่งแต่งงานกันเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมชายคาเดียวกัน แต่ความรักของพวกเขาเป็นเรื่องต้องห้ามและผิดกฎหมายของรัฐ เนื่องจากมิลเดรดเป็นสาวผิวดำ ริชาร์ดเป็นชายผิวขาว

ผลลัพธ์จากการถูกจับกุมในคืนนั้น ทำให้คู่สามี-ภรรยาเลิฟวิงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม และต้องใช้เวลานานหลายปี พวกเขาฟ้องร้องคำตัดสิน รัฐ และกฎหมายเหยียดผิว ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต่อสู้เพื่อความรัก ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นทั่วทั้งอเมริกา

เรื่องราวของเลิฟวิงเริ่มต้นขึ้นจากความรัก มิลเดรดและริชาร์ดเคยเป็นเด็กเพื่อนบ้านที่เติบโตขึ้นมาในเซ็นทรัล พอยต์ เมืองเล็กๆ ห่างจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ไปทางใต้ประมาณ 140 กิโลเมตร ช่วงปลายทศวรรษ 1950s ยังเหลืออีกเพียง 24 รัฐที่เข้มงวดกับกฎหมายแบ่งแยกชนชั้นสีผิว ในจำนวนนั้นมีรัฐเวอร์จิเนีย ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย ในเดือนกรกฎาคม 1958 ที่ทั้งสองถูกจับกุมนั้น การแต่งงานของคนต่างผิวสี ยังถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ที่ต้องได้รับโทษทัณฑ์

ในแคโรลีน เคานตี-ย่านชนบททางตะวันออกของรัฐเวอร์จิเนีย ดูเหมือนจะมีความแตกต่างจากที่อื่น แม้จะแบ่งแยกสีผิว คนผิวดำหรือผิวขาวมีโรงเรียนและโบสถ์แยกส่วนกัน แต่ประชากรที่นั่นใช้ชีวิตอยู่กันอย่างสงบสุข คบกันหาเป็นมิตร และเป็นเพื่อนร่วมงานกัน รวมถึงมิลเดรด เจเตอร์ จากครอบครัวแอฟโรอเมริกันและอินเดียนแดง ที่รู้จักมักคุ้นริชาร์ดมาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ริชาร์ดซึ่งอายุมากกว่าเธอหกปี หลังจากเรียนจบไฮสคูลจากโรงเรียนของคนผิวขาวแล้ว เขาก็ออกมาทำงานช่างฝีมือหาเลี้ยงชีพ

ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนของมิลเดรดและริชาร์ดค่อยๆ พัฒนาเป็นความรัก ผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยพวกเขาบรรยายลักษณะของคนทั้งสองว่าเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว มีความรักใคร่ต่อกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย กระทั่งมิลเดรดอายุครบ 18 ปี และเริ่มตั้งครรภ์ ริชาร์ดก็พาเธอเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน และจดทะเบียนสมรสกันที่นั่น ริชาร์ดรู้ดีว่ากฎหมายของรัฐเวอร์จิเนียไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ แต่เขาก็ไม่ปริปากบอกมิลเดรดถึงเรื่องนี้ และคิดว่า เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านในเวอร์จิเนียแล้ว พวกเขาคงใช้ชีวิตคู่อยู่กันอย่างปกติสุข เพราะเชื่อว่าห้องนอนของพวกเขาน่าจะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด

แต่ในแคโรลีน เคานตีกลับมีใครบางคนที่ไม่ปลื้มกับความสุขของพวกเขา ภายหลังได้รับแจ้งจากบุคคลนิรนาม การ์เน็ตต์ บรูกส์ (Garnett Brooks) นายอำเภอก็พาเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกสองนายบุกเข้าไปในบ้านของเลิฟวิงในตอนดึก คืนที่ถูกจับกุมตัว ริชาร์ดต้องไปนอนในห้องขังที่โบว์ลิง กรีน ก่อนถูกปล่อยตัว ส่วนมิลเดรดถูกปล่อยตัวออกมาอีกครั้งหลังจากติดโทษขังอยู่นานห้าวัน

เดือนมกราคม 1959 ทั้งสองต้องขึ้นศาลเพื่อฟังคำตัดสินจากผู้พิพากษาว่า “พระเจ้าไม่ปรารถนาให้สมสู่ข้ามเผ่าพันธุ์สีผิว” ทั้งคู่ไม่ใช่คนมีการศึกษาสูง แต่มีความหนักแน่นในความรักที่มีต่อกัน และยืนยันการตัดสินใจของตนเองที่จะแต่งงานกัน จึงยอมรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริง ผู้พิพากษาตัดสินโทษจำคุกพวกเขาเป็นเวลาหนึ่งปี และหลังจากนั้นทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในรัฐเวอร์จิเนียอีกเป็นเวลา 25 ปี

เมื่อพ้นโทษแล้ว สองสามี-ภรรยาเลิฟวิงจึงเดินทางโยกย้ายไปวอชิงตัน ดี.ซี.

มิลเดรด และริชาร์ด เลิฟวิงต้องใช้ชีวิตลำบากอยู่ในย่านทรุดโทรมเกือบห้าปี ทั้งสองไม่มีบ้านพักที่ดีและกว้างขวางพอสำหรับลูกๆ คู่สามี-ภรรยาต่างโหยหาบ้านอบอุ่น บรรยากาศชนบท เพื่อนๆ และครอบครัวที่เคยมีในเวอร์จิเนีย “เท่าที่ฉันเข้าใจในตัวบทกฎหมาย เรามีสิทธิ์ที่จะกลับไปเยือนที่นั่นเมื่อไรก็ได้ ไม่ใช่หรือ” มิลเดรดเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อทีวีในปี 1967 “แต่พอเรากลับไปที่นั่น เราก็ถูกจับอีก”

นายอำเภอปล่อยตัวพวกเขาเป็นอิสระหลังจากได้รับเงินประกันตัว แต่ครอบครัวเลิฟวิงจำต้องเดินทางจากญาติมิตรและรัฐเวอร์จิเนียในทันที ปี 1963 เมื่อลูกของพวกเขาคนหนึ่งจากจำนวนสามคนถูกรถชนในกรุงวอชิงตัน มิลเดรดจึงเริ่มหมดความอดกลั้น เธอเขียนจดหมายด้วยภาษาง่ายๆ ร้องเรียนไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม-โรเบิร์ต เคนเนดี (Robert Kennedy) ผู้เป็นน้องชายของประธานาธิบดี

“เรามีลูกสามคน และไม่มีเงินพอจะว่างจ้างทนายความ… ถ้าคุณพอจะทำอะไรได้บ้าง กรุณาช่วยเราด้วยเถิด เราหวังว่าจะได้รับคำตอบจากคุณในเร็ววัน ด้วยความนับถืออย่างยิ่ง – มิสเตอร์ & มิสซิส ริชาร์ด เลิฟวิง”

โรเบิร์ต เคนเนดีไม่ได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือทั้งสอง แต่แนะนำให้พวกเขาติดต่อไปยัง ‘สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน’ (American Civil Liberties Union) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ส่วนหนึ่งทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิให้กับพลเมืองที่เป็นแอฟโรอเมริกัน พวกเขาได้รับการติดต่อจากทนายความวัยหนุ่มสองคน คือ ฟิล เฮิร์ชคอป (Phil Hirschkop) และเบอร์นาร์ด โคเฮน (Bernard Cohen) ซึ่งเข้าใจปัญหาและความรู้สึกของมิลเดรดได้ดี อีกทั้งยังรู้ด้วยว่า การต่อสู้ของสามี-ภรรยาคู่นี้ต้องใช้เวลาอีกยาวนาน และเป็นอีกประเด็นสำคัญในประวัติศาสตร์ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชาวอเมริกัน ทนายความทั้งสองรับปากจะให้ความช่วยเหลือโดยไม่เรียกร้องเงินตอบแทน

“พวกเขาเป็นสามัญชนคนธรรมดา ไม่มีความเสแสร้งใดๆ” เบอร์นาร์ด โคเฮนย้อนรำลึกถึงบุคคลทั้งสองในปี 2007 เมื่อคราวให้สัมภาษณ์ในสารคดีของบีบีซี ฟิล เฮิร์ชคอปยังเพิ่มเติมความรู้สึกประทับใจของตนที่มีต่อลูกความด้วยว่า “ทั้งสองคนดูกลมเกลียวกันมาก จนรู้สึกได้ว่าพวกเขามีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง”

ทนายความทั้งสองทำงานและเฝ้าติดตามเรื่องอยู่นานถึงสี่ปี แต่ทุกครั้งก็ติดขัดกับปัญหาเรื่องเดิม คือ การเหยียดผิว ที่ดูเหมือนจะฝังรากลึกในตัวบทกฎหมายของรัฐทางใต้ พวกเขาต้องต่อสู้กับระบบ ที่ถูกกำหนดแบบมายาวนานกว่าศตวรรษ นั่นคือ Anti-Miscegenation Laws (กฎหมายห้ามคนผิวขาวมีเพศสัมพันธ์หรือสมรสกับคนผิวสีอื่น และไม่รับรองการสมรสระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีอื่นว่าถูกต้องตามกฎหมาย) ที่เป็นผลพวงจากกฎหมายทาส ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี 1865

ปี 1967 คดีฟ้องร้องของเลิฟวิงกับรัฐเวอร์จิเนียไปถึงศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ริชาร์ดและมิลเดรด พลเมืองชายขอบ ตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ “คุณบอกกับศาลง่ายๆ แค่ว่า ผมรักภรรยาของผม” ทนายแนะนำริชาร์ดสั้นๆ

วันที่ 12 มิถุนายนปีเดียวกัน ผู้พิพากษาศาลสูงสุดอ่านคำพิพากษา “ริชาร์ด และมิลเดรด เลิฟวิงมีสิทธิ์ที่จะตื่นนอนขึ้นพร้อมกันในตอนเช้า และเข้านอนพร้อมกันในตอนค่ำ โดยไม่ต้องมีนายอำเภอไปเคาะประตูบ้านหรือบุกรุกเข้าไปถึงห้องนอน พร้อมเอาไฟฉายส่องหน้า”

มิลเดรด และริชาร์ด เลิฟวิงต้องใช้เวลาต่อสู้เพื่อความรักของพวกเขานานถึง 9 ปี กว่าจะได้รับชัยชนะ ทว่าที่มากไปกว่านั้น คดีความของพวกเขาจะทำให้การอยู่ร่วมกันของคนต่างสีผิวทั่วทุกรัฐของอเมริกาเป็นไปได้ รวมถึงมีสิทธิและความเสมอภาคกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีผลทำให้ Anti-Miscegenation Laws ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ภายหลังคำตัดสินของศาลสูงสุด ครอบครัวเลิฟวิงจึงเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่เซ็นทรัล พอยนต์ รัฐเวอร์จิเนีย และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นกับลูกๆ ทั้งสามคน

ปี 1975 แปดปีถัดจากนั้น อุบัติเหตุรถยนต์ก็พรากชีวิตคู่ของทั้งสอง ริชาร์ด เลิฟวิงเสียชีวิต ทิ้งภรรยาให้เป็นหม้ายขณะอายุได้เพียง 35 ปี

มิลเดรด เลิฟวิงไม่ได้แต่งงานใหม่กับใครอีกเลย จนกระทั่งเธอเสียชีวิตลงในปี 2008

 

อ้างอิง:  

Tags: