แขกเข้าพักรายใหม่ของโรงแรมพาเลซ ในมงดอร์ฟ-เลส์-แบงส์-เมืองสปาหรูของลักเซมเบิร์ก มีสัมภาระติดตัวเป็นกระเป๋า 16 ใบ พร้อมกล่องบรรจุหมวกสีแดงและคนรับใช้ของเขา ทั้งเล็บนิ้วเท้าและนิ้วมือของเขาขัดเป็นเงาวาว แต่เขาแสดงท่าทีหงุดหงิดอย่างเห็นได้ชัด มือทั้งสองข้างสั่นกระตุกอย่างแรง ในกระเป๋าเดินทางใบหนึ่งของเขามียาพาราโคดิน ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ใกล้เคียงกับมอร์ฟีน บรรจุมาด้วยถึง 20,000 เม็ด นอกจากนั้น ในกระเป๋าอีกใบของเขายังมีนาฬิกาเจ็ดเรือน แหวน สร้อย และเหรียญ พร้อมเงินสดอีก 81,268 ไรช์มาร์ก (มูลค่าปัจจุบันราว 3.3 แสนยูโร) ในกระเป๋าเสื้อของเขายังมีไซยาไนด์พกติดมาอีกสองหลอดอีกด้วย

ผู้เข้าพักรายใหม่และสัมภาระของเขาถูกตรวจสอบทันทีเมื่อเดินทางมาถึง นั่นเพราะเขาไม่ใช่แขกปกติของโรงแรม หากเป็นนักโทษชาย หมายเลขประจำตัว 31 G 350013 มีชื่อตามบัตรประจำตัวว่า แฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring) จอมพลผู้บัญชาการทหารของกองทัพไรช์ที่สาม และผู้นำระดับสูงของพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมนี (นาซี) ผู้มีบทบาทสำคัญในการขยายระบบเผด็จการของพรรคนาซีให้ครอบคลุมทั่วเยอรมนี รวมทั้งสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารของเยอรมนีโดยเฉพาะกองทัพอากาศให้มีความแข็งแกร่ง วันที่ 20 พฤษภาคม 1945 สิบสองวันหลังจากเยอรมนีประกาศแพ้สงคราม เกอริงถูกจับส่งตัวไปฝากขังไว้ที่โรงแรมในมงดอร์ฟแห่งนี้

ทหารอเมริกันใช้โรงแรมเป็นศูนย์กลางการควบคุมตัวอาชญากรสงครามระดับหัวแถวของนาซีในเดือนพฤษภาคม 1945 และใช้รหัสเรียกสถานคุมขังแห่งนี้ว่า ‘Ashcan’ หรือถังขยะ ผู้ถูกควบคุมตัวล้วนเป็นคนใหญ่คนโตในพรรคนาซี ที่ทหารอเมริกันสามารถควบคุมตัวไว้ได้ นอกจากแฮร์มันน์ เกอริง ซึ่งมีตำแหน่งสูงถึงรัฐมนตรีไรช์แล้ว ยังมีบรรดานายพลคนอื่นๆ อีก เช่น คาร์ล เดอนิตซ์ (Karl Dönitz) จอมพลเรือ, อัลแบร์ต ชแปร์ (Albert Speer) รัฐมนตรีกระทรวงสรรพาวุธของนาซี, ฮานส์ ฟรังค์ (Hans Frank) ผู้ปกครองเขตกักกันชาวยิวในโปแลนด์, ฟริตซ์ เซาเคล (Fritz Sauckel) จอมพลผู้มีอำนาจสูงสุดในโครงการพัฒนาในการบังคับใช้แรงงานทาส และโยอาคิม ฟอน ริบเบนโทรป (Joachim von Ribbentrop) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของนาซี สื่อหนังสือพิมพ์อเมริกันเรียกขานกลุ่มผู้ถูกควบคุมตัว ที่ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันบริเวณลานบันไดโรงแรมด้วยสำนวนเสียดสีว่า ‘รุ่นสุดท้าย 1945’

รอบบริเวณโรงแรมถูกขึงกั้นด้วยรั้วลวดหนามสูงห้าเมตร ปิดคลุมด้วยผ้าและอวนลายพราง บนหอสังเกตการณ์มีเจ้าหน้าที่ติดอาวุธปืนกลยืนประจำการ ภายในสวนหย่อมของโรงแรมเป็นพื้นที่เปิดให้สมาชิกพรรคนาซีได้ไปเดินเล่นหรือนอนอาบแดดอยู่ตรงลานระเบียง ความเป็นไปของที่นี่เผยให้เห็น ‘ความชั่วร้ายที่จำเจ’ ที่ว่ากันว่าอันตรายและไร้สาระที่สุดของลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติ

สถานการณ์ประจำวันใกล้เคียงกับละครฉากแปลก ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันรายงานความเป็นไปของ ‘ผู้ต้องขังในโรงแรมหรู’ ว่าแต่ละคนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่ว่านายทหาร นักรบ หรือข้าราชการล้วนดูคล้ายเสือสิ้นลาย มีเพียงแฮร์มันน์ เกอริงเท่านั้นที่ยังคงวางมาดเคร่งขรึม และมักนั่งรับประทานอาหารภายในห้องโถงตามลำพัง โดยไม่มีใครอยากร่วมโต๊ะด้วย

ผู้ต้องขังมักมีประเด็นสนทนากันในลักษณะการอภิปราย อย่างเช่น ลุดวิก กราฟ ชเวรีน ฟอน โครซิกค์ (Ludwig Graf Schwerin von Krosigk) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ร่ายยาวเกี่ยวกับเชคสเปียร์ วิลเฮล์ม ไคเทล (Wilhelm Keitel) ผู้ช่วยจอมพล สาธยายเรื่องการเพาะเลี้ยงปลา โรแบร์ต ไลย์ (Robert Ley) ผู้นำแนวร่วมแรงงานเยอรมัน พล่ามเกี่ยวกับแนวทางกอบกู้เศรษฐกิจอีกครั้งของเยอรมนี แต่ละคนสมัครใจอภิปรายตามหัวข้อที่ตนอยากพูด นอกจากนั้นผู้ต้องขังยังได้เห็นภาพถ่ายจากห้องสังหารและค่ายกักกันอีกด้วย ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งของนิตยสารไทม์ รายงานว่า ปฏิกิริยาของแต่ละคนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

แฮร์มันน์ เกอริง ผู้ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการค่ายกักกัน ผุดลุกขึ้นพูดตะโกนระหว่างนั่งชมภาพถ่ายเหล่านั้นว่า ภาพเหล่านี้พวกเขาเคยให้เชลยสงครามชาวรัสเซียดูมาก่อน ขณะที่นายพลอัลแบร์ต เคสเซลริง (Albert Kesselring) จอมพลแห่งกองทัพอากาศ นั่งหน้าซีด ฮานส์ ฟรังค์กัดปมผ้าเช็ดหน้าและบิดมันไปมา ส่วนโยอาคิม ฟอน ริบเบนโทรปคอตก ลุกขึ้นก้าวเดินออกจากห้องไป

ผู้บัญชาการค่ายแอชแคนต้องคอยดูแลสอดส่องอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังฆ่าตัวตาย เพราะทุกคนต้องการให้ผู้นำระดับสูงของพรรคนาซีเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพิพากษาตามกฎหมายสากล แม้ว่าในขณะนั้นฝ่ายพันธมิตรยังตกลงกันไม่ได้ว่า จะกระทำการพิจารณาผู้กระทำความผิดอาญาสงครามอย่างไรหรือที่ไหน กฎในแคมป์ แอชแคนมีการห้ามใช้มีดโกน รวมถึงเนคไท และอุปกรณ์การกินมีเพียงช้อนเท่านั้น กระจกหน้าต่างทุกบานก็จะมีการติดตาข่ายเหล็กกั้นไว้อีกชั้น

มาตรการเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะครั้งที่ฮานส์ ฟรังค์-ฆาตกรสังหารชาวยิวนับล้านในโปแลนด์-ถูกจับกุมตัว เขาพยายามใช้มีดปาดคอตนเองและใช้มีดเล่มเดียวกันจ้วงแทงที่หน้าท้อง ด้วยเหตุนี้โยอาคิม ฟอน ริบเบนโทรป-เพื่อนร่วมห้อง จึงได้รับมอบหมายเป็นคนคอยดูแล ในขณะที่ริบเบนโทรปเองนั้นก็มีปัญหาทางจิตส่วนตัว เนื่องจากเขาไม่ได้รับการกล่าวถึงในพินัยกรรมของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ บ่อยครั้งเขามักละเลยที่จะทำความสะอาดห้อง อีกทั้งไม่ยอมจัดเก็บเตียงนอนของตนเอง

ในขณะที่ผู้ต้องขังหลายคนแสดงออกถึงอาการทางจิต กลับมีบุคคลเดียวที่วางมาดเคร่งขรึม มีภูมิ นั่นคือ แฮร์มันน์ เกอริง อดีตผู้สืบทอดอำนาจของฮิตเลอร์ชอบนักกับเรื่องดรามา ขนาดโยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) คู่แข่งคนสำคัญ ยังเคยตั้งข้อสังเกตเกอริงในสมุดบันทึกของตนเองว่า “ชุดเครื่องแบบสำคัญกว่าหน้าที่การงาน” เกอริงปฏิบัติตัวแตกต่างจากผู้ต้องขังคนอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องการกิน เขาเรียกร้องจะใช้กระบอกแทนช้อน รวมถึงเรื่องเครื่องแต่งกาย ชุดนักโทษที่คนอื่นยินดีจะสวม โดยปราศจากเงื่อนไขหรือข้อสงสัย แต่สำหรับเกอริง เขาปรารถนาจะสวมเสื้อผ้าที่ทำให้ตนเองรู้สึกว่า เขาเป็นแค่นักโทษเยอรมันคนหนึ่ง ไม่ใช่อาชญากรสงครามคนสำคัญ

เกอริงใช้เวลาส่วนใหญ่บนเก้าอี้เอน และมักสวมเสื้อคลุมลายดอกสีแดงและกางเกงนอนผ้าไหมสีดำ ตามคำสั่งของผู้บัญชาการค่าย ทำให้เขาค่อยๆ หายจากอาการติดยาเม็ด ที่เขาเริ่มเสพติดมันหลังจากได้รับบาดเจ็บระหว่างเหตุการณ์โค่นอำนาจฮิตเลอร์ในปี 1923 เริ่มจากมอร์ฟีน ต่อมาเป็นยาพาราโคดีน ส่วนอาการข้างเคียงที่ยังคงสืบเนื่อง มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเขาจะเกิดอาการวิตกกังวล เหงื่อท่วมตัว และบางครั้งคล้ายหัวใจจะวาย

เกอริงมีอาการหวาดวิตกหนักขึ้นหลังจากรับรู้ข่าวว่าจะมีการพิจารณาคดีที่ศาลในเมืองนูเรมเบิร์ก ที่ซึ่งเขาจะต้องเข้าไปยืนในโถงศาล ท่ามกลางแสงไฟสว่าง จะต้องถูกฝ่ายศัตรูคาดคั้นเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวหาว่าเขากระทำผิด

ผิดกับอัลแบร์ต ชแปร์-รัฐมนตรีกระทรวงสรรพาวุธ ที่ชอบเล่นบทบาทสุภาพบุรุษ ทำตัวไม่รู้ไม่ชี้ เหมือนเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือคาร์ล เดอนิตซ์-ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากฮิตเลอร์ในทำเนียบประธานาธิบดีไรช์ ก็กระตือรือร้นที่จะตอบคำถามอย่างละเอียดกับฝ่ายสอบสวนของอเมริกา “ความจริงแล้วคนทั้งคณะล้วนปฏิบัติในสิ่งเดียวกัน นั่นคือ หน้าที่ของตนเอง”

วันที่ 10 สิงหาคม 1945 ได้เวลา ผู้ต้องขังในมงดอร์ฟถูกนำตัวไปที่นูเรมเบิร์ก หลังจากตัดสินใจกลับไปกลับมา ในที่สุดฝ่ายพันธมิตรได้เลือกเมืองซึ่งในอดีตนาซีเคยใช้เป็นที่ประชุมพรรค เป็นสถานที่พิจารณาคดี และเริ่มทำการพิจารณาผู้กระทำความผิดอาญาสงครามกลุ่มหลักในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1945

 

อ้างอิง:

https://www.visitluxembourg.com/de/empfohlene-touren/tour/t/an-der-wiege-der-reisefreiheit

Willy Perelsztejn (Director/Writer), Ashcan: The Secret Prison, Movie (2018)

https://jfi.org/watch-online/jfi-on-demand/ashcan-the-secret-prison

Fact Box

  • โรงแรมพาเลซ ในมงดอร์ฟถูกใช้เป็นค่ายแอชแคนระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 1945 มีจำนวนผู้ต้องขังทั้งนายทหารและพลเมืองทั้งสิ้น 86 คน โดยใช้ชั้น 3-4 ของอาคารเป็นที่คุมขัง ชั้นสองถูกปล่อยว่าง ส่วนชั้นหนึ่งทหารอเมริกันใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติงาน
  • แฮร์มันน์ เกอริง ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิตโดยการแขวนคอในคดีความผิดอาญาสงคราม แต่เขาปลิดชีวิตตัวเองในคืนก่อนหน้าวันประหาร
  • คาร์ล เดอนิตซ์ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี จากความผิดในกรณีละเมิดสนธิสัญญาทางทะเลกรุงลอนดอนครั้งที่สอง ในปี 1936 แต่ไม่ถูกตัดสินว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสงครามเรือดำน้ำ เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 1980 ในวัย 89 ปี
  • ฮานส์ ฟรังค์ ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต และเสียชีวิตจากการรับโทษแขวนคอเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 1946
  • วิลเฮล์ม ไคเทล ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต และเสียชีวิตจากการรับโทษแขวนคอเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 1946
  • โรแบร์ต ไลย์ เสียชีวิตจากการทำอัตวิบาตกรรมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1945 ก่อนกระบวนการพิจารณาคดีจะเริ่มต้นขึ้น
  • โยอาคิม ฟอน ริบเบนโทรป ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต และเสียชีวิตจากการรับโทษแขวนคอเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 1946
  • ฟริตซ์ เซาเคล ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต และเสียชีวิตจากการรับโทษแขวนคอเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 1946
  • อัลแบร์ต ชแปร์ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี จากความผิดที่ใช้แรงงานทาสจากดินแดนยึดครองในการผลิตอาวุธ เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1981 ในห้องพักโรงแรมที่กรุงลอนดอน ภายหลังให้สัมภาษณ์กับสื่อบีบีซี
  • หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจค่ายแอชแคนแล้ว โรงแรมพาเลซยังเปิดใช้เป็นโรงแรมที่พักต่อไป ก่อนจะถูกรื้อถอน และดัดแปลงเป็นสปาทันสมัย
Tags: , , , ,