ปี 1888 ณ บ้านเลขที่ 22 ไฮด์ปาร์ก เกต, เคนซิงตัน, ลอนดอน อะเดลีน เวอร์จิเนีย สตีเฟน (Adeline Virginia Stephen) อายุได้หกขวบ เพิ่งหายจากอาการไออย่างรุนแรง รูปร่างเธอผ่ายผอม บอบบาง มันง่ายที่จะยกตัวเธอขึ้นวางบนหิ้งในห้องที่อยู่ระหว่างห้องครัวและห้องรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นที่วางถ้วยชาม

วันหนึ่ง เจอรัลด์ ดัคเวิร์ธ (Gerald Duckworth) พี่ชายต่างบิดาวัย 18 ปี ได้อุ้มตัวเธอไปวางที่หิ้งตรงนั้น แล้ว “เขาก็เริ่มสัมผัสเนื้อตัวของฉัน” เวอร์จิเนียย้อนรำลึกเมื่อ 50 ปีให้หลัง

“เขาล้วงมือเข้าไปในกระโปรงของฉัน ถลกมันขึ้น และโถมตัวเบียดเข้ามา” และ “ฉันได้แต่หวังว่าเขาจะหยุดทำ มันทำให้ฉันตัวเกร็งระหว่างที่เขาเคลื่อนมือเข้าไปใกล้อวัยวะเพศของฉัน แต่เขาไม่ได้รุกล้ำเข้าไป” มันทำให้เธอรู้สึกโกรธ “แต่จะพูดไล่เขาอย่างไร คำที่เหมาะสมสำหรับความรู้สึกเอือมระอาและสับสนมันคืออะไร?”

ปี 1895 ที่บ้านเลขที่ 22 ไฮด์ปาร์ก เกต, เคนซิงตัน, ลอนดอน บ้านของพ่อแม่ที่อึมครึมหลังนั้นกลายเป็น ‘กรง’ ไปเสียแล้ว เฟอร์นิเจอร์สีดำ วอลล์เปเปอร์สีทึม ม่านกำมะหยี่สีแดง อากาศภายในบ้านอับและมีกลิ่นแรง พี่น้องร่วมและต่างบิดา รวมทั้งย่าและคนรับใช้ต่างใช้ชีวิตอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน

ในเดือนพฤษภาคม ครอบครัวสูญเสียมารดาไป ผู้เป็นบิดาตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าและเข้าไม่ถึง เวอร์จิเนียต้องคอยติดตามและอยู่ในความดูแลของจอร์จ (George) พี่ชายวัย 27 ปีของเจอรัลด์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ทำงานใกล้ชิดและเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาหญิงสังคมชั้นสูงยุควิกตอเรีย

ค่ำวันหนึ่งเวอร์จิเนียกลับมาถึงบ้านด้วยความอ่อนเพลีย จึงล้มตัวนอนบนเตียงทันที “ฉันเกือบจะผล็อยหลับไปแล้ว ในห้องของฉันมืด และเงียบสงัด” เวอร์จิเนียเล่าในกาลต่อมา “จากนั้นก็มีเสียงเปิดของประตู มีคนเดินย่องเข้ามาในห้อง ‘นั่นใคร’ ฉันตะโกนถาม”

“อย่าเพิ่งตกใจกลัว” จอร์จตอบเสียงกระซิบ เขาไม่ได้เปิดไฟ “โอ…ที่รัก ที่รักของพี่” แล้วเขาก็ทิ้งตัวลงบนเตียง และคว้าตัวเธอเข้าไปกอด บรรดาหญิงชราแห่งบ้านเคนซิงตันคงคิดไม่ถึงว่า จอร์จ ดัคเวิร์ธ ไม่ใช่แค่เพียงพี่ชายต่างบิดาของสาวน้อยผู้น่าสงสารจากตระกูล ‘สตีเฟน’ เท่านั้น หากยังเป็นชู้รักของเธอด้วย

‘สาวน้อยตระกูลสตีเฟนผู้น่าสงสาร’ ทั้งเวอร์จิเนีย และวาเนสซา (Vanessa) พี่สาววัยแก่กว่าสามปี ล้วนถูกล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่วัยอ่อน ตลอดช่วงเวลาที่ยังมีชีวิต เวอร์จิเนียมักเล่าให้เพื่อนและคนสนิทของเธอฟังเสมอ เกี่ยวกับ “ไอ้สารเลวจอร์จ” กับความทรงจำในบ้านที่ไฮด์ปาร์ก เกต เลขที่ 22

เธอเล่าถึงความป่วยทางจิตครั้งแรกของเธอเมื่อปี 1895 ไม่นานหลังจากมารดาของเธอเสียชีวิต ว่ามันมีความเชื่อมโยงกันกับเหตุการณ์ที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ และอารมณ์ทุกข์โศกของเธอ ซึ่งมีผลกระทบต่อเธอในเวลาต่อมา เวอร์จิเนีย วูลฟ์ เป็นหญิงรูปงาม ที่ไม่กล้าส่องกระจกมองตนเอง อีกด้านหนึ่งเธอยังเป็นผู้หญิงแกร่ง กล้าเผชิญโลก เพื่อแสวงหาความสุขในชีวิต ที่บางครั้งเธอก็มีโอกาสพบเจอ

การเขียนหนังสือมีส่วนช่วยให้เวอร์จิเนีย วูล์ฟ จัดระเบียบตัวเองให้ห่างไกลจากความทุกข์รันทด เธอวิเคราะห์ตนเองอย่างสุขุมและได้ข้อสรุปว่า เธอไวต่อความรู้สึกเวลาถูกภาวะบีบคั้นโจมตี และสิ่งนั้นทำให้เธอกลายเป็นนักเขียน “ชีวิตต้องถูกกระทำหรือย่ำแย่เสียก่อนที่จะสามารถเขียนหนังสือได้”

วิตา แซ็ควิลล์-เวสต์ (Vita Sackville-West) คนรักของเธอเคยกล่าวหาว่า เธอมองทุกอย่างในชีวิตเป็นเนื้อหาทางวรรณกรรม รวมถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ นั่นเป็นความจริง เวอร์จิเนียมองว่ามันคือความเป็นไปได้อย่างเดียวที่เธอจะนำพาชีวิตและจิตใจให้อยู่รอด การเรียบเรียงประสบการณ์ของเธอเป็นคำพูด ทำให้เกิดพลัง เพื่อทำให้เธอเจ็บปวด

ภายหลังการเสียชีวิตของบิดาของเธอในเดือนกุมภาพันธ์ 1904 เวอร์จิเนียในวัย 22 ปี ตกอยู่ในอาการทรุดอีกครั้ง แต่ท้ายที่สุดมันกลับกลายเป็นเรื่องดี เพราะมันได้นำพาเธอออกมาจาก “ความดุร้ายของอารมณ์รุนแรง” ไปอยู่ที่บลูมสบรี ในความดูแลของไวโอเล็ต ดิกคินสัน (Violet Dickinson) ซึ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่งของครอบครัว ไวโอเล็ตดูแลเธอทุกเรื่อง ทุกอย่าง ราวกับมารดา ไวโอเล็ตเป็นหญิงร่างสูง 190 เซนติเมตร อยู่แต่ในโลกที่ปราศจากผู้ชาย และเชื่อมั่นว่าเวอร์จิเนียมีความสามารถในการเขียน ถึงขนาดเป็นธุระติดต่อกับทางหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ให้

ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ไวโอเล็ต-หญิงวัยแก่กว่า 17 ปีจะเทิดทูนเวอร์จิเนีย ตราบใดที่เวอร์จิเนียยังเขียนจดหมายสำนวนเล้าโลม เป็นส่วนตัว เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเธอ ความสัมพันธ์ของทั้งสองไปไกลถึงขนาดไหนไม่มีใครรู้ แต่ไวโอเล็ตก็หยั่งถึงจิตวิญญาณของเวอร์จิเนีย ได้ลึกเทียมปล่องภูเขาไฟ

เวลาผ่านไปไม่กี่เดือน กระทั่งเวอร์จิเนียกลับสู่สภาพปกติ ปกติพอที่เธอจะชัดเจนกับตนเองว่า เธอจะไม่กลับไปที่เคนซิงตันอีกแล้ว พี่น้องสกุลสตีเฟนจำนวน 4 คน – วาเนสซา, โธบี, เวอร์จิเนีย และเอเดรียน พากันโยกย้ายไปยังบ้านที่กอร์ดอน สแควร์ ปลดปล่อยวิญญาณเป็นอิสระ และไม่ช้าก็ก่อร่างสร้างแกนเสรีภาพทางเพศขึ้น ที่เรียกว่า ‘กลุ่มบลูมสบรี’ ประกอบไปด้วยกลุ่มเพื่อนที่เป็นศิลปินและนักศึกษา

เวอร์จิเนียทวนอดีต วันหนึ่งจู่ๆ ประตูก็เปิดออก มีร่างสูงใหญ่ของมิสเตอร์ไลต์ตัน สแทรชีย์ (Lytton Strachey) ยืนอยู่ที่ธรณีประตู ชี้นิ้วไปที่รอยเปื้อนบนเสื้อสีขาวของวาเนสซา พร้อมถามว่า “นั่นคือสเปิร์มใช่ไหม ตอนแรกฉันยังคิดอยู่ว่า ใครถามอะไรกันแบบนี้ก็ได้หรือ แต่เราก็ระเบิดเสียงหัวเราะกันออกมา” เวอร์จิเนียรำลึกถึงนักวรรณกรรมหนุ่มโฮโมฯ สำอาง ที่ต่อมาเธอเกือบจะแต่งงานด้วย

เพียงแค่คำนั้นคำเดียวทำให้ทุกคนเริ่มมีความยับยั้งชั่งใจน้อยลง “คำหยาบโลนดูเหมือนจะติดปากเราทุกคน เราถกเถียงกันเรื่องการเสพสังวาสด้วยความตื่นเต้นและเปิดกว้าง ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่พูดถึงเรื่องธรรมชาติของความดีงาม” เมื่อพูดถึงเรื่องเพศอย่างเปิดเผย เวอร์จิเนียรู้สึกได้ว่ามันช่างธรรมดา ง่ายดาย และเธอสามารถทำได้ดี แต่การรับมือกับเรื่องราวในอดีตนั้นกลับเป็นเรื่องเจ็บปวดและทรมาน

การพูดความจริงเกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นคล้ายดั่ง ‘การฉีกเพลงสวด’ มันคือกระบวนการที่เจ็บปวด เควนติน เบลล์ (Quentin Bell) หลานของเธอ (บุตรชายของวาเนสซา) เขียนในหนังสืออัตชีวประวัติว่า เวอร์จิเนียรู้สึกอับอายกับเรื่องการปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ

อาจเพราะเหตุผลดังกล่าว ทำให้เธอตอบตกลงจะแต่งงานกับไลต์ตัน สแทรชีย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1909 เพราะการไปอยู่เคียงข้างกายโฮโมฯ ช่วยไม่ให้เธอต้องกลายเป็นเนื้อสาวที่ไปสนอง ‘ตัณหาของผู้ชาย’ แต่แล้วเธอก็ต้องผิดหวัง เมื่อวันรุ่งขึ้นไลต์ตันขอถอนคำเรื่องแต่งงาน

และด้วยความรู้สึกไม่ดี ไลต์ตันจึงติดต่อไปยังเลียวนาร์ด วูล์ฟ (Leonard Woolf) เพื่อนของเขาซึ่งทำงานในศรีลังกา ดินแดนอาณานิคมทันที ในจดหมายเขาขอร้องให้เพื่อนแต่งงานกับเวอร์จิเนียแทน เพราะตัวเขาทำไม่ได้

ที่ผ่านมา เลียวนาร์ดเคยพบเจอเวอร์จิเนียเพียงครั้งเดียว บนโต๊ะอาหารค่ำ ช่วงปลายปี 1904 คืนนั้นเธอสวมชุดสีขาว หมวกปีกกว้าง ตอนนั้นเขาไม่อาจรู้ได้ว่าความปรารถนาทางร่างกายของเกิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียว แต่คล้ายมีมนตราบางอย่างบอกเขาว่า “ไม่เป็นไร” ดังนั้นเขาจึงเดินทางกลับอังกฤษ และเอ่ยปากขอเวอร์จิเนียแต่งงานในเดือนมกราคม 1912

“เวลาอยู่ใกล้คุณ ฉันแทบไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย มีบางครั้ง อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ตอนที่คุณจูบฉัน ตอนนั้นฉันรู้สึกไม่ต่างอะไรกับก้อนหินก้อนหนึ่ง” ฟังดูไม่คล้ายเป็นความรักของชีวิต แต่เวอร์จิเนียพูดอย่างจริงใจ

“ฉันเป็นคนขลาดในเรื่องทางเพศเสมอ” เวอร์จิเนียเคยเขียนจดหมายบอกเล่าแก่อีเธล สมิธ (Ethel Smyth) เพื่อนหญิงนักเขียนและนักแต่งเพลง “ความกลัวในชีวิตของฉันทำให้ฉันกลายเป็นแม่ชี”

ฝ่ายเลียวนาร์ดมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกกับหญิงโสเภณี หลังจากนั้นก็มีสัมพันธ์ชู้สาวกับใครอีกสองสามคน บางทีเขาอาจจะเมินเฉยกับเรื่องทางเพศ หรือเรื่องอารมณ์ทางเพศอาจเทียบไม่ได้กับความรู้สึกที่เขามีต่อเวอร์จิเนียก็ได้ เพราะเขาตกหลุมรักเธออย่างหมดใจและปราศจากข้อแม้ใดๆ ในรูปลักษณ์ ท่าที และจิตวิญญาณ ทุกอิริยาบถที่เธอเคลื่อนไหว หรือพูดจา

“ฉันจะแต่งงานกับเลียวนาร์ด วูล์ฟ” เธอเขียนจดหมายบอกเพื่อนชื่อไวโอเล็ตในวันที่ 5 มิถุนายน “เขาเป็นยิว และไม่มีเงินสักแดงเดียว แต่ฉันมีความสุขมากกว่าที่ทุกคนคิดว่าเป็นไปได้” และไลต์ตัน สแทรชีย์ ก็ได้รับข้อความสั้นๆ ในวันที่ 6 มิถุนายน เป็นแผ่นกระดาษที่ไม่มีข้อความอะไรอื่นเลยนอกจาก “Ha! Ha!”

วันที่ 10 สิงหาคม 1912 เวอร์จิเนียและเลียวนาร์ดเข้าพิธีแต่งงาน

ผลงานของเธอในเชิงลบมักทำให้เธอเป็นทุกข์ “ราวกับหมอฟันเอาเครื่องมือเจาะเข้าที่เส้นประสาท” ส่วนคำชื่นชมนั้นเปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ แต่มันก็เพียงบรรเทา ไม่ได้ทำให้มีสุขภาพดี

คนที่กลัวเวอร์จิเนีย วูล์ฟ มากที่สุดก็คือ เวอร์จิเนีย วูล์ฟเอง และเลียวนาร์ดนี่ละ ที่ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือเธอตลอดเวลาเกือบสามสิบปี ให้เธอสู้เพื่อกลับมาที่โต๊ะเขียนหนังสือ

วันที่ 9 กันยายน 1913 เมื่อเวอร์จิเนียคิดปลิดชีพตนเองด้วยยานอนหลับนั้น เลียวนาร์ดต้องใช้ความพยายามในการขัดขวาง เขาเชื่อว่าเธอได้รับความกระทบกระเทือนทางประสาท และต้องส่งตัวไปยังสถานบำบัด ที่บ้าน ‘โฮการ์ธ เฮาส์’ ในริชมอนด์ต้องมีพยาบาลคอยเฝ้าดูแลเธอถึงสี่คน แต่ที่นั่นเวอร์จิเนียสามารถเขียนหนังสือได้ เธอต้องเขียน เพื่อประโลมจิตวิญญาณ

ปี 1917 สองสามี-ภรรยาเริ่มใช้โฮการ์ธ เฮาส์เป็นที่พักอาศัย และก่อตั้งสำนักพิมพ์โฮการ์ธ เพรสส์ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของอังกฤษ (ปัจจุบันบ้านสไตล์จอร์เจียนหลังนี้ได้รับการบูรณะใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นเลียวนาร์ด เฮาส์ พร้อมประกาศขายในราคา 3.25 ล้านปอนด์)

ปี 1922 เวอร์จิเนียตีพิมพ์ผลงานนิยายเรื่องที่สาม Jacob’s Room ที่สร้างชื่อเสียงให้เธอ อีกทั้งยังดึงดูดความสนใจของวิตา แซ็ควิลล์-เวสต์ ขณะนั้นวิตาอายุ 30 ปี เป็นคนร่าเริง และมีสามีในครอบครัวชนชั้นสูง มาหลงเสน่ห์และความเย้ายวนใจของเวอร์จิเนีย

ความกระตือรือร้นของเวอร์จิเนียในการพิชิตใจผู้หลงใหลนั้น เกิดจากความรู้สึกต้องการยืนยันตัวตนและความดึงดูดทางเพศ เวอร์จิเนียขณะนั้นเป็นหญิงงาม ประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้วิตาลุ่มหลงอย่างปราศจากข้อสงสัย สิ่งแรกที่เวอร์จิเนียสะดุดตา คือเรียวขาของวิตา ที่เธอมองว่างดงาม

ส่วนวิตานั้น สะดุดตาเวอร์จิเนียตรงถุงเท้าขนสัตว์สีส้ม “เวอร์จิเนียแต่งกายได้น่าเกลียดมาก” วิตาเขียนจดหมายเล่าให้สามีของเธอฟัง แฮรอลด์ นิโคลสัน (Harold Nicolson) สามีที่แม้จะเป็นโฮโมเซ็กฌวล แต่ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ และมีบุตรชายด้วยกันสองคน

“วิตามีบางอย่างเหมือนกวางหรือม้าแข่ง ดูจากใบหน้าอวบอูมของเธอ” เวอร์จิเนียบรรยายภาพวิตา ระหว่างพบปะกันเป็นครั้งที่สอง เธอสวมถุงเท้าผ้าไหมสีเหลืองเพื่อให้ดูดีขึ้น ครั้งนั้นวิตาถึงกับสารภาพ “ฉันทำหัวใจหล่นหายแล้วจริงๆ”

และแล้วในปี 1922 เลดี นิโคลสัน-หญิงสาวใบหน้าอวบอิ่มวัยอ่อนกว่าสิบปีก็กลายเป็นคนรักของเวอร์จิเนีย

เวลาที่สามี-ภรรยาวูล์ฟไปเยี่ยมสามี-ภรรยานิโคลสัน วิตามักจะนั่งซบแนบขาของเวอร์จิเนีย และปล่อยให้เธอขยี้ผมเล่น บทบาทความสัมพันธ์ส่วนตัวของทั้งสองมีการแบ่งกันอย่างชัดเจนว่า เวอร์จิเนียเป็นจิตวิญญาณ ส่วนวิตาคือเลือดเนื้อ

ช่วงต้นปีและฤดูร้อนปี 1928 เวอร์จิเนียและวิตาพากันเดินทางตระเวนไปทั่วฝรั่งเศส และฝังร่างของหญิงคนรักของเธอไว้นิยายเรื่อง Orlando ซึ่งเป็น “จดหมายรักทางวรรณกรรมที่มีเสน่ห์ที่สุด” อย่างที่ไนเจล นิโคลสัน (Nigel Nicolson) บุตรชายของวิตาเคยเรียก

 

“ปล่อยให้ฉันเป็นเด็ก เดินเท้าเปลือยย่ำลงไปในสายน้ำที่เย็นเยือก” เวอร์จิเนีย วูล์ฟเริ่มเขียนบันทึกเรื่องราวส่วนตัว A Sketch of the Past ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 1939

ในตอนนั้นเริ่มเข้าสู่ภาวะสงคราม เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันบินข้ามไปฝั่งอังกฤษในปี 1940 ข่าวการรุกรานของนาซีทำให้เกิดความกลัว สามี-ภรรยาวูล์ฟกักตุนน้ำมันเบนซินไว้ภายในโรงรถ ด้วยคิดว่า หากถึงเวลาคับขันจริงๆ พวกเขายังสามารถรมควันรถฆ่าตัวเองได้ ส่วนเวอร์จิเนียนั้นมีมอร์ฟีนแบบเกินขนาดติดตัวอยู่ตลอดเวลา

นับแต่สงครามเริ่มปะทุ สองสามี-ภรรยาพากันอพยพไปอยู่ที่กระท่อม ‘มองค์ส เฮาส์’ ในซัสเซกซ์ ที่พวกเขาซื้อไว้เมื่อปี 1919 เป็นบ้านชนบทที่มีสวน โอบด้วยต้นเอล์มขนาดใหญ่สองต้น ที่ทั้งสองตั้งชื่อให้มันว่า เลียวนาร์ด และเวอร์จิเนีย

“ฉันนึกภาพไม่ออกว่า วันที่ 27 มิถุนายน 1941 จะมาถึง” เวอร์จิเนียเขียนไว้ในสมุดบันทึกของเธอ วันที่ 28 มีนาคม 1941 เวอร์จิเนียหยิบเสื้อคลุมขึ้นสวม เดินถือไม้เท้าออกจากบ้าน ผ่านทุ่งหญ้าหนองน้ำตรงไปที่แม่น้ำอูส บนโต๊ะห้องนั่งเล่นชั้นบนเธอวางจดหมายฉบับหนึ่งทิ้งไว้ให้เลียวนาร์ด

“ที่รัก” เธอเขียนบอกเขา “ฉันรู้สึกตัวดีว่า ฉันกำลังบ้าคลั่งอีกครั้งแล้ว” เวอร์จิเนียได้ยินเสียงหลอนอีกหน และมั่นใจว่า “ครั้งนี้ฉันจะไม่ฝืนอีกแล้ว …หากใครสักคนสามารถช่วยฉันได้ คนนั้นก็คงจะเป็นคุณ” นั่นคือสิ่งที่เธอรู้ “ทุกความสุขในชีวิต ฉันเป็นหนี้คุณ”

จากนั้นเวอร์จิเนีย วูล์ฟก็หยิบก้อนหินก้อนหนักหย่อนลงในกระเป๋าเสื้อคลุม และค่อยๆ ย่ำเดินลงไปในแม่น้ำ 

อ้างอิง:  

https://www.zeit.de/1994/39/der-tropfen-der-sich-am-dach-der-seele-bildet/komplettansichthttps://gedankenwelt.de/virgnia-woolf-biografie-eines-stillen-traumas/https://www.housebeautiful.com/uk/lifestyle/property/news/a3257/virginia-woolf-richmond-home-hogarth-house-for-sale/

Louise DeSalvo, Virginia Woolf. Die Auswirkungen sexuellen Missbrauchs auf ihr Leben und Werk, Verlag Antje Kunstmann (1990)

Tags: , ,