เดือนมกราคม 2019 จะครบรอบ 30 ปีพอดีที่เท็ด บันดี (Ted Bundy) ถูกประหารชีวิต จากคดีฆาตกรรมผู้หญิงอย่างน้อย 30 คนในช่วงระหว่างปี 1974-1978 ชีวิตของเขาสิ้นสุดลงที่เก้าอี้ไฟฟ้าของเรือนจำรัฐฟลอริดา

Netflix จะนำสารคดีชุดความยาว 4 ตอน Conversations With A Killer: The Ted Bundy Tapes ออกฉาย กำหนดไว้วันที่ 24 มกราคมซึ่งตรงกับวันตายของบันดี-เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เนื้อหาเป็นบทสัมภาษณ์เท็ด บันดีแบบไม่รู้จบ ภายในเรือนจำ

เท่านั้นไม่พอ ยังมีภาพยนตร์เกี่ยวกับบันดีเรื่อง Extremely Wicked, Shockingly Evil and Vile ซึ่งมีกำหนดฉายรอบปฐมทัศน์โลกในเดือนมกราคม 2019 อีกเช่นกัน ที่เทศกาลหนังซันแดนซ์ รัฐยูทาห์

“ความจริงแล้วผมเป็นคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน “ผมใช้ชีวิตปกติธรรมดา ยกเว้นส่วนเล็กๆ แต่ทรงพลังและทำลายล้าง ที่ผมปิดซ่อนไว้เป็นความลับจากทุกคน”

เมืองไรฟอร์ด รัฐฟลอริดา วันที่ 23 มกราคม 1989 เวลา 14.30 น. เท็ด บันดี ชายผู้มีน้ำเสียงอ่อนโยน และเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่โด่งดังของอเมริกา ยังมีเวลาในชีวิตเหลืออยู่อีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง บทสนทนาถูกบันทึกโดยกล้องถ่ายภาพภายในห้องคุมขังก่อนการประหาร ที่จะมีขึ้นในตอนรุ่งสางของวันถัดไป

เจมส์ ด็อบสัน (James Dobson) นักเทศน์ทางทีวี เดินทางมาสัมภาษณ์ พูดคุย ตามคำเรียกร้องของบันดี เพื่อหลอกล่อให้เขาพูดในสิ่งที่พนักงานสอบสวนทำไม่สำเร็จ นั่นคือ คำสารภาพว่า เขาฆ่ามาแล้วทั้งสิ้นกี่ศพ

นักโทษประหารใช้เวลาพล่ามอยู่ครึ่งชั่วโมง เล่าถึงครอบครัวของเขา วัยเด็กของเขา ความใคร่อยากดูหนังหรือหนังสือโป๊ของเขา และการฆาตกรรม เรื่องราวทั้งหมดที่เขาพูดเล่าล้วนเป็นประโยครูปกาลอดีต

แต่คำสารภาพที่ใครๆ อยากฟังไม่ได้หลุดจากปากเขา “ผมไม่ได้ทำอะไรไม่ดี” เขาบอก “ผมไม่อยากตาย” เขาไม่เคยรู้สึกเลยว่าตัวเองทำผิด และจะซัดทอดความรับผิดชอบในการกระทำของตนไปให้ใครอื่น ไม่ว่าปู่ที่ใจร้าย รายการทีวี หนังสือโป๊ หรือไม่ก็สีหน้าตื่นตระหนกของเหยื่อที่ ‘เย้ายวน’ ให้เขาลงมือกระทำ

และนั่นเป็นละครฉากสุดท้ายของเท็ด บันดี เขาใช้เสน่ห์พูดจาหว่านล้อมด็อบสัน เหมือนกับที่เขาทำกับผู้หญิงมานับไม่ถ้วน ผู้หญิงที่หลงเสน่ห์เขา ที่ถูกเขาลักพาตัวไปทรมาน ข่มขืน รัดคอ แทง ทุบตี ตัดศีรษะ ทำลายศพ และกลบฝังไว้

เจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ล่าเขาอยู่นานกว่าสิบปี จากโอเรกอนถึงฟลอริดา เคยจับกุมตัวเขาได้ แล้วปล่อยตัวไป และจับกุมเขาได้อีก มีการไต่สวนคดีและตัดสินโทษประหารเขาถึงสามครั้ง คดีของเขากลายเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ เป็นข่าวใหญ่ทางทีวี มีแฟ้มคดีหนาเป็นฟ่อนอยู่ที่เอฟบีไอ หน่วยงานที่จัดอันดับให้เขาเป็นหนึ่งในสิบของฆาตกรที่เจ้าหน้าที่ต้องการตัวมากที่สุด และมีการตั้งรางวัลนำจับสูงถึง 100,000 ดอลลาร์

มีหนังสือหลายเล่มที่นำเรื่องราวของเขาไปเขียน รวมทั้งงานวิทยานิพนธ์ โธมัส แฮร์ริส (Thomas Harris) นักเขียนนิยายอาชญากรรม จำลองภาพเขาเป็น ‘บัฟฟาโล บิลล์’ นักฆ่าซึ่งฮอลลีวูดนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Silence of the Lambs

ถึงกระนั้น เท็ด บันดี ก็ยังเป็นปริศนาอีกนานนับทศวรรษ เก็บถนอมตำนานของตนอยู่จนกระทั่งเขาจะเสียชีวิต

บันทึกอย่างเป็นทางการระบุ บันดีสารภาพว่าลงมือฆ่าไป 30 ศพใน 7 รัฐ ตั้งแต่ปี 1974 ถึง 1978 ทว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านั้น และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมากกว่าร้อยศพ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครล่วงรู้ว่าเขาฆ่าผู้หญิงจริงๆ กี่คน หรือทำไม

ว่าแต่เส้นทางชีวิตของเขาเริ่มผิดเพี้ยนไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และเมื่อไหร่ที่เขาไปถึงจุดที่ไม่มีวันหวนกลับ

เท็ด บันดี เติบโตขึ้นมาในสถานการณ์ไม่สู้ดี เขาเข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยในซีแอตเทิล ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐวอชิงตัน หลังจากล้มเหลวกับความรักในช่วงต้นทศวรรษ 1970s เขาก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้า หนึ่งในบรรดาแฟนของเขาคือ เอลิซาเบธ เคลอเฟอร์ (Elizabeth Kloepfer) ทั้งสองรู้จักกันตั้งแต่ปี 1969

ในช่วงเวลานั้นเอง พื้นที่โดยรอบเมืองซีแอตเทิลจู่ๆ มีหญิงสาวถูกลักพาตัว และถูกฆ่า คนแล้วคนเล่า

นักศึกษาสาวคนหนึ่งเตรียมตัวเดินทางไปดูคอนเสิร์ต แต่เธอไปไม่ถึงจุดหมาย หญิงสาวคนอื่นๆ หายตัวระหว่างทางไปดูหนัง ระหว่างทางไปคาเฟ่ ระหว่างทางไปผับ หายตัวไปจากมหาวิทยาลัย หายตัวไปจากชายหาดที่มีคนพลุกพล่านตอนกลางวัน หรืออีกคนหนึ่งถูกพบบนเตียงนอนในสภาพถูกท่อนเหล็กตีปางตาย เหยื่อในซีแอตเทิลรายนี้เป็นคนเดียวที่รอดชีวิต

เหยื่อเคราะห์ร้ายทั้งหมดมีอายุระหว่าง 18-22 ปี ทุกคนถูกพบเป็นศพในเวลาต่อมาในพื้นที่ป่า สภาพเปลือย ถูกข่มขืน บางรายถูกบีบคอ ส่วนรายอื่นๆ ถูกทุบตีจนเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งหาตัวคนร้ายอย่างจ้าละหวั่น พยานหลายปากบรรยายถึงชายหนุ่มมีเสน่ห์ขับรถโฟล์กเต่าสีเบจ เอลิซาเบธ เคลอเฟอร์ แฟนสาวของบันดี จำสภาพรถและภาพสเก็ตช์คนร้ายได้ในทันที แต่ตำรวจกลับไม่เชื่อคำพูดของเธอ

เดือนสิงหาคม 1974 เท็ด บันดีย้ายไปอยู่ซอลต์ เลค ซิตี คดีฆาตกรรมต่อเนื่องในตะวันตกเฉียงเหนือยุติลง แต่กลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในรัฐยูทาห์ และบริเวณพรมแดนรัฐไอดาโฮกับโคโลราโด หญิงสาวหายตัวไปถี่ขึ้น ฆาตกรใช้ความรุนแรงมากขึ้น ศพของเหยื่อเคราะห์ร้ายถูกทำลายจนเสียรูปโฉม บางรายถูกแต่งหน้าแต่งตาให้ดูน่าเกลียด

เอลิซาเบธ เคลอเฟอร์รับรู้ถึงความชั่วร้ายในตัวบันดี เธอพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง แจ้งว่าบันดีอยู่ในรายชื่อผู้ต้องสงสัย แต่จนแล้วจนรอดก็ยังขาดหลักฐานที่จะมัดตัวเขา

เดือนสิงหาคม 1975 บันดีถูกจับกุมข้อหากระทำผิดกฎจราจร เมื่อถูกปล่อยตัวเขาพยายามขายรถเต่าทิ้ง แต่ภายในรถมีคนพบร่องรอยเส้นผม จากนั้นเริ่มมีการต่อจิกซอว์ จบลงที่บันดีถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

ระหว่างรอการไต่สวนคดีในศาล เขาพยายามหลบหนีด้วยการกระโดดออกทางหน้าต่าง ไปหลบซ่อนตัวอยู่บนเขา แต่ถูกจับตัวกลับมาได้ เขาดิ้นรนหาทางหนีอีกครั้ง คราวนี้ออกไปทางช่องโหว่บนเพดานห้องขัง ปี 1978 เขาฉุดผู้หญิงในฟลอริดาเพิ่มเติมอีก 6 ราย สามรายถูกเขาบีบคอตาย ส่วนอีกสามคนรอดตาย สุดท้ายเขาก็ถูกตำรวจจับกุมตัวอีกจนได้

ในการไต่สวนคดีสามครั้งระหว่างปี 1979-1980 บันดีถูกศาลตัดสินโทษประหารชีวิตทั้งสามครั้ง ในครั้งแรกที่ถูกพิพากษาโทษประหาร เขาได้ให้การสารภาพว่าลงมือฆ่าเหยื่อทั้งสิ้น 30 ราย ในวอชิงตัน โอเรกอน ยูทาห์ โคโลราโด ไอดาโฮ และฟลอริดา พร้อมกันนั้นเขายังเผยรายละเอียดที่น่าสยดสยอง เหยื่อกว่าสิบรายถูกเขาตัดศีรษะ และศีรษะของบางรายเขาเก็บซ่อนไว้ในที่พักเป็นเวลานาน

ตอนรุ่งสางของวันที่ 24 มกราคม 1989 เท็ด บันดีถูกนำตัวไปประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า ประโยคสุดท้ายที่หลุดจากปากเขาเป็นคำทักทายถึง “ครอบครัวและเพื่อนๆ ของผม” ก่อนที่กระแสไฟฟ้า 2,000 โวลต์จะแผ่ไปทั่วร่างของเขา

ฆาตกรต่อเนื่องชื่อดังของอเมริกาเสียชีวิตเมื่อเวลา 7.16 นาฬิกา

 

อ้างอิง:       

Tags: , , , ,