ฉันเคยมีฟาร์มแห่งหนึ่งในแอฟริกา ตั้งอยู่ตีนเขาง็อง จากทุกด้านมองเห็นได้กว้างและไม่มีที่สิ้นสุด ทุกอย่างในธรรมชาติแห่งนี้ต่างแสวงหาความยิ่งใหญ่และอิสรภาพ…

นั่นคือประโยคเริ่มต้นและชวนให้จดจำในหนังสือนิยายอิงชีวประวัติ Out of Africa (1937) ของไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) ซึ่งเป็นนามปากกาของบารอนเนส คาเรน คริสเทนเซ ฟอน บลิกเซน-ฟิเนกเค (Baroness Karen Christenze von Blixen-Finecke) นามสกุลเดิม ไดนีเสน ที่ตัดสินใจหลบหนีจากความแออัดในบ้านของครอบครัว แต่งงานกับชายที่เธอไม่ได้รัก เพื่อไปปักถิ่นฐานอยู่ที่แอฟริกาตะวันออก

ต้นปี 1914 เธอย้ายไปอยู่ที่ฟาร์มมบากาธี บนพื้นที่ 5,000 ไร่ บริเวณตีนเขาง็อง ทางตอนใต้ของไนโรบี ในประเทศเคนยา ซึ่งในสมัยนั้นยังใช้ชื่อว่าบริติช-แอฟริกาตะวันออก ก่อนหน้านั้นไม่นานเธอได้พบกับหนุ่มตระกูลสูงศักดิ์จากสวีเดน-บารอน บรอร์ ฟอน บลิกเซน-ฟิเนกเค (Baron Bror von Blixen-Finecke) อีกครั้ง หลังจากที่เคยรู้จักกันในช่วงวัยเด็ก ทั้งสองแต่งงานกันในมอมบาซาปี 1914 และมีความปรารถนาร่วมกันที่จะทำไร่กาแฟในเคนยา

แต่ในไม่ช้าความสัมพันธ์ก็เริ่มสั่นคลอน ตั้งแต่ปีแรกของชีวิตคู่บารอนแอบนอกใจไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น ซ้ำร้ายยังนำโรคซิฟิลิสมาติดเธอด้วย สำหรับบารอนนั้นแทบไม่มีอาการอะไร แต่คาเรนนั้นล้มทรุด และคอยตามหลอนเธอไปตลอดทั้งชีวิต อย่างไรก็ดี คาเรนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระในเคนยา แบบที่เธอแทบหาไม่ได้จากบ้านพ่อแม่ในเดนมาร์ก กระทั่งเธอตกหลุมรักดินแดนแปลกปลอมแห่งนี้

อิสรภาพของคาเรน บลิกเซนยังนำมาซึ่งความรักอันยิ่งใหญ่ของเธอด้วยเช่นกัน

เดนีส ฟินช์ แฮตตัน (Denys Finch Hatton) พบเจอและทำความรู้จักกับคาเรนครั้งแรกในเดือนเมษายน 1918 ระหว่างรับประทานอาหารมื้อค่ำที่สโมสรในไนโรบี เขาเป็นทหารอังกฤษและนักล่าสัตว์ในดินแดนอาณานิคมจากครอบครัวฐานะมั่งคั่ง เฮนรี ฟินช์ แฮตตัน (Henry Finch Hatton) พ่อของเขามียศฐาเป็นขุนนางอังกฤษ ชอบเดินทางผจญภัย และมีธุรกิจการค้ากับนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และอินเดีย ส่วนเดนีสเองนั้นสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอีตัน เข้ารับราชการเป็นนักบินของกองทัพอากาศ ใช้ชีวิตโดยปราศจากแหล่งพักพิงถาวร

เดนีสมักเดินทางกลับไปยุโรปสม่ำเสมอเพื่อพบเจอภาวะอึดอัด แล้วกลับมาแอฟริกาเพื่อบ่นระบายให้คนในสังคมระดับเดียวกันในดินแดนอาณานิคมฟัง

คาเรนเขียนบรรยายในหนังสือ Out of Africa (ฉบับภาษาไทยแปลโดยสุริยฉัตร ชัยมงคล ปกแรกชื่อ ‘พรากจากแสงตะวัน’ ต่อมาเปลี่ยนเป็น ‘รักที่ริมขอบฟ้า’) ว่าเดนีสเป็นคนสอนให้เธอรู้จักวิธีล่าสัตว์ อาจเพราะโครงสร้างนิยายที่เธอต้องหาเหตุผลเพื่อโยงความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเดนีสให้กระชับ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว บารอน บรอร์-สามีของเธอต่างหากที่เป็นคนสอน

สัมพันธ์รักระหว่างเธอกับเดนีสเริ่มขึ้นในปี 1920 อย่างรวบรัด ในมุมมองของคาเรน เธอกับเขามีความเชื่อมโยงกันทั้งในเรื่องพื้นเพและภูมิปัญญา ทั้งสองมาจากยุโรป เติบโตมาในสังคมระดับเดียวกัน และต่างมีความคิดอยากหนีกฎเกณฑ์สังคมของถิ่นกำเนิดไปใช้ชีวิตที่เรียบง่ายในดินแดนอาณานิคม โดยที่ยังไม่ตัดขาดจากแผ่นดินเกิด คาเรนเองนั้นเดินทางกลับไปเดนมาร์กหลายครั้ง และมักคลุกคลีอยู่กับเดนีสที่บ้านของเขาและกลุ่มเพื่อนของเขาในอังกฤษ

ปี 1923 โรงงานกาแฟถูกเพลิงไหม้วอดวาย โทมัส-น้องชายที่มาช่วยงานไร่ เดินทางกลับเดนมาร์ก ทิ้งคาเรนให้ทนสู้อยู่ตามลำพัง บารอน บรอร์ก็หายตัวไปทัวร์ซาฟารี ปีถัดมาเดนีสเริ่มมาพักค้างกับคาเรนที่บ้าน(หลังที่สอง)ในมโบกานี ทุกครั้งที่เขากลับมาที่ไนโรบี และในปีนั้นคาเรนแท้งลูกที่มีกับเดนีส

หลังจากหย่ากับบารอน บรอร์ในปี 1925 เดนีสก็ย้ายมาอยู่กับเธอที่มโบกานี ปีต่อมาเธอตั้งท้องอีกครั้ง ถึงตอนนั้นเดนีสเริ่มรู้สึกวิตกกับการเป็นพ่อคนและภาระที่ต้องรับผิดชอบ แต่ในที่สุดคาเรนก็แท้งลูกอีกครั้ง

เดนีสรู้สึกคล้ายติดกับดัก เมื่อถูกคาเรนยึดโยง ไหนจะเรื่องลูกที่เธอปรารถนาจะมีเพื่อผูกมัด ไหนจะเรื่องเงินทองที่เธอต้องการจากเขาเพื่อมาจัดการกับไร่กาแฟ จนไปถึงเรื่องเจ้ากี้เจ้าการเกี่ยวกับชีวิตของเขา และแล้วจุดแตกหักของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองมาถึงในปี 1929

เดือนพฤษภาคม 1931 เดนีสขับเครื่องบินไปยังบ้านพักตากอากาศของเขาที่ริมฝั่งมอมบาซา ที่เขาเคยพาคาเรนไป ขากลับเขาแวะที่วอย รับผู้ช่วยชาวโซมาลีจากอุทยานเพื่อบินสำรวจฝูงช้างทางอากาศ แต่ระหว่างการบินสำรวจเครื่องยนต์เกิดขัดข้อง เป็นเหตุให้เครื่องบินตก ทำให้เดนีสและผู้ช่วยเสียชีวิต

ศพของเดนีส ฟินช์ แฮตตัน แม้จะอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ถูกส่งให้กับคาเรน และเธอนำร่างของเขาไปทำพิธีฝังไว้บนเนินเขาง็อง ที่ซึ่งเขาเคยบอกเธอให้ฝังร่างเขาที่นั่น เพื่อเขาจะได้มองเห็นบ้านไร่ของเธอ คาเรนกล่าวที่หลุมศพของเดนีส

พระเจ้าทรงนำวิญญาณของเขากลับไป เดนีส จอร์จ ฟินช์ แฮตตัน คนที่เคยแบ่งปันกับเรา

เขานำพาความสุขมาให้เรา เรารักเขา

เขาไม่ใช่ของเรา

เขาไม่ได้เป็นของฉัน

คาเรน บลิกเซนใช้ชีวิตอยู่ในเคนยานาน 17 ปี หลังความตายของเดนีสและการขายฟาร์มเธอเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่เดนมาร์กในเดือนกรกฎาคม 1931 และย้ายกลับไปอยู่บ้านของครอบครัวในรุงส์เทดลุนด์ ใกล้กรุงโคเปนเฮเกน กลับไปสู่กฎเกณฑ์แบบเดิมๆ นับจากนั้นจนถึงวันที่เสียชีวิตในปี 1962 เธอไม่เคยหวนกลับไปเคนยาอีกเลย

Out of Africa ภายใต้นามปากกาไอแซค ไดนีเสน ตีพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกในกรุงลอนดอน ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่กองทัพเยอรมนียึดครองเดนมาร์ก เธอยังเขียนนิยาย The Angelic Avengers ซึ่งถูกตีความว่าเป็นสัญลักษณ์การล่มสลายของระบอบนาซีออกมา รวมถึงผลงานรวมเรื่องสั้น Babette’s Feast ที่มีชื่อเสียง

ปี 1954 เคยปรากฏข่าวลือว่าคาเรน บลิกเซนจะได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม แต่แล้วปีนั้นรางวัลกลับตกเป็นของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ และอีกครั้งในปี 1962 ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบล แต่ในวันที่ 7 พฤศจิกายนเธอเสียชีวิตเสียก่อน ทำให้รางวัลตกไปเป็นของจอห์น สไตน์เบ็ค

Out of Africa ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 1985 กำกับการแสดงโดยซิดนีย์ พอลแล็ค มีเมอรีล สตรีปรับบท ‘คาเรน บลิกเซน’ และโรเบิร์ด เรดฟอร์ดรับบท ‘เดนีส ฟินช์ แฮตตัน’

อ้างอิง:

https://krautjunker.com/2020/04/14/jenseits-von-afrika-die-wahre-geschichte-der-karen-blixen/

https://www.welt.de/reise/Fern/article128215678/Warum-Karen-Blixen-sich-in-Afrika-verliebte.html

Tags: , , ,