ฤดูร้อนปี 1881 ใครที่เดินเล่นอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลสาบซิลวาพลาเนอร์ ในเมืองเองกาดีน อาจได้พบเห็นชายท่าทางประหลาด นัยน์ตาขวาง ไว้หนวดเครารุงรัง ปกปิดฟันที่ไม่สวย
เขาคือ ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) ศาสตราจารย์เฉพาะทางของมหาวิทยาลัยบาเซล หรือ ‘Fugitivus errans’ ผู้อพยพฟั่นเฟือน-อย่างที่เขาเรียกตนเอง
เหตุเพราะต้องการแสวงหาสถานที่ซึ่งมีอากาศสบายตัว ทำให้เขาต้องเดินทางไปทั่วยุโรป ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ช่วงฤดูหนาวนั้นหนาวเกินไปสำหรับเขา ที่เวนิศก็ชื้นเกินไป ที่เจนัวฝนฟ้าไม่เสถียร ส่วนนีซ ความร้อนในฤดูใบไม้ผลิก็บ่อนทำลายพลังและความมุ่งมั่นของเขา โปสการ์ดจากการเดินทางของเขามักมีเรื่องบ่นเกี่ยวกับอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ ทุกครั้งเขาจะต้องเดินทางกลับมาเองกาดีน
ที่นั่น เขาเริ่มพัฒนาแนวความคิดเกี่ยวกับ ‘อภิมนุษย์’ ที่โด่งดัง ที่นั่นเป็นบ่อเกิดของ ‘ความคิดที่หนักแน่นที่สุด’ อย่างที่ในเวลาต่อมาเขาเรียกมันว่า ความคิดที่จะหวนกลับมาอย่างนิรันดร์ ด้วยความเชื่อว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมักย้อนรอยย่ำซ้ำแล้วซ้ำอีกเสมอ แนวความคิดเรื่องอภิมนุษย์และความคิดที่หวนคืน กลายเป็นแกนหลักในผลงานหนังสือ Also sprach Zarathustra (คือพจนาซาราทุสตรา) ของเขาที่ปรากฏออกมาในปี 1883
ตลอดช่วงเวลาที่นีตซ์เชมีชีวิตอยู่นั้น เขาแทบไม่เป็นที่รู้จักของใครเลย ผลงานหนังสือของเขาขายไม่ออก เพื่อนร่วมงานก็ไม่เคยใยดีเขา แต่ทุกวันนี้เขากลับกลายเป็นเหมือนดารา นักการเมืองมักอ้างอิงถึงเขา นักเขียนบทของฮอลลีวูดชอบหยิบยกประโยคข้อเขียนของเขามาใช้ ภาษาที่ทรงพลังของเขามักดึงดูดทุกคนที่ต้องการสร้างความประทับใจ แต่ใครก็ตามที่มีส่วนร่วมในความคิดของเขามากขึ้น ก็จะช่วยให้เข้าใจถึงยุคสมัยของประชานิยมและปัจเจกนิยมด้านศีลธรรมได้ดีขึ้น
ฟรีดริช นีตซ์เชสนใจเรื่องโกหก ความน่าเกลียด ความอิจฉา เขาเป็นนักปรัชญาคนแรกที่กล้าป่าวประกาศ “พระเจ้าตายแล้ว” ด้วยเหตุผลว่าการสูญเสียความเชื่อทางศาสนาเดียวยังทำให้สังคมเกาะเกี่ยวกันได้ ทั้งที่เขารู้ดีว่า ความสูญเสียนี้อาจทำให้โลกแตกสลายได้สำหรับใครหลายคน หรือมนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร หากพระเจ้าไม่ได้เป็นผู้ชี้นำอีกแล้ว
เขามองว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเป็นการต่อสู้ตลอดกาลระหว่างผู้ปกครองและผู้ถือครองค่านิยมที่ถูกต้อง ในหนังสือ Genealogie der Moral (On the Genealogy of Morality, 1887) เขาพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับแนวความคิดของความดีและความชั่วร้ายขึ้น เขาเชื่อว่า ในยุคโบราณ เคยมีความหมายที่เรียบง่ายในความรู้สึกของคนรวยและผู้มีอำนาจ หากว่ามันมีประโยชน์ต่อตนเอง พวกเขาจะถือว่าดี แต่หากเป็นผลเสียก็ถือว่าไม่ดี และสิ่งที่ดีกลายเป็นสิ่งสมมติสำหรับค่านิยมของชนชั้นปกครอง ไม่ว่า ชัยชนะ ความรู้ ความมีชื่อเสียง หรือเสรีภาพทางเพศ แต่ผู้ถูกกดขี่กลับหมายถึง ‘ทาส’ หรือ ‘ฝูงแกะ’ อย่างที่นีตซ์เชเรียก พวกเขาไม่สามารถสลัดกฎเกณฑ์เหล่านั้นออกได้ ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามใช้กลลวง ด้วยการซัดทอดความผิดให้กับผู้มีอำนาจ ทำให้รู้สึกแย่ นีตซ์เชเชื่อว่า อาวุธสำคัญในการต่อสู้นี้คือคำสอนในคริสต์ศาสนา มันคือความคั่งแค้นของผู้ถูกกดขี่ เครื่องมือของซาตาน เพื่อสร้างความรู้สึกผิดให้กับเหล่าผู้มีอำนาจ
คริสต์ศาสนาถูกตีค่ากลับหัว จู่ๆ ทุกสิ่งอย่างในความเป็นผู้ปกครองล้วนเลวร้าย ไม่มีดี แต่ทุกสิ่งอย่างของผู้อยู่เบื้องล่างกลับน่าชื่นชม ความจนยากคือความสูงส่ง จินตนาการคือความจริงใจ การมีเพศสัมพันธ์น้อยครั้งคือการถือพรหมจรรย์ ความอ่อนแอเพื่อการแก้แค้นคือการให้อภัย และอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนขี้แพ้!
สังคมที่ปฏิเสธความอิจฉาก็ถือว่าป่วยไข้ นีตซ์เชเรียกมันว่า ‘ความขุ่นเคือง’ หรือความรู้สึกคับข้องใจเมื่อใครสักคนหนึ่งปรารถนาในบางสิ่ง แต่ไม่สามารถมีได้ “ความขุ่นเคืองเป็นการแสดงออกที่ไม่จริงใจ และไม่ซื่อสัตย์กับตนเอง” นีตซ์เชเขียนไว้ สำหรับเขาแล้ว ความอิจฉาไม่ใช่เรื่องแปลกปลอม เขามีเงินทองน้อยนิด มีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อย และแทบไม่เป็นที่รู้จักของใครในสังคม แต่เขาไม่เคยคิดอยากพูดให้ดูดี เขาแค่อยากรู้สึกแข็งแกร่ง มีพลังกว่าที่เป็น และไม่ใส่ใจสังคมที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว
ใครก็ตามที่สนใจเรื่องตรรกะ จะไม่รู้สึกสนุกกับผลงานและความคิดของนีตซ์เช เพราะมันเต็มไปด้วยความไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งเขาไม่ใส่ใจกับข้อโต้แย้งใดๆ เขาไม่ปรารถนาจะสร้างฐานทฤษฎี หากต้องการเพียงช่วยให้ผู้คนต่อสู้กับการใช้ชีวิตอยู่อย่างคุ้มค่า แต่นั่นทำให้เขาเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิด หรือนำความคิดของเขาไปบิดเบือนด้วยเช่นกัน เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 80 ปีก่อน ที่ลัทธินาซีแปลความหมายของหนังสือ Genealogie der Moral ไปในทางที่ผิดเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ในหนังสือเล่มดังกล่าวนีตซ์เชวิพากษ์วิจารณ์ยิวก็จริง แต่เขาไม่ใช่คนเหยียดเผ่าพันธุ์ หรือในยุคปัจจุบัน ริชาร์ด สเปนเซอร์ (Richard Spencer) นักเคลื่อนไหวนีโอ-นาซีกลุ่ม Alt-Right ก็มักจะหยิบยก Also sprach Zarathustra ของนีตซ์เชมากล่าวอ้าง เพียงเพราะต้องการให้สหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่มีเผ่าพันธุ์และศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกัน และแท้จริงแล้วคือความเข้าใจที่ตรงข้ามกับนีตซ์เช
แม้แต่นีตซ์เชเองก็รู้ดีว่า ความคิดของเขาอันตราย “ข้าพเจ้าไม่ใช่มนุษย์ แต่ข้าพเจ้าคือระเบิด” เขาเคยเขียนลงในหนังสือชีวประวัติของตนเอง เขาหมายถึงพลังระเบิดที่เกิดจากผลงานความคิดของเขาสำหรับรูปแบบการปกครอง แต่ไม่ได้หมายความถึงการตีความใหม่แบบฝ่ายขวาหัวรุนแรงทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ในหนังสือ Also sprach Zarathustra นีตซ์เชเล่าเรื่องราวของซาราทุสตรา ศาสดาในศาสนาโซโรอัสเตอร์ของชนชาวเปอร์เซียโบราณ ผู้เดินทางมาพบปะผู้คนเพื่อถ่ายทอดสัจธรรมเกี่ยวกับอภิมนุษย์ แต่กลับไม่มีใครที่ต้องการรับฟัง ซาราทุสตราจึงใช้กลเม็ดเปลี่ยนเป็นพูดเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ‘มนุษย์คนสุดท้าย’ ซึ่งตรงกันข้ามกับอภิมนุษย์แทน มนุษย์คนสุดท้ายคือบทจบของเรื่องราว เขาไม่ต้องการจะพัฒนามันต่อ เขาไม่ต้องการเคร่งเครียดกับมัน ทุกอย่างควรปล่อยให้เป็นอย่างที่มันเป็น ผู้คนพากันปลาบปลื้ม นั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการฟัง
ทุกวันนี้ กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาก็มักจะคิดหากลเม็ด – คำมั่นสัญญาของพวกเขาคือ ‘มนุษย์คนสุดท้าย’ พวกเขาไม่ได้คิดไกลไปข้างหน้า แต่กลับคิดย้อนไปข้างหลัง ไปยังอดีตที่ไม่เคยมี พวกเขาต้องการห้ามคนอื่นไม่ให้มีชีวิตที่แตกต่าง ซึ่งนั่นเป็นข้อห้ามที่นีตซ์เชรังเกียจ
แล้วเราต้องการอะไรเล่า? การเป็นมนุษย์คนสุดท้าย หรือพัฒนาตัวเราต่อไป
“ทุกอย่างล้วนเป็นการตัดสินใจของเรา” …น่าจะเป็นคำตอบของฟรีดริช นีตซ์เช
อ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม:
- http://www.f-nietzsche.de/
- http://www.philosophenlexikon.de/friedrich-nietzsche-1844-1900/
- https://readoverhead.blogspot.com/2003/09/blog-post_28.html